- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 14 September 2020 13:17
- Hits: 2017
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 14-9-2020
MARKET TALK
กลยุทธ์การลงทุน
สถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรง ส่งผลต่อเนื่องไปยังโอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว เหตุเพราะทำให้การออกมาตรการกระตุ้นขาดความต่อเนื่อง การขาด รมว.คลัง และล่าสุด งบประมาณปี 2564 ล่าช้า คาด SET Index ผันผวนทิศทางลง แนะนำปรับพอร์ตโดยขายทำกำไร DCC บางส่วน ย้ายเงินเข้าพักใน DIF ส่วน Top Pick เลือก BEM และ MCS
ยังอยู่ในภาวะที่ขาดแรงฉุด ทั้งในส่วนของ ตลาดฯ และ เศรษฐกิจ
ตามที่รับรู้กันมาโดยตลอดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 2Q63 ถือเป็นจุดต่ำสุด และถูกคาดหมายว่าจะเห็นการกลับมาฟื้นตัวในช่วง 2H63 แต่จากการที่มีติดตามพัฒนาการจนถึงปัจจุบันพบว่ายังมีอุปสรรคต่อการฟื้นตัวอยู่หลายประการ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากปัญหาการเมืองทำให้ ขาดมาตรการที่มีน้ำหนักเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ขาด รมว.คลัง และ ส่าสุด งบประมาณปี 2564 ล่าช้าไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายใน 1 ต.ค. 63 นับเป็นความล่าช้าของงบประมาณเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่อง กันโดยในงบประมาณปี 2563 พบว่าเกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายราว 5 เดือน ส่วนงบปี 2564 เชื่อว่า น่าจะล่าช้าอยู่ในช่วง 1-2 เดือน ฝ่ายวิจัยได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของ SET Index ในช่วงที่งบประมาณเกิดความล่าช้าพบว่าในช่วงของงบประมาณปี 2563 ในช่วง 1 เดือนแรกหลังมีข่าวเรื่องความล่าช้า SET Index ปรับตัวลดลงกว่า 7% โดยกลุ่มที่กระทบมากที่สุดเป็นกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์ และ รับเหมาก่อสร้าง สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามจากนี้ไป จะให้น้ำหนักกับสถานการณ์การเมืองมากขึ้น คาด SET Index ผันผวนในทิศทางลง วันนี้ปรับพอร์ต โดยขายทำกำไร DCC บางส่วน (5%) และย้ายเงินเข้าพักใน DIF หุ้น Top Pick เลือก BEM และ MCS
ผลตอบแทนราย Sector (ช่วง 1 เดือน)หลังมีประเด็นงบประมาณการเบิกจ่ายปี 2563 ล่าช้าออกไป
ที่มา: สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส
Covid-19 ยังเป็นปัจจัยกดดันภาพรวมตลาดและเศรษฐกิจ
การระบาดของไวรัส COVID-19 ทั่วโลกยังดำเนินต่อ ล่าสุด จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 282,442 ราย สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันที่ 264,015 ราย ส่งผลให้ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 29.18 ล้านราย และหลายประเทศยังเผชิญการระบาดที่รุนแรงและมีการสั่ง Lockdown อาทิ
อิสราเอลประกาศ Lockdown ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. – 2 ต.ค. 2563 (3 สัปดาห์)หลังพบผู้ติดเชื้อวันละกว่า 3,000 ราย เป็นเวลาหลายสัปดาห์
เมียนมาร์ประกาศห้ามประชาชนเดินทางออกจากเมืองย่างกุ้ง จนถึงวันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นอย่างน้อย หลังจำนวนผู้เชื้อสะสมในย่างกุ้งเพิ่มเป็น 675 ราย เป็นรองเพียงรัฐยะไข่ที่มีผู้ติดเชื้อสะสม 761 ราย
ขณะที่การพัฒนาวัคซีนล่าสุด เมื่อวันหยุดบริษัท AstraZeneca ประกาศกลับมาพัฒนาวัคซีนต่ออีกครั้ง หลังจากที่ชะลอไปชั่วคราวเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะตรวจพบอาการป่วยในกลุ่มอาสาสมัคร เช่นเดียวกับ Pfizer ประกาศว่าวัคซีนของบริษัทจะสามารถใช้ได้ทันภายในสิ้นปี 2563 นี้ จากปัจจุบันที่วัคซีนของ Pfizer กำลังอยู่ในเฟสที่ 3
โดยรวมดูเหมือว่าประเด็น Covid-19 ยังเป็นปัจจัยกดดันภาพรวมตลาดหุ้นไทย และเศรษฐกิจ แม้จะมีปัจจัยหนุนการพัฒนาวัคซีนข้างต้น
งบประมาณปี 64 ล่าช้า กระทบเม็ดเงินไม่มาก แต่ Sentiment ไม่ดี
กระแสข่าวประเด็นความล่าช้าการบังคับใช้ไม่ทัน 1 ต.ค.ของงบประมาณปี 2564 (ต.ค.63- ก.ย.64) วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท(แบ่งเป็นรายจ่ายประจำราว 2 ล้านล้านบาท ขณะที่รายจ่ายลงทุน 6.74 แสนล้านบาท, ขาดดุลงบประมาณอีกราว 6.23 แสนล้านบาท) ในรอบนี้สาเหตุความล่าช้า เกิดจาก อุปสรรคการพิจารณาในขั้นกรรมมาธิการ โดยผลกระทบ ASPS คาดจะกระทบเฉพาะโครงการลงทุนก่อสร้างของรัฐที่ยังไม่มีการก่อหนี้ผูกผัน คาด Sentiment เชิงลบต่อ กลุ่มรับเหมา CK ITD STEC , กลุ่มนิคมอุคสหากรรม AMATA WHA ขณะที่รายจ่ายประจำ และโครงการลงทุนที่ก่อหนี้ผูกผันก่อนหน้าไปแล้ว จะเบิกจ่ายได้ตามปกติ
โดย ASPS พิจารณาในอดีตปีที่แล้วงบประมาณปี 2563 ก็ล่าช้าเช่นกันและล่าช้ารวม 5 เดือน ซึ่งสาเหตุความล่าช้าเกิดจากการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลที่มีอุปสรรค ทำให้กว่าจะเริ่มพิจารณางบประมาณ วาระที่ 1-3 คือ ช่วงเดือน ก.พ.63 และถึงจะเริ่มเบิกจ่าย คือเดือน มี.ค.63 (ดังตาราง)
Timeline ลำดับความล่าช้าของงบประมาณปี 2563
ที่มา: มติชนรายวัน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในรอบที่แล้ว หลักๆ คือ กระทบเศรษฐกิจสะท้อนจาก
การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลในงวด 1QFY63 หรือตรงกับปฎิทินเศรษฐกิจงวด 4Q62 พบว่าเม็ดเงินเบิกจ่ายเหลือเพียง 2.6 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยราว 8.6 พันล้านบาท/เดือน (ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังซึ่งปกติรัฐบาลจะเบิกจ่ายได้ราว 9.6 หมื่นล้านบาท/ไตรมาส หรือเฉลี่ยราว 3.2 หมื่นล้านบาท/เดือน เมื่อเทียบกับรอบนี้ ASPS ประเมินว่าจะกระทบเม็ดเงินไม่มากนัก เพราะรอบนี้ไม่ได้ล่าช้า 5 เดือน เหมือนรอบที่แล้ว โดยล่าสุด รัฐสภาอยู่ในขั้นตอนการพิจารณางบประมาณวาระที่ 2 เบื้องต้นคาด การเบิกจ่ายเม็ดเงิน จะล่าช้าราว 1-2 เดือน หากอิงตัวเลขเม็ดเงินปีที่แล้วที่หายไป ASPS คาดจะกระทบราว 2 หมื่นล้านบาท/เดือน
การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลย้อนหลังรายไตรมาส
ที่มา: สศค., ASPS
โดยรวมทำให้ยังคงมุมมองคาด GDP ปี 2563 ที่ติดลบ 8.4%yoy และปี 2564 คาดขยายตัว ..4% โดยหากมองไปช่วงที่เหลือของปีนี้ –ปี 2564 ซึ่งฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ โดยพิจารณาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้ง การบริโภคครัวเรือนคาดชะลอตัว , การใช้จ่ายรัฐ(G) และลงทุนรัฐ ก็สะดุดระยะสั้นจากประเด็นงบประมาณดังกล่าว ขณะที่ ภาคต่างประเทศ อาทิ ส่งออก,นำเข้า และ ท่องเที่ยว คาดยังชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก
มรสุมใหญ่ของ TASCO สิ่งที่กังวลกลายเป็นจริง
TASCO ได้แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า US State Department ได้ขอให้ TASCO หยุดซื้อน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซูเอลาตั้งแต่เดือน พ.ย 63 เป็นต้นไป และแจ้งเตือนว่า TASCO อาจถูกคว่ำบาตรจากประเทศสหรัฐอเมริกากรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อร้องขอ ทำให้ TASCO มีความจำเป็นต้องทำการปิดโรงกลั่นในเมือง Kemaman ในประเทศมาเลเซียเป็นการชั่วคราวจนกว่าการคว่ำบาตรของสหรัฐต่อประเทศเวเนซูเอลาจะถูกยกเลิก หรือ TASCO สามารถจัดหาน้ำมันดิบทดแทนน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลาได้ โดยปัจจุบัน TASCO มียอดขายยางมะตอยที่มาจากโรงการดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์ยางมะตอยทั้งหมดที่ขายในแต่ละปี ประเด็นดังกล่าวจึงถือว่ามีนัยสำคัญอย่างมากต่อประมาณการกำไรในอนาคตของ TASCO เพราะน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลาเป็นน้ำมันดิบเกือบทั้งหมดที่ TASCO ใช้เป็นวัตถุดิบในการกลั่นยางมะตอย เพราะเป็นน้ำมันดิบที่ให้ Yield ในการผลิตยางมะตอยสูงถึง 70-75% อีกทั้งยังเป็นการทำสัญญาซื้อขายระยะยาวที่ให้ส่วนลดสูง ดังนั้นหากสถานการณ์การปิดโรงกลั่นยืดเยื้อ TASCO จะต้องเพิ่มสัดส่วนการซื้อยางมะตอยจากโรงกลั่นในภูมิภาคมาขายต่อ (Trading) จากปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 50% ไปเป็น 100% หรือพยายามหาแหล่งน้ำมันดิบหนักจากประเทศอื่นที่ไม่ใช้ประเทศเวเนซูเอลาซึ่งจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น และจะกระทบต่อ margin อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเช้าวันนี้ TASCO จะมีการจัดประชุมนักวิเคราะห์เพื่อชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหา ฝ่ายวิจัย แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุน เพราะประเด็นดังกล่าวถือว่ามีนัยสำคัญต่อประมาณการอย่างมาก โดยฝ่ายวิจัยจะปรับลดประมาณการกำไรและ Fair value ปี 2564 ลงจากปัจจุบันที่ 25.00 บาท หลังได้รับข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการทบทวนประมาณการ
หลีกความผันผวน…หลบเข้าหุ้นแกร่งต่างชาติถือน้อย BEM MCS
ปัจจัยใหม่รอบด้านยังคงกดดันตลาดหุ้นไทย ทั้งจากความกังวลต่อการระบาด COVID-19 ในประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศพม่าขยายพื้นที่ในการ Lockdown ไปยังเมืองหลวงย่างกุ้ง ขณะที่ประเทศไทยเองกลับมาพบผู้ติดเชื้อในประเทศอีกครั้ง
และยังมีประเด็นกดดันต่อเนื่องจากความล่าช้าในการเลื่อนงบประมาณการเบิกจ่ายปี 2564 ออกไป ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงย้อนดูข้อมูลการเคลื่อนไหวของดัชนีในช่วง 1 เดือน หลังมีประเด็นงบประมาณการเบิกจ่ายปี 2563 อาจล่าช้าออกไป (กลางเดือน ก.ค. 62) พบว่า ภาพรวมกดดัน SET Index ปรับตัวลดลงถึง 7.2% และถูกต่างชาติขายสุทธิกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท (***ช่วงนั้นมีประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีน สหรัฐ และการเกิด Inverted Yield Curve ของตราสารหนี้สหรัฐเข้ามาผสม***) แต่หากวิเคราะห์เป็นราย Sector จะเห็นได้ชัดว่ากลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบหนักกว่ากลุ่มอื่นๆ คือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้างปรับตัวลดลง 12.6%, และกลุ่มธ.พ.ลดลง 12.6% เป็นต้น เนื่องจากความกังวลต่อของโครงการภาครัฐ และการเดินหน้าของเศรฐกิจที่ล่าช้าออกไป (รายละเอียดตามหัวข้อก่อนหน้า)
ผลตอบแทนราย Sector (ช่วง 1 เดือน)หลังมีประเด็นงบประมาณการเบิกจ่ายปี 2563 ล่าช้าออกไป
ที่มา: ฝ่ายวิจัย ASPS
สรุปคือ ฝ่ายวิจัยประเมินการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 น่าจะเลื่อนออกไปไม่เกิน 1 – 2 เดือนเท่านั้น ไม่เหมือนปี 2563 ที่ล่าช้าไปกว่า 5 เดือนครึ่ง ดังนั้นผลกระทบน่าจะจำกัดและไม่ได้รุนแรงเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ในช่วงนี้ ระยะสั้นแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างออกไปก่อน และเน้นลงทุนหุ้นที่ผลประกอบการแข็งแกร่ง มีแรงขับเคลื่อนเฉพาะตัว และต่างชาติถือครองน้อย เพื่อลดความผันผวนจากแรงขายของต่างชาติ อย่าง SVI, DCC, MCS, BEM, STGT และ DCC โดย Toppick ในวันนี้ยังเลือก BEM, MCS
หุ้นเด่นต่างชาติถือน้อย + พื้นฐานแข็งแกร่ง
ที่มา: ฝ่ายวิจัย ASPS
MCS(FV @ 17.70) ) ปัจจัยทางพื้นฐานช่วงครึ่งหลังของปียังหนุนให้ MCS เติบโตต่อเนื่องได้ คาดจะเซ็นสัญญาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 6 โครงการ จาก 1H63 ที่คว้างานแล้วกว่า 2.3 หมื่นตัน อีกทั้งเตรียมส่งมอบงานใหญ่ High Margin พร้อมกัน 2 โครงการ ได้แก่ Toranomon และ Azabudai คาดหนุน Backlog เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีงานรองรับถึงปี 2565 แล้วที่ 8.5 หมื่นตัน ซึ่งฝ่ายวิจัยฯอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการขึ้นอีกครั้ง หากเซ็นสัญญางานใหม่อย่างเป็นทางการ โดยราคาหุ้นในปัจจุบันมี Upside สูงเกิน 30% และคาดหวัง Div Yield สูงถึง 6%ต่อปี
BEM(FV @ 10.00) ได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองเนื่องจากรายได้เกือบทั้งหมดมาจากการเก็บค่าผ่านทางด่วน และค่าโดยสารรถไฟฟ้ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่มีการผ่อนคลายมาตราการส่งผลให้ปริมาณ Traffic เร่งตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว โดยแนวโน้มกำไร 3Q63 เชื่อว่าจะได้เห็นการฟื้นตัวรูปแบบ V-Shape จากปริมาณผู้ใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้าที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันกลับมาใกล้เคียงระดับปกติแล้ว นอกจากนี้ยังได้ผลบวกจากค่าตัดจำหน่ายทางด่วนที่ลดลงจากปีก่อนราว 500 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าทางพื้นฐานปี 63 อยู่ที่ 10 บาท และมี Upside เพิ่มเติมราว 2 บาท หากเป็นผู้ชนะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่อยู่ระหว่างประมูล ซึ่งคาดว่าจะทราบผลปลายปีนี้
RESEARCH DIVISION
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน และทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web