- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 23 May 2014 15:47
- Hits: 3326
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ยังฝุ่นตลบ หลังการยึดอำนาจการปกครอง คาดดัชนีน่าจะถูกกดลงไปที่ 1,370-1,380 จุด (expected P/E เท่า) ให้ปรับพอร์ต โดยลดหุ้น Domestic มาซื้อหุ้น Global เช่น PTT(FV@B360), PTTEP(FV@B195), IRPC([email protected]) และ IVL(FV@B30)
หลังยึดอำนาจการปกครอง คาดมีแรงขายกดดันดัชนีลงไปที่ 1,370-1,380 จุด
ตั้งแต่เวลา 16:30 น. ของวันที่ 22 พ.ค.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย ผู้บัญชาการทหารบก เข้ายึดอำนาจการปกครอง หลังจากที่การเจรจาระหว่างผู้มีความเห็นต่างทั้ง 7 ฝ่าย ไม่มีข้อสรุป ทั้งนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีการออกคำสั่ง และประกาศหลายฉบับ โดยฉบับที่มีความสำคัญสำหรับแนวทางการบริหารประเทศในช่วงเวลานี้ได้แก่ฉบับที่ 11/2557 (ออกมาแก้ไขข้อความในฉบับที่ 5/2557) ซึ่งมีใจความสำคัญดังต่อไปนี้
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง เว้นหมวดของพระมหากษัตริย์
2. คณะรัฐมนตรีรักษาการ สิ้นสุดการปฎิบัติหน้าที่
3. วุฒิสภายังคงปฎิบัติหน้าที่ตามจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่ ณ วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้
4. ศาลทั้งหลายคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณา และพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย และ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
5. องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ยังคงปฎิบัติหน้าที่ต่อไป
กระบวนการจากนี้ไปน่าจะเป็นเรื่องของการแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่รัฐมนตรีเพื่อการบริหารประเทศ และหลังจากนั้นก็น่าจะมีการตั้งองค์กรขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ อย่างเช่นในอดีตเคยตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าว หลังจากนั้นต้องติดตามว่าจะมีการกำหนดแผนไปแนวทางใด และ กรอบเวลาที่กำหนดไว้อย่างไร สำหรับการดำเนินการเพื่อปฎิรูประเทศ และการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งนักลงทุนต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งหากระยะเวลายิ่งยาวนานก็จะเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อการลงทุนในตลาดหุ้น และภาพรวมเศรษฐกิจ
คาดว่าเหตุการณ์ยึดอำนาจการปกครองทุกครั้งมักสร้างแรงตื่นตระหนกกับตลาด ทำให้คาดว่า SET Index น่าจะถอยหลัง และ ไปตั้งหลัก ที่ 1370-1380 จุด หรือที่ Expected P/E 14 เท่า ภายใต้สมมติฐาน EPS ตลาดปี 2557 ที่ 98.14 บาทต่อหุ้นคาดตลาดหุ้นผันผวนในทิศทางขาลง ซ้ำรอยการปฏิวัติในปี 2549
คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้น หลังจากการยึดอำนาจการปกครองในครั้งนี้ ไม่น่าจะแตกต่างจากการทำปฏิวัติ/รัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นสิบๆ ครั้งในอดีต จึงขอประมวลผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาดังนี้
การเกิดรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 ตลาดไทยผันผวนอย่างมาก กล่าวคือ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงไปติดต่อกัน 2 วันทำการ ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวในวันที่ 3 โดยรวมดัชนีลดลงไปมากสุด 20.85 จุด (3.05%) ดังนี้
- 19 ก.ย. 2549 เกิดรัฐประหาร ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 702.56 จุด ในขณะนั้นดัชนีมีค่า current P/E 12.6 เท่า
- 21 ก.ย. 2549 วันทำการถัดมา (20 ก.ย. ประกาศเป็นวันหยุด) ตลาดหุ้นเปิดที่ 702.05 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของวัน ก่อนลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 673 จุด (-4.2%) และ เมื่อปิดตลาดดัชนีอยู่ที่ 692.57 จุด (ดัชนีลดลง 9.99 จุด หรือ -1.42%)
- 22 ก.ย. 2549 ตลาดหุ้นเปิดที่ 692.91 จุด ปิดตลาดที่ 681.71 จุด (ดัชนีลดลง 10.86 จุด หรือ -1.56%)
- 25 ก.ย. 2549 ตลาดหุ้นเปิดที่ 679.37 จุด ปิดตลาดที่ 686.74 จุด (ดัชนีเพิ่มขึ้น 5.03 จุด หรือ 0.73%)
โดยสรุปตลาดหุ้นใช้เวลา 16 วันทำการ จึงกลับมายืนได้ที่ระดับเดิม เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2549 ตลาดปิดที่ 709.67 จุด
แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศ มาตรการ capital control (30% ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้น) เมื่อ 19 ธ.ค. 2549 ตลาดหุ้นตกรุนแรงกว่านั้น โดยลดมากถึง 108 จุด คือ จากระดับ 730.55 จุด ลงไปอยู่ที่ 622.14 จุด คิดเป็น 14.83% ก่อนที่วันถัดมาจะรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ที่ 691.55 จุด หรือ 11.15%
การทำรัฐประหาร ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะบันเทิง
คาดว่าหุ้น Domestic Play น่าจะได้รับผลกระทบจากยึดอำนาจในครั้งอย่างมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มบันเทิง เรียงลำดับจากมากไปน้อยคือ ธุรกิจทีวี และ โรงภาพยนต์ ทั้งนี้ภายหลังจากการประกาศฉบับที่ 4/2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องให้สถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุชุมชนสถานีวิทยุโทรทัศน์ โทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี งดออกอากาศรายการประจำ และให้ถ่ายทอดออกรายการจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง สามารถติดต่อ สื่อสารระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่องทันต่อสถานการณ์ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เป็นผลให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ไม่สามารถออกอากาศรายการปกติได้ และต้องสูญเสียรายได้ไปหลายวันจนกว่าจะมีคำสั่งให้กลับมาออกอากาศรายการได้ตามปกติ กล่าวคือ
ธุรกิจทีวี นอกจากสูญเสียรายได้เป็นระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะมีคำสั่งให้กลับมาออกอากาศรายการได้ตามปกติแล้ว การที่ทำให้ผู้ได้ใบอนุญาตช่องทีวีดิจิตอล (ผู้ประกอบการโทรทัศน์) ได้วันเริ่มออกอากาศช่องทีวีดิจิตอลอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ต้องเริ่มบันทึกต้นทุนตัดจำหน่ายค่าใบอนุญาตและต้นทุนโครงข่าย รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจตอลเป็นไตรมาสแรก ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการวิทยุและโทรทัศน์ในงวด 2Q57 มีแนวโน้มหดตัวทั้งจากระยะเดียวของปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มีโอกาสปรับลดประมาณการกำไรสุทธินี้สูง
ธุรกิจโรงภาพยนต์ แม้ในงวด 2Q57 แม้จะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่คาดจะทำรายได้สูงเกิน 100 ล้านบาทงวด 2Q57 ถึง 4-5 เรื่อง แต่ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2557 เรื่อง ห้ามมิให้บุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหะสถานภายในเวลา 22.00 น.- 05.00 ตั้งแต่ 22 พ.ค.2557 เป็นต้นไป เว้นแต่ได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้จากธุรกิจโรงภาพยนตร์ในการฉายภาพยนตร์รอบค่ำ ขณะบรรยากาศทางเมือง ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนเปลี่ยนมาติดตามสถานการณ์การเมือง แทนการชมภาพยนตร์ในโรงหนังด้วย
ด้วยผลกระทบดังกล่าวข้างต้น จึงคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม “น้อยกว่าตลาด” และให้หลีกเลี่ยงการทุนในกลุ่มไปก่อน
ค้าปลีก : ในช่วงที่ประกาศเคอร์ฟิว คาดว่าจะกระทบต่อธุรกิจบางประเภทที่ค้าขายตอนกลางคือ หรือ ธุรกิจค้าปลีกที่จำหน่ายตลอด 24 ชั่วโมงอย่างเช่น CPALL ทั้งนี้ในเบื้องต้น ฝ่ายวิจัย ASP ยอดขายในช่วงเวลากลางคืน น่าจะมี ยอดขายราว 12% – 15% ของยอดขายรวมแต่ละวัน หรือ อยู่ที่ราว 8 หมื่นบาท/สาขา/วัน หรือคิดเป็นยอดขายที่หายไปทั้งหมดจะราว 9.6 พันบาท – 1.2 หมื่นบาท/สาขา/วัน และเมื่อคิดรวมจากสาขาทั้งหมดราว 7,651 แห่ง คาดว่า CPALL จะมียอดขายที่หายทั้งหมดราว 73 – 91 ล้านบาท/วัน ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.04% ของยอดขายทั้งปีที่ราว 2 แสนล้านบาท อาจจะไม่มีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นกับระยะเวลาของการประกาศใช้กฎเคอร์ฟิว เช่น ปี 2553 ประกาศใช้ราว 4 วัน หากระยะเวลาไม่นาน ก็อาจจะไม่ต้องปรับประมาณการลงแต่อย่างใด ระยะสั้น แนะนำซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว “ซื้อ” (FV@B50)
ต่างชาติน่าจะชะลอการขาย แต่น่าจะชะลอการซื้ออีกระยะ จนกว่าทุกอย่างจะลงตัว
กระแสเงินทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้าภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เป็นวันที่ 8 ติดต่อกัน โดยที่วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 485 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจากวานนี้ โดยยังคงซื้อสุทธิสูงสุดเกาหลีใต้ ซื้อสุทธิ และต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 ราว 287 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 37% ตามมาด้วยไต้หวันสลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 216 ล้านเหรียญฯ เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่สลับมาซื้อสุทธิราว 32 ล้านเหรียญฯ และ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 8 แต่ลดลงจากวันก่อนหน้า 74% เหลือ ราว 8 ล้านเหรียญฯ ส่วนไทยยังคงเป็นประเทศเดียวที่ถูกขายสุทธิราว 58 ล้านเหรียญฯ (1.9 พันล้านบาท ขายต่อเนื่องกัน 3 วันรวม 1.3 หมื่นล้านบาท)
ทั้งนี้ แม้ว่าเงินทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้าภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยการเมืองยังคงกดดันตลาดทำให้ต่างชาติยังคงเลือกที่จะขายสุทธิหุ้นไทย และหากพิจารณาการรัฐประหารครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 พบว่าต่างชาติมีแนวโน้มชะลอการซื้อก่อนรัฐประหารประมาณ 1 เดือน แต่กลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิในช่วงรัฐประหาร (21 ก.ย. 49 ซื้อ 7.4 พันล้านบาท) และหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ต่อมา กลับมาเทขายออกมาต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ แต่ยอดการขายไม่สูงมากนัก (เฉลี่ยวันละ 680 ล้านบาท) แต่อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ ต่างชาติซื้อในช่วงก่อนหน้าไม่มาก และปัจจัยการเมืองที่กดดันมาอย่างยาวนาน น่าจะกดดันให้ต่างชาติยังคงเทขายต่อไป แต่ยอดขายสุทธิไม่น่าจะสูงมากเหมือนกลางปี 2556 ที่ผ่านมา
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล