WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      ราคาน้ำมันและถ่านหิน กดดันกำไรตลาด (EPS) จะต่ำกว่าสมมติฐานเดิม จึงมีแนวโน้มปรับลด EPS ตลาดลง 2.5% จากเดิม ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันตลาดระยะสั้น จึงแนะนำให้ ปรับพอร์ต โดยเลือกถือหุ้นส่วนน้อยที่มีเงินปันผลเด่น AIT(FV@B 51) และ TASCO (FV@B 63.25) และ SRICHA([email protected]) และ เลือก BTS(FV@B12) Top pick คาดกำไรปีนี้จะดีกว่าเดิมกว่าเท่าตัว

ECB เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ หลังทำ Street Test
      วันที่ 26 ต.ค. ธนาคารกลางยุโรปน่าจะประกาศผลสรุปการทำ stress test ธนาคารพาณิชย์ในสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้ทราบถึงฐานะเงินกองทุน และ ความพร้อม ที่จะเดินหน้าในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของธนาคารกลางได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่น่าจะกลับมาเป็นประเด็นบวก/ลบต่อตลาดในสัปดาห์หน้า เนื่องจากที่ผ่านมาการปล่อยสินเชื่อใหม่เป็นไปอย่างล่าช้า แม้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาว 4 ปี (โครงการ TLTROs) แก่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินราว 4 แสนล้านยูโร (7% ของยอดสินเชื่อรวม) 2 รอบ คือเดือน ก.ย. และ ธ.ค. นี้ ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0.15% ต่อปี แต่เดือน ก.ย. ประกาศออกมาแล้วเพียง 8.26หมื่นล้านยูโร ที่เหลือคาดว่าจะประกาศ ธ.ค. นี้ และ ล่าสุดวานนี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เริ่มซื้อตราสารหนี้ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อคุณภาพ (covered bonds) จากธนาคารพาณิชย์ ในประเทศฝรั่งเศส (ธนาคาร Societe General SA และ BNP Paribas SA) และ สเปน แต่มิได้ระบุจำนวนเงินว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด

     และหลังจากนี้ในงวด 4Q57 จะมีการเข้าซื้อ ตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ABS: Asset Backed Securities) จากประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่ วงเงิน 1.4 หมื่นล้านยูโร (1.8 หมื่นล้านเหรียญฯ) โดยเริ่มซื้อจากโปรตุเกส 1.12 หมื่นล้านยูโร และ กรีซ 2.7 พันล้านยูโร เท่านั้น ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารพาณิชย์ น่าจะทำให้กลไลการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์กลับมาทำงานอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจยุโรป ให้รอดพ้นจากภาวะชะลอตัวรอบใหม่ (สะท้อนจากเงินเฟ้อต่ำเพียง 0.3% และอัตราการว่างงานในระดับสูง 11.5%) อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามผลของมาตรการว่าจะทำงานได้มีประสิทธิเพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุน

นโยบายการเงินเข้มงวด FED vs กำไรงวด 3Q57 ที่ดีขึ้น
        ความกังวลของตลาดหุ้นโลกต่อการสิ้นสุด QE ในสิ้นเดือน ต.ค. นี้ และอาจจะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปีหน้า กดดันตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ พบว่าปรับฐานตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. ลงมากว่า 7.4% แม้จะตกต่ำน้อยกว่าตลาดหุ้นยุโรปก็ตาม (ไม่ว่าจะเป็นเยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส) อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งจากฝั่งยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มเริ่มมีความเห็นว่า Fed อาจยืดการใช้นโยบายที่เข้มงวดออกไป ประกอบกับ การรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น S&P500 งวด 3Q57 ที่ภาพรวมออกมาค่อนข้างดี ช่วยหนุนให้ให้ตลาดหุ้นสหรัฐฟื้นคืนความเชื่อมั่นและสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 3 วันติดต่อกัน โดยล่าสุดตลาดหุ้นสหรัฐ ได้ประกาศงบไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 67 บริษัท หรือคิดเป็นประมาณ 25% ของ market cap ทั้งตลาด โดยพบว่ามีบริษัทราว 48 บริษัท หรือ 72% ของที่ประกาศ มียอดขาย และ กำไร เติบโตมากกว่าตลาดคาดการณ์ อาทิ APPLE, Texus Instrument, Morgan Stanley, Delta Air, Hasbro ยกเว้น Google, IBM, Ebay ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทั้งนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างมีมุมมองเชิงบวกที่ดีขึ้นต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในงวด 3Q57 และนำไปสู่การปรับขึ้นประมาณการกำไรสุทธิของปี 2557 โดยจากการรวบรวมของ Bloomberg พบว่าประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นของ S&P ( Estimated Earnings Consensus) ปี 2557 จะอยู่ที่ 120.15 เหรียญ/หุ้น เทียบกับที่ประเมินไว้เมื่อสิ้น ก.ย. ที่ 119.31 เหรียญ/หุ้น และ 118.32 เหรียญ/หุ้น เมื่อต้นปี 2557

ต่างชาติยังไม่มีน้ำหนักหนุนตลาดหุ้นเอเซีย
     วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นภูมิภาคแต่เบาบางเพียงราว 169 ล้านเหรียญฯ (จากที่ขายสุทธิต่อเนื่อง 26 จาก 28 วันก่อนหน้า) โดยเป็นการสลับมาซื้อสุทธิใน 4 ประเทศ กล่าวคือ ไต้หวันสลับมาซื้อสุทธิราว 90 ล้านเหรียญฯ (เทียบกับขายสุทธิ 25 จาก 27 วันก่อนหน้า) ตามมาด้วย อินโดนีเซียที่พลิกมาซื้อสุทธิราว 63 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 26 จาก 29 วันก่อนหน้า) ส่วนไทย สลับมาซื้อสุทธิเช่นกัน ราว 15 ล้านเหรียญฯ (481 ล้านบาท หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) และ เกาหลีใต้พลิกมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 5 ล้านเหรียญฯ (หลังขายสุทธิติดต่อกัน 11 วันก่อนหน้า) สวนทางกับ ฟิลิปปินส์ที่ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 14 ราว 3 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 98%)
      แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง แต่ยังถือว่าปริมาณเบาบางหากเทียบกับยอดขายในช่วงก่อนหน้า (เฉลี่ยกว่าวันละ 300 ล้านเหรียญฯ) ทำให้คาดว่า น่าจะเป็นการพักการขายในระยะสั้น เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้ออีกครั้ง แต่ยอดยังคงเบาบาง และแนวดน้มยังคงเป็นการขายสุทธิมาตั้งแต่ 26 ก.ย. 57 ซึ่งขายสุทธิออกมา 12 จาก 17 วันหลังสุดรวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท จึงเชื่อว่าแรงขายของต่างชาติน่าจะยังไม่หมดไป

ราคาน้ำมัน/ถ่านหินอ่อนตัว กดดันกำไรตลาดปีนี้ และปีหน้าลง
      ราคาน้ำมันดิบโลกลดลงมากกว่าที่คาดกดดัน PTTEP, PTT ล่าสุดพบว่าราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงมาที่ 82 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล หรือลดลงจากระดับสูงสุดที่ 110 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อ 19 มิ.ย. 2557 หรือลดลงราว 25.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าสมมติฐานราคาน้ำมันดิบระยะยาว แม้ล่าสุดนักวิเคราะห์กลุ่มพลังงาน ASP ได้ปรับลดสมมติฐานปี 2558 ลงมาที่ 90 เหรียญฯต่อบาร์เรล (อ่านรายละเอียด Equity Talk ฉบับวันที่ 14 ต.ค. 2557) เป็นผลทำให้มีการปรับลด Fair Value ปี 2557 ของ PTTEP ซึ่งเป็นผู้ผลิตและสำรวจลงจากเดิม 12.8% เหลือ 170 บาท ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบยังต่ำกว่าสมมติฐานใหม่ ทำให้ความเสี่ยงที่จะปรับลดประมาณยังมีอยู่โดยทุก ๆ 5 เหรียญฯ ที่ราคาน้ำมันดิบต่ำกว่าสมมติฐาน จะทำให้ประมาณการของ PTTEP(FV@B170) จะลดลงจากเดิมราว 7-8% และจะกดดัน Fair Value ลดลงราว 10 บาท ต่อหุ้น
และ ในฐานะที่ PTT(FV@B354) ถือหุ้น PTTEP 65.29% คาดว่าทุก 5 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ที่ราคาน้ำมันดิบลดลงจะกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิของ PTT ราว 7%

        และจะทำให้ Fair Value ลดลง 4 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ยังมิได้คำแนะนำผลขาดทุน ที่จะต้องรับรู้เพิ่มเติม จากบริษัทย่อยในกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน TOP (PTT ถือหุ้น 49.1%) PTTGC (ถือหุ้น 48.9%) IRPC (ถือหุ้น 38.5%) และBCP (ถือหุ้น 27.2%) โดยคาดว่าโรงกลั่นจะต้องบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันดิบที่ที่ลดลงจากสิ้นงวด 2Q57 กว่า 10 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือ อาจขาดทุนราว 2-2.5 พันล้านบาท (เทียบกับกำไรจากสต๊อกน้ำมันงวด 2Q57) และน่าจะไปหักล้างผลกำไรที่ดีขึ้นของธุรกิจปิโตรเคมี ทั้งนี้เพราะราคาน้ำมันดิบที่ลดลงจะช่วยลดภาระต้นทุน คือ แนฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก (สายโอเลฟินส์ ใช้ทั้งแนฟทา และก๊าซธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบ ยกเว้น อะโรเมติกส์ ซึ่งใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบเท่านั้น) ซึ่งจะหนุนให้ Spread (ราคาผลิตภัณฑ์ หักต้นทุน) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายโอเลฟินส์ (PTTGC, IRPC) พบว่า Spread ในงวด 3Q57 ปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ ในหลายผลิตภัณฑ์อาทิ HDPE และ LDPE รวมถึงผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ อาทิ PP, ABS (เป็นผลิตภัณฑ์หลักของ IRPC) ยกเว้นสายอะโรเมติกส์ (TOP, PTTGC) Spread ยังทรงตัวจากงวด 2Q57 และมีแนวโน้มอ่อนตัวในงวด 4Q57 เพราะแรงกดดันจากปริมาณผลิตพาราไซลีนจะเพิ่มขึ้นจากโรงงานใหม่ๆ หลายแห่งที่เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าในงวด 4Q57 โรงกลั่นและปิโตรเคมียังคงฟื้นตัวตามฤดูกาล กล่าวคือ ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มในช่วงปลายปี จะดีต่อธุรกิจโรงกลั่น ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีจะเห็นการฟื้นตัวของสายโอเลฟินส์ต่อเนื่อง เพราะเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่/ตรุษจีน และ ฤดูหนาว ทำให้ความต้องการใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์เพื่อผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น ขณะที่สายอะโรเมติกส์ยังทรงตัวจากปัญหาผลผลิตพาราไซลีนใหม่ที่เกินความต้องการ
       และ เช่นเดียวกับ BANPU(FV@B32) ล่าสุดพบว่าราคาถ่านหินยังคงอ่อนตัวลง โดยราคาถ่านหิน BJI ได้ลดลงเหลือ 63 เหรียญฯ ต่อตัน (เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา 65 เหรียญฯต่อตัน และ ytd อยู่ที่ 72.88 เหรียญฯต่อตัน) ต่ำกว่าสมมติฐานที่ ASP กำหนด ราคาถ่านหิน BJI อยู่ 80 เหรียญฯต่อตัน ในปี 2557 และ 85 เหรียญฯต่อตัน ในปี 2558 ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ ASP กำลังจะปรับลดสมมติฐานราคาถ่านหินลงให้ใกล้เคียงกับราคาตลาด ซึ่งคาดว่าจะกดความสามารถในการทำกำไรจากประมาณการเดิมที่คาดว่าประมาณการเดิมไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี (ปี 2557 คาดว่ากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 3.80 พันล้านบาท และ 5.07 พันล้านบาท ในปี 2558)
โดยรวมคาดว่าจะหากกำไรของกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีหายไปราว 2 หมื่นล้านบาท และ 2.5 ล้านบาท ซึ่งน่าจะกดดันประมาณการกำไรทั้งตลาดปี 2557 และ 2558 ลงจากประมาณการเดิม ราว 2.5% และ 2.54% ตามลำดับ (กำไรสุทธิของตลาดเดิมปี 2557 ที่ 8.74 แสนล้านบาท และ 9.83 แสนล้านบาทใน ปี 2558 ) หรือ จะลดลงเหลืออยู่ที่ หุ้นละ 95.67 บาท 107.66 บาท นั่นหมายความว่าดัชนีปัจจุบันมีค่า Current P/E ที่ราว 16 เท่า ซึ่งนับว่ายังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ ทำให้ความเสี่ยงต่อการปรับฐานยังมีอยู่

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!