- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 08 July 2020 22:07
- Hits: 3286
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 8-7-2020
MARKET TALK
กลยุทธ์การลงทุน
การระบาดของ Covid-19 เป็นประเด็นที่กลับมาสร้างแรงกดดันต่อทั้ง Sentiment การลงทุน และภาพรวมเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้าย ยังเห็นผู้ประกอบการบางรายที่เติบโตสวนทาง วันนี้แนะนำปรับพอร์ต โดยลดน้ำหนัก CPALL และ INTUCH ลงอย่างละ 5% แล้วนำเงินเข้าลงทุนใน DCC ส่วน Top Pick เลือก DCC และ BBL
Covid-19 เข้ามา ไม่ใช่ว่าอะไรก็ดูร้ายไปหมด ... ในร้ายก็มีดี
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 กลับมาดูร้ายแรงอีกครั้ง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อวันที่อยู่ในระดับสูงถึง 1.8 – 2 แสนคน ทำให้บางพื้นที่กลับมาใช้มาตรการ Lockdown เช่นใน ออสเตรเลีย สถาวะดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับ Sentiment การลงทุน รวมถึงภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลก ในส่วนของบ้านเรายังคงเห็นโอกาสที่จะปรับลดประมาณการ GDP Growth โดยล่าสุดมีการให้น้ำหนักไปที่ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามในส่วนของฝ่ายวิจัยได้ครอบคลุมประเด็นดังกล่าวไว้แล้วโดยคาด GDP Growth ปี 2563 จะอยู่ที่ -8.4% ในอีกมุมหนึ่งภายใต้สถานการณ์ภาพรวมที่ดูไม่ดี ก็ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่กลับดูดีขึ้นมา หรือสถานการณ์จริงไม่ได้แย่อย่างที่คาด เช่น DCC พบว่ายอดขาย และการทำกำไรมีแนวโน้มเติบโตสวนตลาด ทั้งจากภาวะที่คู่แข่งหายไป การปรับปรุงโครงสร้างต้นทุน และต้นทุนการผลิตที่ลดลง , กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยกลับพบว่ายอดขายบ้านแนวราบกลับเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น และวัสดุก่อสร้างพบว่าความต้องการปูนฯ ในประเทศไม่ได้ดูเลวร้าย วันนี้ปรับพอร์ต โดยลดน้ำนหัก CPALL และ INTUCH ลงอย่างละ 5% นำเงินเข้าลงทุนใน DCC หุ้น Top Pick เลือก DCC และ BBL
ทิศทาง Fund Flow ถูกกำหนดด้วยสถานการณ์ Covid-19 ที่ผันแปรตลอดเวลา
ทิศทาง Fund Flow ของโลกมีแนวโน้มผันผวน และขาดเสถียรภาพ สังเกตได้จากตลอดทั้งเดือนราคาสินทรัพย์เสี่ยง (Risk asset) ตลาดหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น และลงสลับกันรายวัน โดยตัวแปรสำคัญที่กำหนดทิศทาง หลักๆยังคงมาจาก ความกังวลของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เปลี่ยนแปลงไปเกือบทุกวัน ล่าสุด จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลก เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2563 เพิ่มขึ้นอีกเกือบวันละ 2 แสนราย และยังสูงกว่าค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังที่วันละ 1.8 แสนราย และ เกิด 2nd wave
ความกังวลไวรัส COVID-19 ข้างต้นและการเกิด 2nd wave ส่งผลให้หลายประเทศดำเนินการ Lockdown อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจำกัดการระบาด เช่น อังกฤษ, เยอรมนี, ออสเตรเลีย (ดังตาราง) ซึ่งกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ผลกระทบ COVID-19 ยังส่งผลต่อค่าเงินค่าเงินในหลายประเทศอ่อนค่า 0.25% หลังคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) ปรับลด GDP ยุโรปปี 2563 ลงเหลือ -8.3%yoy เดิม -7.4%yoy, ค่าเงินเรียลบราซิลอ่อนค่าเกือบ 3% ภายหลังประธานาธิบดีบราซิลติดเชื้อ COVID-19
ในภาพรวม ASPS ประเมินว่า Fund Flow ยังมีแนวโน้มผันผวนต่อไป ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผันผวน และได้รับแรงกดดันผ่าน Sentiment เชิงลบตาม กลยุทธ์การลงทุนจึงเน้นไปที่การ Trading หรือเก็งกำไรระยะสั้น
ยังเห็นการปรับลดประมาณการ ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และภาคการส่งออก
แม้สถานการณ์ Covid-19 ในไทยจะไร้ผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 43 วัน และรัฐบาลไทยเดินหน้าผ่อนคลายกิจกรรมเศรษฐกิจ และเปิดให้ภาคธุรกิจเกือบทุกภาคส่วนกลับมาดำเนินได้ สวนทางกับต่างประเทศ ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น และบางประเทศเลือก Lockdown บางส่วน (อาทิ อังกฤษ, ออสเตรเลีย, จีน ดังกล่าว) โดย Key สำคัญ คือ “วัคซีน” ความคืบหน้าล่าสุด คือ สหรัฐ, จีน เร่งแข่งกันพัฒนามาจนถึงเฟสที่ 2 จากทั้งหมด 4 เฟส การที่วัคซีนยังไม่สำเร็จทำให้ทั่วโลกยังคงชะลอการเคลื่อนย้าย คน – สิ่งของ ฯลฯ
โดยรวมทำให้ ASPS มีมุมมองต่อภาพของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลัง Covid-19 เปลี่ยนไปจากก่อน Covid-19 หน้ามือเป็นหลังมือ (ก่อน Covid เศรษฐกิจขยายตัว, ดอกเบี้ยทรงตัว Vs. หลัง Covid เศรษฐกิจหดตัว ดอกเบี้ยต่ำ) ล่าสุด เห็นหลายหน่วยงานรัฐบาลยังทยอยการปรับลดประมาณการตัวเลขกิจกรรมเศรษฐกิจ อาทิ ส่งออก และภาคการท่องเที่ยว โดย ASPS ได้ครอบคลุมประเด็นดังกล่าวไว้แล้ว
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ภาคท่องเที่ยวคิดราว 20% ของ GDP) ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 เหลือ 8.2 ล้านคน รอบต้นปี ก่อนมี Covid คาด 40-41 ล้านคน : หากพิจารณา 6M2563 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน แบ่งเป็น 3M2563 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน และเดือน เม.ย.-มิ.ย. นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าไทยได้เนื่องจากปิดน่านฟ้า หมายความว่า 2H63 นักท่องเที่ยวต้องเข้าไทยราว 1.5 ล้านคน หรือ 2.5 แสนคน/เดือน หรือ 8.33 พันคน/วัน ASPS ถือว่ายังท้าทายมาก เนื่องจาก แม้รัฐบาลไทยพึ่งผ่อนคลายให้ชาวต่างประเทศเข้าไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. แต่ ASPS มองว่ามีข้อจำกัด ทั้งกำหนดให้บางประเทศเข้า อาทิ ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ และจำกัดจำนวนคนเข้า เช่น นักธุรกิจให้เข้าไทยได้เพียง 200 คน/วัน
ปรับลดคาดการณ์ส่งออก (ภาคส่งออกคิดราว 68% ของ GDP) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ปรับลดคาดส่งออกปี 2563 จากติดลบ 8% เป็นติดลบ 10% (ASPS คาด (–10%) -(-13.7%) และ ธปท. คาด -10.3% โดย 5M2563 ส่งติดลบ 3.7%
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมี Downside ส่งผลให้ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจคงต้องหวังพึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยวันนี้ การประชุม ครม.จะมีการพิจารณามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุดแรก วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท จำนวน 212 โครงการ (เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงินรวม 4 แสนล้านบาท ของ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) ส่วนใหญ่เน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และให้น้ำหนัก วันศุกร์ประชุม ครม.เศรษฐกิจ คาดว่าจะมีมาตรการรอบใหม่ คาด ช็อปช่วยชาติ โดยรวม หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการกระตุ้นการบริโภค เช่น CPALL และ SPVI
Fund Flow ยังขาดเสถียรภาพ อิงปัจจัย COVID-19
หากสังเกต Fund Flow ต่างชาติในบ้านเรา จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ต้นเดือนซื้อสุทธิ 2 วัน มูลค่ากว่า 1.7 พันล้านบาท และขายสุทธิ 2 วันมูลค่า 2.9 พันล้านบาท จึงทำให้ยอดรวมขายสุทธิกว่า 1.2 พันล้านบาท ดังนั้น ภาพรวมจึงเป็นแรงซื้อสลับขายในช่วงที่ผ่านมาเช่นเดียวกันสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง ตราสารหนี้ และทองคำ เป็นต้น แสดงว่า Fund Flow ยังขาดเสถียรภาพ เนื่องจากมีปัจจัยกดดัน COVID-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้น จนล่าสุดอยู่ที่ 3,041,129ราย และมีผู้เสียชีวิต 132,993 ราย และ ออสเตรเลียประกาศ Lockdown บางรัฐฯ อย่างนครเมลเบิร์น ที่ใช้มาตรการปิดเมืองนาน 6 สัปดาห์ หลังมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 191 คน ในรอบ 24 ชั่วโมงก่อนหน้านี้
ขณะที่เม็ดเงินในประเทศ คาดมีแรงหนุนน้อยลงเนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก ทั้งการทำ Window Dressing จากนักลงทุนสถาบันฯในช่วงปลายไตรมาส 2 หมดลง และ เม็ดเงินจากกองทุน SSFX หมดเขตซื้อลดหย่อนภาษีแล้วในปัจจุบัน คาดมีแรงพยุง SET Index น้อยลงจากช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น ภาพรวมของ Fund Flow ต่างชาติขึ้นอยู่กับการระบาดของ COVID-19 เป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นอะไรที่น่ากังวล ส่วน Fund Flow ในประเทศ คาดมีแรงซื้อเบาบางลง เนื่องด้วยกองทุน SSFX หมดเขตซื้อลดหย่อนภาษีแล้วในปัจจุบัน และ การทำ Window Dressing จากนักลงทุนสถาบันฯในช่วงปลายไตรมาส 2 หมดลง คาดทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นได้ค่อนข้างจำกัดต่อจากนี้
เฟ้นหาหุ้น ปรับตัวพลิกวิกฤต COVID-19 เป็นโอกาส
ปีนี้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 ยาวนานนับตั้งแต่ช่วงต้นปี และปัจจุบันหลายประเทศยังต้องรับมือกับการระบาดในรอบที่ 2 อยู่ วิกฤตดังกล่าวกดดันภาพรวมเศรษฐกิจปี 2563 โดยฝ่ายวิจัยประเมินชะลอลง 7.8 – 8.3% รวมถึงกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ถูกกดดันให้ลดลงอย่างมีนัยฯ
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยพยายามเฟ้นหาว่ามี บริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวในยามที่เกิดวิกฤต COVID-19 ทำให้ยอดขายไม่ได้ลดลงอย่างที่กังวล รวมถึงธุรกิจที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ในยามที่เกิดวิกฤติ COVID-19 ได้ แอบแฝงอยู่ในธุรกิจเหล่านี้
หุ้นเด่นธุรกิจปูนซีเมนต์ แม้ภาคการก่อสร้างดูเหมือนจะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง แต่หากพิจารณาจากตัวเลขการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศช่วงเดือน เม.ย-พ.ค ที่ไม่ได้ลดต่ำลงอย่างที่เคยกังวล โดยเดือน เม.ย. การใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศขยายตัว 16%YoY เนื่องจากไม่มีวันหยุดยาวสงกรานต์เหมือนปีก่อนๆ ส่วนเดือน พ.ค. การใช้ปูนหดตัวเพียง 1%YoY จึงเชื่อว่าผลประกอบการช่วง 2Q63 ของผู้ผลิตปูนซีเมนต์โดยเฉพาะ SCCC ที่มีฐานกำไรหลักอยู่ในธุรกิจปูนซีเมนต์น่าจะออกมาไม่ต่ำมากนัก
หุ้นเด่นธุรกิจกระเบี้องปูพื้น แม้ภาพรวมยอดขายกระเบื้องปูพื้น-บุผนัง ในประเทศเดือน เม.ย-พ.ค. หดตัวราว 7%YoY แต่ผู้นำตลาดอย่าง DCC กลับสร้างยอดขายได่เติบโตสูงถึง 15%YoY โดยใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกที่บุกหาลูกค้าถึงบ้านจากฐานลูกค้าในมือที่มีกว่า 4 แสนราย และมีการออกสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมถึงมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดีเซล ฝ่ายวิจัยดาดการณ์กำไร 2Q63 ของ DCC จะเติบโตสูงถึง 97%YoY ทำให้ต้องปรับเพิ่มประมาณการกำไรปีนี้ขึ้นอีก 20% พร้อมขยับ Fair Value เป็น 2.70 บาท ถือเป็นหุ้นเด่นในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง
หุ้นเด่นในธุรกิจอสังหาฯ ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ทำให้ความต้องการคอนโดฯหายไป รวมถึงลดค่าใช้จ่าย และชะลอการลงทุน เพื่อรักษาสภาพคล่อง อย่างไรก็ตามกลับเห็นสัญญาณยอดขายแนวราบฟื้นแข็งแกร่ง หนุน Presale หลายบริษัทกลับเพิ่มขึ้นสวนวิกฤตที่เกิดขึ้น อาทิ SC มียอดขายแนวราบในช่วง 5M63 (YTD) รวม 4.9 พันล้านบาท (+7% yoy) จากแนวราบ 4.85 พันล้านบาท (+17% yoy), AP มี ยอด Presale 2Q63 ทำได้สูง 9.04 พันล้านบาท (+10% yoy, +50% qoq) จากแนวราบที่แข็งแรงทำ New High รายไตรมาสสูงถึง 7.7 พันล้านบาท (+52% yoy,+51% qoq) ส่วนหนึ่งจากการเปิดขายโครงการแนวราบใหม่ 7 โครงการ มูลค่า 7.45 พันล้านบาท หนุนกำไร 2Q63 โต YoY และ QoQ, รวมถึง LH บริษัทคงแผนเปิดโครงการใหม่ปี 2563 ตามเดิม 16 โครงการแนวราบทั้งหมด มูลค่า 2.84 หมื่นล้านบาท ด้วยยอด Presale แนบราบของอุตสาหกรรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยฯช่วงที่ผ่านมา หนุนแนวโน้มกำไรงวด 2H63 จะฟื้นตัวขึ้น
สรุปหุ้นเด่นที่แต่ละธุรกิจที่สามารถฝ่าฟันวิกฤต COVID-19 ได้ ชอบ หุ้นเด่นธุรกิจปูนซีเมนต์ SCCC, หุ้นเด่นธุรกิจกระเบี้องปูพื้น DCC และหุ้นเด่นในธุรกิจอสังหาฯ AP, LH
RESEARCH DIVISION
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน และทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web