WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 22-6-2020ASP

MARKET TALK

กลยุทธ์การลงทุน

ท่าทีของ ธปท. ในเรื่องการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และการซื้อคืนหุ้นของ ธนาคารฯ สะท้อนความกังวลต่อภาพเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งน่าจะทำให้เกิดแรงกดดันต่อหุ้นธนาคารฯ รวมถีง SET Index คาดเงินไหลเข้าหุ้น High Dividend ปรับพอร์ตโดยขาย AMATA แล้วนำเงินเข้าพักใน DIF ส่วนหุ้น Top Pick เลือก INTUCH และ SPVI

หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน น่าจะฉุด SET Index ลง

กรณีที่ ธปท. ขอให้ธนาคารพาณิชย์งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และงดการซื้อคืนหุ้น ประเมินว่าเป็นปัจจัยที่จะสร้างแรงกดดันต่อหุ้นในกลุ่มธนาคาร (น้ำหนัก 9% ของ Market Cap.) รวมถึง SET Index ทั้งนี้ตีความว่าท่าที่ดังกล่าวของ ธปท. สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะมีผลต่อคุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงินในอนาคต ขณะที่มุมมองต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทำให้จุดเด่นในเรื่อง Valuation และ Dividen Yield ลดลง ทำให้เงินลงทุนไหลออกจากหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยมีทิศทางไหลไปยังหุ้น High Dividend Yield แทน ซึ่งน่าจะทำให้หุ้นในพอร์ตการลงทุนจำลองของฝ่ายวิจัยซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นหุ้นปันผลฯ ได้รับประโยชน์ สำหรับประเด็นในประเทศที่ต้องติดตามจากนี้ไปเป็นเรื่องของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยน่าจะเห็นเรื่องการประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มากขึ้น ส่วนการประชุม กนง. ในวันที่ 24 มิ.ย.63 เชื่อว่าในรอบนี้น่าจะเห็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม แต่ในการประชุมช่วงเวลาที่เหลือของปีมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้ง แนะนำปรับพอร์ตโดย ขายหุ้น AMATA (5% ของพอร์ต) ออก แล้วเข้าพักเงินใน DIF ส่วนหุ้น Top Pick เลือก INTUCH และ SPVI

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวสูง สัปดาห์นี้ติดตาม ประชุม กนง.

ปัจจัยต่างประเทศในช่วงปลายสัปดาห์

Bloomberg รายงานจีน(ผู้นำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองอันดับ 1 ของโลก สัดส่วนราว 61%) วางแผนที่จะเร่งซื้อสินค้าเกษตร (ถั่วเหลือง, ข้าวโพด ฯลฯ) ตามข้อตกลงการค้าเฟส 1 หลังจากทั้ง 2 ฝั่งมีการเจรจาที่ฮาวายในสัปดาห์นี้

ASPS ประเมินว่าข่าวดังกล่าวเป็นประเด็นเดิมแต่ยังถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้น เพราะทำให้กระแสความตึงเครียด Trade war ผ่อนคลายเนื่องจากท่าทีของจีนยังมีแนวโน้มปฎิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับสหรัฐ

บวกต่อตลาด Soft Commodity โดยเฉพาะเมล็ดถั่วเหลืองบวก(+) ต่อ TVO โดยตรง เนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนดีขึ้น หนุนแนวโน้ม Gross margin สูงขึ้น มีจุดเด่นเฉพาะตัวจากการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 2534 โดยปี 2563 คาดหมาย Div. Yield ราว 6%

ราคาน้ำมันดิบโลกยังแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้น และยืนเหนือ 40 เหรียญฯ   โดยยังมีปัจจัยหนุนจากฝั่ง Supply คือ 1.) จำนวนหลุมขุดเจาะในสหรัฐ ปรับลดลง 16 หลุม อยู่ที่ 266 หลุม (ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) 2.) การร่วมมือการตัดลดการผลิตน้ำมันของประเทศผู้ผลิต OPEC (การประชุม JMMC ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน 87%ให้ความร่วมมือตัดลดกันด้วยดี) ขณะที่ฝั่ง Demand มีปัจจัยหนุนจาก การ Reopen ประเทศและธุรกิจทั่วโลก หนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเพิ่มขึ้น แม้การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกที่ 2 อาทิ สหรัฐ ผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3 หมื่นราย 2 วันติด สูงสุดตั้งแต่ 1 พ.ค. (รัฐบาลสหรัฐเผยจะไม่มีการ Lockdown ประเทศ) โดยรวมราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้น ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้น PTTEP (FV@B>100) และ PTT (FV@B>42)

ตลอดสัปดาห์นี้ประเด็นที่ให้น้ำหนักวันพุธที่ 24 มิ.ย. Highlight 1.)IMF จะแถลงประมาณการณ์เศรษฐกิจโลก(GDP Growth) ปี 2563-2564 โดยในรอบนี้ตลาดคาดว่ามีโอกาส IMF จะปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2563 ลงอีกจากรอบ เม.ย. ที่คาดหดตัว 3%yoy   2.ขณะที่ไทยประชุมธนาคารกลางไทย หรือ กนง. ASPS คาดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%(ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) และการพิจารณาการผ่อนคลายธุรกิจเฟส 5 อาทิ ผับ, บาร์ คาดจะเปิด 1 ก.ค.

ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทย ที่ผ่านมายังบ่งชี้ว่าภาคครัวเรือนยังอ่อนแอ

เศรษฐกิจไทยปี 2563 ASPS ประเมิน GDP หดตัว 5.7%yoy หรือมูลค่า GDP หายไปราว 6 แสนล้านบาทจากปี 2562 และงวด 2Q63 คาดหดตัว 11%yoy เป็นไตรมาสที่หดตัวมากที่สุดและคาดเป็น Bottom ของปี (รอสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขวันที่ 17 ส.ค.63) งวด 3Q-4Q63 คาดหดตัว 6%yoy และ4.5% ตามลำดับ จากผลกระทบ COVID-19   ซึ่งยังมีน้ำหนักต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีโดย

ส่งผลให้กำลังการให้บริการของธุรกิจลดลง กระทบต่อการจ้างงาน คือ การบริโภคครัวเรือนราว 48% ต่อ GDP, ส่งออก 68%ต่อ GDP ฯลฯ   โดย Indicator ชี้เศรษฐกิจภาคครัวเรือนที่ยังเห็นหดตัวแรง คือ

ผู้ว่างงานยังอยู่ในระดับสูง :   แม้ล่าสุด อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.03% ของกำลังแรงงานทั้งระบบอยู่ราว 33 ล้านคน แต่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ยังเพิ่มขึ้น และทำจุดสูงสุด 3.3 แสนราย/เดือน

หนี้ครัวเรือน ล่าสุดอยู่ที่ 79% ต่อ GDP และอ้างอิง ม.หอการค้า คาดว่า ช่วง 2H63 จะพุ่งขึ้นเกิน 80% ต่อ GDP (ต้มยำกุ้ง หนี้ครัวเรือน 80% ต่อ GDP)เป็นผลจากหนี้ที่เพิ่ม และขนาดเศรษฐกิจที่ลดลงตามกิจกรรมเศรษฐกิจที่ลดลง

ธปท. ส่งสัญญาณ เตรียมรับ ปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรง

ผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์

ธปท. ให้ ธ.พ. จัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุน สำหรับ 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และศักยภาพของลูกหนี้ ภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ทั้งนี้ ในระหว่างจัดทำแผนบริหารจัดการกองทุน ให้ ธ.พ. งดจ่ายปันผลระหว่างกาล (ปี 2562 เกือบทุก ธ.พ. มีการจ่ายเงินปันระหว่างกาล ยกเว้น KTB และ TISCO จ่ายปีละครั้ง) และห้ามซื้อหุ้นคืน (ปัจจุบันไม่มีธนาคารใดมีโครงการซื้อหุ้นคืน) เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของเงินกองทุนทั้งระบบ ธ.พ. ที่ถือเป็น Source of fund หลักของ Real Sector และภาคครัวเรือน รวมถึงเป็นที่รวมเงินฝากของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย

ภาพดังกล่าวสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนที่คาดหวังเงินปันผลในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงอาจทำให้นักลงทุนบางกลุ่มตีความถึงแนวโน้ม NPL ในอนาคตที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อบุคคล คิดเป็นสัดส่วนราว 39% ของพอร์ตสินเชื่อกลุ่มฯ (หลักๆ เป็นสินเชื่อเคหะ) ที่ฝ่ายวิจัยทำการศึกษา มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จากภาระหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นงวด 4Q62 ที่อยู่ในระดับสูงราว 80% ของ GDP สวนทางกับรายได้ที่เผชิญกับสภาวะ Income shock จากทั้งอัตราว่างงาน และรายได้ครัวเรือนลดลง จากการถูกปรับลดรายได้ อันเป็นผลมาจากนโยบายบริหารค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัท ขณะที่กลุ่มลูกค้า SME (สัดส่วน 18%) แม้มองฟื้นตัวเร็วกว่ารายย่อย แต่สถานการณ์ตั้งแต่ก่อน COVID-19 ไม่ได้แข็งแกร่งเท่าใด จากภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ (สัดส่วนราว 36% ของพอร์ตสินเชื่อธนาคาร) น่าจะแข็งแกร่งสุดในสภาวะปัจจุบัน พิจารณาจากมาตรการชะลอชำระหนี้ (Loan payment holiday) ที่มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการราว 6.6 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรายย่อย, SME และ สินเชื่อรายใหญ่ ราว 57%, 32% และ 11% ตามลำดับ โดยกลุ่มลูกหนี้รายย่อย ที่มีปัญหาฟื้นตัวช้า ตามข้างต้น นำไปสู่มาตรการชะลอชำระหนี้เฟส 2 ที่เปิดให้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 1 ก.ค. 31 ธ.ค. 63 แม้ช่วยชะลอการไหลตกชั้นชั่วคราว แต่หากฟื้นตัวช้า ย่อมเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบธนาคารพาณิชย์

คงน้ำหนัก น้อยกว่าตลาด จากทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงความน่าสนใจด้าน Div Yield ในปี 2563 เริ่มลดลง แนะนำ ขายย้ายกลุ่มเล่นชั่วคราว

ผลกระทบต่อกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์

ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 โดยการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล (เดิม 28% ลงเหลือ 25%) สินเชื่อจำนำทะเบียน (เดิม 28% เหลือ 24%) และสินเชื่อบัตรเครดิต (เดิม 18% เหลือ 16%) ชั่วคราว มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 63-31 ธ.ค. 64 และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 อาทิ เลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) เป็นเวลา 3 เดือน หรือการลดอัตราการผ่อนขั้นต่ำ เป็นต้น เริ่มให้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 1 ก.ค.- 31 ธ.ค. 63 ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่า AEONTS จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวมากสุด เพราะปัจจุบัน AEONTS คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต (39% ของสินเชื่อรวม) ที่ราว 20% (รวมค่าธรรมเนียมเบิกเงินสด) และคิดอัตราดอกเบี้ยบัตรกดเงินสด (50% ของสินเชื่อรวม) ที่ราว 26% ทำให้ฝ่ายวิจัยมีแนวโน้มปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563/64-65 ของ AEONTS ลงราว 15% และ 21% จากปัจจุบัน และยังคงแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุน AEONTS ไปก่อน  

ขณะที่ SAWAD และ MTC จะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะปัจจุบันคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าที่ราว 22% ต่ำกว่าคาดการณ์เพดานสินเชื่อใหม่ที่ 24% อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามคุณภาพลูกหนี้ของกลุ่มเช่าซื้อด้วย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว จากผลกระทบ COVID-19 จะกดดันความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าลง

โดยราคาหุ้นกลุ่มเช่าซื้อส่วนใหญ่ได้ปรับเพิ่มขึ้นจนเต็มมูลค่าพื้นฐานแล้ว อีกทั้ง ยังได้รับ sentiment เชิงลบจากมาตรการควบคุมอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารแห่งประเทศไทย จึงแนะนำให้หลักเลี่ยงการลงทุนไปก่อน

หลายบททดสอบ ฉุดรั้งดัชนีแพงให้มีโอกาสปรับฐาน ชอบ หุ้นปันผล INTUCH, หุ้นเล็ก SPVI

ปัจจุบัน SET Index อยู่ที่ 1370.82 จุด ซึ่งซื้อขายกันบน PER63F ที่สูงเกินกว่า 21.4 เท่า (สูงสุดในภูมิภาค) จนไม่เหลือ Upside ในทางพื้นฐานแล้ว เนื่องจากสูงกว่าดัชนีเป้าหมายปี 2563 ที่ฝ่ายวิจัยประเมิน 1164 จุด และสูงใกล้เคียงกับดัชนีเป้าหมายปี 2564 ที่ 1407 จุด

อย่างไรก็ตามภาพความหวังดัชนีของนักลงทุนที่มองข้ามไปถึงปี 2564 เริ่มสะดุด หรือเริ่มเห็นหลุมที่กว้างขึ้นจากบททดสอบทางเศรษฐกิจหลายด้าน ดังนี้

   กลุ่มธ.พ. นำทีมกดดันตลาด ความกังวลต่อการงดจ่ายปันผลระหว่างการของหุ้นในกลุ่ม ธ.พ. รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ออกมาพร้อมๆกัน แสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และผลกระทบจาก COVID-19 ที่อาจรุนแรงกว่าที่ตลาดคาด กดดันอุตสาหกรรมธุกิจการเงินที่มีสัดส่วน Market Cap กว่า 12.42% ของตลาด (กลุ่ม ธ.พ. 9.05%, กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 3.37%)

   กำไรบริษัท 2Q63 ยังมีโอกาสเป็นจุดต่ำสุดของปี หลังเผชิญกับผลกระทบ COVID-19 เกือบเต็มไตรมาส ถือเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการ

   Fund Flow ที่ยังชะลอไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยต่างชาติยังขายสุทธิหุ้นไทย 2.0 แสนล้านบาท (ytd) และเป็นการขายสุทธิทุกเดือน ขณะที่แรงซื้อของสถาบันฯเริ่มชะลอลงอย่างเห็นได้ขัด

   ตลาดเข้าสู่ภาวะเก็งกำไร ปัจจุบันน้ำหนักการลงทุนถูกเบี่ยงไปที่หุ้น Market Cap. กลาง-เล็ก มากขึ้น สะท้อนได้จาก ดัชนี SSET ให้ผลตอบแทนสูงถึง 6.5%(mtd) ขณะที่ตลาดหุ้นขนาดใหญ่ อย่าง SET50 ให้ผลตอบแทนเพียง 1.3%(mtd) เท่านั้น

ดังนั้นกลยุทธ์การหลีกเลี่ยงหุ้นธ.พ. ชั่วคราว แล้วให้น้ำหนักการลงทุนไปที่หุ้นปันผลสูง ถือเป็นตัวแทน ธ.พ. ได้ดี ชอบ TTW, INTUCH, TVO และ DIF รวมถึงหุ้นจิ๋วแต่แจ๊ว DCC, SPVI

Top pick วันนี้เลือก INTUCH, SPVI

RESEARCH DIVISION

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม

นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน และทางเทคนิค

เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132

ภราดร เตียรณปราโมทย์

นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์

เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365

ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์

นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์

เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636

วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร

นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์

เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506

ภวัต ภัทราพงศ์

ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ

******************************************

 

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!