- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 13 May 2020 11:57
- Hits: 2659
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 13-5-2020
กลยุทธ์การลงทุน
การปรับขึ้นมาที่บริเวณ 1300 จุด ทำให้ Valuation ทางพื้นฐานค่อนข้างตึงตัว โดยมีค่า PER สิ้นปี 2563 ก่อนปรับลดประมาณการที่ 18 เท่า และอาจสูงถึง 20 เท่า หลังปรับลดประมาณการ อีกทั้งยังมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงการกลับมาระบาดของ Covid-19 หลังการคลายมาตรการ Lockdown สถานการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้เกิดแรงขายทำกำไร หุ้น Top Picks วันนี้เลือก BCP (FV@B 22) และ BCH (FV@B 18.68) ส่วนพอร์ตการลงทุนไม่มีการปรับเปลี่ยน
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวขึ้นตลอดวันสวนทางตลาดหุ้นในภูมิภาค จากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 2 รายทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะคลายล็อคดาวน์เฟส 2 มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปตามกำหนดการเดิมในวันที่ 17 พ.ค.63 จึงทำให้ตลาดหุ้นปิดตัวในแดนบวกที่ระดับ 1299.69 จุด เพิ่มขึ้น 12.39 จุด หรือ +0.96% มูลค่าการซื้อขาย 5.93 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่หนุนตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานได้แก่ PTT(+2.11%) PTTEP(+1.20%) GPSC(+2.77%) GULF(+1.27%) กลุ่มอาหารเช่น MINT(+0.52%) CPF(+3.64%) CBG(+2.37%) และกลุ่มขนส่งอาทิ AOT(+1.67%) BEM(+1.03%) THAI(+10.68%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่างเช่น CRC(+2.03%) IVL(+2.68%) และ BANPU(+14.41%) เป็นต้น
จนถึงปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนรวม 190 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 56.2% ของ Market Cap รวมที่ประกาศผลประกอบการงวด 1Q63 ออกมาแล้ว พบว่ามีกำไรสุทธิราว 6.37 หมื่นล้านบาท ลดลง 53.7% QoQ และ 65.6% YoY ถือเป็นการหดตัวที่รุนแรง ขณะที่ทิศผลประกอบการงวด 2Q63 น่าจะยังอ่อนตัวเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Real Sector สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะนำไปสู่การปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ของบริษัทจดทะเบียนอีกครั้งหลังหมดช่วงการประกาศงบการเงิน โดยประมาณการปัจจุบันคาดหมายว่ากำไรสุทธิปี 2563 ของบริษัทจดทะเบียนจะอยู่ที่ 7.8 แสนล้านบาท คิดเป็น 72.6 บาท/หุ้น ลดลง 17% YoY สำหรับประเด็นที่อยู่ในความสนใจวันนี้ น่าจะเป็นเรื่องของการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ซึ่งเป็นแนวโน้มที่หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยดำเนินการอยู่
ทั้งนี้ความคาดหวังเชิงบวกเป็นเรื่องของผลทางเศรษฐกิจที่จะกลับมาเคลื่อนไหวเกิดกิจกรรมมากขึ้น และได้ส่งผลทำให้ช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นได้มีการตอบสนองเชิงบวกขึ้นไปรอรับแล้ว แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นการสร้างความกังวลว่า Covid-19 จะกลับมาระบาดอีกรอบหนึ่ง ซึ่งในส่วนนี้อาจทำให้เห็นแรงขายทำกำไรระยะสั้นออกมาได้ สำหรับในตลาดหุ้นไทย ฝ่ายวิจัยเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นการขายทำกำไรออกมา เพราะนอกจากความกังวลเรื่องการกลับมาของ Covid-19 แล้ว ยังมีองค์ประกอบในเรื่อง Valuation ของตลาดหุ้นไทยที่ตึงตัวอีกส่วนหนึ่งด้วย โดยที่ระดับ SET Index 1300 จุด จะให้ค่า PER ก่อนปรับลดประมาณการกำไรสุทธิที่ 18 เท่า และอาจจะสูงถึง 20 เท่า หลังปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงมาก กลยุทธ์การลงทุนในช่วงเวลานี้ จึงให้ความสนใจกับหุ้นที่ Laggard ในขาขึ้นรอบที่ผ่านมา โดยวันนี้เลือก BCH และ BCP เป็น Top Pick ส่วนพอร์ตการลงทุน ไม่มีการปรับเปลี่ยน
ตลาดหุ้นโลกให้น้ำหนัก การระบาด COVID-19 รอบ 2
ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานลงวานนี้จากกระแสความกังวลการระบาดของไวรัส COVID-19 ระยะที่ 2(2nd Wave) ดังเช่นในสหรัฐ นำโดย ดัชนี Dow Jones ลดลง 1.89%, S&P 500 ลดลง 2.05% และ NASDAQ ลดลง 2.06% เมื่อวานนี้ ดร. Anthony อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อของสหรัฐ (NIAID) ออกมาแสดงความกังวลว่าสหรัฐอาจเผชิญการระบาดรอบที่ 2 หลังจากมีการ Reopen ประเทศเร็วไป
ทั้งนี้ ASPS ให้น้ำหนักประเด็นการระบาดรอบ 2 (2nd Wave) โดยพิจารณา Indidicator คือ Mobality Trend ของ Apple วัดกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อาทิ การขับรถ, การเดิน, ระบบขนส่ง ฯลฯ ซึ่งวัด % เทียบกับ Baseline (ดังรูป) เป็นที่สังเกตุว่า
ประเทศที่เกิด(2nd Wave) อาทิ เยอรมัน, เกาหลีใต้ หลังจากมีการเปิดประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเพิ่มขึ้น (ดังรูป) คือ –ติดลบน้อยลงเมื่อเทียบกับ baseline ในช่วงเดือน พ.ค. พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ส่วนไทย แม้ปัจจุบัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะยังไม่กลับมาปกติ แต่เป็นประเด็นที่ยังต้องติดตาม
MobalityTrend of Apple VS. COVID-19 New Case รอบที่ 2 ของเยอรมัน, เกาหลีใต้
ที่มา : APPLE, ASPS รวบรวม
โดยรวมหาก (2nd Wave) เกิดขึ้นมีโอกาสที่ตลาดหุ้นถูก Take Profit ดังเช่น ตลาดหุ้น เยอรมัน, เกาหลีใต้ ฯลฯ ที่เห็นการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ รอบที่ 2 ในช่วงต้นเดือน พ.ค.-ปัจจุบัน และปรับฐานลง
ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ในวันนี้ให้น้ำหนัก การแถลงข่าวของประธาน Fed นาย Jerome Powell เวลาประมาณหัวค่ำ ตามเวลาไทยโดยติดตามว่าจะมีมุมมองด้านการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ อย่างไร หลังจากมีกระแสประธานาธิบดีทรัมป์ กดดันให้ Fed ควรใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ดังเช่น ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนในประเทศ การประชุม ครม.วานนี้ ไม่มีประเด็นเป็นพิเศษ ยังต้องติดตามการพิจารณาคลายมาตรการปิดเมือง (Reopen) ระยะที่ 2
MSCI Play : แนะเก็งกำไร AWC, BAM, KTC ก่อนวันบังคับใช้
MSCI (Morgan Stanley Capital International) ประกาศรายชื่อหุ้นที่ถูกนำเข้าและคัดออกในดัชนี MSCI Global Standard และ MSCI Global Small Cap มีผลตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2563 ดังตารางด้านล่าง
ที่มา: MSCI
จากสถิติในอดีต พบว่า หุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี MSCI มักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงวันก่อนการเข้าคำนวณ โดยเฉพาะหลังประกาศจนถึงวันที่มีผลบังคับใช้ ซึ่งหุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard มักจะ Outperform ตลาด เช่น รอบที่ผ่านมา เดือน ธ.ค. 2562 หุ้นที่ถูกคัดเข้าอย่าง BGRIM SAWAD GPSC ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนวันมีผลบังคับใช้ 3.4%, 1.5%, 1.4% ตามลำดับ ขณะที่ SET Index ลดลง 1.03% และจากสถิติในอดีตย้อนหลัง 12 ปี พบว่า หุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard ให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ยราว 4.6% และมีความน่าจะเป็นที่จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 75%
ส่วนหุ้นที่ถูกคัดออกมีโอกาสปรับตัวลดลง โดยเฉพาะถูกคัดออกจากดัชนี MSCI Global Standard ในอดีตลดลงเฉลี่ย 10.9% โอกาสลดลง 92% และหุ้นที่ถูกคัดออกจากดัชนี MSCI Global Small Cap ลดลงเฉลี่ย 4.9% มีโอกาสปรับตัวลดลง 79%
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุน แนะนำเก็งกำไรหุ้นที่ถูกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Standard อย่าง AWC, BAM และ KTC ในวันที่ประกาศ และขายทำกำไรในวันที่มีผลบังคับใช้ (2 สัปดาห์หลังจากนี้) น่าจะ Outperform ได้ดียามที่ตลาดยังอยู่ในภาวะผันผวน ส่วนหุ้น BANPU อาจจะผันผวนในช่วงนี้ เนื่องจากถูกกดดันจากการถูกคัดออกจากดัชนี MSCI Global Standard และยังมีโอกาสถูกคัดออกจาก SET50 ในรอบที่จะถึง เนื่องจากอันดับ Maket Cap. ลดลงมาอยู่อันดับที่ 77 ของหุ้นทั้งหมดใน SET Index
ความเสี่ยงปรับลดกำไรบวกความกังวลการระบาดระยะที่ 2 กดดันตลาด ชอบ BCP BCH
ความกังวลการระบาดระยะที่ 2 ของ COVID-19 กลับมากดดันตลาดหุ้นอีกครั้ง หลังหลายๆประเทศเริ่มทยอยเปิดเมือง บวกกับก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นได้สะท้อนความคาดหวังการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปในระดับหนึ่งแล้ว สังเกตได้จากผลตอบแทนเฉลี่ยในดัชนีหลักๆ ของโลก 9 ประเทศ ในช่วงหลังผ่อนคลาย Lock Down (ระยะเวลาเฉลี่ย 18 วันทำการ) กลับให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 1.13% ซึ่งชะลอลงกว่าช่วงก่อนที่จะผ่อนคลาย Lock Down (ระยะเวลาเฉลี่ย 21 วันทำการ) ให้ผลตอบแทนสูงถึง 22.5%
ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนก่อนและหลังวันประกาศปลด Lockdown ของตลาดหุ้นหลักๆของโลก
ที่มา : ฝ่ายวิจัย ASPS
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงจากการถูกปรับลดประมาณการกำไรลง ที่ล่าสุดมีการรายงานกำไรบริษัทจดทะเบียนงวด 1Q63 มาแล้วทั้งสิ้น 190 บริษัท (คิดเป็น 56.2% ของมูลค่าตลาด) มีกำไรสุทธิรวมกันทั้งสิ้น 6.37 หมื่นล้านบาท ลดลงถึง 53.7%QoQ และ 65.6%YoY (ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ลดลง 17%) เพราะฉะนั้นการที่กำไรงวด 1Q63 ลดลงแรงขึ้นกว่าตัวเลขที่นำเสนอวานนี้ บวกกับมีแนวโน้มลดลงอีกในงวด 2Q63 ทำให้โอกาสในการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ลงอีก ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของตลาด
ดังนั้นยามที่ Valuation ตลาดเริ่มตึง หลังตลาดหุ้นทั่วโลกสะท้อนประเด็นการเปิดเมืองมาพอสมควร รวมถึงจากข้อมูล Mobility Trend รวบรวมโดย Apple พบว่า ประเทศที่เริ่มกลับมาดำเนินการทางเศรษฐกิจใกล้เคียงภาวะปกติ มีโอกาสเผชิญความเสี่ยงการระบาดระยะที่ 2 ตามไปด้วย เช่น เยอรมัน เกาหลีใต้ เป็นต้น (ตามหัวข้อก่อนหน้า) กลยุทธ์การลงทุนจำเป็นต้องพิถีพิถันในการลงทุน และแนะลงทุนในหุ้นที่ Laggard มีโอกาสเป็นเป้าหมายของ Fund Flow ในการ Rotation มาถึงในระยะถัดไป คือ BCP และ BCH
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web