- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 07 May 2020 14:42
- Hits: 2442
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 7-5-2020
กลยุทธ์การลงทุน
ตัวเลขเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องกัน 2 เดือน ทำให้เรามีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดมากขึ้น ซึ่งในภาวะดังกล่าวพบว่าจะทำให้ราคาสินค้า - บริการ ตลอดจนมูลค่าสินทรัพย์ ของในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมปรับลดลงได้ ส่วนทิศทาง SET Index วันนี้คาดว่ายังอยู่ในช่วงการปรับฐาน วันนี้แนะนำปรับพอร์ตโดยขายทำกำไร DOHOME และ RATCH นำเงินเข้าลงทุนใน BCP สำหรับหุ้น Top Picks เลือก BCP (FV@B 22), DCC (FV@B 2.28) และ STA (FV@B 14)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วันอังคารที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงตามตลาดหุ้นทั่วโลก แม้จํานวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในบ้านเราจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามมีปัจจัยกดดันจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯที่มีความเสี่ยงมากขึ้น จนทำให้ตลาดหุ้นปิดในแดนลบที่ระดับ 1278.63 จุด ลดลง 23.03 จุด หรือ -1.77% มูลค่าการซื้อขาย 5.13 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานได้แก่ PTT(-1.41%) PTTEP(-0.59%) BGRIM(-3.91%) RATCH(-1.88%) กลุ่มขนส่งเช่น AOT(-2.81%) BEM(-2.65%) BTS(-1.74%) และกลุ่มค้าปลีก อาทิ CPALL(-1.76%) BJC(-5.59%) CRC(-3.38%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่างเช่น IVL(-6.09%) AWC(-5.45%) และ SCC(-2.31%) เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์รายงานสถานการณ์เงินเฟ้อเดือน เม.ย.2563 เป็นตัวเลข -2.99% ซึ่งถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเดือน มี.ค.2563 อยู่ที่ -0.54% และเป็นสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืด ทั้งนี้โดยนิยามแล้วการที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเกณฑ์ในเบื้องต้นจะต้องมีอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องกัน 3 เดือน ทั้งนี้จากข้อมูลในอดีตพบว่าช่วงเวลาที่เกิดเงินฝืดจะส่งผลทำให้ราคาสินค้าและบริการในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมลดลง ซึ่งที่ชัดเจนได้แก่ กลุ่มขนส่ง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และ กลุ่มบันเทิง และหากนำสถานการณ์ดังกล่าวมารวมกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีแนวโน้มหดตัวแล้ว ฝ่ายวิจัยเห็นว่าอาจต้องให้ความระมัดระวังกับแรงกดดันที่จะมากระทบผลประกอบการของหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างเช่น อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนต้นทุนคงที่สูง อย่าง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์, ปิโตรเคมี , สถานีบริการน้ำมันเป็นต้น
ขณะที่บางอุตสาหกรรมอาจต้องเผชิญกับราคาสินทรัยพ์ที่ลดต่ำลง ที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งประเภทพัฒนาเพื่อขาย และพัฒนาเพื่อให้เช่า สำหรับประเด็นอื่นที่ต้องติดตามเป็นเรื่องของมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่เน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรื่อน โดยปัจจุบันเม็ดเงินที่รัฐจ่ายเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 น่าจะทยอยเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ผลของเรื่องนี้ก็น่าจะมีส่วนช่วยเพียงระยะสั้นๆ หากภาคธุรกิจต่างๆ ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการสร้างรายได้ตามปกติ สำหรับทิศทางของ SET Index วันนี้คาดว่าน่าจะยังเป็นช่วงของการปรับฐานราคา แต่ Downside ไม่น่าจะมากนัก กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ แนะนำปรับพอร์ตโดย ขายทำกำไรหุ้น DOHOME และ RATCH ซึ่งมีอยู่อย่างละ 5% ของพอร์ต์ และนำเงินเข้าลงทุนใน BCP ซึ่งฝ่ายวิจัยเห็นว่าเป็นหุ้นกลุ่มโรงกลั่น ที่ราคาหุ้นยัง Laggard กลุ่มอุตสาหกรรมอยู่มาก ส่วน Top Picks เลือก BCP, DCC และ STA
เงินเฟ้อไทย อาจเปลี่ยนเป็นเงินฝืดในอนาคต กระทบต่อ อสังหาฯ, ยานยนต์ ชิ้นส่วน ฯลฯ
กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อไทยเดือน เม.ย. 2563 คือเงินเฟ้อทั่วไป -2.99%yoy ติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน หลักๆมาจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานหดตัวแรง 29.31% ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง และอาหารสด
ASPS ประเมินว่าทั่วโลกและไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเงินฝืด(Deflation) ในปี 2563 ทั้งนี้เนื่องจากพิจารณาหลักเกณฑ์ภาวะเงินฝืด พบว่าไทยเข้าเกณฑ์
แม้ปัจจุบันไทยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามทฎษฎี แต่หากประเมินแนวโน้มที่เหลือของปีนี้ ทั้งราคาน้ำมันดิบ ล่าสุด แกว่งบริเวณ 25-26 เหรียญฯ และมีโอกาสทรงตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันดูไบปี 2562 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 62 เหรียญฯ และเศรษฐกิจโลกและไทยปี 2H2563 ที่ยังไม่ฟื้นตัว
ผลกระทบภาวะเงินฝืด ASPS คาดจะกระทบ 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ราคาสินค้าปรับลดลง : อ้างอิงจากในอดีต 2 ครั้งล่าสุดที่อัตราเงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน เกิน 6 เดือน คือ ปี 2552 และ ปี 2558 (ดังตารางด้านล่าง) พบว่าทุกๆครั้ง Sector ที่ราคาลดลง(ติดลบ) ได้แก่ กลุ่มการขนส่ง อาทิ อากาศยาน ฯลฯ ปัจจัยสำคัญมาจากราคาน้ำมันลดลง, กลุ่มเคหสถาน โดยปัจจุบันที่เริ่มเห็นกระแสการปรับลดราคาขขายอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น และสาธารณูปโภคลดลง เช่นไฟฟ้า, ประปา, แก๊ส เป็นต้น, กลุ่มบันเทิง ผลจากค่าธรรมเนียม ค่าสมาชิก และอุปกรณ์การบันเทิงลดลง
อุตสาหกรรมที่มีต้นทุนคงที่(Fixed cost) สูง: อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ปิโตรเคมี น้ำมัน และสถานบริการน้ำมัน, ยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตในภาค Real sector อื่นๆ
ต่างประเทศ กลับมาให้น้ำหนักการรายงานตัวเลขการจ้างงานสหรัฐ
ปัจจัยต่างประเทศ ตลาดน่าจะกลับมาให้น้ำหนักการรายงานดัชนีเศรษฐกิจด้านการจ้างงานอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังวานนี้ สหรัฐรายงานการจ้างงานอกภาคเกษตรของสถาบัน ADP (ADP Nonfarm Employment) เดือน เม.ย. 2563 ลดลง 20. 24 ลดลงมากขึ้นจากเดือน มี.ค. 2563 ที่ลดลง 1.49 แสนราย และยังสูงกว่าที่ตลาดคาดจะลดลง 2 ล้านราย
และคาดตลาดให้น้ำหนักวันศุกร์นี้สหรัฐจะรายงานการจ้างงานอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) งวดเดือน เม.ย. 2563 ตลาดคาดจะลดลง 22 ล้านราย มากว่าเดือน มี.ค. 2563 ที่ลดลง 7 แสนราย และตลาดคาดจะส่งผลให้อัตราการว่างงานเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นเป็น 16% (สูงสุดในประวัติศาสตร์) จากเดือน มี.ค. ที่ระดับ 4.4%
เริ่มเห็น Sell in May จากเงินทุนหลบเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย ชอบ BCP STA DCC
เริ่มต้นเดือน พ.ค. 63 ตลาดหุ้นทั่วโลกกว่า 71 ใน 94 ประเทศ ปรับตัวลดลงทั้งสิ้น และหากสังเกตจากดัชนี MSCI ACWI (MSCI All Country World Index คือ ดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนหุ้นทั่วโลก) พบว่า ลดลงถึง 2.2%mtd ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งเปิดทำการได้วันเดียวในเดือนนี้ลดลง 1.77%mtd ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นเดือนของตลาดหุ้น 94 ประเทศทั่วโลก
ที่มา : ฝ่ายวิจัย ASPS
ส่วนหนึ่งเกิดจาก Fund Flow ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากต่างชาติยังขายสุทธิตลาดหุ้นทุกแห่งในภูมิภาคกว่า 2.97 พันล้านเหรียญ mtd รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ถูกต่างชาติขายสุทธิ 142 พันล้านเหรียญ mtd หรือ 4.6 พันล้านบาท mtd
มูลค่าซื้อขายสุทธิสะสมหุ้นของต่างชาติในภูมิภาค
ที่มา: Bloomberg,ฝ่ายวิจัย ASPS
ข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 6 พ.ค.63
โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ได้มีการไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้ง สังเกตได้จาก Bond Yield 1 ปี ของไทยที่ลดลงมาทำจุดต่ำสูดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 0.62% ตอกย้ำตลาดหุ้นยังมีโอกาสปรับฐาน จาก Fund Flow ที่ไหลออก บวกกับตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแรงในช่วงก่อนหน้า และความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก เช่น สงครามทางการค้ารอบใหม่ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ไม่สดใส อาจทำให้เริ่มเห็นภาพเหตุการณ์ Sell in May ได้ลางๆ
กลยุทธ์การลงทุน แบ่งออกเป็น 2 ธีม คือ
- เน้นลงทุนในหุ้นผันผวนต่ำ ปันผลสูง ชอบ BTSGIF และ DCC สามารถคาดหวัง Dividend Yield ได้สูงถึง 9.4% และ 7.4% ต่อปี ตามลำดับ
- เน้นลงทุนในหุ้นที่มีแรงส่งเฉพาะตัว ชอบ
STA แนวโน้มผลประกอบการเติบโตโดดเด่นนับตั้งแต่งวด 1Q63 เป็นต้นไป จากความต้องการใช้ถุงมือยางที่เพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง พร้อมกับได้ Sentiment บวกจากการเตรียมนำบริษัทลูก STGT เข้าสู่ตลาดในช่วง 3Q63 ถือเป็นการระดมทุนช่วยขยายกิจการให้ตอบรับกับความต้องการใช้ถุงมือยางได้ในเวลาที่เหมาะสม
BCP หุ้น Laggard 3 ด้าน ที่น่าสนใจลงทุน ด้านแรก Laggard ราคาน้ำมันดิบโลกที่ที่ฟื้นขึ้นต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ ด้านที่สอง ราคาหุ้น Laggard กลุ่มโรงกลั่นอยู่มาก โดยในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 3.3% ขณะที่หุ้นในกลุ่มโรงกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง เช่น SPRC เพิ่มขึ้น 23.9%, IRPC 13.0%, TOP, 10.2% เป็นต้น ด้านที่สาม ราคาหุ้น BCP ยัง Laggard ราคาหุ้นลูกอยู่มาก ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BCPG ปรับตัวขึ้นถึง 22.7% ซึ่ง BCP ถือครอง BCPG อยู่ถึง 70.04%
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web