- Details
-
Category: บทวิเคราะห์
-
Published: Tuesday, 05 May 2020 10:38
-
Hits: 4327
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 5-5-2020
กลยุทธ์การลงทุน
วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
ระดับ SET Index ปัจจุบันมีค่า PER สูงราว 18 เท่า ซึ่งถือว่าแพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค อีกทั้งปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐานก็มีน้ำหนักไปในทางลบ เชื่อว่ามีโอกาสที่จะเห็นแรงขายทำกำไร สำหรับประเด็นหุ้นรายตัวที่สำคัญในวันนี้เป็นเรื่องของ BAM ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่กรมบังคับคดีต้องหยุดการประมูลขายทอดตลาดชั่วคราว พอร์ตการลงทุนแนะนำ ขายทำกำไร DOHOME บางส่วน และสลับเงินเข้า DCC Top Picks เลือก DCC (FV@B 2.28), PTT (FV@B 42) และ STA (FV@B 14) SET Index 1,301.66เปลี่ยนแปลง (จุด) 18.98 มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 79,146
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาค จากที่จํานวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในบ้านเรายังคงทรงตัวในระดับตํ่าโดยวันนี้เพิ่มขึ้นเพียง 7 รายรวมเป็น 2954 ราย ขณะที่มีความคืบหน้าต่อการคลาย Lockdown ทางธุรกิจมากขึ้น จึงทำให้ตลาดหุ้นปิดในแดนบวกที่ระดับ 1301.66 จุด เพิ่มขึ้น 18.98 จุด หรือ +1.48% มูลค่าการซื้อขาย 7.90 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่หนุนตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานได้แก่ PTT(+4.41%) PTTEP(+7.99%) TOP(+4.46%) GPSC(+0.36%) กลุ่มขนส่งเช่น AOT(+3.75%) BEM(+0.53%) BTS(+2.68%) และกลุ่มธ.พ. อาทิ BBL(+3.48%) KBANK(+2.68%) SCB(+3.79%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่เช่น CPALL(+3.27%) SCC(+1.76%) และ IVL(+4.55%) เป็นต้น
SET Index ปรับขึ้นมายืนเหนือ 1300 จุด ได้สำเร็จในวันทำการสุดท้ายของเดือน เมษายน 2563 แต่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ เชื่อว่าการยืนอยู่เหนือ 1300 จุดถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากที่ระดับ SET Index ดังกล่าว มีค่า PER ที่สูงเกือบ 18 เท่า ซึ่งถือว่าค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในอื่นในภูมิภาค อีกทั้ง ปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐาน ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นลบ โดยส่วนใหญ่เป็นผลกระทบที่มาจาก Covid-19 ซึ่งจะถูกสะท้อนผ่านการประกาศตัวเลขต่างๆ เริ่มจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในภาค Real Sector ที่จะทยอยประกาศออกมาในช่วง 2 สัปดาห์นี้ คาดว่าจะเห็นการหดตัวอย่างมีนัยสำคัญโดยฐานกำไรสุทธิรวม น่าจะต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทมากพอสมควร ถัดไปในวันที่ 18 พ.ค.2563 จะมีการประกาศตัวเลข GDP Growth ในงวดไตรมาสที่ 1/63 ซึ่งน่าจะเห็นการหดตัวทั้ง Yoy และ QoQ ขณะที่แนวโน้มในงวด 2Q63 ก็ถูกคาดหมายว่าจะเห็นการหดตัวที่รุนแรงกว่า 1Q63 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 เก็บเต็มไตรมาส ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดก็เท่ากับว่าหลังการประกาศ GDP งวด 2Q63 เราก็จะเข้าสู่ภาวะ Technical Recession ภายใต้สภาพแวดล้อมดังกล่าวจึงเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะ Sell in May ขึ้นมาในปีนี้ อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่เป็นความคาดหวังเชิงบวกคือการใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะมีการอัดฉีดเม็ดเงินก้อนใหญ่เข้ามา 1.9 ล้านล้านบาท โดยหากทำได้รวดเร็วและตรงเป้าหมาย ก็จะช่วยลดระดับความรุนแรงของปัญหาลงมาได้ สำหรับประเด็นเกี่ยวกับหุ้นรายตัว ที่เด่นที่สุดของวันนี้ น่าจะเป็น กรณีที่ กรมบังคับคดี จำเป็นต้องหยุดการจัดการประมูลขายทอดตลาดทรัพย์ ในช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. 2563 และอาจตัองหยุดต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 จะควบคุมได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว จะกระทบโดยตรงต่อ BAM ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ราว 61% มาจากการขายทรัพย์ผ่านช่องทางของกรมบังคับคดี โดยจจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนในงวด 2Q63 ทำให้ฝ่ายวิจัยต้องปรับลดประมาณการ และแนะนำให้ขายทำกำไรออกไปก่อน ส่วนพอร์ตการลงทุนวันนี้ แนะนำให้ปรับโดย ขายทำกำไร DOHOME ออก 5% ของพอร์ต และนำเงินเข้าลงทุนใน DCC ส่วน Top Picks เลือก DCC, PTT และ STA
ผลกระทบ Covid-19 ปรากฎบนตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกชัดเจน...
ตลาดหุ้นโลกปรับฐานช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านจากปัจจัยกดดัน คือ
การระบาดของไวรัส COVID-19 เริ่มส่งผลกระทบไปถึงภาคเศรษฐกิจจริง (Real sector) ชัดเจนมากขึ้น สะท้อนจากการรายงาน GDP งวด 1Q63 ของหลายประเทศหดตัว %qoq ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับงวด 4Q62 เช่น ยุโรปหดตัว 3.8%qoq (งวด 4Q62 ขยายตัว 0.1%), สหรัฐหดตัว 1.2%qoq (งวด 4Q62 ขยายตัว 0.5%), ฮ่องกงหดตัว 3.8%qoq (งวด 4Q62 หดตัว 0.5%), สิงคโปร์หดตัว 10.6%qoq (งวด 4Q62 ขยายตัว 0.6%), จีนหดตัว 9.8%qoq (งวด 4Q62 ขยายตัว 1.5%) เป็นต้น ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย(Technical Recession) ดังตาราง อย่างไรก็ตาม GDP งวด 1Q63 เพิ่งจะได้รับผลกระทบของ COVID-19 ไปเพียงเดือนเดียว (เดือน มี.ค. 2563) ส่งผลให้ GDP ในงวด 2Q63 ยังมีโอกาสถูกกดดันจากไวรัส COVID-19
GDP %qoq งวด 1Q63
ที่มา: Bloomberg
- • ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐกำลังพิจารณาเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเชื่อว่าจีนเป็นสาเหตุของไวรัส COVID-19 ที่แพร่กระจาย และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก ท่าทีล่าสุดของสหรัฐดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าสงครามการค้า (Trade war) อาจหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังสหรัฐกับจีนได้เซ็นสัญญาพักรบไปตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นโลกล่าสุด ได้ผ่อนคลายความกังวลลง ภายหลังนาย Steven Mnuchin รัฐมนตรีคลังของสหรัฐ ระบุว่ากำลังเตรียมพิจารณากู้เงินอีกเกือบ 3 ล้านล้านเหรียญ ภายในงวด 2Q63 นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐรอบใหม่ หลังเผชิญผลกระทบจากไวรัส COVID-19
ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 4 วันติด และทำจุดสูงสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ดีต่อ หุ้น PTT
ราคาน้ำมันดิบโลกทั้ง WTI และ Brent ปรับเพิ่มขึ้น 4 วันติดและทำจุดสูงสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยปัจจัยหนุนหลักๆมาจาก ฝั่ง Demand การบริโภคน้ำมันผ่อนคลาย หลังจากหลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้บางส่วนและทยอยเปิดธุรกิจ(Reopen) ล่าสุด คือ ฟินแลนด์ และสหรัฐ ในบางรัฐยังคงทยอยเปิดต่อเนื่อง ล่าสุด เปิดทั้งหมด 28 รัฐจากทั้งหมด 50 รัฐในสหรัฐ ขณะที่ฝั่ง Supply ตลาดยังให้น้ำหนักการประชุม OPEC+ รอบพิเศษวันที่ 10 พ.ค. มีแนวโน้มตัดลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันทำข้อตกลงลดกำลังการผลิต 10 ล้านบาณ์เรล/วัน เพื่อชดเชย Demand ที่หายไป
ที่มา: ASPS รวบรวม
โดยรวมราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับขึ้นติดต่อกันดังกล่าว ถือเป็น Sentiment บวกต่อหุ้นพลังงาน โดยแนะนำลงทุน PTTEP (FV@B>100) และ PTT (FV@B>42)
เศรษฐกิจไทยปี 2563 หวังเม็ดเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ช่วยลดผลกระทบ
ประเด็นสำคัญในประเทศตลาดยังให้น้ำหนักคือ การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ ที่ยังเห็นสัญญาณดีขึ้น คือ แม้เมื่อวานนี้จะเพิ่ม 18 ราย(แต่เป็นแรงงานต่างด้าวในศูนย์กักกันตัว จ. สงขลา ทั้งหมด) และไม่มีผู้เสียชีวิต 4 วันติดต่อกัน (ดังรูป) อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐเริ่มเปิดให้ธุรกิจบางประเภท อาทิ ร้านค้าที่อากาศเปิด สวนสาธารณะ ฯลฯ ทำให้ยังต้องระวังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีความสุ่มเสี่ยงอาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง หรือ Second Wave
จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ของไทย ต่อวัน
ที่มา: Bloomberg
อีกประเด็นสำคัญ คือ การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่เห็นสัญญาณชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี โดยสำนักเศรษฐกิจหลายฝ่ายคาด GDP ปี 2563 จะหดตัว 5-7% (ธปท. คาด -5.3% ASPS คาด - 1.4%yoy โดยรอการประกาศ GDP งวด 1Q63 จากสภาพัฒน์ฯ วันที่ 18 พ.ค.2563 ก่อน) อย่างไรก็ตามยังคงมุมมองงวด 2Q63 จะเป็นงวดที่ GDP จะติดลบมากที่สุด และน่าจะเป็น Bottom ของปี และจะค่อยๆ ดีขึ้นในงวดไตรมาส 3 เป็นต้นไป โดยรวมยังมี Downside อาจจะปรับลดคาดการณ์ลงในอนาคต
ทั้งนี้การจะกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ตกหลุมลึก ยังคงต้องหวังจากเม็ดเงิน 1.9 ล้านล้านบาททั้งด้านการเงินการคลังของภาครัฐบาลและ ธปท. แบ่งเป็น
มาตรการ Softloan ของ ธปท. วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยที่ ธปท. คาดว่าจะหนุน GDP เพิ่มขึ้นราว 3% โดยสัปดาห์แรกมีการใช้ไปในวงเงินราว 2.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เม็ดเงินส่วนใหญ่จะนำช่วยเหลือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 โดยที่ ธปท. คาดว่าจะหนุน GDP เพิ่มขึ้นราว 6% ของ GDP อย่างไรก็ตามดังที่ ASPS เคยนำเสนอจะเข้าไปนระบบได้มากน้อยและเป็นไปตามแผนเพียงใด
ที่มา: สภาพัฒน์ ASPS
กรมบังคับคดีงดประมูลขายทรัพย์ กดดัน BAM มากสุดในกลุ่มฯ
หลังจากมีการประกาศงดการประมูลขายทรัพย์ผ่านกรมบังคับคดีหลายแห่งตั้งแต่เดือน เม.ย. - พ.ค. 63 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 (กรมบังคับคดียังไม่มีระบบประมูลขายทรัพย์ออนไลน์ในปัจจุบัน) ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มบริหารหนี้ โดย JMT จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากที่บริษัทฯ มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการหนี้ไม่มีหลักประกัน ส่วน CHAYO ที่มีรายได้จากหนี้ไม่มีหลักประกันมากกว่าส่วนของหนี้มีหลักประกันจะได้รับผลกระทบรองลงมา (บริษัทฯ ได้ผลบวกจากการปรับใช้มาตรฐานบัญชี TFRS 9 ที่ทำให้สามารถรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจากหนี้มีหลักประกันได้แม้ไม่ต้องขายออกไป ต่างจาก BAM ที่คาดว่าจะไม่ได้รับผลบวกจากการปรับใช้มาตรฐานดังกล่าว)
ขณะที่คาดว่า BAM จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่ม จากที่คาดว่าบริษัทฯ จะมีรายได้จากการขายหลักประกันผ่านกรมบังคับคดี (61% ของรายได้รวม) ลดลงอย่างมีนัยฯ ในงวด 2Q63 โดยฝ่ายวิจัยคาดว่าแม้กรมบังคับคดีจะสามารถกลับมาเปิดการประมูลขายทรัพย์อย่างเร็วที่สุดในเดือน มิ.ย. 63 แต่จะไม่สามารถเร่งการขายหลักประกันออกไปได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการประมูลขายหลักประกันจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กรมบังคับคดีกำหนด และการเข้าประมูลทรัพย์ที่คาดว่าจะซบเซากว่าเดิมหลังจากการจำกัดการชุมนุมของคนจำนวนมากเพื่อป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของ Covid-19 ขณะที่ในฝั่งของผู้ซื้อหลักประกันคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องที่ลดลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้อาจมีการเลื่อนการเข้าประมูลซื้อหลักประกันออกไป ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อรายได้จากการขายหลักประกันของ BAM ตลอดทั้งปี ทำให้ฝ่ายวิจัยมีแนวโน้มปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563-64 และ มูลค่าพื้นฐาน ของ BAM ลงอย่างมีนัยฯ แม้ BAM จะยังสามารถซื้อหนี้ในราคาที่เหมาะสมได้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ด้วยปัจจัยเชิงลบจากข่าวดังกล่าวที่มีน้ำหนักมากกว่า จึงแนะนำขายทำกำไรหุ้น BAM ออกไปก่อน
Sell in May ยังมีโอกาสซ้ำรอยอดีต ชอบ DCC STA PTT
ภาพเหตุการณ์ Sell in May มีโอกาสวนกลับมากลับมาเกิดซ้ำเหมือนในอดีต ที่เดือน พ.ค. ตลาดหุ้นไทยมักจะปรับตัวลงแรงเสมอ เฉลี่ยลดลงราว 2% และเป็นการปรับตัวลงถึง 8 ปี ใน 10 ปี
ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยย้อนหลัง 10 ปี
ที่มา: SET ASPS
หลังจากตลาดหุ้นเหมือนถูกมองข้ามช็อต ว่าเหตุกาณ์ Covid-19 น่าจะคลี่คลายได้เร็วๆนี้ บวกกับมีสภาพคล่องอัดฉีดเข้ามาในระบบจนหนุนให้ตลาดหุ้นเกือบทั่วโลกฟื้นขึ้นเกินกว่าครึ่งของที่ปรับฐานลงไปในปีนี้ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยขึ้นมาแตะระดับ 1300 จุด อีกครั้ง ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายทางพื้นฐานที่ฝ่ายวิจัยประเมิน 1264 จุด (ระดับ P/E ที่ 17.4 เท่า)
ต่อจากนี้ยังมีหลากหลายความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้
งบไตรมาส 1/63 ที่มีโอกาสหดตัวแรง (เฉพาะที่ทำ Earning Preview 49 บริษัท กำไรงวด 1Q63 ลดลงถึง 68%yoy)
ติดตามตัวตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในแต่ละประเทศ หลังจากเริ่มมีการทยอยเปิดเมือง ว่ามีการกลับมาติดเพิ่มเติม อย่าง ญี่ปุ่น และ สิงคโปร์ หรือไม่ รวมถึงประเด็นสงครามทางการ ค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่เงียบหายไปนาน จะกลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง
แรงหนุนจาก Fund Flow ต่างชาติยังมีโอกาสชะลอไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอยู่ ส่วนหนึ่งเกิดจากนักลงทุนมีการโยกเงินกลับประเทศบางส่วน หลังบริษัทส่วนใหญ่ประกาศจ่ายปันผลไปเกือบหมดแล้ว และยังสอดคล้องสถิติย้อนหลัง 10 ปี ที่ต่างชาติมักจะขายสุทธิหุ้นไทยในเดือน พ.ค. มากที่สุดเฉลี่ยสูงถึง 1.65 หมื่นล้านบาท
แรงซื้อจากสถาบันฯเริ่มแผ่วลง ขณะที่แรงหนุนจากกองทุน SSFX ยังทำงานไม่ได้เต็มที่ ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมกันทั้งสิ้นเพียง 1 พันล้านบาท (เปิดให้ซื้อขายมา 1 เดือนเต็ม) ถือว่าน้อยกว่าแรงซื้อกองทุน LTF ที่ผ่านๆมามาก ที่มีการซื้อสุทธิปีละประมาณ 6 – 7 หมื่นล้านบาท
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนยังคงเตรียมรับมือกับความผันผวนของตลาด โดยการเลือกลงทุนหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งปันผลสูง อย่าง DCC และหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว อย่าง STA ได้แรงหนุนจากถุงมือยางเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น และ PTT ที่ราคาน้ำมันฟื้นติดต่อกันอย่างต่อเนื่องโดยมี Valuation ที่น่าสนใจดังนี้
DCC(FV @ 2.28) กลยุทธ์ของบริษัทที่เน้นลูกค้าตลาดซ่อมแซมซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าตลาดบ้านสร้างใหม่มาก ประกอบกับ Outlet ทั้ง 203 สาขา ของ DCC ยังเปิดขายได้ตามปกติ จึงได้รับผลกระทบไม่มากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ส่วนด้านการเติบโตของกำไรในปีนี้ มุ่งเน้นไปที่มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายที่เข้มงวด ทั้งการลดจำนวนรถเช่าตามสาขาและจำนวนลูกจ้างรายวันให้เหมาะสมกับปริมาณงาน ขณะที่ต้นทุนก๊าซธรรมชาติซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 37% ของต้นทุนการผลิต มีแนวโน้มปรับตัวลงตามราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยฯคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 1.12 พันล้านบาท เติบโต 16%YoY และคาดหวังปันผลกว่า 7% ต่อปี
STA(FV @ 14.00) เป็นหุ้นที่มีปัจจัยบวกรอบด้าน หนุนกำไรกลับมา Turnaround ในปีนี้ เริ่มจาก 1) ธุรกิจถุงมือยาง 20% ของรายได้รวม ได้แรงหนุนจากความต้องการใช้ถุงมือที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตลลอดทั้งปี หลังผู้คนเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคต่างๆมากขึ้น 2) ธุรกิจยางพารา (80% ของรายได้รวม) ฟื้นตัวเช่นกัน จากการที่โรงงานแปรรูปยางในไทยหลายแห่งหยุดดำเนินการผลิตชั่วคราว ทำให้ลูกค้าหันมาซื้อยางจาก STA เพิ่มขึ้น 3) STA ก็ได้ประโยชน์จากทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง หนุนประสิทธิภาพการทำกำไรดีขึ้น
PTT(FV @ 42.00) ราคาน้ำมันดิบโลก WTI เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง 4 วัน จนล่าสุดอยู่ที่ 23.61 เหรียญฯ โดยปัจจัยหนุนหลักๆมาจาก ฝั่ง Demand ที่ผ่อนคลายหลังจากหลายประเทศทั่วโลก ผ่อนคลายให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้และทยอยเปิดธุรกิจ(Reopen) โดยรวมราคาน้ำมันดิบโลก ที่ดีดขึ้นมาแรงถือเป็น Sentiment บวกต่อหุ้นพลังงานอย่าง PTT อีกทั้งราคาหุ้นผ่านการปรับฐานสะท้อนผลกระทบเชิงลบตามอุตสาหกรรมพลังงานไปแล้วในระดับหนึ่ง ถึงแม้ทิศทางกำไรปี 2563 ไม่เติบโตโดดเด่น แต่ยังทรงตัวได้ในระดับสูงและคาดหลังปันผลสูงถึง 4.5% ต่อปี
หุ้นที่แนะนำใน Market Talk
วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
CKP : Come Back ราคาล่าสุด 3.80 บาท เปิดสถานะ 3.70 บาท เป้าหมาย 4.30 บาท จุดตัดขาดทุน 3.58 บาท
ประเด็นวิเคราะห์ :
CKP ภาพรายวัน แกว่งฟื้นตัวขึ้นมาไต่เส้น EMA 10 วันได้ดี สะท้อนภาพรวมยังอยู่ในลักษณะการฟื้นตัวขึ้นต่อ หลังจากลงไปทำจุดต่ำสุดที่บริเวณ 2.50 บาท
นอกจากนี้ จะสังเกตได้ว่า ล่าสุด เปิด Gap Up ขึ้นมา พร้อมทั้งปิดแท่งเทียนเป็นแท่งเม็ดเขียวๆอวบอิ่ม บ่งชี้ว่าแรงซื้อเข้ามาหนาแน่น Upside เปิดกว้าง
โดยหากพิจารณาจาก Fibonacci retracement แล้ว ปัจจุบันอยู่โซน 23.6% โดยเชื่อว่า หากยังทำจังหวะการยก Low ได้ต่อ เชื่อว่าในระยะถัดไป มีโอกาสได้เห็นการแกว่งตัวขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 38.2% ที่ 4.30 บาท (Low วันที่ 21 ม.ค 63 )ได้ในระยะถัดไป
คำแนะนำ :
รอรับที่ 3.70 บาท เป้าหมายทำกำไรที่ 4.30 บาท Cut loss 3.58 บาท
DTAC : พักยก
ราคาล่าสุด 42.25 บาทเปิดสถานะ 42.25 บาทเป้าหมาย 40.00 บาท จุดตัดขาดทุน 43.50 บาท
ประเด็นวิเคราะห์ :
DTAC ภาพราย 60 นาที แกว่งตัวลักษณะ Sideway Up โดยมีการยก Low และ ยก High ขึ้น แต่จะเริ่มเห็นความเสี่ยงทางลง หลังจากขึ้นไปชนกรอบบนที่ 46 บาท และแกว่งลง หลุดแนวรับเส้น EMA ระยะสั้นลงมาพร้อมวอลุ่มเฉลี่ยสูงกว่า 5 วันทำการ เป็นสัญญาณลบทางเทคนิค
ประเมินว่า มีโอกาสกลับตัว ถอยลงไปหาฐานแนวรับกรอบล่าง บริเวณ 41 บาทได้ ในระยะถัดไป แต่ถ้าหากเอาไม่อยู่ จะมีแนวรับสำคัญ ที่เส้น EMA 200 วันบริเวณ 40 บาท
ขณะที่ MACD ส่งสัญญาณเชิงลบ จากการเคลื่อนตัวต่ำกว่าแกนศูนย์ ทั้งนี้ ประเมินแนวรับถัดไปไว้ที่ 40 บาท (Low วันที่ 21 เม.ย 63)
คำแนะนำ :
Short บริเวณ 42.25 บาท เป้าหมายทำกำไรที่ 40 บาท และ Cut Loss ที่ 43.25 บาท
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web