- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 20 April 2020 11:03
- Hits: 1833
บล.เอเชีย พลัส กรุ๊ป โอลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 20-4-2020
กลยุทธ์การลงทุน
โอกาสที่จะเห็นการผ่อนคลายเพื่อให้ปริมาณธุรกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น หลังการควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำได้ดี บวกกับการที่ พ.ร.ก. 3 ฉบับ มีผลบังคับใช้ น่าจะส่ง Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้น อย่างไรก็ตามยังมีแรงกดดันจากผลประกอบการ 1Q63 ที่คาดว่าจะหดตัวอย่างมีนัยสำคํญ คาด SET Index ผันผวนแต่อยู่ในทิศทางขึ้น วันนี้ไม่มีการปรับพอร์ตการลงทุน ส่วน Top Picks เลือก DCC (FV@B 2.28), DOHOME (FV@B 7.90) และ SF (FV@B 8)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวขึ้นตลอดวัน จากความคืบหน้าผลการทดสอบยาต้าน COVID-19 ของฝั่งสหรัฐฯ ที่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยติด COVID-19 จนหายดีได้ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อของไทยที่เพิ่มขึ้นในอัตรชะลอลงอีกด้วย จึงทำให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคปรับตัวขึ้นแรงเช่นเดียวกันตลาดหุ้นไทยปิดในแดนบวกที่ระดับ 1,239.24 จุด เพิ่มขึ้น 39.09 จุด หรือ +3.26% มูลค่าการซื้อขาย 5.88 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่หนุนตลาดหลักๆ คือ กลุ่มขนส่งได้แก่ AOT(+8.33%) BEM(+5.29%) BTS(+4.67%) THAI(+10.24%) กลุ่มพลังงานช่น PTT(+3.01%) PTTEP(+3.38%) GULF(+3.01%) และกลุ่มค้าปลีก อาทิ CPALL(+1.56%) HMPRO(+8.00%) CRC(+6.35%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่างเช่น ADVANC(+3.45%) CPN(+9.39%) และ SCC(+4.14%) เป็นต้น
แรงหนุนตลาดหุ้นที่สำคัญในสัปดาห์นี้น่าจะเป็นเรื่องสถานการณ์ของ Covid-19 ในประเทศ ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยจำนวนผู้ติดเชื่อ รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิต สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำ นำมาซึ่งความคาดหวังว่าจะเห็นการผ่อนคลายมาตรการควบคุม และปล่อยให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น โดยกระแสในเบื้องต้นเชื่อน่าจะเห็นการผ่อนคลายให้สามารถเปิดดำเนินการธุรกิจบางประเภทได้ ที่สำคัญอย่างเช่น ศูนย์การค้า และ ร้านอาหาร ซึ่งน่าจะเป็น Sentimetn เชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว โดยฝ่ายวิจัยได้ปรับพอร์ตเพื่อนำหุ้นดังกล่าวเข้าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น SF หรือ DOHOME รวมทั้งยังมีร้านสะดวกซื้ออย่าง CPALL ที่อยู่ในพอร์ตมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นปัจจัยบวกคือการที่ พ.ร.ก. 3 ฉบับเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ (ของกระทรวงการคลัง 1 ฉบับ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย 2 ฉบับ) ถูกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้กระบวนการต่างๆ ในการระดมเงิน น่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า แต่ด้วยฐานเม็ดเงินที่ค่อนข้างสูงอาจทำให้สภาพคล่องในระบบลดน้อยลง ส่งผลให้โอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตลดลงได้ ส่วนการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบผ่านการเยียวยากลุ่มคนต่างๆ ก็น่าจะเริ่มเห็นได้มากขึ้นตามลำดับ สำหรับปัจจัยลบที่อาจเข้ามาสร้างแรงกดดันคือ ผลประกอบการงวด 1Q63 ที่จะทยอยประกาศออกมา เชื่อว่าน่าจะเห็นการหดตัวอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ 1Q62 ที่มีกำไรสุทธิรวม 2.66 แสนล้านบาท หรือ 4Q62 ที่มีกำไรสุทธิรวม 2.24 แสนล้านบาท และอาจทำให้เห็น Downside ของประมาณการอีกครั้งหนึ่ง จากการประเมินภาพรวมของปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น เชื่อว่า SET Index วันนี้ยังน่าจะอยู่ในภาวะผันผวนแต่มีทิศทางปรับขึ้น ส่วนกลยุทธ์การลงทุน ไม่มีการปรับเปลี่ยน หุ้น Top Picks เลือก 3 บริษัทได้แก่ DCC, DOHOME และ SF
ตลาดหุ้นโลกยังมีแรงหนุนจาก ยาต้าน COVID-19 และ สหรัฐจะเปิดประเทศ
ตลาดหุ้นโลกช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมายังปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเด็นเดิม คือ ความคาดหวังพัฒนาการเชิงบวกจาดการทดสอบยาต้านไวรัส COVID-19 ของบริษัท Gilead Sciences และวัคซีนของบริษัท Johnson & Johnson, Moderna Inc., Pfizer Inc. เป็นต้น และ รัฐบาลสหรัฐพิจารณาผ่อนคลายประเทศ อาทิ ให้ธุรกิจกลับมาเปิดได้ เดือน พ.ค. 2563โดยประธานาธิปดีทรัมป์ระบุว่าจะให้อำนาจแต่ละรัฐสามารถพิจารณาให้แต่ละส่วนกลับมาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ยังมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นยังมีอยู่ คือ
การระบาดของไวรัส COVID-19 ล่าสุด จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 72,707 รวมเป็น 2,423,225 ราย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงมาจากฝั่งสหรัฐที่เพิ่มขึ้นอีก 24,000 ราย เป็น 759,086 ราย, สเปนเพิ่มขึ้น 4,258 ราย เป็น 198,674 ราย, อิตาลีเพิ่มขึ้น 3,047 ราย เป็น 178,972 ราย, ฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 1,986 ราย เป็น 175,942 ราย เป็นต้น
ขณะที่จีน(ประเทศต้นกำเนิดไวรัส) แม้จำนวนผู้ติดเชื้อในจีนจะเริ่มมีแนวโน้มทรงตัวในช่วงที่ผ่านมา แต่ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ของจีนในช่วงกลางเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 88 รายต่อวัน ซึ่งสูงกว่าช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 72 ราย ทำให้ความกังวลว่าจีนอาจเผชิญการระบาดของ COVID-19 ระยะที่ 2 (2nd Wave) โดยล่าสุด รายงาน GDP จีนงวด 1Q63 พลิกลับมาหดตัว 6.8%yoy (ต่ำสุดในประวัติการณ์) ทั้งนี้ IMF ประเมินว่า GDP Growth จีน ปี 2563 จะขยายตัวเฉลี่ย 1.2%yoy ซึ่งหมายความว่าในช่วงที่เหลือของปี (2Q63-4Q63) GDP Growth จีน จะต้องขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 3.9% จึงจะทำให้ GDP Growth จีนทั้งปี 2563 ออกมาใกล้เคียงกับประมาณการของ IMF
GDP Growth จีน
ที่มา : Bloomberg
พรก. 3 ฉบับ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจมีผลบังคับใช้แล้ว ดีต่อตลาดหุ้น
เมื่อวานนี้ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.ก. 4 ฉบับ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่จากผลกระทบ COVID-19 (รายละเอียดดังที่เคยนำเสนอใน market talk วันที่ 8 เม.ย.2563) หลักๆคือ
พ.ร.ก. กู้เงิน วงเงิน1 ล้านล้านบาท จะมีผลบังคับใช้ภายใน เม.ย. 2563 แบ่งเป็นวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ใช้ดูแลสาธารณสุข ฯลฯ , 5.5 แสนล้านบาทใช้เยียวยาประชาชน, เกษตรกร ฯลฯ และอีก 4 แสนล้านบาท ใช้ฟื้นฟูชุมชนสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักๆ การจัดเงินรัฐกำลังพิจารณาจะมาจากการกู้เงินจากสถาบันในประเทศเป็นหลัก, โดยเม็ดเงินที่ใช้แบ่งเป็น
- ออกพันธบัตรรัฐบาล ASPS ประเมินการออกพันธบัตร จะทำให้สภาพคล่องในระบบมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะมีผลทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย อาจมีข้อจำกัดในการปรับลงได้ยากขึ้น โดยปัจจุบันดอกเบี้ยฯ อยู่ที่ 0.75% และตลาดคาดมีโอกาสจะปรับลงได้อีก 1 ครั้งราว 0.25%
- กู้เงิน ในประเทศ หรือ ต่างประเทศ (คาดจะมาจากธนาคารพัฒนาเอเซีย (ADB) มิใช่ IMF)
ASPS ประเมินจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว อาทิ ภาระหนี้รัฐบาลในอนาคต เนื่องจากรัฐบาลการกู้ทำให้ต้องแบกภาระหนี้ในระยาว โดยเฉพาะหนี้สาธารณะต่อ GDP โดยปัจจุบันอยู่ที่ 6.9 ล้านล้านบาท หรือ 42% /GDP (หากรัฐมีการกู้เงินเต็ม 100% รัฐคาดทำให้หนี้สาธารณะ/ GDP ปรับขึ้นมาอยู่ 57% ใกล้กับเพดานหนี้ตามกฎหมายที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60% และคาดว่าจะทำให้ในอนาคต รัฐบาลอาจจะเผชิญข้อจำกัดจากเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ดังกล่าว รวมถึง ต้นทุนจากอัตราต่อดอกเบี้ยในการกู้เงิน ซึ่งจะมีผลต่อฐานะการคลัง และการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2564 เป็นต้นไป และน่าจะมีผลต่ออันดับ Credit rating ของไทย ล่าสุด เดือน มี.ค. สถาบันจัดอันดเครดิตเรทติ้ง Fitch ปรับลดมุมมองเครดิจตไทยลงมาอยู่ที่ Stable จากเดิม Positive และคงอันดับเครดิตเรทติ้ง BBB+
ที่มา : ASPS รวบรวม
- • พ.ร.ก. ให้อำนาจ ธปท. ออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท เงินทุนไม่ได้มาจากการกู้ แต่นำเงินที่มีในระบบเศรษฐกิจมาใช้
- • พ.ร.ก. ดูแลเสถียรภาพภาคการเงินวงเงิน 4 แสนล้านบาท (21.1% ของวงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท) ด้วยการตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund (BSF) และให้ ธปท. ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว
วันพรุ่งนี้ ลุ้นการผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ในประเทศ
สัปดาห์นี้ประเด็นที่มีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทย คือ ในวันอังคาร 21 พ.ค.นี้ รัฐบาลจะพิจารณาประเด็น
พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จะต่อหรือไม่ต่อ ระยะเวลา หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อข้อบังคับบางประการเช่นการจำกัดห้ามประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่ 4 ทุ่ม – ตี 4 ฯลฯ (ระยะเวลา 26 มี.ค. – 30 เม.ย.)
พิจารณาว่าจะอนุญาตให้สถานประกอบการต่าง ๆ กลับมาเปิดร้านได้ตามปกติ อาทิ ห้างสรรพสินค้า, ร้านอาหาร, สนามกีฬากลางแจ้ง, สนามกีฬาในร่ม/กลุ่มฟิตเนส, ร้านเสริมสวยร้านตัดผม, ผับ-บาร์, และร้านค้าเฉพาะสินค้า เช่น ร้านเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ อย่างไรก็ตามต้องปฏิบัติตามกฎ เช่น การเว้นระยะห่าง เก้าอี้ มีมาตรการตรวจสอบวัดอุณหภูมิ
ASPS คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่อย่างน้อยรัฐบาลจะผ่อนคลายเป็นบางจังหวัด เช่น จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ เช่น กำแพงเพชร, ชัยนาท, ตราด, น่าน, บึงกาฬ, พิจิตร, ระนอง, อ่างทอง หรือ จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อต่อกัน 14 วัน เช่น ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา สกลนคร สุรินทร์ เชียงราย เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ จันทรบุรี นครนายก ราชบุรี สระบุรี เป็นต้น
โดยปัจจัยสนับสนุนจากผู้ติดเชื้อรายใหม่/วันอยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จาก วานนี้เพิ่มขึ้น 32 ราย และเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 50 ราย ติดต่อกัน 8 วัน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,765 ราย ประกอบกับจำนวนผู้รักษาหายรายใหม่มีจำนวนสูงกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 10 แล้ว โดยล่าสุดผู้รักษาหายรายใหม่มี 141 ราย เทียบกับผู้ติดเชื้อใหม่ที่ 32 ราย
ที่มา : Bloomberg
จำนวนผู้ติดที่กำลังรักษา (Active Case)
ที่มา : Bloomberg
โดยรวม ASPS ประเมินหากมีการผ่อนคลายจริง ASPS ประเมินว่าจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทยและหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้อง อาทิ ห้างสรรพสินค้า และ Modern Trade เลือก DCC (FV@B 2.28) DOHOME (FV@B 7.90) และ SF
กกบ. ผ่อนเกณฑ์ตั้งสำรอง ส่งผลดีต่อกลุ่มเช่าซื้อ ชอบ MTC
วันศุกร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ได้อนุมัติแนวปฏิบัติทางบัญชี ซึ่งเป็นมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งส่งผลดีต่อกลุ่มลิสซิ่ง ดังนี้
ฉบับที่ 1 ผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับบริษัทที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คาดจะส่งผลบวกกับหุ้นในกลุ่มลิสซิ่ง เนื่องจากบริษัทในกลุ่มฯ สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกค้าที่อยู่ใน stage 2 แล้วสามารถจัดชั้นใหม่เป็น stage 1 ได้ทันที ซึ่งจะสามารถลดการตั้งสำรองของลูกหนี้ส่วนนี้ได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามผลบวกดังกล่าวยังคงจำกัดเนื่องจากนโยบายส่วนใหญ่ของบริษัทในกลุ่มฯ จะปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีคำร้องเข้ามา โดยจะปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น ขณะที่คาดว่าจะเห็นสินเชื่อของบริษัทในกลุ่มฯ ชะลอตัวลงในงวด 1H63 จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงเวลาดังกล่าว
ฉบับที่ 2 ผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ฝ่ายวิจัยมีความเห็นเป็นกลางต่อมาตรการดังกล่าว เนื่องจากบริษัทลิสซิ่งส่วนใหญ่มีสาขากระจายตัวอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะ lock down มากเท่ากับพื้นที่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ทำให้คาดว่าบริษัทในกลุ่มฯ จะไม่ได้รับการลดค่าเช่าจากผู้ให้เช่าในช่วงนี้
ภาพรวมถือเป็น sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มลิสซิ่ง โดยฝ่ายวิจัยชื่นชอบ MTC มากสุดในกลุ่มฯ (อยู่ระหว่างทบทวนประมาณการ คาดหลังปรับประมาณการ FV จะลดลงเหลือ 53 บาท) จากการเป็นผู้นำในกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ที่มีการกระจายความเสี่ยงไปในภูมิภาคต่างๆ มีการตั้งสำรองอย่างเพียงพอ โดยคาดว่าบริษัทฯจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐที่ช่วยบรรเทาผลกระทบของการปรับโครงสร้างหนี้ รวมไปถึงประโยชน์จากความต้องการใช้เงินในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จึงยังคงแนะนำ ซื้อ โดยเน้นไปที่การลงทุนในระยะกลางถึงยาว
กำไรงวด 1Q63 ถือเป็นหนึ่งตัวแปรสร้าง Dowside ต่อตลาด
เข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการ 1Q63 ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะเริ่มเห็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ประกาศผลประกอบการออกมาเป็นกลุ่มแรก (SCB รายงานกำไรสุทธิงวด 1Q63 เช้านี้ เพิ่มขึ้น yoy, qoq) และตามด้วยภาค Real Sector จากการประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นจากการทำ Earnning Preview ไป 32 บริษัท (สัดส่วน 30% ของ Market Cap. ทั้งตลาด) คาดว่าจะเห็นการลดลงของฐานกำไรสุทธิรวมของบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัยสำคัญ รายละเอียดการเติบโตหรือลดลงตามตารางทางด้านล่าง
หากเทียบกับผลประกอบการงวด 1Q62 ที่มีกำไรสุทธิรวม 2.66 แสนล้านบาท และ 4Q62 ที่มีกำไรสุทธิรวม 2.24 แสนล้านบาท เชื่อว่ามีโอกาสที่จะเห็นฐานกำไรสุทธิอยู่ในช่วง 1.5 – 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งหากมีการปรับตัวลดลงแรงดังกล่าว อาจเป็นการเปิดให้เห็น Downside ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ของบริษัทจดทะเบียนอีกครั้งหนึ่ง
แม้ตลาดอาจเผชิญประเด็นผลประกอบการตกต่ำ อาจถูกหักล้างจากสถานการณ์เรื่องการระบาดของ COVID-19 ที่พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมีจำนวนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง (ต่ำกว่า 50 ราย 7 วันติด) บวกกับกระแสเรียกร้อยให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดไปหลายส่วน ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าจะเห็นความชัดเจนขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยวันอังคารที่ 21 เม.ย.63 มีการประชุม ครม. น่าจะสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการผ่อนคลาย อย่างเช่น ศูนย์การค้า บันเทิง และ อาหาร ซึ่งเป็นไปได้ที่จะเห็นแรงซื้อเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มดังกล่าว โดยเลือก DCC, DOHOME และ SF เป็น Top Picks
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web