WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
       เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ยังมีน้ำหนักถ่วงสินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภท ทั้งหุ้นและน้ำมัน ทำให้ SET Index ยังอยู่ในช่วงปรับฐานต่อไป ยังเน้นกลยุทธ์เดิมคือ ถือเงินสด 70% และหุ้นเพียง 30% โดยเน้นหุ้นที่มีผลกำไรดี และจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ AIT(FV@B 51) เป็น Top Pick เช่นเดิม

เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กดดันตลาดหุ้นมากกว่า FED จะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ย
      คาดว่าตลาดหุ้นโลก ยังคงให้ความสำคัญต่อภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ล่าสุด IMF และ World Bank ต่างปรับลด GDP Growth โลกในปี 2557 ลงแล้ว กล่าวคือ IMF ปรับลดลงจากเดิม 3.4% เหลือ 3.3% (ปรับลดครั้งที่ 4 ในปีนี้ (เป็นการปรับลดยุโรป และญี่ปุ่นเป็นหลัก ยกเว้นปรับเพิ่มสหรัฐ ขณะที่ประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา อยู่ในระดับทรงตัว ยกเว้นไทยที่ถูกปรับลดลงต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน-5 เหลือ 1% จากเดิม 2.5%) และเช่นเดียวกับทาง World bank ที่ปรับลดจากเดิม 2.8% เหลือ 2.6% โดยเป็นการปรับลดประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทย เหลือ 1.5% (ใกล้เคียงกับ ASP) แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2558 (IMF ปรับลด เป็น 3.8% จากเดิม 4% ขณะที่ World Bank คาดไว้ราว 3.3% จากเดิม 3.4%)
       และที่ประชุมใหญ่ IMF ระหว่างวันที่ 9-12 ต.ค. ยังแสดงความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรป และญี่ปุ่น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และอัตราการว่างงานในระดับสูง ซึ่งอาจเป็นแรงฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐ และอังกฤษ เห็นได้จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ น่าจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและกดดันเงินเฟ้อชะลอตัว ล่าสุดเดือน ส.ค. อยู่ที่ 1.7% (ชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 5 เดือน) ซึ่งเป็นผลทำให้คณะกรรมการ FED ส่วนใหญ่เห็นว่า FED ควรจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยฯ จนกว่าจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจพัฒนาได้อย่างมีเสถียรภาพ และอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายเบื้องต้นที่ 2% ขณะที่คณะกรรมการ FED ส่วนน้อยราว 33% ของจำนวนกรรมการ (จากเดิม 59% ในการประชุม FED รอบวันที่ 18 ก.ย.) เห็นว่า FED ควรจะขึ้นดอกเบี้ยฯ 2Q58 ตามเดิม
ส่วนทางฝั่งยุโรป และญี่ปุ่น ยังคงมีมุมมองเช่นเดิมตามที่ได้รายงาน โดย IMF เห็นว่าควรมีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเงินเฟ้อยุโรป เดือน ก.ย. อยู่ที่ 0.3%yoy เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปีเพียง 0.8%ytd และเงินเฟ้อญี่ปุ่น เดือน ส.ค. อยู่ที่ 3.3%yoy เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปี 2.7%ytd

ต่างชาติกลับมาขายทุกประเทศ พร้อมมูลค่าที่เพิ่มขึ้น
     วันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติ สลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้งราว 329 ล้านเหรียญฯ และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ สูงสุดนำโดยเกาหลีใต้ (กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง) ด้วยมูลค่าขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ราว 211 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า ตามด้วยอินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 51 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า ฟิลิปปินส์ขายสุทธิเป็นวันที่ 8 ราว 34 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว และสุดท้ายคือไทยที่สลับมาขายสุทธิราว 33 ล้านเหรียญฯ (1.1 พันล้านบาท) ส่วนตลาดในไต้หวันปิดทำการเนื่องจากเป็นวันชาติ
เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 57 เป็นต้นมา นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิต่อเนื่อง ถึง 8 จาก 11 วันหลังสุด ราว 4.7 พันล้านบาท เช่นเดียวกับพอร์ตโบรกเกอร์ที่เป็นผู้ขายสุทธิกดดันดัชนีถึง 8 จาก 11 วันหลังสุดเช่นกัน ราว 6.8 พันล้านบาท ขณะที่ นักลงทุนสถาบันหลังจากที่ขายสุทธิอย่างหนักตั้งแต่ 1-6 ต.ค. 57 รวม 6.6 พันล้านบาท แต่ก็กลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิพยุงดัชนีในช่วง 4 วันหลังสุด รวม 6.3 พันล้านบาท เชื่อว่าเป็นแรงซื้อจากกองทุน LTF ที่มักจะมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงปลายปี

เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ยังกดดันสินทรัพย์เสี่ยง
       ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากขึ้นและกดดันตลาดหุ้นโลกปรับฐานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. 2557 เป็นต้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรป ถือว่าปรับลดลงมากสุด หลังจากที่ให้ผลตอบแทนที่สูงมากหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา (โดยการปรับลดในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ดาวโจนส์ -4.26%, S&P500 -5.37%, DAX เยอรมัน -10.66%, CAC40 ฝรั่งเศส -8.69%, FTSE อังกฤษ -7.28% ) ส่วนตลาดหุ้นเอเซียที่ลงหนัก คือ นิกเกอิ -6.56% ตามมาด้วย อินโดนีเซีย -.58% มาเลเซีย -3.07% ส่วนไทย และฟิลิปปินส์ ลดลงน้อยกว่าคือ -2.96% และ -1.74%, ตามลำดับ
       และยังกดดัน demand ที่ทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่ supply น้ำมันดิบโลก ยังอยู่ในภาวะเกินความต้องการ ได้กดดันราคาน้ำมันโลกลดลงมาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 เดือน โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงต่ำกว่า 90 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งถือว่าเป็นจุดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี และต่ำกว่าสมมติฐานราคาน้ำมันดิบระยะยาวของฝ่ายวิจัย ที่ 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างการทบทวนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ) จะกระทบต่อผู้ประกอบการปิโตรเลียมและโรงกลั่น โดยเฉพาะ PTTEP และ PTT ทั้งนี้จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าหากมีการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมัน ระยะยาวลงทุกๆ 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะส่งผลให้มูลค่าพื้นฐานของ PTTEP และ PTT ปรับตัวลดลงราว 10 และ 7 บาทต่อหุ้น ดังนั้นหากปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบตั้งแต่ปี 2558 ลงเหลือ 95 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะส่งผลให้มูลค่าพื้นฐานของ PTTEP และ PTT ลดลงเหลือ 185 และ 361 บาทต่อหุ้น และหากปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบตั้งแต่ปี 2558 ลงเหลือ 90 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะส่งผลให้มูลค่าพื้นฐานของ PTTEP และ PTT ลดลงเหลือ 175 และ 354 บาทต่อหุ้น ตามลำดับ (ติดตามอ่าน Industry Update เร็วๆ นี้)
ขณะที่ในงวด 3Q57 ฝ่ายวิจัยคาดกำไรสุทธิของ PTTEP เท่ากับ 1.24 หมื่นล้านบาท ลดลง 31.8%qoq หลักๆ เป็นผลมากจากที่งวดนี้จะไม่มีการบันทึกกำไรพิเศษกว่า 3.3 พันล้านบาทเช่นที่เกิดขึ้นในงวด 2Q57 ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายตัดจำหน่ายหลุมแห้ง (write-off) ในงวดนี้ คาดว่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากงวด 2Q57 มาอยู่ราว 3.5 พันล้านบาท และราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปรับตัวลดลง 3.8%qoq

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647

ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!