- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 08 October 2014 17:26
- Hits: 1952
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การปรับตัวลดลงแรงของตลาดหุ้นต่างประเทศ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็ยังอยู่ในช่วงการปรับฐาน น่าจะทำให้ SET Index วันนี้ปรับตัวลดลงต่อ แนะนำให้ลดสัดส่วนหุ้นเก็งกำไรลง และเน้นหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี มีเงินปันผลเช่น INTUCH (FV@B 100) นอกจากนี้ยังมีหุ้นที่คาดว่ากำไร 3Q57 จะโดดเด่นอย่างเช่น STPI (FV@B 28.46)
คาด สปช. ประชุมครั้งแรก 21 ต.ค. 2557 … ยังไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก
ประเด็นทางการเมืองล่าสุดมีความคืบหน้าใน 2 เรื่องเริ่มจาก การเกิดขึ้นของ สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2557 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ จำนวน 250 คน หลังจากนี้ไปเป็นขั้นตอนของการรายงานตัวซึ่งกำหนดเป็นช่วงวันที่ 8–15 ต.ค. 2557 ส่วนการประชุม สปช. ครั้งแรกคาดว่าน่าจะเป็น 21 ต.ค.2557 โดยการประชุมครั้งแรกถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากถือเป็นจุดตั้งต้นของกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดให้ สปช. ต้องแต่งตั้ง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับจากการประชุมครั้งแรก และต้องเสนอความเห็นที่เป็นแนวทางในการปฎิรูปประเทศ ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการยกร่าง จะมีเวลา 120 วันในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากกรอบเวลาดังกล่าว หากไม่มีการสะดุดในขั้นตอนได้ ก็น่าจะมีร่างรัฐธรรมนูญพร้อมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในช่วงเดือน ต.ค.2558
อีกประเด็นหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนได้แก่ แนวทางของ คสช. เกี่ยวกับการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยล่าสุด หัวหน้า คสช. ให้ความเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่อยู่ในสภาวะที่ควรยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึก เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวบางประการที่ยังต้องดูแลให้เกิดความสงบ สำหรับความเห็นในส่วนของผลกระทบที่จะเกิดต่อตลาดหุ้น จากกรณีดังกล่าว ฝ่ายวิจัยเห็นว่า การยังคงกฎอัยการศึก ในหลักการอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้ Fund Flow จากต่างชาติยังไม่ไหลกลับเข้ามา แต่หากพิจารณากลไกของตลาดการเงินในปัจจุบันโดยที่ไม่นำประเด็นเรื่องกฎอัยการศึกมาเกี่ยวข้องแล้ว ฝ่ายวิจัยก็เห็นว่า Fund Flow ก็ยังไม่น่าจะไหลกลับเข้ามาอยู่ดี เนื่องจากแนวโน้มของสภาพคล่องในระบบการเงินที่ลดต่ำลงหลังการยุติ QE ของสหรัฐฯ, ระดับค่า PER ของประเทศที่อยู่ระดับสูง และการที่ GDP Growth ของประเทศไทยปี 2557 ยังอยู่ที่ระดับต่ำสุดในอาเซียน ดังนั้นการจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก การบังคับใช้กฎอัยการศึกในช่วงเวลานี้จึงไม่น่าจะมีผลต่อทิศทาง Fund Flow มากอย่างมีนัยสำคัญ
IMF ปรับลด GDP Growth โลกลง กดดันหุ้นทั่วโลกช่วงสั้น
IMF รายงานการปรับลด GDP Growth โลก (เป็นครั้งที่ 4 ของปี 2557) หลังจากที่ World Bank ได้มีการปรับลด ไปก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากมีความกังวลต่อความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างยูเครน และรัสเซีย รวมถึงการปรับฐานของตลาดหุ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในตลาดทุนได้ โดย IMF ได้ปรับลด GDP Growth โลก ในปี 2557 ลง 0.1% อยู่ที่ 3.3% (สูงกว่า World Bank ที่ระดับ 2.6%) ขณะที่ในปี 2558 ปรับลดลง 0.2% อยู่ที่ 3.8% (สูงกว่า World Bank ที่ระดับ 3.3%) โดยภาพรวมประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังคงประมาณการเดิมที่ระดับ 1.8% ในปี 2557 และ 2.3% (จากเดิม 2.4%) ในปี 2558 โดยประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ปรับเพิ่ม สหรัฐ แต่ปรับลด ยุโรป ญี่ปุ่น ดังนี้
- สหรัฐ ปรับเพิ่ม ที่ระดับ 2.2% (จากเดิม 1.7%) ในปี 2557 และ เป็น 3.1% (จากเดิม 3%) ในปี 2558 เนื่องจากมีทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน
- ยุโรป ปรับลด เหลือ 0.8% (จากเดิม 1.1%) ในปี 2557 และ เป็น 1.3% (จากเดิม 1.5%) ในปี 2558 ผลจากหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง ในช่วงก่อนวิกฤติการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัว (ประเทศที่ถูกปรับลดมากที่สุด คือ เยอรมัน เหลือ 1.4% (จาก 1.9%) ในปี 2557 และ 1.5% (จาก 1.7%) ในปี 2558 ตามมาด้วย ฝรั่งเศส เหลือ 0.4% (จาก 0.7%) ในปี 2557 และ 1% (จาก 1.4%) ในปี 2558 อิตาลี เหลือ ติดลบ 0.2% (จาก 0.1%) ในปี 2557 และ 0.8% (จาก 1.1%) ในปี 2558 ขณะที่ปรับเพิ่ม สเปน เล็กน้อย เป็น 1.3% (จาก 1.2%) ในปี 2557 และ 1.7% (จาก 1.6%) ในปี 2558)
- ญี่ปุ่น ปรับลด เหลือ 0.9% (จากเดิม 1.6%) ในปี 2557 และ เป็น 0.8% (จากเดิม 1.1%) ในปี 2558 อันเป็นผลกระทบจากการขึ้นภาษีขายอีก 3% เมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งกระทบการบริโภคครัวเรือน (60% ของ GDP) ซึ่งจากการประชุม BOJ วานนี้ยังมีมติคงเดิม ให้คงปริมาณเงินอัดฉีด 60-70 ล้านล้านเยนต่อปี (6.43 แสนล้านเหรียญฯ) จากเพดานวงเงิน 101 ล้านล้านเยนต่อปี ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ซึ่งคาดหวังว่าการอ่อนค่าเงินเยน จะช่วยเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ
ขณะที่ประเทศในกลุ่มเกิดใหม่ และกำลังพัฒนา ปรับลดเล็กน้อย เป็น 4.4% (จาก 4.6%) ในปี 2557 และ 5% (จากเดิม 5.2% ในปี 2558) โดยเป็นการปรับลด บราซิลมากที่สุด เหลือ 0.3% (จาก 1.3% ในปี 2557) และ 1.4% (จาก 2% ในปี 2558) ทั้งนี้ได้ปรับเพิ่ม ประเทศกำลังพัฒนาในเอเซีย เล็กน้อยในปี 2557 เป็น 6.5% (จากเดิม 6.4%) และลดลงเล็กน้อยในปี 2558 เป็น 6.6% (จากเดิม 6.7%) นำโดย
- อินเดีย ปรับเพิ่ม 5.6% (จาก 5.4%) ในปี 2557 และ คงเดิม 6.4% ในปี 2558
- อาเซียน-5 ปรับเพิ่ม 4.7% (จาก 4.6%) ในปี 2557 และ 5.4% (จาก 5.6%) ในปี 2558 โดยหลักๆ เป็นการปรับเพิ่ม มาเลเซีย เป็น 5.9% (จากเดิม 5.2% สูงกว่า World Bank ที่ 5.7%) ในปี 2557 และ 5.2% (จาก 5%) ในปี 2558 แต่ปรับลด ไทยมากที่สุด ต่ำสุดในอาเซียน เหลือ 1% ในปี 2557 (จากเดิม 2.5% และต่ำกว่า World bank และ ASP คาดไว้ที่ 1.5%) และคาดว่าจะกลับมาดีในปี 2558 ที่ระดับ 4.6% (จากเดิม 3.8% สูงกว่า World Bank ที่ 3.5%)
- ขณะที่ จีน ยังคงประมาณการเดิม 7.4% ในปี 2557 และ 7.1% ในปี 2558
อย่างไรก็ตามการปรับลด GDP Growth ของทั้ง IMF และ World bank ได้สร้างความกดดันต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และตลาดหุ้นไม่น้อย จึงทำให้เห็นการปรับฐานอย่างต่อเนื่องของตลาดหุ้น ได้แก่ ดาวโจนส์ ปรับลดลงไปกว่า 272 จุด หรือ 1.6% เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นรอบโลก ในระยะสั้นนี้
ต่างชาติขายหุ้นภูมิภาคต่อเนื่องจากปัจจัยกดดัน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ลดลง 11% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 311 ล้านเหรียญฯ ขายสุทธิสูงสุดคือเกาหลีใต้เช่นเดิม ที่ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 174 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 24% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ขายสุทธิเป็นวันที่ 5 ราว 136 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 6 เท่าตัว และ เป็นยอดขายสุทธิสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี) ขณะที่ไต้หวันขายสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่ลดลงถึง 95% จากวันก่อนหน้า เหลือเพียง 6 ล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับไทยที่สลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 4 ล้านเหรียญฯ (145 ล้านบาท, ขายสลับซื้อ 3 วันหลังสุด) สวนทางกับอินโดนีเซียที่พลิกกลับมาซื้อสุทธิราว 9 ล้านเหรียญฯ หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 10 วันก่อนหน้า รวม 602 ล้านเหรียญฯ
กระแสเงินทุนจากต่างชาติยังคงไหลออกจากภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยที่เป็นการขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคถึง 19 จาก 20 วันหลังสุด ในขณะที่ปัจจัยกดดันยังคงมีอยู่จากการประท้วงในฮ่องกงที่ยังคงยืดเยื้อ และปัญหาการเมืองในประเทศของอินโดนีเซีย น่าจะส่งผลให้เงินทุนจากต่างชาติยังไม่ไหลกลับเข้าภูมิภาคในระยะสั้น ในขณะที่ในตลาดหุ้นไทยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกมา 6 จาก 8 วันหลังสุด รวม 2.6 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าเบาบางอย่างมากหากเทียบกับยอดซื้อตลอดเดือน ก.ย. ที่สูงถึงราว 2.3 หมื่นล้านบาท จึงทำให้เชื่อว่าเป็นการชะลอการซื้อตามภูมิภาคเท่านั้น
ลดหุ้นเก็งกำไร – เกิน Fair Value...เน้นหุ้นคาดว่ากำไรงวด 3Q57 เติบโต
ใกล้เข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวด 3Q57 ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา พบว่า ไตรมาส 3 มักจะอ่อนตัวจากไตรมาส 2 อย่างมีนัยฯ เนื่องจากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าสู่ช่วง low season อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีหุ้นอีกหลายบริษัทที่คาดว่า ผลประกอบการในงวด 3Q57 จะมีกำไรสุทธิเติบโตโดดเด่น เช่น
KTB (FV@B 26.7): คาดกำไรสุทธิงวด 3Q57 เติบโตถึง 23.0% qoq และ 5.3% yoy เนื่องจากการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง แม้ธุรกิจหลักอ่อนตัวเล็กน้อยจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิคาดว่าจะลดลงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ค่าธรรมเนียมฯ น่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา คาดการณ์ NIM ใน 3Q57 ยังทรงตัวได้ที่ 2.84% แม้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเริ่มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย จากการระดมเงินฝากและหุ้นกู้ระยะยาวเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบก็สามารถหักล้างไปได้ด้วย Yield จากเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการฯ ปี 2557-58 โดยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2557 หดตัว 4.2% yoy (เพราะไม่มีเงินปันผลรับจากกองทุนวายุภักษ์) แต่จะพลิกกลับมาเติบโตปี 2558 ถึง 15.4% yoy ฝ่ายวิจัยเลือกเป็น 1 ใน Top pick หุ้นกลุ่ม ธ.พ. ตามแรงหนุนของแผนการลงทุนใหญ่ของประเทศและการเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป
RS (FV@B 10): คาดว่าในงวด 3Q57 จะสามารถบันทึกรายได้เงินชดเชยจาก กสทช. จำนวน 369.86 ล้านบาท นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตั้งสำรองฯ ขาดทุนจากลิขสิทธิ์ลาลิกา ซึ่งได้บันทึกแล้วในงวด 1H57 ราว 54 ล้านบาท คาดว่าจะมีการกลับรายการสำรองดังกล่าวในงวด 2H57 หลังจากที่ได้ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดร่วมกับ CTH (ให้บริการเคเบิ้ลทีวี) ในการได้สิขสิทธิ์สมาชิกช่องพรีเมียร์ลีก ซึ่งจะทำให้ RS สามารถนำกล่อง sunbox ที่เหลืออยู่จำนวนมาก (จากผลกระทบจากที่ไม่สามารถขายได้ในช่วงฟุตบอลโลก) มาขายเพิ่มรับชมช่องพรีเมียร์ลีกได้ เชื่อว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจหลักคือ ทีวีดาวเทียม ของ RS (มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในช่วงทีวีดาวเทียม) ถือว่ามีแนวโน้มสดใส สะท้อนได้จากอัตราการใช้เวลาการโฆษณารวมเพิ่มขึ้นจาก 45% ในงวด 2Q57 เป็น 50% เทียบกับผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก เฉลี่ย 30%
SPALI (FV@B 27.35): ยอด Presale 3Q57 มีทิศทางเติบโตขึ้นจากไตรมาสก่อน หลังจากยอดจองคอนโดฯ ที่เปิดใหม่อยู่ในระดับสูงทั้ง 3 โครงการ (Supalai City Resort แบริ่ง, Supalai Vista ปากเกร็ด และ Supalai Elite พญาไท) ซึ่งในงวด 4Q57 SPALI ยังมีแผนเปิดโครงการใหม่อีก 7 โครงการ สำหรับการส่งมอบโครงการและบันทึกรายได้ในงวด 3Q57 จะมาจาก 2 โครงการใหม่ได้แก่ Supalai Park แคราย-งามวงศ์วาน และ Supalai Park ภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีการโอน Supalai River Resort เข้ามาอีกเป็นส่วนใหญ่หนุนให้กำไรงวด 3Q57 เติบโตก้าวกระโดด ทั้งนี้ ยอด Backlog ของ SPALI สูงเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม มีมูลค่ามากกว่า 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่การเก็บเงินดาวน์คอนโดฯอยู่ในระดับสูง 15-20% ของมูลค่า จึงมีความเสี่ยงเมื่อถึงเวลาโอนฯต่ำ โดยปัจจุบัน SPALI มีค่า PER 9.7 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 12 เท่า
STPI (FV@B 28.46): คาดว่างวด 3Q57 กำไรจะเติบโตก้าวกระโดดในระดับใกล้เคียง 1 พันล้านบาท และต่อเนื่องถึง 2Q58 จากการรับรู้รายได้จากโครงการ Ichthys หลังปัญหาส่งแบบล่าช้าได้รับการแก้ไข รวมทั้งเริ่มรับรู้รายได้ค่าเร่งงานเข้ามาซึ่งมี gross margin สูงถึง 35% รวมทั้งผลบวกจาก Cost Saving ต่างๆ บวกกับพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่งอย่างมาก ประสบการณ์ทำงาน Module มากที่สุดรายหนึ่งของโลก และโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างจากแนวโน้มอุตสาหกรรม LNG ที่เติบโตสูง ส่งผลให้ STPI คาดว่าจะมี EPS Growth สูงถึง 65% ในปีนี้ และ 8.9% ในปีหน้า ทั้งยังเป็นหุ้น laggard กับตลาดค่อนข้างมาก
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล