- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 27 November 2019 16:13
- Hits: 1127
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ จะไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อ SET Index แต่ก็ทำให้หุ้นอสังหาฯ ตอบรับในเชิงบวก ส่วนแรงขับเคลื่อนหลักของตลาดฯ ในช่วงนี้ ยังให้น้ำหนักไปที่เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาซื้อ LTF ที่น่าจะมีเข้ามาต่อเนื่อง สำหรับปัจจัยต่างประเทศ มีเรื่องความหวังเชิงบวกจากการเจรจาการค้า วันนี้แนะนำปรับพอร์ต โดยลดน้ำหนักบางส่วนใน POPF และใส่เงินเข้าไปใน BCH Top Picks เลือก BCH (FV@B 21.10), LH (FV@B 12) และ RS (FV@B 15.70)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งทรงตัวแบบไร้น้ำหนักตลอดวัน ก่อนที่จะปรับตัวลงแรงตอนช่วงท้ายตลาดฯจากที่ MSCI Rebalance ดัชนีในราคาปิดวันที่ 26 พ.ย. จึงทำให้เห็นแรงขายมหาศาลในช่วงตลาดปิดรวมถึง Valuation ที่แพงขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยไม่น่าสนใจเท่าที่ควร โดยปิดที่ระดับ 1609.38 จุด ลดลง 5.42 จุด (-0.34%) มีมูลค่าการซื้อขาย 8.79 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานได้แก่ BGRIM(-3.57%) GPSC(-3.08%) PTT(-0.57%) PTTEP(-1.26%) กลุ่มธ.พ.เช่น KBANK(-0.32%) SCB(-2.07%) BBL(-1.12%) แต่ได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีอย่าง IVL(+5.26%) PTTGC(+0.93%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวเช่น TRUE(+1.83%) และ CK(+4.74%) เป็นต้น
การปรับพอร์ตเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของ MSCI ทำให้มูลค่าการซื้อขายช่วงปลายตลาดวานนี้ดีดตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งเหมือนกับรอบที่ผ่านๆ มา และหากพิจารณาจากการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติวานนี้พบว่ามียอดขายสุทธิกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามคาดเนื่องจาก MSCI มีการเพิ่มน้ำหนักในตลาดหุ้นจีน ทำให้เกิดแรงขายในตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างสมดุล สำหรับนักลงทุนสถาบันในประเทศวานนี้ยังซื้อสุทธิต่อเนื่องอีก 1.8 พันล้านบาท ทำให้ช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมามียอดซื้อสุทธิสะสมรวม 6.35 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะเห็นการซื้อสุทธิเพิ่มเข้ามาอีกในช่วงเวลาที่เหลือของปีตามทิศทางการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนที่เข้ามาซื้อ LTF ส่วนปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐานเช้านี้ น้ำหนักส่วนใหญ่ไปอยู่ที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ โดยรัฐบาลสนับสนุนเรื่องเงินดาวน์บ้าน 50,000 บาท/ราย จำนวนทั้งสิ้น 1 แสนราย โดยกำหนดเงื่อนไขว่าผู้รับสิทธิ์ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท/เดือน หรือ 1.2 ล้านบาทต่อปี และต้องอยู่บนฐานภาษีของกรมสรรพากร โดยโครงการดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่ 27 พ.ย. 62 – 31 มี.ค.63 คาดว่าโครงการดังกล่าวน่าจะช่วยระบายสต๊อกที่สร้างเสร็จพร้อมโอนฯ ได้ราว 1 แสนหน่วย ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ของผู้ประกอบการที่อยู่ในภาวะตึงตัวได้เป็นอย่างดี และน่าจะทำให้ผลประกอบการงวด 4Q62 ต่อเนื่อง ถึง 1Q63 โดดเด่นขึ้นมาได้ โดยผู้ประกอบการที่ได้ประโยชน์น่าจะมีลักษณะกระจายตัว เนื่องจากการกำหนดเงื่อนไขเรื่องรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 1 แสนบาท ทำให้ผู้ซื้อสามารถซื้อบ้านได้ในกรอบราคาสูงสุด 5-6 ล้านบาท (ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของแต่ละคน) ซึ่งสต๊อกบ้านในกรอบราคาดังกล่าวมีกระจายอยู่ในเกือบทุกราย ในพอร์ตจำลองของฝ่ายวิจัยเลือก LH ส่วนกลยุทธ์การลงทุนวันนี้แนะนำปรับพอร์ตโดยลดน้ำหนัก POPF ลง 10% จาก 30% เหลือ 20% โดยสับเม็ดเงินเข้ามาใส่ใน BCH 10%
ตลาดหุ้นโลกปรับขึ้นจากประเด็น สงครามการค้ามีพัฒนาการเชิงบวก
ตลาดหุ้นต่างประเทศและสินทรัพย์เสี่ยงยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งล่าสุดยังมีพัฒนาการในทางบวก กล่าวคือ วานนี้ประธานวุฒิสภาสหรัฐเผยว่าสหรัฐกับจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเฟส 1 ได้ภายในปีนี้ และสื่อต่างประเทศเผยว่าทางการจีนได้เชิญนาย Steven Mnuchin รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และนาย Robert Lighthizer ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ไปเจรจาการค้าที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งคาดว่า 2 ท่าน จะเดินทางไปเจรจาที่จีน หลังสิ้นสุดช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ส่งผลให้การเจรจาน่าจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า
โดยรวมความคืบหน้าสงครามการค้าดังกล่าว เป็น Sentiment บวกต่อตลาดหุ้นในช่วงสั้นๆ แต่ในระยะยาว ASPS ให้น้ำหนักว่า สหรัฐกับจีนจะสามารถลงนามสงบศึกการค้าเฟส 1 และมีการยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าบางส่วนที่เคยขึ้นไปในรอบหน้า หรือไม่ อย่างไร ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
รัฐเคาะมาตรการช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อย,อสังหาฯ วงเงิน รวม 1.4 แสนล้าบาท
วานนี้ครม.ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ
1.) ให้เงินกองทุนหมู่บ้านหมู่บ้านๆ ละไม่เกิน 2 แสนบาท วงเงินรวม 1.4 หมื่นล้านบาทจำนวน 7.17 แสนหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในชุมชน
2.)ให้สินเชื่อธุรกิจในชุมชน ผ่าน ธ.ก.ส. วงเงินสินเชื่อ 5 หมื่นล้าน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยตามปกติของ ธ.ก.ส. ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 ถึง 30 พ.ย. 2565
3.ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว แบ่งเป็น ค่าเก็บข้าว ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ แบ่งเป็น ครัวเรือนละไม่เกิน 1 หมื่นบาท ทั้งหมด 4.57 ล้านครัวเรือน จนถึง 30 ก.ย.2563 และ ช่วยค่าปลูกข้าว 2.6 แสนครัวเรือน จนถึง 30 เม.ย.2563
4.) มาตรการอสังหาริมทรัพย์ ถือว่าเซอไพรส์ตลาดคาด โครงการ "บ้านดีมีดาวน์" ให้เงิน Cash Back 5 หมื่นบาท/ราย สำหรับเงินดาวน์ซื้อบ้านใหม่ จำนวน 1 แสนราย
โดยรวมการออกมาตรการการบริโภคครั้งนี้ รัฐบาลเผยว่าจะอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจรวม 1.4 แสนล้านบาท (คิดราว 1%GDP) คาดว่าจะเป็นแรงหนุนพยุงเศรษฐกิจในช่วง 4Q62-1Q63 ได้บ้าง ควบคู่กับมาตรการที่ออกมาตั้งแต่ ต.ค. 2562 เช่น ชิมช็อปใช้เฟส 1-3, 100 เดียวเที่ยวทั่ว (หรือราว 0.1%ของ GDP) เชื่อว่าจะตัวต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีก อาทิเช่น CPALL(FV@B 100), RS(FV@B 15.70) และกลุ่มอสังหา อาทิ LH(FV@B 15.70), SPALI ([email protected]), QH(FV@B 3.5), SC(FV@B 3.46)
บ้านดีมีดาวน์....มีเฮต่อกลุ่มอสังหาฯ
วานนี้ (26 พ.ย. 2562) ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและของขวัญให้ประชาชนในช่วงปลายปี 2562 โดยหนึ่งนั้น คือ มาตรการส่งเสริมการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” เพื่อเป็นการลดภาระ และสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยภาครัฐสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) จำนวน 50,000 บาท ต่อราย สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอากรของกรมสรรพากร จำนวน 100,000 ราย และผ่านเกณฑ์ ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยผู้เข้าร่วมมาตรการต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2562 – 31 มีนาคม 2563 กำหนดเริ่มลงทะเบียนรับสิทธิ์ รัฐช่วยผ่อนบ้านดีมีดาวน์ วันที่ 11 ธค. 2562 - 31 มี.ค. 2563
ถือเป็นเรื่อง Surprise ตลาดฯ และสร้าง Sentiment บวกต่อกลุ่มอสังหาฯ ทำให้เกิดการระบายสต๊อกสินค้าคงเหลือในจำนวน 1 แสนยูนิต (ตามการใช้สิทธิเต็มจำนวน 1 แสนราย) โดยเฉพาะในกลุ่มราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5-6 ล้านบาท (พิจารณาจากฐานเงินเดือน 1 แสนบาทต่อเดือน สามารถกู้ได้ 30-40% ของรายได้ หรือ 3-4 หมื่นบาทต่อเดือน และภายใต้วัฎจักรดอกเบี้ยขั้นต่ำ อัตราผ่อนชำระที่อยู่อาศัย (บ้าน/คอนโดฯ) มูลค่า 1 ล้านบาท จะอยู่ที่ 6-7 พันบาท/เดือน หากสามารถผ่อนชำระได้ราว 3-4 หมื่นบาท จะสามารถกู้ได้สูงสุดสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5-6 ล้านบาท) เนื่องจากสินค้าระดับราคาไม่เกิน 5-6 ล้านบาท ถือเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการทุกรายที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ มีอยู่ในพอร์ตเป็นส่วนใหญ่
โดยสรุปการมีมาตรการดังกล่าว นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการระบายสต๊อกแล้ว คาดยังช่วยหนุนให้ Backlog (รวม JV) สิ้น 3Q62 ของกลุ่มฯ ที่มีระดับ 3 แสนล้านบาท และเป็นส่วนที่พร้อมส่งมอบปีหน้าราว 1 แสนล้านบาท และเข้าเกณฑ์ราคาตามาตรการ สามารถโอนฯ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะงวด 1Q63 ที่เป็นช่วงเกิดขึ้นของโครงการ ฝายวิจัยเลือกหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากมาตราการนี้, มี Backlog สูง และ Div Yield เกิน 5% ได้แก่ SPALI ([email protected]) มีจุดเด่น Backlog สูงระดับ 4 หมื่นล้านบาท และมีสต๊อกคงเหลือขายพร้อมโอนฯ 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนที่มีราคาไม่เกิน 5-5.5 ล้านบาท มากกว่า 50% ของพอร์ต ตามด้วย AP ([email protected]) รองรับด้วย Backlog (รวม JV) สูงถึง 5.5 หมื่นล้านบาท ที่จะหนุนกำไร 4Q62 โดดเด่น และต่อเนื่องปี 2563 คาดกำไรเติบโต 15% yoy รวมถึงปันผลปีละ 1 ครั้งคิดเป็น Div Yield 5% ต่อปี และสุดท้าย LH ([email protected]) ด้วยจุดเด่นของฐานธุรกิจมั่นคง และแนวโน้ม 4Q62 กำไรสูงสุดของปีจากการโอนฯ คอนโดฯ และขายโรงแรมเข้า LHHOTEL หนุนเงินปันผลพิเศษ คาด Div Yield กว่า 7% ต่อปี
8 หุ้นออก Perp. Bond ผ่อนคลาย ชอบ CPALL CPF MINT
วันที่ 25 พ.ย. 2562 ทางคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) มีมติเห็นชอบการผ่อนผันบริษัทที่มีการออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond) ที่มีการเสนอขายและได้รับชำระค่าหุ้นกู้ก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2562 สามารถอยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้นต่อได้ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ 1 ม.ค. 2563
การผ่อนผันดังกล่าว ถือเป็นการคลายความกังวลให้กับบริษัทที่มีการออก Perpetual Bond มีระยะเวลาบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงินเพื่อลดผลกระทบต่ออัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ที่สูงขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ซึ่งหาก D/E เพิ่มขึ้นจนสูงเกินข้อกำหนดเงินกู้ของสถาบันการเงิน อาจเป็นอุปสรรคต่อการปล่อยกู้ และช่วยลดความกังวลจากต้นทุนทางการเงินมีโอกาสเพิ่มขึ้น ตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น (แปรผันไปตามโครงสร้างทางการเงิน)
เบื้องต้นฝ่ายวิจัยฯ ประเมินแนวทางการจัดการโครงสร้างทางการเงิน ถ้าหากบริษัทเลือกใช้ Perp. bond เป็น Source of fund ต่อไป จะดำเนินการได้ 2 วิธี ได้แก่ การปรับ “ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้ และผู้ถือหุ้นกู้” ของ Perp bond ฉบับเดิม ให้ไม่มีเงื่อนไขที่ผู้ออกหุ้นกู้ (บริษัท) ต้องชำระคืนผู้ถือหุ้นกู้ ก่อนการชำระบัญชี หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือ ออก Perp. bond ฉบับใหม่ ที่ไม่มีเงื่อนไขตามข้างต้น โดยทั้ง 2 วิธีจะทำให้ดอกเบี้ยจ่ายจากหุ้นกู้ ถูกบันทึกในส่วนของผู้ถือหุ้น จึงไม่มีผลต่องบกำไรขาดทุนบริษัท ประกอบกับแนวโน้มดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลงในปัจจุบัน มีโอกาสทำให้ดอกเบี้ยของ Perp bond ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
ดังนั้นประเด็นดังกล่าวถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการออก Perpetual Bond 8 บริษัทดังนี้
โดยฝ่ายวิจัยชื่นชอบ CPALL CPF และ MINT มากสุด นอกจะได้รับ Sentiment เชิงบวกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังเป็นหุ้นอุปโภคบริโภคที่มีแนวโน้มกำไรฟื้นตัวได้ดีต่อจากนี้ พร้อมกับราคาหุ้นที่ย่อตัวลงมาจนมี Upside เปิดกว้าง
BCH รอลุ้นข่าวดีประกันสังคม!!
BCH (FV’63@B 21.10) จะประชุมนักวิเคราะห์ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) อาจมีการชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับการขอเพิ่มค่ารักษารายหัวของประกันสังคม ซึ่งจากการประเมินของฝ่ายวิจัยฯ (ยังไม่รวมในประมาณการฯ) พบว่าทุกๆ 1% ของรายได้ประกันสังคมต่อคนที่เพิ่มขึ้น (สมมติฐานปัจจุบันที่กำหนดเติบโตเฉลี่ยปีละ 2.3%) จะหนุนกำไรเพิ่ม 1.8% และมูลค่าพื้นฐาน ที่ 0.2 บาท
สำหรับแนวโน้มธุรกิจ เชื่อว่ายังเห็นการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง โดยคาดกำไรปี 2562 เติบโต 10.4% อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ยังคาดหวังแรงขับเคลื่อนได้จากทุกกลุ่ม ทั้งผู้ป่วยเงินสดคาดเติบโต 14% yoy จากการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนของ รพ. เกษมราษฎร์ รามคำแหง (KH-RAM) ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งชาวไทยและต่างชาติ หลังยกระดับมาจาก รพ.การุณเวช สุขาภิบาล 3 เมื่อ 4Q61 ที่ผ่านมา, กลุ่มประกันสังคมประเมินเติบโต 5.4% yoy หนุนจากจำนวนผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้น, รวมถึง World Medical Center (WMC, 13% ของยอดขาย) ที่มีการเปิดศูนย์ IVF (การทำเด็กหลอดแก้ว) เพื่อรองรับตลาดกลุ่มลูกค้าชาวจีน จะช่วยหนุนรายได้ และ EBITDA Margin ของ WMC มีแนวโน้มกลับมาดีขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสเข้าลงทุน BCH ซึ่งปัจจุบันซื้อขาย PER’63 ที่ 33.1 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มรพ.เครือข่ายอย่าง BDMS และ CHG ที่ซื้อขายเฉลี่ย 38.2 เท่า
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ