WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Asia Plus Group Holdingบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาดว่า SET Index น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1600 – 1620 จุด โดยแรงขับเคลื่อนจาก Fund Flow ดูเหมือนจะสะดุดลงชั่วคราว หลังความกังวลจากสงครามการค้ากลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวด 3Q62 ล่าสุดประกาศแล้ว 90% อยู่ที่ 2.11 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่ควรจะเป็น วันนี้แนะนำปรับพอร์ตโดยขาย TTCL ออก แล้วพักเงินใน POPF เพิ่ม ส่วนหุ้น Top Picks ยังเลือก CPALL (FV@B 100) และ CPN (FV@B 94)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่เข้ามาหนุน รวมถึงประเด็นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวด 3Q62 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด จึงทำให้ปิดระดับ 1609.47 จุด ลดลง 5.67 จุด (-0.35%) มูลค่าการซื้อขาย 4.87 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานได้แก่ PTT(-1.10%) PTTEP(-0.41%) ACE(-7.76%) RATCH(-1.01%) กลุ่มปิโตรเคมีเช่น IVL(-5.51%) PTTGC(-1.84%) และกลุ่มอาหารเช่น OSP(-2.33%) TU(-5.04%) CBG(-2.31%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวอย่างเช่น SCC(-1.03%) SCB(-0.85%)และ INTUCH(-1.49%) เป็นต้น
เหมือนว่ากระบวนการในการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุน จากสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง พันธบัตร และทองคำ มาสู่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น จะติดขัดเป็นการชั่วคราว หลังจากที่ความกังวลจากเรื่องสงครามการค้ากลับมาอีกรอบ โดยคู่เจรจากทั้ง สหรัฐฯ และ จีน ยังมีประเด็นติดขัดในทางปฎิบัติ ทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องการเจรจาข้อตกลงในเฟสที่ 1 ขณะที่ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอันเนี่องมาจากสงครามการค้าก็ยังปรากฎให้เห็นผ่านการประกาศตัวเลขต่างๆ โดยล่าสุดเป็นตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของจีน ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด (คาด 5.4% YoY แต่ตัวเลขจริงออกมา 4.7%) ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เห็นมาตรการที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย ในวันจันทร์ที่ 18 พ.ย. 62 จะมีการประกาศตัวเลข GDP Growth ในงวด 3Q62 ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.8% YoY ดีขึ้นจาก 2Q62 ซึ่งอยู่ที่ 2.3% ทั้งนี้เป็นผลมาจากฐานยอดส่งออกในงวด 3Q61 อยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้การลดลงของยอดส่งออก YoY ในงวด 3Q62 จะไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามก็ยังคาดหมายว่าจะเห็นการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จากรัฐบาลออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจาก ชิม ช้อป ใช้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 3  ส่วนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวด 3Q62 ล่าสุดประกาศออกมาแล้ว 90% ของ Market Cap. มียอดกำไรสุทธิรวม 2.11 แสนล้านบาท เพิ่ม 1.1% QoQ แต่ลดลง 18.8% YoY แต่ยังถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และเปิด Downside ให้กับประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ซึ่งถือเป็ตความเสี่ยงสำหรับการลงทุน ภาพรวมในช่วงนี้คาด SET Index ยังอยู่ในช่วงการปรับฐาน โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 1600 – 1620 จุด กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ แนะนำให้ขายหุ้น TTCL ออกจากพอร์ต หลังมีเกิดรายการพิเศษอันเนื่องมาจากความเสียหายในโครงการ ผิดจากที่คาดไว้ และให้นำเงินไปพักใน POPF ส่วนหุ้น Top Pick เลือก CPN และ CPALL ตามเดิม
ผลกระทบสงครามการค้ายังมี การใช้โยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศยังจำเป็น
ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าสหรัฐกับจีนมีอยู่ ภายหลังประธานาธิบดีทรัมป์ เผยว่าสหรัฐพร้อมกลับมาขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนต่อ หากการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ ขณะที่ฝั่งจีนลังเลที่จะกลับมานำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ และไม่ได้กำหนดมูลค่าการนำเข้าอย่างชัดเจน (เดิมคาดว่าจะนำเข้าราว 4-5 หมื่นล้านเหรียญ)
ล่าสุดทางรัฐมนตรีการคลังของจีนกล่าวเน้นย้ำว่า จีนยังคงเรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ในการเจรจาเซ็นสัญญาสงบศึกทางการค้าเฟส 1 ของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งสวนทางกับท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ก่อน  ที่ระบุว่าตนยังไม่ได้ตอบตกลงว่าสหรัฐจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน
นอกจากนี้ทางจีนยังรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีสัญญาณชะลอตัว กล่าวคือ  การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) เดือน ต.ค. ชะลอตัวเหลือ 5.2%yoy จาก 5.4% ในเดือน ก.ย. (ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์), ผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrails Production) เดือนเดียวกัน ชะลอตัวเหลือ 4.7%yoy จาก 5.8% ในเดือนก่อน และยอดค้าปลีก (Retail Sale) เดือน ต.ค. ชะลอตัวเหลือ 7.2%yoy จาก 7.8% ในเดือน ก.ย. (ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน)
สัญญาณชะลอตัวข้างต้นส่งผลให้ตลาดเริ่มมองว่า จีนอาจพิจารณาดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศตามมา โดยเฉพาะนโยบายการเงิน หลังจากเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Loan Prime Rate (LPR) ไว้ที่ 4.2% ตามเดิม สวนทางกับที่ตลาดคาดว่า PBOC จะปรับ LPR ลงราว 0.05% เป็น 4.15% ทั้งนี้ PBOC จะมีกำหนดประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 พ.ย. 2562 ซึ่งเป็นประเด็นที่ให้น้ำหนักในสัปดาห์หน้าต่อไป
GDP Growth ไทย 3Q62 คาดฟื้นตัวมาที่ 2.8% แต่มาตรการรัฐยังจำเป็น
ในสัปดาห์หน้า ให้น้ำหนักปัจจัยในประเทศ คือ การรายงาน GDP Growth งวด 3Q62 วันที่ 18 พ.ย. 2562 ซึ่ง ASPS คาดว่าจะขยายตัวราว 2.8%yoy ฟื้นตัวจาก 2Q62 ที่ 2.3% เนื่องจากการส่งออกงวด 3Q62 หดตัวน้อยลง จากผลของฐานการส่งออกงวด 3Q61 ที่ค่อนข้างต่ำ เพราะผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐกับจีนที่เริ่มต้นเมื่อกลางปี 2561 รวมถึงการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ในไตรมาสสุดท้าย (ปีงบประมาณ 2562 สิ้นสุด 3Q62) ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงสุญญากาศในงวด 4Q62 เพราะการพิจารณางบประมาณปี 2563 ล่าช้า
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงอยู่ ทั้งจากต่างประเทศ คือสงครามการค้าข้างต้น และจากในประเทศ คือการเบิกจ่ายงบประมาณปี  2563 ล่าช้า โดยเฉพาะโครงการลงทุนใหม่ที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพัน (คาดจะเริ่มเบิกจ่ายอย่างเร็วต้นเดือน ก.พ. 2563) ทำให้ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจหลักมาจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลที่มุ่งเน้นไปที่การบริโภคและการท่องเที่ยว ซึ่งจากที่ ASPS รวบรวม คาดว่ามาตรการหลักๆ 2 มาตรการ คือ  มาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟส 1-3  และ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย ซึ่งจะกระตุ้นให้ประชาชนมีจูงใจจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เบื้องต้นคาดจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงงวด 4Q62 คาดราว 7.3 หมื่นล้านบาท (ราว 0.5% ของ GDP)
ดังนั้นฝ่ายวิจัย ASPS คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังเป็น Sentiment บวกต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีก โดย Toppicks กลุ่มคือ  CPALL(FV’63@B100) รวมถึงกลุ่มอสังหาฯ เช่น CPN (FV’63@B 94) เพราะ Profit Sharing จากร้านค้าที่เช่าพื้นที่ (มีสัดส่วน 40%)
Economic calendar
 
ที่มา : ASPS
มีโอกาสปรับลดประมาณการฯ ปี 2562 ...ชอบหุ้นกำไร 4Q62 เด่น CPALL CPN
โค้งสุดท้ายของการรายงานผลการดำเนินงาน 3Q62 จากที่ฝ่ายวิจัย ASPS รวบรวม มีบริษัทจดทะเบียนประกาศงบฯ แล้ว 569 บริษัท คิดเป็น 90% ของ Market Cap. ทั้งตลาดฯ มีกำไรสุทธิรวมกัน 2.11 แสนล้านบาท น้อยกว่า 3Q61 ที่ทำกำไรได้ 2.57 แสนล้านบาท หรือลดลง 18.0%YoY แต่ยังมากกว่า 2Q62 ที่ทำกำไรได้ 2.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0%QoQ และตอนนี้เหลือบริษัทที่มี Market Cap ใหญ่ เพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น ที่ยังไม่ได้รายงานงบฯ อาทิ AOT ซึ่งเป็นงบการเงินรายปี 2562 คาดจะประกาศในวันที่ 29 พ.ย.  ส่วนที่เหลือล้วนเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดกลาง-เล็ก
ภาพรวมกำไรสุทธิรวมงวด 9M62 (เฉพาะที่ประกาศงบฯ แล้ว) ราว 6.75 แสนล้านบาท ลดลง 17.4%yoy เมื่อเทียบกับ 9M61 ที่ทำได้ 7.93 แสนล้านบาท ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิรวมของทั้งตลาดปี 2562 เดิมที่ประเมินไว้ที่ 9.99 แสนล้านบาท หรือ 100.64 บาท/หุ้น มีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดประมาณการฯ ลง โดยทุกๆ 1 หมื่นล้านบาทที่หายไป จะทำให้ กำไรต่อหุ้น (EPS) ลดลง 1 บาท และเป็นผลให้ Market Earning Yield Gap ปรับตัวลดลงราว 0.05% (ดังตารางด้านล่าง)
 
ที่มา : ASPS
และมีโอกาสลดแรงจูงใจที่เม็ดเงินจากตราสารหนี้โยกย้ายมาลงทุนในตลาดหุ้นลดลงตามไปด้วย ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนยังคงแนะนำหุ้น Domestic ขนาดใหญ่ที่ราคา Laggard บวกกับเป็นหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง, ได้อานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Top Pick วันนี้ ฝ่ายวิจัยยังชื่นชอบ CPN (FV’63@B 94),  CPALL (FV’63@B 100)
พอร์ตจำลอง ยอมจำนน ตัดขาดทุน TTCL
ฝ่ายวิจัยได้เคยนำหุ้น TTCL เข้ามาในพอร์ตจำลองสัดส่วน 10% ในวันที่ 6 พ.ย. 2562 ราคาก็ปรับตัวขึ้นได้ดี และให้ผลตอบแทนเป็นบวกสม่ำเสมอ สวนทางกับตลาดที่เริ่มย่อตัว แต่วานนี้ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงถึง 11.11% (ถือเป็นวันที่ลงแรงสุดในรอบ 1 ปี 9 เดือน) จนราคาหุ้นอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน
ล่าสุดทาง TTCL ได้รายงานผลประกอบการงวด 3Q62 ออกมาผิดกับที่ฝ่ายวิจัยคาดไว้มาก โดยผลการดำเนินงานพลิกกลับมาขาดทุน 235 ล้านบาท (เดิมคาดว่ามีกำไร 40 ล้านบาท ลดลง 90% QoQ) เนื่องจากค่าใช้จ่ายบริหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยฯ อยู่ที่ 447 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 17.8% ของรายได้การก่อสร้างบวกกับรายได้ธุรกิจไฟฟ้า) ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเพียง 193 ล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งทางบริษัทยังมีความเสี่ยงจากการตั้งสำรองหนี้ในโครงการต่างๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงการตั้งสำรองหนี้ตามมาตรฐานทางบัญชี TFRS15 ในเรื่องของรายได้จากสัญญาที่ทำไว้กับลูกค้า และการตั้งสำรองหนี้ตามมาตรฐานทางบัญชี TFRS9 ในเรื่องของเครื่องมือทางการเงิน เป็นผลต่อประมาณการที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ความคลาดเคลื่อนจากข้อมูลที่ฝ่ายวิจัยได้รับ และยังไม่มั่นใจในตัวเลขประมาณการ มีโอกาสที่ปรับประมาณการใหม่อีกครั้ง แต่ในเบื้องต้นเปลี่ยนคำแนะนำจาก “ซื้อ” เป็น “ขาย” รายละเอียดอื่นๆสามารถรอติดตามได้ในบทวิเคราะห์ Equity Talk ของ TTCL ไดวันนี้
ความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้ฝ่ายขออนุญาติตัดขาดทุน TTCL ในพอร์ตจำลองออกไปก่อน ซึ่งล่าสุดผลตอบแทน TTCL ในพอร์ตจำลองของฝ่ายวิจัยฯ ติดลบ 9.86%
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!