- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 14 November 2019 20:24
- Hits: 269
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
Bond Yield ที่เริ่มทรงตัวหลังหักหัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ราคาทองคำดีดตัวขึ้น สะท้อนให้เห็นภาพการชะลอตัวของการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินจากสินทรัพย์ปลอดภัย เข้าสู่ตลาดหุ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องผลประกอบการ 3Q62 ที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเข้ามากดดัน คาด SET Index น่าจะยังปรับฐานต่อเนื่อง แนะนำให้ย้ายเม็ดเงินบางส่วนเข้ามาพักใน POPF ส่วนหุ้น Top Pick ยังเลือก CPALL (FV@B 100) และ CPN (FV@B 94)
SET Index 1,615.14
เปลี่ยนแปลง (จุด) -11.06
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 52,456
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตลอดวัน จากที่ยังไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนรวมถึงประเด็นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวด 3Q62 ออกมาต่ำกว่าคาด จึงทำให้ปิดระดับ 1615.14 จุด ลดลง 11.06 จุด (-0.68%) ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย 5.24 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานได้แก่ GULF(-2.05%) EA(-4.47%) BGRIM(-3.79%) PTTEP(-0.81%) กลุ่มค้าปลีกเช่น CPALL(-1.25%) RS(-2.60%) BJC(-4.04%) และกลุ่มธ.พ.เช่น KBANK(-1.32%) BBL(-1.69%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวอย่างเช่น AOT(-1.57%) MINT(-4.03%)และ STEC(-19.55%) เป็นต้น
ความกังวลเรื่องบทสรุปของการเจรจาการค้า สหรัฐฯ-จีน ที่เดิมเคยถูกคาดหมายว่าน่าจะเห็นผลเชิงบวก กลับมาสร้างแรงกดดันหลังปรากฎสัญญาณความไม่ชัดเจนขึ้นมา ส่งผลกระทบมายังตลาดการเงินทำให้กระบวนการในการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนจาก สินทรัพย์ปลอดภัย (พันธบัตร , ทองคำ) มาสู่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น มีอาการชะลอตัว เห็นได้จาก Bond Yield เริ่มทรงตัวหลังจากหักหัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ราคาทองคำมีการ Rebound กลับขึ้นมาเล็กน้อย สถานการณ์แวดล้อมดังกล่าวน่าจะยังคงดำเนินอยู่และทำให้ตลาดหุ้นมีเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามาหนุนลดลง ส่วนปัจจัยในประเทศ มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย ครม. เห็นชอบโครงการ ชิม ข้อป ใช้ เฟสที่ 3 และแสดงท่าที่พร้อมสำหรับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตามผลของบวกจากมาตาการดังกล่าวน่าจะถูกจำกัดอยู่ในหุ้นกลุ่ม ค้าปลีก และ ท่องเที่ยว เป็นหลัก ส่วนการประกาสผลประกอบการ 3Q62 ล่าสุดมีจำนวนบริษัทที่ประกาศออกมาแล้ว 428 บริษัท คิดเป็น 83% ของ Market Cap พบว่ามีกำไรสุทธิรวม 2.01 แสนล้านบาท ลดลง 1.7%QoQ และ 18% YoY ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และน่าจะสร้าง Downside ต่อประมาณการกำไรทั้งในปี 2562 และ 2563 และถือเป็นแรงกดดันต่อ SET Index ประเมินสถานการณ์แวดล้อมดังกล่าวข้างต้น คาดว่าน่าจะส่งผลทำให้ SET Index วันนี้อยู่ในช่วงของการปรับฐานต่อเนื่อง โดยกรอบในช่วงนี้อยู่บริเวณ 1610 – 1640 จุด กลยุทธ์การลงทุนวันนี้แนะนำให้สลับเม็ดเงินลงทุนเข้าไปพักในตัวเลือกที่ปลอดภัยอย่าง Property Fund อย่าง POPF โดยให้ลดสัดส่วนการลงทุนใน EA และ JWD ลงอย่างละ 5% เข้ามาใส่ใน POPF ส่วนหุ้น Top Pick ยังคงเป็น CPN และ CPALL
สงครามการค้ายังคลุมเครือ ประธาน Fed ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยถึงปี 2563
ตลาดหุ้นโลกเริ่มขาดปัจจัยหนุน ภายหลังจากช่วงสัปดาห์ก่อน ตลาดฟื้นตัวบนความคาดหวังของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน อย่างไรก็ตามประเด็นสงครามการค้ายังมีความคลุมเครือ ภายหลังประธานาธิบดีทรัมป์เน้นย้ำว่าสหรัฐจะต้องไม่เป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเจรจาการค้ากับจีน และระบุว่าสหรัฐ พร้อมกลับมาขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนต่อ หากการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ ขณะที่ทางฝั่งจีน ล่าสุดวานนี้ แหล่งข่าวจาก Wall Street Journal รายงานว่าจีนยังลังเลที่จะกลับมานำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ โดยระบุว่าจีนยังไม่กำหนดมูลค่าการนำเข้าอย่างชัดเจน จากที่เดิมเคยคาดว่าจะกลับมานำเข้าราว 4-5 หมื่นล้านเหรียญ ส่งผลให้ ASPS ยังคงมุมมองเดิมคือสงครามการค้าจะมีโอกาสยืดเยื้อไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปี 2563
Pattern สงครามการค้าสหรีฐ-จีน
นอกจากนี้คำกล่าวสุนทรพจน์ของนาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต่อสภาคองเกรส เน้นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่ 1.75% เป็นระดับที่มีความเหมาะสม ท่าทีล่าสุดของประธาน Fed เป็นไปในทิศทางเดียวกับการประชุม Fed ครั้งล่าสุดในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่ง Fed ปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ของปี และส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ยไปจนถึงกลางปี 2563
ดังนั้น ASPS เชื่อว่า ประเด็นสงครามการค้าที่ยังคลุมเครือน่าจะน้ำหนักกดันต่อตลาดหุ้นโลกมากกว่า ส่งผลให้ตลาดจะยังอยู่ในช่วงพักฐานต่อไป
ความคาดหวังการสงบศึกประเด็นสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ใกล้ถึงจุดสิ้นสุด ถูกสะท้อนมาในตลาดหุ้นในระดับหนึ่งแล้ว สังเกตได้จากในช่วงก่อนหน้า ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวแรงจาก 1580 ขึ้นมาถึง 1640 จุด หรือเพิ่มขึ้นกว่า 60 จุด ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ล่าสุดประเด็นสงครามทางการค้ากลับมาคลุมเครือ หลังมีกระแสข่าวว่าจีนยังลังเลที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ รวมถึงหากทางสหรัฐยังเสียเปรียบทางจีน มีโอกาสที่กลับมาขึ้นภาษีนำเข้าอีก
ขณะเดียวกันแรงขายสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากในเดือนนี้ Bond Yield 10 ปี ของไทยเร่งตัวขึ้นมาตาม Bond Yield ประเทศอื่นๆ ที่ปรับตัวขึ้นมาก่อนหน้า หรือ เพิ่มมากว่า 20 bps. (mtd) ล่าสุดอยู่ที่ 1.71%
เปรียบเทียบ Bond Yield 10 ปีของไทย, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่นและเยอรมัน
ประเมินว่าแรงขายตราสารหนี้มีโอกาสชะลอลง ทั้งจากประเด็นสงครามการค้าที่ยังไม่แน่นอน รวมถึงอัตราผลตอบแทน หรือ Bond Yield เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (Bond Yield 10 ปี 1.71%) กลับมาสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง (Bond Yield 10 ปี 1.25%) ทำให้ความคาดหวังในสภาพคล่องส่วนเกินที่เคยหนุนตลาดหุ้นอาจชะลอลงตามไปด้วย
ส่งผลให้ SET Index ยังขาดแรงขับเคลื่อน กดดันให้แกว่งตัวขึ้นได้จำกัด ประเมินกรอบการเคลื่อนไหววันนี้อยู่ที่ 1605 – 1630 จุด ลักษณะที่ตลาดเหมือนอยู่ในช่วงจำศีล แนะนำแบ่งเงินบางส่วนมาพักที่กองทุนอสังหาฯ ที่มี Dividend Yield สูงมาก อย่าง POPF คาดหวังปันผลได้สูงถึง 7.6% ต่อปี สามารถรอรับปันผลเร็วๆ นี้ 0.15 บาทต่อหุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 18 พ.ย. 2563
บจ. ทยอยประกาศงบ 3Q62
การประกาศผลประกอบการฯ 3Q62 จากที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมจนถึงวานนี้ มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้วราว 428 บริษัท คิดเป็น 83% ของ Market Cap. ทั้งตลาดฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 2.01 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะบริษัทที่ประกาศงบฯ แล้วกับงวด 2Q62 พบว่าไตรมาสนี้กำไรฯ อ่อนตัวเล็กน้อยราว 1.7%qoq และเปรียบเทียบกับ 3Q61 พบว่ากำไรฯ ลดลงราว 18.0%yoy เบื้องต้นกลุ่มที่กำไรสุทธิเติบโตทั้ง qoq และ yoy เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม ส่วนกลุ่มที่กำไรสุทธิหดตัวทั้ง qoq และ yoy คือ กลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ, กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มส่งออกชิ้นส่วน เป็นต้น
ภาพกำไรฯ ที่ลดลงดังกล่าว ถือเป็น Downside Risk ต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 9.99 แสนล้านบาท หรือ 100.64 บาท/หุ้น โดยทุกๆ 1 หมื่นล้านบาทที่หายไป จะทำให้ กำไรต่อหุ้น (EPS) ลดลง 1 บาท และเป็นผลให้ Market Earning Yield Gap ปรับตัวลดลงราว 0.05% (ดังตารางด้านล่าง)
มีโอกาสลดแรงจูงใจที่เม็ดเงินจากตราสารหนี้โยกย้ายมาลงทุนในตลาดหุ้นลดลงตามไปด้วย ดังนั้นกลยุทธ์ยังคงพิถีพิถันในการเลือกหุ้น แนะนำหุ้น Domestic ขนาดใหญ่ที่ราคา Laggard บวกกับเป็นหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง, ได้อานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Top Pick วันนี้ ฝ่ายวิจัยยังชื่นชอบ CPN (FV’63@B 94), CPALL (FV’63@B 100)
STEC .....ระยะสั้นแนะนำหลีกเลี่ยงลงทุน
วานนี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช) ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐ 4 ราย กรณีร่วมกันรับเงิน 20 ล้านบาท จากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น MHPS เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม ตลอดจนใช้เรือลำเลียงเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่านชิ้นส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยไม่ชอบ สำหรับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม และชี้มูลความผิด STEC รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของ STEC อีก 2 ราย ในฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิด
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งรายงานสำนวนการไต่ส่วนและเอกสารหลักฐานไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลต่อไป ส่งผลให้หุ้น STEC มีราคาปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงกว่า 19.55% ท่ามกลางความกังวลว่าบริษัทอาจถูกขึ้น Blacklist จากหน่วยงานภาครัฐในการเข้าประมูลงานในอนาคต รวมไปถึงคุณสมบัติของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่อาจเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเรื่องการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฏหมาย อย่างไรก็ตาม การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด ขณะที่เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัชชั่นออกมาให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่าการที่บริษัทเอกชนถูกชี้มูลความผิดจาก ป.ป.ช ไม่มีผลต่อการถูกขึ้นบัญชีดำตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ 2562
ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวยังไม่กระทบต่อผลดำเนินงานของ STEC ที่ปัจจุบันมี Backlog สูงถึง 9 หมื่นล้านบาท เพียงพอรองรับรายได้ถึงปี 2565 และมีฐานะการเงินมั่นคงโดยมีเงินสดในมือบวกกับเงินลงทุน ณ สิ้น 2Q62 มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ความไม่ชัดเจนจากคดีความดังกล่าวน่าจะกดดันราคาหุ้นไปอีกระยะ ฝ่ายวิจัยแนะนำให้นักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำหลีกเลี่ยงการลงทุนออกไปก่อน ส่วนนักลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ อาจหาจังหวะเข้าซื้อเก็งกำไร โดยประเมินราคาเหมาะสมปี 2563 ที่ 25.00 บาท
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ