- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 13 November 2019 16:35
- Hits: 2888
บล.เคจีไอ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
Key messages
ประเด็นสำคัญที่ได้จาก ผู้บริหารธปท. ในงานสัมมนาด้านเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน เมื่อวานนี้ ได้แก่ i) เศรษฐกิจโลกไม่น่าจะถดถอยในปี 2563 ii) ดัชนีภาคการผลิตโลกเริ่มนิ่งในเดือนหลัง ๆ และอาจจะฟื้นตัวขึ้นถ้าหากจีนและสหรัฐลงนามในข้อตกลงทางการค้าได้ iii) รายได้นอกภาคเกษตรและการจ้างงานที่ชะลอตัวจะเป็นตัวกดดันการบริโภคของไทย iv) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการย้ายฐานการผลิตจะเป็นจุดที่โดดเด่นของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า เรามองว่ามีโอกาสจำกัดที่จะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มอีก และยังคงมุมมองว่า กนง. จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปี 2562-63
ประเด็นสำคัญจากงานสัมมนาด้านเศรษฐกิจ กับผู้บริหาร ธปท.
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เราได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย และนโยบายการเงิน โดยมี ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นแขกรับเชิญ
เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นของภาคการผลิตโลก และไม่น่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2563
แขกรับเชิญของเราบอกว่าในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ดัชนีสำคัญในภาคการผลิต อย่างเช่น PMI การผลิตของโลก และ PMI ยอดส่งออก เริ่มนิ่งหลังจากที่หดตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ในขณะที่สัญญาณล่าสุดเกี่ยวกับการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐก็นำไปสู่ภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่ไม่ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2563 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ธปท. ใช้สมมติฐานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (คำนวณจากคู่ค้าหลักของไทย) ในปีนี้ที่ 2.8% และปีหน้าที่ 2.7% เราพบว่า ธปท. มีมุมมองระมัดระวังมากกว่า IMF ซึ่งล่าสุดคาดว่า GDP โลกปีนี้จะขยายตัว 3.0% และปีหน้าจะโต 3.4% สำหรับเศรษฐกิจไทย เจ้าหน้าที่ ธปท. คาดว่า GDP จะโต 3.3% ในปี 2563 แต่น่าจะปรับลดลงอีกในการทบทวนประมาณการรอบเดือนธันวาคม
รายได้นอกภาคเกษตร/การจ้างงานชะลอตัวลง และความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่ลดลงจะเป็นตัวจำกัดการบริโภคภาคเอกชน
แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวได้ดีในระยะสั้นเมื่อเทียบกับส่วนประกอบอื่น ๆ ของ GDP แต่เรามองไม่เห็น upside ของการบริโภคไทยปี 2563 จากประมาณการในปัจจุบัน ดร. ดอน มองว่ารายได้นอกภาคเกษตร และการจ้างงานที่ชะลอตัวลง บวกกับความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ไม่หวือหวา และแรงบีบจากทางการบางส่วนจะเป็นความท้าทายของการบริโภคของไทยในปีหน้า เรามองว่าทางการก็เห็นสัญญาณนี้ จึงได้ออกมาตรการต่าง ๆ มาเพื่อกระตุ้นการบริโภค แม้ว่าจะไม่ได้ทำในขนาดมาตรการที่ใหญ่มาก
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการย้ายฐานการผลิตจะเป็น sweet spot ของเศรษฐกิจไทยปีหน้า
แขกรับเชิญของเรามองว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะเร่งตัวขึ้นในปี 2563 โดยเฉพาะสองโครงการหลัก ได้แก่ มาบตาพุดเฟสที่ 3 และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยสองโครงการนี้น่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในปีหน้า ในขณะเดียวกัน จากการเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ธปท. ก็เริ่มเห็นการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เรารู้สึกว่า ธปท. ให้น้ำหนักกับนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ว่าจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจปีหน้า
นัยยะของนโยบายการเงิน: เหลือช่องให้ผ่อนคลายนโยบายได้อีกจำกัด KGI มองว่าจะไม่มีการลดดอกเบี้ยอีกในปี 2562-63
ดร. ดอน กล่าวในงานสัมมนาว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยในปัจจุบันต่ำที่สุดในเอเชีย ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.25% ต่ำเท่ากับของเกาหลี ดังนั้นจึงเหลือช่องให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินลงได้อีกจำกัด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ธปท. ก็บอกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25% ในขณะนี้ยังไม่ใช่ขอบล่างของอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน ทั้งนี้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างอ่อน ๆ ของ GDP ในปี 2563 เราจึงคาดว่าไม่น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก
นัยยะต่อหุ้น: หุ้นการบริโภคมี upside surprise จำกัด แต่หุ้น cyclical ยังอาจมี upside อีก ในขณะที่หุ้นนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเป็นบวกในระยะยาว
จากข้อมูลที่ได้จากงานสัมมนา เรามองว่าหุ้นการบริโภคไม่น่าจะมี surprise ในแง่ upside ปีหน้า แต่เรามองว่าหุ้นที่อิงวัฏจักรเศรษฐกิจโลกอาจะมี upside อีกถ้าหากข้อตกลงทางการค้าออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้ ในขณะที่หุ้นนิคมอุตสาหกรรมก็ดูน่าสนใจในระยะยาวจากธีม EEC และการย้ายฐนการผลิต ทั้งนี้ หุ้นที่เกี่ยวข้องกับธีมข้างต้นได้แก่ i) หุ้นโรงกลั่น อย่างเช่น TOP*, SPRC* และ ESSO* และ ii) หุ้นนิคมอุตสาหกรรม อย่างเช่น AMATA* และ WHA*
Rakpong Chaisuparakul
662.658.8845