- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 06 November 2019 18:28
- Hits: 1999
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ด้วย Market Earning Yield Gap ที่สูงถึง 4.73% เชื่อว่ามากพอที่จะดึงดูดให้เม็ดเงินลงทุนบางส่วนไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น อีกทั้งในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี น่าจะมีแรงซื้อจากเม็ดเงิน LTF เข้ามาในตลาดเพิ่มเติม องค์ประกอบดังกล่าวเชื่อว่าน่าจะทำให้ SET Index เคลื่อนไหวในช่วง 1600 – 1640 จุด วันนี้แนะนำให้ปรับพอร์ต โดยขายหุ้น CK และสลับเข้า TTCL แทน ด้วยน้ำหนักการลงทุนเท่ากัน Top Picks เลือก CPN (FV@B 94), MCS (FV@B 11.30) และ TTCL (FV@B 10)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งทรงตัวในกรอบ 10 จุดตลอดวัน และปิดตัวในแดนบวกต่อเนื่องจากวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งได้แรงหนุนจากพัฒนาการเชิงบวกของการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ และการประชุม กนง. วันนี้ ที่ส่วนใหญ่คาดลดดอกเบี้ยฯ 25bps ทำให้ปิดระดับ 1626.87 จุด เพิ่มขึ้น 4.62 จุด (+0.28%) ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย 5.91 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่ผลักดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มค้าปลีกได้แก่ CPALL(+1.60%) BJC(+1.01%) กลุ่มธ.พ.เช่น KBANK(+2.46%) SCB(+1.30%) และกลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(+0.43%) JAS(+1.63%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวอย่างเช่น IVL(+5.88%) และ GULF(+1.74%) เป็นต้น
การเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนจาก สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) เข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของตลาดการเงินสหรัฐฯ พบว่าดัชนีราคาหุ้นดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นสร้างจุดสูงสุด ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 1.85% เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวมาจาก ความผ่อนคลายต่อสถานการณ์สงครามการค้าที่ส่งสัญญาณบวกชัดเจนมากขึ้นหลังมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการลงนามสงบศึกของผู้นำ สหรัฐฯ กับ จีน ส่วนตลาดการเงินในประเทศไทย ก็มีโอกาสที่จะเห็นภาพการเคลื่อนย้ายจากตลาดพันธบัตรเข้าสู่ตลาดหุ้นเช่นกัน หลังจากที่ ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของทั้ง 2 ตลาด (Market Earning Yield Gap) ขยายออกไปกว้าง 4.73% และอาจขยายกว้างขึ้นไปแตะระดับ 5% ได้ หากที่ประชุม กนง. ในวันนี้ (6 พ.ย.2562) มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ส่วนอีกแรงหนึ่งที่ฝ่ายวิจัยเห็นว่าเป็นแรงหนุน SET Index ให้ปรับตัวสูงขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดทรงตัวในระดับใกล้เคียงปัจจุบันได้ คือ แรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยจากข้อมูลการซื้อขายนับจากวันจันทร์ ที่ 28 ต.ค. 62 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามียอดซื้อสุทธิรวมกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบผ่านการซื้อ LTF แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของ Fund Flow ที่มาจากนักลงทุนต่างประเทศ ฝ่ายวิจัยประเมินว่ายังไม่น่าจะมีเข้ามาในช่วงเวลานี้ โดยอุปสรรคประการสำคัญ อยู่ที่ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Risk) ซึ่งมีค่อนข้างสูงในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยภาพรวมจึงคาดว่า SET Index น่าจะทรงตัวเหนือ 1600 จุดได้ โดยมีกรอบแนวต้านสำคัญบริเวณ 1640 จุดขึ้นไป กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ แนะนำให้ปรับพอร์ตการลงทุน โดย Cut Loss หุ้น CK และ ย้ายเม็ดเงินลงทุน เข้าสู่ TTCL ซึ่งมีโอกาสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า หุ้น Top Pick เลือก CPN, MCS และ TTCL
ประธานธิบดีจีนจะเซ็นสัญญาการค้าเฟส 1 หากสหรัฐยกเลิกภาษีจีน หนุนตลาดหุ้นโลก
ต่างประเทศยังคงให้น้ำหนักสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่มีกระแสข่าวว่าสหรัฐกำลังพิจารณายกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในรอบที่ 1 วงเงิน 3.4 หมื่นล้านเหรียญอัตรา 25% ระยะเวลายกเลิกถึงปลาย ธ.ค. 2562 และในรอบที่ 4.1 วงเงิน 1.1 แสนล้านเหรียญ ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษี 15% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา
ล่าสุด ทางฝั่งจีน วานนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ระบุว่า พร้อมเดินทางไปเซ็นสัญญาข้อตกลงการค้าเฟส 1 ด้วยตนเอง หากสหรัฐยกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่เคยขึ้นไปตั้งแต่กลางปี 2561 ที่ผ่านมา รวม 4 รอบ วงเงินกว่า 3.6 แสนล้านเหรียญ
และปัจจัยบวกอีกประเด็นคือ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด โดยวานนี้ สถาบัน ISM รายงานดัชนี PMI ภาคบริการ (ISM Service PMI) ประจำเดือน ต.ค. พบว่าดัชนีเพิ่มขึ้น 4%mom ที่ระดับ 54.7 จุด และสูงกว่าตลาดที่ 53.5 หนุนความคาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง
โดยรวมทั้ง 2 ประเด็นถือเป็น Sentiment บวกต่อการลงทุนในช่วงนี้ และหากมีการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าจริง และยกเลิกถาวร ASPS เชื่อว่าจะเป็นบวกต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ต่อไป อย่างไรก็ตาม ASPS ยังคงมุมมองในระยะยาวเดิมไปก่อน คือ สงครามการค้ายังมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป จนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปี 2563
ทั้งนี้ในระยะสั้น ตลาดได้ผ่อนคลายความกังวล เห็นได้จากเงินทุนมีแนวโน้มไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น สะท้อนจาก Bond Yield 10 ปีของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1.85% จาก 1.82% และตลาดหุ้นโลกโดยเฉพาะ ดัชนี Dow Jones เดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ (All-Time High) ต่อและราคาน้ำมันดิบโลก ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ น้ำมัน Brent เพิ่มขึ้น 1.34% และดูไบเพิ่มขึ้น 0.96%
บ่าย 2 วันนี้ประชุม กนง. คาดลดดอกเบี้ยฯ 25 bps. อยู่ที่ 1.25%
วันนี้เวลาบ่าย 2 โมง ดังที่ ASPS ได้นำเสนอใน Market talk เมื่อวานนี้ คือ ให้น้ำหนักการประชุมคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) รอบที่ 7 จาก 8 รอบ ASPS เชื่อว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยฯในช่วงที่เหลือของปีนี้ราว 1 ครั้งลง 25 bps อยู่ที่ 1.25% ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ให้น้ำหนักที่รอบนี้ เนื่องจากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมคือ 1.) แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2562 –2563 ฟื้นตัวล่าช้า 2.)เงินเฟ้อไทย ล่าสุด เดือน ต.ค. ขยายตัว 0.11% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) หรือส่วนต่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 1.5% ปรับกว้างขึ้นเป็น1.39% เป็นช่องว่างในการปรับลดดอกเบี้ยลงได้ 3.)ค่าเงินบาทยังแข็งค่า ล่าสุด แกว่งอยู่ที่ระดับ 30.1-30.2 บาท/ดอลลาร์ (นับตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าราว 8% ถือแข็งค่ามากสุดในภูมิภาค เทียบกับสกุลอื่นในภูมิภาคแข็งค่าน้อยกว่า)
ความคาดหวัง กนง. จะมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ถือว่าสอดคล้องกับผลสำรวจ(Consensus) ใน Bloomberg พบว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาด กนง. จะลดดอกเบี้ยในรอบนี้ (นักวิเคราะห์ 17 จาก 26 คน หรือราว 65.4% คาดลดดอกเบี้ย ขณะที่อีก 9 คนหรือราว 34.6% คาดยังคงดอกเบี้ยที่ 1.5%)
หากวันนี้หาก กนง. ปรับลดดอกเบี้ยฯนโยบายลงตามที่คาด เชื่อว่าจะเป็น Sentiment เชิงบวกระยะสั้นต่อค่าเงินบาท/ดอลลาร์ให้ชะลอการแข็งค่า ขณะที่หุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์คือ
กลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่มีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราคงที่สูง (ยกเว้น IFS) ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของกลุ่มฯ ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้หรือเงินกู้ยืมจาก ธ.พ. ดังนั้นเมื่อดอกเบี้ยปรับตัวลดลงทำให้ต้นทุนของกลุ่มเช่าซื้อถูกลง โดยเฉพาะบริษัทที่มีสัดส่วนหนี้สินระยะสั้นต่อระยะยาวมากกว่ากลุ่มฯ (คือ สามารถปรับต้นทุนให้เหมาะสมได้มากกว่า) ได้แก่ ASK, SAWAD, THANI แต่เนื่องจากหุ้นในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดคำแนะนำเป็น Switch ยกเว้น MTC ที่ฝ่ายวิจัยเตรียมปรับไปใช้ Fair value ปี 2563 ที่ 71 บาท จะมี Upside 20% ซึ่ง MTC ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง
กลุ่มธนาคารพาณิชย์(ขนาดเล็ก) มีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่สูง แต่มีโครงสร้างเงินฝากบางส่วนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จึงเป็นบวกต่อ NIM อาทิ TISCO([email protected]), TCAP(FV@B63) และ KKP([email protected])
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้อัตราการผ่อนชำระต่องวดของผู้กู้ที่อยู่อาศัยลดลง ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และได้ Sentiment เชิงบวกจากมาตรการกระตุ้น คือ ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จากเดิม 2% ของราคาประเมิน และค่าจดจำนองจากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนองเหลือ 0.01% สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัย ดีต่อ LH([email protected]), PSH([email protected]) และ SPALI([email protected])
หุ้นปันผลสูง การปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย จะกดดันให้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ลดลง แต่ไม่น่าปรับลงมากนัก (โดย ปัจจุบัน Bond yield 10 ปี ไทย อยู่ในระดับต่ำที่ 1.59%ลดลงจากต้นปี 2562 ที่อยู่ราว 2.58%) ในทางตรงข้ามมีโอกาสที่เม็ดเงินจะโยกย้ายมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น หุ้นปันผลสูง ซึ่งหุ้นที่ฝ่ายวิจัยแนะนำในพอร์ตจำลอง คาดหวัง Dividend Yield มากกว่า 6% คือ MCS([email protected]) รวมถึง LH และ KKP
หุ้นกลุ่มที่เสียประโยชน์ คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เนื่องจากการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ธ.พ. ต้องปรับลดลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามมา จะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยรับและ NIM โดยธ.พ.ขนาดใหญ่ อาทิ BBL, KTB, KBANK, SCB
อย่างไรก็ตาม แต่หาก กนง.ยังไม่ลดดอกเบี้ยในรอบนี้ เชื่อว่าจะทำให้เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าต่อ และยังเชื่อว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยในรอบถัดไป 18 ธ.ค.
เม็ดเงินไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยง + แรงซื้อ LTF หนุน SET ยืนเหนือ 1600 จุด
เริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น หลังจากสินทรัพย์ที่เป็น Save Haven อย่าง ทองคำย่อตัวลงมาต่ำกว่า 1500 เหรียญฯ อีกครั้ง และพันธบัตรรัฐบาลมีราคาแพง จนอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังต่ำ เริ่มถูกขายออกมาเรื่อยๆ ส่งผลให้ Bond Yield ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด Bond Yield 10 ปี สหรัฐอยู่ที่ 1.85% (ปรับตัวขึ้นมา 35 bps. นับตั้งแต่เดือน ก.ย. ถึงปัจจุบัน) ไหลเข้ามาที่สินทรัพย์เสี่ยง หนุนให้ตลาดหุ้นหลายแห่งทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 1 ปี เช่น ตลาดหุ้นเยอรมัน, อินเดีย, ไต้หวัน, และญี่ปุ่น รวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐที่ขึ้นทำ All Time High ขณะที่ภาพรวมตลาดการเงินของไทย เริ่มจาก Bond Yield 10 ปี ยัง Laggard หรือฟื้นตัวขึ้นมาน้อยกว่าพันธบัตรประเทศอื่นๆ (ดังภาพทางด้านล่าง) ล่าสุดอยู่ที่ 1.56%
และหาก กนง.ลดดอกเบี้ยในวันนี้ หรือช่วงที่เหลือของปี จะทำให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนการลงทุนจากตลาดทุนกับตลาดตราสารหนี้ หรือ Market Earning Yield Gap ในปัจจุบันอยู่ที่ 4.73% ซึ่งเป็นระดับที่สูงมาก (ค่าเฉลี่ยนับจากปี 2551 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 4.28%) ขยายกว้างขึ้นไปแตะระดับ 5% ได้ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุน จากตราสารหนี้ เข้ามาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น ในเชิง Valuation สามารถนำค่า Market Earning Yield Gap มาคำนวณกลับมาเป็น PER ที่เหมาะสมได้ ในกรณีที่ กนง. มีการลดดอกเบี้ย 0.25% หากกำหนดค่า Market Earning Yield Gap ไว้ที่ 4.28% ก็จะได้ค่า PER เดิมที่ประเมินไว้ 16.45 เท่า เพิ่มขึ้นมาเป็น 17.6 เท่า เมื่อคูณกับ EPS ของตลาดฯ 100.64 บาทต่อหุ้น จะได้เป้าหมายดัชนีจาก 1655 จุด เป็น 1741 จุด
Market Earning Yield Gap
นอกจากนี้ยังเห็นแรงซื้อจากสถาบันฯเข้ามาอย่างหนาแน่นในช่วงปลายเดือน ต.ค. 2562 จนถึงปัจจุบัน กว่า 1.9 หมื่นล้านบาท หนุนให้ SET Index กลับขึ้นมายืนเหนือ 1600 จุด อีกครั้ง
และคาดว่าแรงซื้อ LTF ที่มักกระจุกตัวในช่วงที่เหลือของปี สะท้อนจากสถิติในอดีต เดือน พ.ย. มีแรงซื้อ LTF สัดส่วน 12.3% ของแรงซื้อทั้งปี และมากสุดในเดือน ธ.ค. 45.1% ของทั้งปี หรือคิดเป็นเม็ดเงินรวมทั้ง 2 เดือน ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท รวมถึงสภาพคล่องส่วนเกินจากสินทรัพย์ปลอดภัยจะคอยหนุนตลาดในช่วงที่เหลือของปี ยืนเหนือ 1600 จุด
TTCL ... หุ้นฟ้าหลังฝน
TTCL (FV@B 10.00) โครงสร้าง Backlog ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็น Olefin Plant ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ ขณะที่งานที่มีปัญหาต้นทุนบานปลายได้ถูกส่งมอบไปแล้วทั้งหมด ทำให้ TTCL กลับมาทำกำไรจากธุรกิจก่อสร้างได้สม่ำเสมอ โดย Backlog ปัจจุบันที่มี 1 หมื่นล้านบาท จะทยอยรับรู้ถึงปี 2564 บวกกับงานประมูลใหม่ที่มีลุ้นอีก 2 โครงการ มูลค่า 400 ล้านเหรียญฯ ภายในสิ้นปีนี้ โดยกำไรพิเศษที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตคือ การขายเงินลงทุนในโรงไฟฟ้า Solar Farm อ่างทอง และโรงไฟฟ้า Ahlone#2
โรงไฟฟ้า Ahlone#2 กำลังผลิต 388 MW อยู่ระหว่างตรวจสอบสัญญาก่อนนำเสนอ ครม.เมียนมาร์ เพื่อขออนุมัติเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในสิ้นปีนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะนอกจาก TTCL จะได้รับงานก่อสร้าง 480 ล้านเหรียญฯแล้ว (รับรู้ปี 2563-2565) ยังช่วยเพิ่มกำไรให้กับ TTCL ตั้งแต่ปี 2566 อีกไม่ต่ำกว่าปีละ 300 ล้านบาท ( สมมุติฐาน TTCL ถือหุ้น 40%) รวมไปถึงกำไรจากการขายหุ้นโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 บางส่วนให้พันธมิตรได้ในราคาพรีเมียม
ราคาหุ้นผ่านการปรับฐาน สะท้อนปัจจัยลบไปค่อนข้างมาก จนมี upside เปิดกว้างถึง 42.9% จากมูลค่าพื้นฐานที่ 10.00 บาท จึงเป็นโอกาสเข้าลงทุน
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ