WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Asia Plus Group Holdingบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน        
วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
พัฒนาการเชิงบวกของการเจรจาการค้า สหรัฐฯ-จีน ทำให้การเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนจาก สินทรัพย์ปลอดภัยมายังตลาดหุ้นมากขึ้น ส่วนของตลาดไทย ด้วย Market Earning Yield ที่สูงและโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่กำลังจะเกิดขึ้น น่าจะทำให้เห็นการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งจาก LTF คาด SET Index ยืนเหนือ 1600 จุดต่อเนื่อง วันนี้ไม่มีการปรับพอร์ต Top Picks เลือก CPN (FV@B 94), JWD (FV@B 12.30) และ MCS (FV@B 11.30)
        SET Index    1,622.25
        เปลี่ยนแปลง (จุด)    29.73
        มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท)    64,499
            
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยเปิดกระโดดเกือบ 10 จุดก่อนที่จะทยอยปรับตัวขึ้นตลอดวัน มาจากปัจจัยหนุนหลายปัจจัย อาทิเช่น สงครามการค้าผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทยอยมาอย่างต่อเนื่อง จนปิดที่ระดับ 1622.25 จุด เพิ่มขึ้น 29.73 จุด (+1.87%) ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย 6.45 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานที่หนุนตลาดเกิน 8 จุดได้แก่ PTT(0.55%) PTTEP(-2.50%) GULF(5.85%) BGRIM(9.95%) ตามมาด้วยกลุ่มธ.พ.อย่าง BBL(+1.44%) KBANK(+2.52%) SCB(+2.68%) และกลุ่มขนส่งเช่น AOT(+2.56%) BTS(+0.75%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวอย่างเช่น SCC(+2.71%) และ CPALL(+2.97%) เป็นต้น
พัฒนาการเชิงบวกจากการเจรจาการค้าระหว่าง สหรัฐฯ-จีน ซึ่งกำลังนำไปสู่การลงนามในสัญญาณ หนุนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน จากสินทรัพย์ปลอดภัย (Save Heaven) เช่นพันธบัตร เข้าสู่สินทรัพย์เสียง อย่างตลาดหุ้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น สะท้อนผ่านการดีดตัวขึ้นของ Bond Yield และ ดัชนีราคาในตลาดหุ้นสำคัญต่างๆ หากสถานการณ์ไม่มีการพลิกผัน ลำดับต่อไปที่จะเห็นคือการกระจายเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ตลาดหุ้นประเทศต่างๆ โดยที่ตลาดหุ้นไทยถือว่ามีโอกาสที่จะได้ประโยชน์ จากการที่ราคาหุ้น Laggad แต่อย่างไรก็ตามน่าจะเป็นหลักจากที่ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงไประดับหนึ่งก่อน ส่วนแนวโน้มในระยะสั้น เชื่อว่าแรงหนุนสำคัญของตลาดหุ้นไทย น่าจะมาจากเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาซื้อ LTF ซึ่งจะมีหนาแน่นในช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. โดยเม็ดเงินดังกล่าวน่าจะทำให้ SET Index สามารถพยุงตัวอยู่เหนือ 1600 จุดได้มีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น ส่วนการประชุม กนง. ที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ผลสำรวจจาก Bloomnerg พบว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า กนง จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาสู่ระดับ 1.25% ซึ่งหากเป็นไปตามคาด จะส่งผลทำให้ Market Earning Yield Gap ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนการลงทุนระหว่างตลาดหุ้น กับ พันธบัตรไทยอายุ 1ปี กว้างขึ้นไปสู่บริเวณ 5% ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ทำให้ตลาดหุ้นมีความน่าสนใจในการลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเป็นการเสนอผลตอบแทนที่ระดับสูง ภายใต้ความเสี่ยง (Downside Risk) ที่ระดับต่ำ ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามอีกเรื่องหนึ่งคือ การประกาศผลประกอบการงวด 3Q62 โดยภาพรวมคาดว่าน่าจะเห็นฐานกำไรที่ไม่สูงนัก จึงใม่น่าจะมีผลในการผลักดัน SET Index สำหรับกลยุทธ์การลงทุนวันนี้ไม่มีการปรับพอร์ต ส่วน Top Picks ยังคงเป็น MCS, JWD และ CPN
สหรัฐกำลังพิจารณายกเลิกภาษีนำเข้ากับจีน บางส่วน  หนุนตลาดหุ้น
ตลาดหุ้นโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในเชิงบวกต่อเนื่อง เห็นได้จากตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนี Dow Jones ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่(All-Time High) หลักๆ เชื่อว่าตอบรับประเด็นบวกจากความคลายกังวลสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่มีแนวโน้มผ่อนคลาย  คือ ทั้ง 2 ฝั่งมีโอกาสที่จะลงนามเซ็นสัญญาข้อตกลงการค้าเฟส 1  ได้ในช่วงกลางเดือน พ.ย. นี้  ล่าสุดกระแสข่าวคือ ประธานาธิบดี จีนจะเดินทางไปเซ็นสัญญาเอง  โดยใจความสำคัญข้อตกลงเฟส 1 คือ
ฝั่งสหรัฐพิจารณาจะยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 25% รอบ 1 วงเงิน 3.4 หมื่นล้านเหรียญฯ ระยะเวลายกเลิกถึง ปลายธ.ค.2562  และล่าสุดเช้ามืดวันนี้แหล่งข่าวจาก Financial Time รายงานว่าทำเนียบขาวสหรัฐกำลังพิจารณายกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในรอบที่ 4.1 วงเงิน 1.1 แสนล้านเหรียญ ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษี 15% ที่เริ่มเก็บวันที่ 1 ก.ย. 2562     ขณะที่ฝั่งจีน คาดว่าจะสัญญานำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ  (รายละเอียดสินค้าดังตาราง)
โดยรวมถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อการลงทุนในช่วงนี้  และหากมีการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าจริง และยกเลิกถาวร ASPS เชื่อว่าจะเป็นบวกต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2563   อย่างไรก็ตาม ASPS ยังคงมุมมองในระยะยาวเดิม คือ สงครามการค้ายังมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป จนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปี 2563
ระยะสั้น ตลาดผ่อนคลายความกังวลประเด็นสงครามการค้าลง สังเกตได้จากเงินทุนมีแนวโน้มไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น สะท้อนจาก   Bond Yield 10 ปีของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันดิบโลก ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ น้ำมัน Brent เพิ่มขึ้น  0.71% และดูไบเพิ่มขึ้น 0.57%
ประชุม กนง. วันพรุ่งนี้ ส่วนใหญ่คาดลดดอกเบี้ยฯ 25ps อยู่ที่ 1.25%
ในประเทศสัปดาห์นี้ เชื่อว่าตลาดให้น้ำหนักวันพรุ่งนี้เวลาบ่าย 2 โมง คือ การประชุมคณะกรรมนโยบายการเงิน(กนง.) รอบที่ 7 จาก 8 รอบ โดยในรอบนี้ ASPS ให้น้ำหนักคาดหวังมีโอกาส กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่อยู่ 1.5% ลง 25 bps อยู่ที่ 1.25% ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับผลสำรวจ(Consensus) ใน Bloomberg พบว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาด กนง. จะลดดอกเบี้ยในรอบนี้ (นักวิเคราะห์ 17 จาก 16 คน หรือราว 65.4% คาดลดดอกเบี้ย  ขณะที่อีก 9 คนหรือราว 34.6% คาดยังคงดอกเบี้ยที่ 1.5%)
อัตราดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อของไทย
 
มุมมองของ ASPS เชื่อว่าปัจจัยสนับสนุนความเชื่อ กนง.จะลดดอกเบี้ยฯไทย ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2562 –2563 ฟื้นตัวล่าช้า  ล่าสุด เห็นได้จากรายงานภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ย.ของ ธปท. ยังบ่งชี้ชะลอตัว โดยเฉพาะส่งออกราว 68%ของ GDP  หดตัวเฉลี่ย ราว 2.2%นับตั้งแต่ต้นปี  จากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน  ,กระทบต่อการลงทุนเอกชนเห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิต เดือน ก.ย. ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 64.5% ชะลอจากเดือน ส.ค. ที่  66.5%   และเห็นได้จากการลงทุนหมวดเครื่องจักรหดตัว ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนราว 50%ของ GDP จะยังได้รับผลกระทบจาก ภัยแล้ง 1 พ.ย.62  ที่มาเร็วกว่าคาด ทำให้มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ในช่วงปลายปี ซึ่งจะกระทบกับกำลังซื้อประชาชน
เงินเฟ้อไทย ล่าสุด เดือน ต.ค. ขยายตัว 0.11% ชะลอจาก 0.32% ในเดือน ก.ย. ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) หรือส่วนต่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 1.5% ปรับกว้างขึ้นเป็น1.39% เป็นช่องว่างในการปรับลดดอกเบี้ยลงได้
ค่าเงินบาทยังแข็งค่า ล่าสุด แกว่งอยู่ที่ระดับ 30.15 บาท/ดอลลาร์ จากต้นปี เฉลี่ยราว 32.2 บาท (ถือแข็งค่ามากสุดในภูมิภาค เทียบกับสกุลอื่นในภูมิภาคแข็งค่าน้อยกว่า หรืออ่อนค่า อาทิ เงินรูเปียอินโดนีเซียแข็งค่า 3%, เงินเปโซฟิลิปปินส์แข็งค่า 2.5%,ขณะที่เงินมาเลเซียริงกิต และเงินรูปีอินเดียอยู่ในทิศทางอ่อนค่า  เงินบาทที่แข็งค่าทำให้ราคาสินค่าส่งออกไทยแพงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านและกระทบต่อรายรับของผู้ส่งออกลดลง
โดยรวมหาก กนง. ปรับบลดดอกเบี้ยตามคาดจริง จะส่งผลทำให้ Market Earning Yield Gap ขยายกว้างขึ้นไปแตะระดับ 5% โดยปัจจุบันกว้างขึ้นมาอยู่ที่ 4.85% ซึ่งเป็นระดับที่สูงมาก (ค่าเฉลี่ยนับจากปี 2551 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 4.28%) ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนจากตราสารหนี้ เข้ามาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น
คาดหวังสภาพคล่องส่วนเกิน + แรงซื้อ LTF หนุนตลาดหุ้นไทย
ประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐผ่อนคลาย ทั้งความคืบหน้าเซ็นสัญญาเฟส 1 และอาจมีการพิจารณษยกเลิกภาษีรอบ 4.1 มูลค่า 1.1 ล้านเหรียญ หนุนให้ตลาดหุ้น Dow Jones ขึ้นทำ All Time High ในวานนี้ปิดที่ 27462.11 จุด รวมถึงหากไปดู Bond Yield 10 ปี สหรัฐขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.78%
แสดงให้เห็นถึงการโยกย้ายเม็ดเงินลงทุนจากสินทรัพย์ปลอดภัยมาสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาแล้ว เนื่องจากยังมี Upside เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มากกว่าตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันดัชนียังต่ำจากจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี ถึง 7.20% ถือว่ายัง Laggard ตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ทำ All Time High ทั้งดัชนี Dow Jones และ S&P 500 รวมถึงตลาดหุ้นเยอรมัน, อินเดีย, ไต้หวัน, และญี่ปุ่น ทำจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีทั้งสิ้น  (ดังตารางทางด้านล่าง)
แม้ในเดือน พ.ย. 2562 จะมีประเด็นกดดันจากทาง MSCI ได้มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า จะปรับเพิ่มน้ำหนัก 5% ของ China A-Share ลงในดัชนี MSCI Emerging Market ในรอบนี้ คาดว่ากดดันให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสถูกเบียดให้มีสัดส่วนลดลง และ Fund Flow อาจชะลอการไหล ดังสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี ที่ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยในเดือน พ.ย. สูงเป็นอันดับ 2 กว่า 1.47 หมื่นล้านบาท
แต่การปรับตัวขึ้นของดัชนีจากสภาพคล่องส่วนเกิน ยังสามารถคาดหวังแรงขับเคลื่อนจากสถาบันในประเทศได้ เนื่องจากมักจะมีแรงซื้อ LTF กระจุกตัวในช่วงที่เหลือของปี สะท้อนจากสถิติในอดีต เดือน พ.ย. มีแรงซื้อ LTF สัดส่วน 12.3% ของแรงซื้อทั้งปี และมากสุดในเดือน ธ.ค. 45.1% ของทั้งปี หรือคิดเป็นเม็ดเงินรวมทั้ง 2 เดือน ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท คอยหนุนตลาดในช่วงที่เหลือของปี
กลยุทธ์ลงทุน เน้นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง ราคา Laggard
ภาพ SET Index วานนี้ปรับตัวขึ้นกว่า 30 จุด ถือเป็นการบวกมากสุดนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ขณะที่บรรยากาศลงทุนยังรายล้อมไปด้วยปัจจัยหนุน ทั้งพัฒนาการเชิงบวกของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมถึงการเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ของตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งมีโอกาสหักล้างแรงกดดันจากการรายงานผลประกอบการของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน หรือปิโตรเคมี ตัวอย่างหุ้นที่ประกาศออกมาแล้ว ล่าสุด IRPC งวด 3Q62 พลิกกลับมาขาดทุนสุทธิ 1.3 พันล้านบาท เทียบกับงวดก่อนหน้าที่เป็นกำไรสุทธิ 507 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ฝ่ายวิจัยคาดไว้เล็กน้อย โดยผลขาดทุนสุทธิในงวดนี้เป็นผลมาจากการบันทึกกลับเป็นขาดทุนจากสต๊อกรวม LCM และ hedging 1.3 พันล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะผลการดำเนินงานปกติพบว่าปรับตัวลดลงอีกจากงวดก่อนหน้าเป็นขาดทุน 378 ล้านบาท จากขาดทุน 273 ล้านบาท เพราะถูกกดดันจากแผนหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนของหน่วยกลุ่ม ADU 1 กำลังการผลิต 6.5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน เป็นระยะเวลา 18 วัน ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างทบทวนปรับลดประมาณการปี 2562 ลง มูลค่าพื้นฐาน 4.5 บาท ยังคงแนะนำ  switch อ่านเพิ่มเติมในบทวิเคราะห์ IRPC เช้านี้
ส่วนหุ้นค้าปลีก ROBINS กำไรสุทธิ 3Q62 หดตัว 6.8% yoy โดยหลักจากยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่ลดลง 7.1% หลังบรรยากาศการจับจ่ายชะลอตัว และการปรับพื้นที่ 3 สาขา Lifestyle เดิม เพื่อเพิ่มพื้นที่เช่ายังไม่แล้วเสร็จ รวมถึง Gross margin ที่ลดลงเป็น 400 bps จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะการทำโปรโมชั่น  ขณะที่ภาพรวมมีปัจจัยชดเชยบางส่วนจากรายได้ค่าเช่าที่เติบโต 4.1% ใน 3Q62 ประคอง Net profit margin ให้ยังทรงตัวได้ในระดับ 10.1% ระยะถัดไป  4Q62 จะเข้าสู่ช่วง High season ของธุรกิจ ประกอบกับ การเปิดสาขา Lifestyle 1 แห่ง แต่จากกำไร 9M62 ที่คิดเป็น 58.6% ของประมาณการปี 2562 กำไรทั้งปี 2562 ภายใต้ประมาณการปัจจุบันเดิมคาดจะเติบโตได้ 8.2% จึงประเมินมี Downside ราว 15% แต่ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการไว้ตามเดิม เนื่องจากเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อราคาหุ้น ROBINS หลังมีการกำหนดราคา Tender offer จาก CRC ที่ 66.5 บาทอยู่แล้ว  ด้านคำแนะนำ ปรับลดเป็น Switch เนื่องจากราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้น ใกล้เคียงกับราคา Tender offer ที่ 66.5 บาท แต่เชื่อว่าการถือหุ้น ROBINS เพื่อรอ swap หุ้น CRC ในช่วง 1H63 นับจากนี้อาจให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าตลาด ไปลงทุน CPALL (FV’63@B100) ที่ยังมี Upside เปิดกว้าง
บริษัทอื่นๆ ที่ว่าคาดจะประกาศผลประกอบการในสัปดาห์นี้ ดังตาราง
   
กลยุทธ์ลงทุน ฝ่ายวิจัยยังชื่นชอบหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง ราคา Laggard ใน 3 ธีม ดังนี้
•หุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการดี พร้อมกับมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว อย่าง CPN, EA และ PLANB
•หุ้น Defensive ปันผลสูง มีโอกาสที่เม็ดเงินจะโยกย้ายจากสินทรัพย์ปลอดภัยมาลงทุนเพื่อได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า คือ LH, MCS และ KKP คาดหวังปันผลได้เกินกว่า 6% ต่อปี
•หุ้นที่คาดวาจะได้ประโยชน์จากการกระตุ้นการลงทุนทั้งในเอกชนและรัฐบาล คือ AMATA JWD และ CK
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!