- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 04 November 2019 19:20
- Hits: 1167
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
มาตรการกรตุ้นเศรษฐกิจที่จะทยอยออกมาต่อเนื่อง รวมถึงโอกาสปรับลดอัตราดอกบึ้ยนโยบาย และการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศขึ้น น่าจะมีส่วนช่วยจำกัด Downside ของตลาด และเป็นแรงขับเคลื่อนให้ SET Index กลับมายืนเหนือ 1600 จุดได้อีกครั้ง กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ ยังไม่มีการปรับพอร์ตการลงทุน ส่วนหุ้น Top Picks เลือก 3 หุ้นเด่นในพอร์ตจำลองได้แก่ CPN (FV@B 92), JWD (FV@B 12.30) และ MCS (FV@B 11.30)
SET Index 1,592.52
เปลี่ยนแปลง (จุด) -8.97
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 48,452
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยแกว่งผันผวนและทยอยปรับตัวจนลงทะลุ 1600 จุด จากแรงกดดันของตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย. ที่มีน้ำหนักเชิงลบและสถิติย้อนหลัง 10 ปีของ Fund flow ยังแสดงว่าเดือน พ.ย.เม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยมากเป็นอันดับ 2 ของทุกเดือน จนปิดที่ระดับ 1592.52 จุด ลดลง -8.97 จุด (-0.56%) ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย 4.84 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มสื่อสารที่กดดันตลาดเกิน 3 จุดได้แก่ ADVANC(-1.75%) JAS(-29.92%) INTUCH(-2.65%) กลุ่มค้าปลีกเช่น CPALL(-2.88%) COM7(-2.61%) และกลุ่มอสังหาฯเช่น CPN(-3.91%) WHA(-0.85%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวอย่างเช่น CPF(-2.57%) และ AOT(-0.32%) เป็นต้น
บนความคาดหมายว่า GDP Growth งวด 3Q62 จะอยู่ที่ระดับต่ำ โดยฝ่ายวิจัย ASPS ประเมินไว้ที่ 2.8% เชื่อว่าน่าจะแรงกระตุ้นให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง ล่าสุด มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ซึ่งกำหนดให้ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธ์ และ ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ลงมาอยู่ที่ 0.01% ก็ได้มีผลบังคับใช้ทางปฎิบัติเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ไป ก็น่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศช่วงปลายปี เช่น ชิม ช้อป ใช้ เฟสที่ 3 รวมถึงมาตรการกระตุ้นการบริโภคในรูปแบบอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยยังเห็นว่า ข้อจำกัดในการใช้มาตรการต่างๆ ที่ใช้งบประมาณเป็นตัวขับเคลื่อนยังมีอยู่ค่อนข้างมาก และหลังผลต่อเนื่องในระยะยาวได้ไม่ชัดเจน จึงเชื่อว่าน่าจะเห็นการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเข้ามาช่วยเป็นแรงกระตุ้นอีกส่วนหนึ่ง โดยในการประชุม กนง. วันพุธที่ 6 พ.ย. นี้ ฝ่ายวิจัยจึงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากที่จะเห็นการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจได้แก่ การพิจารณาปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ซึ่งล่าสุดพบว่า R&I ได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยขึ้น 1 อันดับ จาก BBB+ เป็น A- ทำให้มีความคาดหวังเชิงบวกว่า สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้เคยปรับ Outlook ของประเทศไทยขึ้น น่าจะมีโอกาสปรับอันดับความน่าเชื่อถือขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับภาพรวมของประเทศ รวมถึงตลาดเงิน-ตลาดทุน จากปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวมาข้างต้น ฝ่ายวิจัยประเมินว่าน่าจะมีน้ำหนักไปทางบวกสำหรับตลาดหุ้นไทย และน่าจะทำให้ Downside ถูกจำกัดมากขึ้น และมีโอกาสกลับไปซื้อขายที่เหนือ 1600 จุด ได้อีกครั้ง กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ไม่มีการปรับพอร์ต ส่วน Top Picks ยังคงเป็น MCS, JWD และ CPN
Nonfarm Payroll เดือน ต.ค. ดีกว่าคาด Trade war ผ่อนคลาย หนุนตลาดหุ้น
ตลาดหุ้นต่างประเทศวันศุกร์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยตลาดสหรัฐ ดัชนี Dow Jones เพิ่มขึ้น 1.1% เกือบทำจุดสูงสุดใหม่ โดยมีปัจจัยหนุนมาจาก ฝั่งสหรัฐรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจฝั่งตลาดแรงงานใน เดือน ต.ค.ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด คือ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payroll) เพิ่มขึ้น 1.28 แสนตำแหน่ง สูงกว่าตลาดคาด 8.9 หมื่นตำแหน่ง, ค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมง (Average Hourly Earnings) เพิ่มขึ้น 3%yoy สูงกว่าตลาดคาดที่ 2.9% ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 3.6% ตามตลาดคาด ทำให้ตลาดยังมั่นใจต่อเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง
ขณะที่ความคืบหน้าประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ล่าสุด ฝั่งจีนเปิดเผยภายหลังการเจรจาทางโทรศัพท์ว่า ทั้ง 2 ประเทศได้บรรลุข้อตกลงการค้าในหลักการเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนการลงนามข้อตกลงเฟส 1 ในช่วง กลาง เดือน พ.ย. ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
โดยรวมระยะช่วงสั้น ทำให้ตลาดคลายความกังวล เห็นได้จากเงินไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง สะท้อนจาก Bond Yield 10 ปี สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันดิบโลก อาทิ Brent เพิ่มขึ้น 3.6%, ดูไบเพิ่มขึ้น 2% ตอบรับประเด็นดังกล่าว และความคาดหวังประเด็น บริษัท Aramco (ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของรัฐบาลสัญชาติซาอุดิอาระเบีย) จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซาอุดิอาระเบีย Tadawul วันที่ 11 ธ.ค.62 ซึ่งเป็ปัจจัยหนุนหุ้นพลังงาน
สถาบัน R&I ปรับ Credit rating ไทย เป็น A- ดีต่อการลงทุน...
วันศุกร์ที่ผ่านมาปัจจัยบวกต่อการลงทุนไทย คือ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (R&I) ของญี่ปุ่น ปรับเพิ่มความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย เป็น A- (Upper Meduim Grade) จากเดิม BBB+ (Lower Meduim Grade) (ดังรูป) โดยมีเหตุผลหลัก 4 เหตุผล คือ 1. ไทยเกินดุลการค้าและดุลบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2.การเมืองของประเทศไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น 3. ไทยมี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทำให้การบริหารการคลังมีประสิทธิภาพ 4.รัฐบาลไทยมุ่งเน้นพัฒนาโครงการ (EEC) ทำให้มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง
ASPS เชื่อว่าการปรับอันดับ Credit Rating ของ R&I ถือเป็นสัญญาณเชิงบวก และเพิ่มคาดคาดหวังมากขึ้น ต่อสถาบันจัดอันดับหลักๆ สำคัญ อาทิ Moody, S&P และ Fitch พิจารณาปรับขึ้น Credit Rating ซึ่งจะทยอยประกาศในช่วงปลายปี (ดังรูป) หาก Moody ปรับไทยขึ้นจริงจะถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 16 ปี เนื่องจาก Moody คง Credit Rating ประเทศไทยที่ Baa1มาตั้งแต่ มี.ค. 2546
ผลต่อเศรษฐกิจไทย คือ สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และช่วยให้การระดมทุนภาคเอกชนจากต่างประเทศของรัฐบาลและเอกชนไทยให้มีต้นทุนถูกลง โดยเฉพาะเงินกู้จากต่างประเทศปรับลดลง เพราะนักลงทุนจากต่างชาติ มีความมั่นใจว่าไทยจะมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้น้อยลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งการลงทุนทางตรง เช่น การลงทุนในเครื่องจักร-เครื่องมือ, สร้างโรงงานใหม่ ซึ่งจะดีต่อกลุ่มนิคม อาทิ AMATA([email protected]), กลุ่มธนาคารพาณิชย์ อาทิ BBL และหนุนการลงทุนทางอ้อม เช่น ในทุนตราสารหนี้ และตลาดหุ้น
เงินเฟ้อไทยยังชะลอตัว หนุน กนง. ลดดอกเบี้ยฯ รอบ 6 พ.ย.มากขึ้น
อัตราเงินเฟ้อไทยเดือน ต.ค. ขยายตัว 0.11% ชะลอจาก 0.32% ในเดือน ก.ย. จากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานลดลง 7.54%yoy ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง และผลกระทบของฐานราคาน้ำมันที่สูงในปีก่อน (ราคาน้ำมันดิบดูไบเดือน ต.ค. 2562 ลดลงเฉลี่ย 27.8%yoy) ขณะที่ราคาสินค้ากลุ่มอื่นๆ ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารสด อาทิเช่น ข้าวและแป้งเพิ่มขึ้น 8.88%, ผักผลไม้ 6.03%, เนื้อสัตว์ 2.19%, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น
โดยรวมทำให้เงินเฟ้อ 10M62 ขยายตัวเฉลี่ย 0.74% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) หรือส่วนต่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 1.5% ปรับกว้างขึ้นเป็น1.39% ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามภาคการส่งออกที่หดตัว (ส่งออกเฉลี่ย 9M62 หดตัวเฉลี่ย 2.1%) และความเสี่ยงจากเม็ดเงินลงทุนที่อาจหายไปจากการพิจารณางบประมาณปี 2563 ล่าช้า ส่งผลให้ ASPS คาดว่า กนง. ยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยให้น้ำหนักการประชุม กนง. ในวันที่ 6 พ.ย. นี้ ว่า กนง. มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ย ตามหลังธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ปรับลดดอกเบี้ยไปเมื่อปลายเดือน ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา
โดย ASPS คาด กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 1.25% สอดคล้องกับผลสำรวจ (Consensus) ของ Bloomberg ที่พบว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาด กนง. จะลดดอกเบี้ยในรอบนี้ (นักวิเคราะห์ 10 จาก 16 ท่านคาดลดดอกเบี้ย ขณะที่อีก 6 ท่านคาดยังคงดอกเบี้ยที่ 1.5%)
หาก กนง. ปรับบลดดอกเบี้ยตามคาดจริง จะส่งผลทำให้ Market Earning Yield Gap ขยายกว้างขึ้นไปแตะระดับ 5% โดยปัจจุบันกว้างขึ้นมาอยู่ที่ 4.85% ซึ่งเป็นระดับที่สูงมาก (ค่าเฉลี่ยนับจากปี 2551 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 4.28%) ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนจากตราสารหนี้ เข้ามาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น
ปัจจัยกระทบ...กลุ่มเกษตร-อาหาร
สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มเกษตร-อาหาร ปรับตัวลดลงกว่า 1% หุ้นหลักๆ ที่กดดันนำโดย CPF (-1.6%), TVO (-1.9%), GFPT (-3.6%) และ TFG (-2.1%) ซึ่งเผชิญ sentiment เชิงลบหลายปัจจัย ทั้งการที่สหรัฐจะตัดสิทธิภาษีศุลกากร GSP กับไทย (แต่ฝ่ายวิจัยคาดกระทบจำกัด หรือ กระทบน้อยมาก อ่านเพิ่มเติมใน Market Talk 29 ต.ค. 62)
ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากความกังวลเกี่ยวกับข่าวการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร (พาราควอต, ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส) ของรัฐบาลไทย ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62 แต่ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง จากบราซิลสหรัฐฯ และจีน (ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะประเทศไทยปลูกได้เองน้อยมาก) ซึ่งใช้สารไกลโฟเซต ทำให้กังวลว่าไทยจะต้องนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองที่ไม่มีสารตกค้างเลยหรือไม่
โดยฝ่ายวิจัยได้สอบถามไปยัง CPF พบว่ายังไม่ได้รับแจ้งจากรัฐบาลไทยว่าให้นำเข้ากากถั่วเหลืองที่ไม่มีสารตกค้างเลย โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่าบราซิล สหรัฐฯและจีน มีมาตรฐานในการควบคุมสารตกค้างที่เหลือในถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองไม่ให้เกินกำหนดที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอยู่แล้ว และผู้นำเข้าก็ต้องตรวจไม่ให้มีสารตกค้างเกินกำหนด อีกทั้ง ยังประเมินว่าเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลไทยจะกำหนดให้ผู้นำเข้าถั่วเหลืองไทย ต้องนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองที่ไม่มีสารตกค้างเลยเท่านั้น เพราะจะกระทบหลายอุตสาหกรรมเป็นวงกว้าง ทั้งอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ อาหารคนและน้ำมันพืช ดังนั้นการที่ราคาหุ้นปรับฐานลง จึงมองเป็นโอกาสเข้าสะสม CPF (FV@B35)
ลดค่าโอนฯ และจดจำนองบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท...กระตุ้นหุ้นอสังหา
ประกาศราชกิจจานุเบกษา ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จากเดิม 2% ของราคาประเมิน และค่าจดจำนองจากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนองเหลือ 0.01% สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัย ที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. ต่อเนื่องถึง 24 ธ.ค. 2563
เป็น Sentiment บวกต่อกลุ่มอสังหาฯ เนื่องจากการประกาศลดค่าธรรมเนียมโอนฯ และจดทำนอง ถือเป็นช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับคนซื้อได้บางส่วน โดยภายใต้การลดค่าธรรมเนียมทั้ง 2 รายการเหลือ 0.01% ทำให้คนซื้อประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 19,850 บาทสำหรับบ้านมูลค่า 1 ล้านบาท (ปกติค่าธรรมเนียมโอนฯ อยู่ในอัตรา 2% หรือ 2 หมื่นบาท โดยแบ่งคนละครึ่ง หรือ 1 หมื่นบาทสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อมีการปรับลดเหลือ 0.01% หรือฝั่งละ 0.05% ทำให้ผู้ซื้อประหยัดไป 9,950 บาท ส่วนค่าจดจำนองปกติเป็นภาระของผู้ซื้ออย่างเดียว หากลดเหลือ 0.01% จากเดิม 1% ของวงเงินกู้ ดังนั้นหากกู้เต็ม 100% ทำให้เกิดการประหยัดไปอีก 9,900 บาท)
กรณีซื้อบ้านมูลค่าราคา 3 ล้านบาท และกู้เต็ม 100% (บ้านหลังแรก) จะทำให้ผู้ซื้อประหยัดค่าธรรมเนียมโอนฯ 29,850 บาทและจดจำนอง 29,700 บาท รวมค่าใช้จ่ายลดลงทั้งสิ้น 59,550 บาท
ด้านฝั่งผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET แม้ไม่ได้ประโยชน์จากค่าใช้จ่ายในการโอนฯ ที่ลดลงอย่างมีนัยฯ และพอร์ตสินค้าส่วนใหญ่มีราคาเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป โดยบริษัทที่ยังมีฐานสินค้าในกลุ่มนี้อยู่บ้างก็น่าจะได้แก่ PS , QH, LPN, SPALI เป็นต้น อย่างไรก็ดีการมีมาตรการข้างต้น จะช่วยทำให้ Backlog รวมสิ้น 2Q62 ระดับ 3.3 แสนล้านบาท (รวม JV 1.3 แสนล้านบาท) โดยเป็นส่วนที่พร้อมส่งมอบ 2H62 รวม 1.1 แสนล้านบาท และปี 2563 อีก 1 แสนล้านบาท ที่เข้าข่ายเกณฑ์ราคาตามมาตรการสามารถโอนฯ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการระบายสต๊อกคงค้างของผู้ประกอบการที่มีอยู่รวมเกือบ 6 แสนล้านบาท (เป็นสต๊อกคอนโดฯ สร้างเสร็จเกือบ 1 แสนล้านบาท) โดยฝ่ายวิจัยเลือกหุ้น Top Picks ในกลุ่มฯ ใช้เกณฑ์ทั้ง Backlog ระดับสูง และ Div Yield สูงเกิน 5% ได้แก่ SPALI ([email protected]) และ LH ([email protected])
มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ที่ ครม. อนุมัติ
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ