WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Asia Plus Group Holdingบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน    
วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2562
คาด SET Index วันนี้จะยังผันผวนแต่มีกรอบการเคลื่อนไหวทึ่แคบลง เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมส่วนใหญ่เป็นการติดตามพัฒนาการของเหตุการณ์เดิมไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า หรือ ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ส่วนในประเทศ รอดูผลการประชุม กนง. ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งฝ่ายวิจัยเห็นว่ามึความเป็นไปได้มากที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ไม่มีการปรับพอร์ต ส่วน Top Picks เลือก CK(FV@B 34) และ PTTEP (FV@B 166)
          SET Index    1,622.79
        เปลี่ยนแปลง (จุด)    -13.41
        มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท)    45,154
            
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 4
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 จากที่ยังไม่มีปัจจัยบวกที่มากพอ อีกทั้งยังมีปัจจัยกดดันตลาดฯหลายปัจจัย ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือน ส.ค. ที่ติดลบ, การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ถูกตีความทางลบ และการปรับพอร์ตของนักลงทุนสถาบันฯและรายย่อย จนทำให้สุดท้ายปิดที่ระดับ 1622.79 จุด ลดลง 13.41 จุด (-0.82%) มูลค่าการซื้อขาย 4.51 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มสื่อสารได้แก่ ADVANC(-4.95%) INTUCH(-5.90%) DTAC(-2.16%) TRUE(-3.67%) กลุ่มธ.พ.เช่น BBL(-1.39%) KBANK(-1.52%) SCB(-0.84%) และกลุ่มขนส่งอย่างเช่น AOT(-1.69%) BTS(-0.75%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่ได้แก่ GULF(-2.29%) HMPRO(-2.31%) และ CPALL(-0.62%) เป็นต้น
ประเด็นแวดล้อมทางปัจจัยพื้นฐานเช้านี้ยังไม่มีเรื่องใหม่ ส่วนใหญ่ยังติดตามในเรื่องของพัฒนการของเหตุการณ์สำคัญ เช่น การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งแม้จะมีสัญญาณเชิงลบออกมาจากบรรยากาศการเจรจา แต่ในทางปฎิบัติก็ยังเห็นการถอยของแต่ละฝ่าย อีกทั้งยังคงมีกำหนดการในการเจรจารอบต่อไป ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเป็นราคาน้ำมันที่กลับมายืนอยู่ในระดับสูง หลังสถานการณ์สหรัฐฯ-อิหร่าน มีแนวโน้มร้อนแรงมากยิ่งขึ้น ขณะที่ยังมีความสงสัยเรื่องกำหนดการที่ซาอุฯ จะกลับมาผลิตน้ำมันได้ในระดับปกติ สำหรับปัจจัยในประเทศที่น่าจะมีน้ำหนักทางบวกน่าจะเป็น ผลตอบรับจากมาตรการ ชิม   ช้อป ใช้ ที่เริ่มเปิดให้ลงทะเบียน ปรากฎว่ามีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทำให้ถูกคาดหมายว่าจะเห็นเม็ดเงินจากโครงการดังกล่าว ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในช่วง 4Q62 ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อ Sentiment หุ้นกลุ่มค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็น ROBINS, BJC หรือ CPALL  ส่วนประเด็นใหญ่ในประเทศที่รอติดตามได้แก่ การประชุม กนง. ในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.62) ซึ่งปัจจุบันความเห็นค่อนข้างจะแตกแยกมีทั้งที่คาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ หรือรอไปปรับลดในการประชุมรอบที่เหลือของปี ในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ทั้งนี้ในความเห็นของฝ่ายวิจัย เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่จะเห็นการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้จาก 1.5% เป็น 1.25% ทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุนในเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งจนปัจจุบันมาอยู่ที่ 30.46 บาท/USD ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก ขณะที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศก็ยังไม่มีแรงกระตุ้นที่แรงพอที่จะทำให้เกิดการฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรมของเศรษฐกิจ โดยภาพรวมคาดว่า SET Index วันนี้น่จะยังผันผวนแต่กรอบน่าจะแคบลง กลยุทธ์การลงทุน วันนี้ยังไม่มีการปรับพอร์ต ส่วนหุ้นเด่นเลือก CK และ PTTEP
สงครามการค้าสหรัฐ-จีน เดจาวู!! อีกครั้ง
ตลาดหุ้นโลกวานนี้ คือยุโรปรับฐานแรง คือ ดัชนี DAX เยอรมันลดลง 1.1%, CAC ฝรั่งเศส ลดลง 1.05% หลักๆ เกิดจากความกังวลประเด็นเศรษฐกิจยุโรป(EU) ชะลอตัวอีกครั้ง เนื่องจากวานนี้ยุโรปรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตเดือน ก.ย. ลดลง 3.3%mom อยู่ที่ 45.6 จุด(ต่ำสุดตั้งแต่วิกฤต Subprime) และลดมากกว่าที่ตลาดคาดจะเพิ่มขึ้นที่ 47.3 จุด เป็นผลจากภาคการผลิตของประเทศหัวเรือใหญ่ของยุโรป คือ เยอรมัน ที่ลดลงแรง ASPS คาดเศรษฐกิจยุโรปในช่วงที่เหลือของปี 2562 และปี 2563 ยังเผชิญความเสี่ยงชะลอตัวจากประเทศที่มีปัญหาทางการเงิน PIIGS และปัญหาการเมืองในหลายประเทศ อาทิ Brexit โดยรวม ASPS เชื่อว่าธนาคารกลางยุโรป(ECB) ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเห็นได้จาก ล่าสุด ECB กลับมาใช้ QE ปลายเปิด คือ ซื้อพันธบัตรไม่กำหนดระยะเวลาวงเงิน  2 หมื่นล้านยูโร/เดือนเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562
ขณะที่สหรัฐกลับมาให้ประเด็นเรื่องสงครามการค้าสหรัฐ-จีน  ล่าสุด  เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอดีต หรือ เดจาวู คือ หลังการเดินทางไปเจรจากันของคณะผู้แทนจีนและสหรัฐเมื่อปลายสัปดาห์และยังไม่ได้ข้อสรุป  ล่าสุด วานนี้จีนได้ประกาศเพิ่มการนำเข้าถั่วเหลืองราว 6 แสนตัน  และ รองนายกจีน ยืนยันการเดินทางไปเจรจากับสหรัฐ ในสัปดาห์หน้า ASPS เชื่อว่าเหตุการณ์นี้ซ้ำรอยหรือเกิดขึ้นในอดีตหลายครั้งๆ (ดังเช่น ต้นปี 2562 จีนประกาศนำเข้าถั่วเหลืองสหรัฐ 1 ล้านตัน)  ระยะสั้นถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้น   อย่างไรก็ตามระยะยาว ตลาดหุ้นโลกเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกจะยังถูกกดดัน ตราบใดที่ทั้ง 2 ฝั่งยังไม่ยกเลิกการจัดเก็บภาษีนำเข้า 25% รวม 4 รอบ
Fund flow ยังคงทยอยไหลออกจากหุ้นในภูมิภาครวมถึงไทย
วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิตลาดหุ้นในภูมิภาคกว่า 134 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน) แต่สวนทางกับตลาดหุ้นไต้หวันที่ซื้อสุทธิ 49 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 13) ส่วนประเทศที่เหลือถูกขายสุทธิ เริ่มจากตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 104 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน) ฟิลิปปินส์ 15 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) อินโดนีเซีย 13 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8)และไทยที่ต่างชาติยังคงขายสุทธิ 51 ล้านเหรียญ หรือ 1.56 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 438 พันล้านบาท
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
 
ที่มา: ฝ่ายวิจัย ASPS
หากพิจารณาเฉพาะประเทศไทยจะเห็นได้ว่า ยอดซื้อ-ขายสุทธิสะสมหุ้นไทยของต่างชาติ(ytd) กลับมาติดลบเป็นวันแรก ด้วยมูลค่า 1.48 พันล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(Bond Yield) ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดย Bond Yield 1ปี อยู่ที่ 1.39% ส่วน Bond Yield 10ปี อยู่ที่ 1.49% ซึ่งต่ำกว่า Bond Yield สหรัฐราว 24 bps.
Bond Yield 10ปีของไทยกับสหรัฐฯ
 
ที่มา: ฝ่ายวิจัย ASPS
ภาพรวมดังกล่าว สะท้อนว่านักลงทุนยังมีความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยมีสถานะเป็น Exporter (การส่งออกคิดเป็นสัดส่วนราว 68% ของ GDP) ซึ่งอ่อนไหวไปตามเศรษฐกิจต่างประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งกระทบต่อการจ้างงานและการบริโภคในประเทศ ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีเม็ดเงินที่เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจอาจยังไม่เพียงพอ ทำให้ ASPS มีความเชื่อว่า กนง. มีโอกาสพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 1 ครั้งราว 0.25% ในการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งของปีนี้  โดยให้น้ำหนักไปที่รอบ  25 ก.ย.
แนะให้สิทธิเพิ่มทุน TMB แต่ภาพรวมยังแนะนำ switch
มติการประชุมผู้ถือหุ้นวานนี้ (23 ก.ย.) อนุมัติการเข้าซื้อหุ้นของธนาคารธนชาต (TBANK) ทั้งจำนวน อีกทั้งยังอนุมัติการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อเข้าลงทุนใน TBANK ด้วยการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ จำนวนไม่เกิน 6.24 หมื่นล้านหุ้น (ราคาพาร์ 0.95 บาท) ส่งผลให้จำนวนหุ้นจดทะเบียนหลังเพิ่มทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1.06 แสนล้านหุ้น เทียบเท่า 1.01 แสนล้านบาท แบ่งการจัดสรรเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 1) จำนวนหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 3.148 หมื่นล้านหุ้น หรือมูลค่าไม่เกิน 4.25 หมื่นล้านบาท โดยออก TSR ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม สัดส่วน 1.39 หุ้นเดิม ต่อ 1 TSR อัตราใช้สิทธิ  1 TSR ต่อ 1 หุ้นใหม่ 2) จำนวนหุ้นส่วนที่เหลือ 3.09 หมื่นล้านบาท เสนอขายในลักษณะ PP ให้แก่ TCAP, Bank of Nova Scotia (BNS) ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TBANK พันธมิตรใหม่อื่นๆ รวมถึงผู้บริหารและพนักงานของธนาคารฯ กำหนดราคาหุ้นเพิ่มทุนที่ 1.1 เท่าของ BV หลัง TSR มูลค่าไม่เกิน 6.40 หมื่นล้านบาท ภายหลังการเพิ่มทุนทุกขั้นตอน คาดสัดส่วนการถือหุ้นของ ING และ TCAP ใกล้เคียงกันคือ 21.3% และ 20.4% ตามด้วยกระทรวงการคลัง 18.4%  
ทั้งนี้ ธนาคารฯ จะมีการกำหนดราคาใช้สิทธิของ TSR ในวันนี้ (24 ก.ย.) ซึ่งราคาเสนอขายของ TSR ถูกกำหนดในช่วง 1.35-1.60 บาท  หากอ้างอิงจากราคาปิดเฉลี่ยของ TMB ย้อนหลัง 7 วันทำการถึงวันที่ 23 ก.ย.62 เท่ากับ 1.72 บาท ดังนั้น ราคาหุ้น TMB หลังเพิ่มทุน TSR (price dilution) จะเท่ากับ 1.57-1.67 บาท ขณะที่ราคาประเมิน TSR เมื่อเข้าซื้อขายใน SET จะอยู่ในช่วง 0.37-0.12 บาท ดังแสดงในตาราง
ราคาหุ้น TMB หลัง dilution และราคาประเมิน TSR
 
ที่มา: ฝ่ายวิจัย ASPS
ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการผลการดำเนินงานปี 2562-63 และ fair value ปี 2562 จนกว่าจะมีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดราคาหุ้นเพิ่มทุน TSR และราคาเสนอขายหุ้น PP อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้นภายใต้สมมติฐานราคาหุ้นเพิ่มทุน TSR เท่ากับกรอบล่างของราคาใช้สิทธิที่ 1.35 บาท และสมมติฐานราคาขายหุ้น PP เท่ากับ 1.1 เท่าของ BVS ภายหลังเพิ่มทุน TSR พร้อมทั้งกำหนดให้การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนดำเนินไปตามแผนที่กำหนดทุกขั้นตอน จะทำให้คาดการณ์ BVS หลังเพิ่มทุนเท่ากับ 1.95 บาท ลดลงจาก 2.29 บาท ก่อนเพิ่มทุน ขณะที่คาดการณ์  ROE หลังเพิ่มทุนเฉลี่ยราว 8.5% โดยที่ยังไม่รวม synergy ทางธุรกิจที่คาดหมายจะเกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายวิจัยยังไม่คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในระยะสั้น ขณะที่การเพิ่มทุนจำนวนมาก จะส่งผลกระทบทำให้เกิด dilution effect ของ EPS ถึง 59% จากเดิม โดยประเมิน Fair value  ปี 2562 เท่ากับ 1.77 – 1.80 บาท และปี 2563 เท่ากับ 1.89 – 1.91 บาท อิง PBV 0.91 เท่า ตามวิธี GGM แม้ราคาหุ้นผ่านการปรับฐานไปมาก แต่ยังไม่เห็นแรงจูงใจให้เข้าลงทุน ดังนั้น นักลงทุนที่ยังไม่ได้ถือครองหุ้น TMB แนะนำให้ switch ไปลงทุนใน BBL (FV@B205), TCAP (FV@B63) ซึ่งผ่านช่วงปรับฐานราคาไปแล้วพร้อมพื้นฐานธุรกิจที่ชัดเจนและให้ปันผลจูงใจกว่า ส่วนนักลงทุนที่ถือครองหุ้นอยู่ แนะนำให้ใช้สิทธิเพิ่มทุน TSR เนื่องจากหากปรับไปใช้มูลค่าพื้นฐานปี 2563 ยังเห็นผลตอบแทนกว่า 14-21% จากราคาหลัง XT
ICT ร่วงแรงกว่า 4% วานนี้ ... กังวลมากเกินไป??
ราคาหุ้นผู้ประกอบการมือถือวานนี้ปรับตัวลดลงมีนัยฯ โดยเฉพาะ ADVANC และ INTUCH (ถือหุ้น ADVANC 40.45%) ที่ปรับตัวลดลงถึง 4.9% และ 5.9% ตามลำดับ ขณะที่ DTAC และ TRUE ปรับตัวลดลง 2.1% และ 3.7% คาดว่าเกิดจากความกังวลการแข่งขันในอุตสาหกรรมตลาดที่กลับมาสูงขึ้น หลังจากสัปดาห์ก่อน TRUE กลับมานำเสนอแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตไม่จำกัด ความเร็วคงที่ 4 Mbps พร้อมโทรไม่จำกัด สำหรับลูกค้าเติมเงิน ราคาเดือนละ 150 บาท เป็นพัฒนาการเชิงลบจากช่วงก่อนหน้านี้ที่ทุกรายยกเลิกโปรโมชั่นดังกล่าว เปลี่ยนไปนำเสนอ คือ ให้ใช้งานแพ็คเกจความเร็วคงที่ ข้อมูลไม่จำกัดเช่นเดิม แต่ปรับเพิ่มขึ้นราคาขึ้น สำหรับลูกค้าเก่า (ลงทะเบียนก่อน ก.พ.-มี.ค. 62) ส่วนสำหรับลูกค้าใหม่ แม้มีแพ็คเกจให้ใช้ภายใต้ความเร็วคงที่ได้ แต่จะปรับลดความเร็วลง เมื่อใช้งานปริมาณใช้ข้อมูลครบตามที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ปริมาณข้อมูลที่ให้โควตาก็อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ จากการสำรวจฝ่ายวิจัย พบว่า เดิมในอุตสาหกรรมก็มีแพ็คเกจใกล้เคียงกันอยู่แล้ว (ให้โควตาปริมาณใช้งานสูงมาก ทดแทนใช้งานไม่จำกัด) ขณะที่ส่วนแพ็คเกจใหม่ที่ TRUE นำเสนอ จากการสำรวจผ่านเวบไซด์ทั้ง 3 บริษัท พบว่า ไม่มีรายใดนำเสนอในวงกว้าง นอกจากนี้ ในกลุ่มลูกค้ารายเดือนสถานการณ์ยังเป็นไปตามเดิม คือ มีการนำเสนอแพ็คเกจไม่จำกัด เฉพาะค่ารายเดือนแพงเกิน 1.0 พันบาท เบื้องต้นจึงประเมินผลกระทบจำกัด และในกรณีเลวร้ายเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นนาน สะท้อนจากใน 2H61 ที่ทุกรายแข่งขันรุนแรงได้ 2 ไตรมาสก็มีการยุติลง
อย่างไรก็ตาม ADVANC มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบสูงกว่ารายอื่น เพราะเป็นผู้มี ARPU ลูกค้าเติมเงินสูงสุดที่ 182 บาท แพงกว่า DTAC และ TRUE อยู่ที่ 138 และ 118 บาท และสูงกว่าแพ็คเกจใหม่ 150 บาท ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าหุ้นปรับตัวลดลงมากเกินไป ในกรณีเลวร้าย สำหรับ ADVANC เชื่อว่า ARPU ลูกค้าเติมเงินจะไม่ต่ำไปกว่า 174 บาท ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในช่วงที่มีการแข่งขันรุนแรงปลายปี 2H61ซึ่งหากอิงระดับ ARPU ดังกล่าว ซึ่งลดลงจากสมมติฐานปัจจุบันที่ 182 บาท มูลค่าพื้นฐานปี 2562 จะลดลงมาอยู่ที่ 223 บาท ลดลง 12 บาท เท่ากับราคาหุ้น ADVANC ที่ปรับตัวลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา  จึงยังคงให้ลงทุน เท่าตลาด โดยสถานะปัจจุบัน เชื่อว่าผลบวกการแข่งขันบรรเทายังคาดหวังได้ เชื่อว่าหุ้นที่ปรับตัวลงเป็นโอกาสสะสม โดยเฉพาะ ADVANC(FV@B235)
มาตรการ ชิมช้อปใช้ ดีต่อหุ้นค้าปลีก BJC, ROBINS
เศรษฐกิจไทยปี 2562 ชะลอตัวชัดเจน โดยเฉพาะภาคการส่งออก(ราว 68%ของ GDP) 8M62 หดตัวเฉลี่ย  2.2%yoy จากผลกระทบของสงครามการค้า ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และกำลังซื้อของผู้บริโภค    หนุนให้ภาครัฐเร่งเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการกระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชน  โดยมาตรการสำคัญ คือ ชิมช้อปใช้  ผ่านการให้เงินอุดหนุนการท่องเที่ยวแก่ประชาชนที่มาลงทะเบียนคนละ 1,000 บาท เพื่อนำไปท่องเที่ยว และใช้จ่ายค่าที่พัก, ค่าอาหาร,ค่าบริการสปา, ค่าเช่าพาหนะ, ค่าบริการนำเที่ยว (ไกด์) ระหว่างเดือน ต.ค. - พ.ย. 2562 เปิดลงทะเบียนวันที่ 23 ก.ย. – 15 พ.ย. โดยจำกัดจำนวนผู้ลงทะเบียวันละไม่เกิน 1 ล้านคน และจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการรวมไม่เกิน 10 ล้านคน
ล่าสุดวานนี้ เป็นวันแรกของการเปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการดังกล่าว พบว่ามีกระแสตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม สะท้อนจากจำนวนผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์วานนี้ เต็มจำนวนที่กำหนด 1 ล้านคน/วัน   กระแสตอบรับมาตรการชิมช้อปใช้ที่ดีดังกล่าวข้างต้น ทำให้  ASPS คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในช่วง 4Q62  ดีต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีกที่ได้อานิสงส์จากกำลังซื้อที่ฟื้นตัว อาทิ ROBINS(FV@B 70.0) และ BJC(FV@B 61.0)
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!