WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Asia Plus Group Holdingบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
น้ำหนักของปัจจัยที่สร้างแรงกดดันหลักวันนี้ เป็นเรื่องของตัวเลขการส่งออกเดือน ส.ค. ที่ติดลบ และการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ถูกตีความทางลบ ขณะที่ปัจจัยหนุนเป็นเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งฝ่ายวิจัยประเมินว่าน้ำหนักในทางลบน่าจะมีมากกว่า จึงคาดว่า SET Index ยังอยู่ในช่วงปรับฐานต่อไป กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ไม่มีการปรับพอร์ต Top Picks เลือก PLANB (FV@B 10.40), CK(FV@B 34) และ PTTEP (FV@B 166)  
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ปรับตัวลงตลอดวัน
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตลอดวัน จากการปรับน้ำหนักของ FTSE Russell ที่จะมีผลหลังราคาปิดวันที่ 20 ก.ย. 62และการปรับพอร์ตเพื่อซื้อ AWC ของนักลงทุนรายย่อยและสถาบันฯ  ทำให้สุดท้ายปิดที่ระดับ 1636.20 จุด ลดลง 4.46 จุด (-0.27%) มูลค่าการซื้อขาย 6.84 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานได้แก่ BGRIM(-2.38%) GPSC(-1.08%) GULF(-0.33%) EGCO(-3.11%) กลุ่มการเงินเช่น AEONTS(-3.32%) KTC(-2.29%) SAWAD(-1.78%) THANI(-3.50%) และกลุ่มการแพทย์อย่างเช่น BDMS(-0.83%) BH(-4.15%) THG(-4.86%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่ได้แก่ ADVANC(-0.89%) และ CPALL(-0.61%) เป็นต้น
ภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจยังแสดงสัญญาณการชะลอตัวโดยตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน ส.ค.2562 ที่ประกาศออกมาพบว่าติดลบ 4% YoY ขณะที่การเจรจาการค้าระหว่าง สหรัฐฯ-จีน ถูกตีความออกมาในทางที่เป็นลบ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ประกอบกับการที่เงินบาทที่เงินบาทแข็งค่าลงมาต่ำกว่า 30.50 บาท/USD ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่อาจทำให้ กนง. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมวันพุธนี้ (25 ก.ย.2562) สำหรับประเด็นอื่นที่น่าสนใจเป็นเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากมีความเป็นไปได้ที่ การกลับมาผลิตน้ำมันในระดับที่เป็นปกติของซาอุฯ อาจไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในสิ้นเดือน ก.ย.2562 ตามที่ประกาศไว้ ขณะที่ความตึงเครียดระหว่าง สหรัฐฯ-อิหร่านก็มีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้น ส่วนผลกระทบจากการที่ AWC ทำ IPO เพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนใน SET  ซึ่งฝ่ายวิจัยได้นำเสนอข้อมูลไปในรายงาน Market Talk วันที่ 12 ก.ย. 2562 ปรากฎผลตามที่คาดกล่าวคือเห็นแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มอสังหาฯ และหุ้นใน SET50 ที่อยู่ในลำดับ เกิน 20 ขึ้นไป ซึ่งหากนักลงทุนได้ปฎิบัติตามคำแนะนำตั้งแต่เมื่อ 12 ก.ย. ที่ผ่านมาโดยการลดน้ำหนักหุ้นอสังหาฯ ในพอร์ตออกไปก็น่าจะทำให้ผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนชนะตลาดได้ไม่ยาก ทั้งนี้คาดว่าผลกระทบจากกรณีดังกล่าวจะยังมีต่อ เหตุเพราะนักลงทุนสถาบันจะมีกำหนดจองซื้อหุ้น AWC ในวันที่ 1-3 ต.ค. โดยวันสุดท้ายที่จะเกิดการขายหุ้นและเตรียมเงินพร้อมสำหรับการจองหุ้นดังกล่าวก็น่าจะอยู่ในช่วง พฤหัสบดีที่ 26 ก.ย. หลังจากนั้น เชื่อว่าราคาหุ้นจะค่อยๆ ดีดตัวกลับขึ้นมาได้ กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ ฝ่ายวิจัยไม่ได้มีการปรับพอร์ตจำลอง ส่วนหุ้น Top Pick เลือก CP, PLANB และ PTTEP
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวสูง หนุนจาก Supply ที่หายไปและความตึงเครียดตะวันออกกลาง
ราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวในระดับสูงและยืนเหนือ 60 เหรียญฯ   โดยมีปัจจัยหนุนจากการผลิตน้ำมันจากซาอุดิอาระเบีย หายไปราว  50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดราว 9.8 ล้านบาร์เรล จะกลับมาล่าช้ากว่าที่คาด (อ้างอิงบริษัทน้ำมันระดับโลก อาทิ Rystad และ Fge Energy เผยว่าซาอุจะกลับมาผลิตน้ำมัน  100% ในช่วงปลาย ธ.ค. 2562  ล่าช้ากว่าที่ตลาดคาด)     และความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง   ตลาดกังวลแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน
ขณะที่ฝั่ง Demand ระยะสั้น-ยาว  กลับมาถูกกดดันอีกครั้ง จากประเด็นเรื่องสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ล่าสุด การเจรจาการค้าของขณะผู้แทนทั้ง 2 ฝั่งยังไม่ได้ฃ้อสรุป (ฝั่งจีนเดินทางกลับเร็วกว่ากำหนด)  
โดยรวมปัจจัยฝั่ง Supply มีน้ำหนักมากกว่า ฝั่ง Demand  เป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันน้ำมันโลกดูไบ ล่าสุด อยู่ที่  60.68  เหรียญฯ   ASPS เชื่อว่าจะยังทรงตัวในระดับสูงได้อีกระยะหนึ่งบริเวณ  60 เหรียญฯได้ (เฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 62.9 เหรียญฯ สมมติฐานที่  ASPS คาด 60 เหรียญฯ ในปี 2562 และนับจากปี 2563 เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ)  ยังดีต่อหุ้นพลังงาน PTT และ PTTEP
อินเดียลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% จากเดิม 30% ดีต่อ..
วันศุกร์ทีผ่านมาตลาดหุ้นอินเดียปรับเพิ่มขึ้นแรง   5.3% โดยมีปัจจัยหนุนมาจาก รัฐบาลอินเดียได้ประกาศปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทในประเทศเหลือ 22% (จากเดิม 30% ) ให้มีผลบังคับย้อนหลังใช้ตั้งแต่ เม.ย.62 ขณะที่บริษัทใหม่ที่จัดตั้งธุรกิจขึ้นหลัง 1ต.ค.62จะได้รับสิทธิพิเศษจ่ายภาษีนิติบุคคลเหลือ  15%  พื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอินเดียที่ชะลอตัวชัดเจนในงวด 2Q62 ที่ขยายตัว 5% ชะลอจาก  5.3%ใน 1Q62 จาก 6.6% ในงวด 4Q61
(-) โดยรวมเชื่อว่าจะเป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นในกลุ่มนิคมฯ อาทิ AMATA, WHA  เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติบางส่วนมีโอกาสถูกย้ายไปลงทุนในอินเดียจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงดังกล่าว  และหากพิจารณาภาพแวดล้อมอื่นๆของอินเดีย เมื่อเทียบกับไทย   อาทิ การเติบโตของเศรษฐกิจ(GDP Growth) ที่สูง 7.2%ในปี 2561 VS. ไทย 4.1%,  จำนวนประชากรในวัยแรงงานที่มากกว่า, ค่าจ้างขั้นต่ำที่ถูกกว่า เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าไทยยังมีจุดแข็งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านคือ แรงงานมีทักษะ, ระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลกจิสติกสะดวกและพร้อมมากกว่า เป็นต้น
(+) ขณะที่ผลบวกต่อผู้ประกอบการไทย ที่มีบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมในประเทศอินเดีย อาทิ CPF, TU, DELTA, MAKRO, EPG และ AH แต่แทบไม่มีนัยต่อประมาณฯ  สรุปได้ดังนี้
CPF(BuyFV@B35) มีบ. ย่อย (ถือหุ้น 99.99%)ประกอบธุรกิจไก่ครบวงจรและธุรกิจสัตว์น้ำในประเทศอินเดีย มีฐานรายได้ในประเทศอินเดียราว 2 หมื่นล้านบาท หรือราว 4% ของรายได้รวม และคาดจะมีกำไรสุทธิปี 2562 ราว 500 ล้านบาท ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการปรับลดภาษีราว 40 ล้านบาท หรือเพียง 0.2% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ของ CPF
TU (BuyFV@B23) มี บ.ร่วมในประเทศอินเดีย (Avanti Feeds ซึ่ง TU ถือหุ้น 24.6% และ Avanti Frozen Foods ซึ่ง TU ถือหุ้น 54% แต่ไม่มีอำนาจควบคุม) ประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหารกุ้งและแปรรูปกุ้ง โดยคาด TU รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปี 2562 ราว 340 ล้านบาท ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการปรับลดภาษีราว 27 ล้านบาท หรือเพียง 0.7% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ของ TU
DELTA(Sell FV@B53) มี บ. ย่อย (ถือหุ้น 100%) ประกอบธุรกิจผลิตอุปกรณ์แปลงไฟฟ้า (Power supply) ในประเทศอินเดีย มีฐานรายได้ในประเทศอินเดียราว 7.5 พันล้านบาท หรือราว 14% ของรายได้รวม และคาดจะมีกำไรสุทธิปี 2562 ราว 300 ล้านบาท ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการปรับลดภาษีราว 24 ล้านบาท หรือเพียง 0.6% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ของ DELTA
MAKRO(Switch FV@B 33.50)  มี บ. ย่อย  CP Wholesale ในประเทศอินเดีย (ถือหุ้น 99.99%) ระยะสั้น-กลาง ยังไม่ได้ส่งผลบวก เนื่องจากยังขาดทุนอยู่
EPG (Switch FV@B 5.90) มี บ.ร่วมในประเทศอินเดีย รับรู้รายได้ตามส่วนแบ่งกำไร คิดเป็นราว 0.8% ของฐานกำไร EPG
AH (Switch FV@B 16.00) มี บ. ร่วม  SGAH (ถือหุ้น 49.99%) มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศอินเดีย เดิมรับรู้เป็นส่วนแบ่งกำไร อย่างไรก็ตามสถานะของ SGAH ยังอยู่ระหว่างกระบวนที่ AH เรียกร้องหลักประกัน (หุ้นส่วนที่เหลือ 50.01%) วงเงินให้กู้ยืมแก่ SGAH จึงแนะนำรอกระบวกการดังกล่าวเสร็จสิ้นค่อยเข้าลงทุนจะเหมาะสมกว่า
ส่งออกไทยเดือน ส.ค. หดตัว 4% และคาดหดตัวถึงสิ้นปี 2562  
ยอดส่งออกไทยเดือน ส.ค. 2562 ที่ 2.19 หมื่นล้านเหรียญ  พลิกกลับมาหดตัว 4%yoy (ตลาดคาดหดตัว 2%) จากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐกับจีนใน 3 รอบที่ผ่านมา และเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคราว   6%นับตั้งแต่ต้นปี  ส่งผลให้การส่งออกสินค้าสำคัญ 10 อันดับแรกหดตัว อาทิ  รถยนต์และส่วนประกอบหดตัวแรง 12.6% เทียบกับเดือน ก.ค. ที่หดตัว 2.9%, คอมพิวเตอร์ หดตัว 10.5% (เดือน ก.ค. หดตัว 5.9%),เม็ดพลาสติก หดตัว 18.4% (เดือน ก.ค. หดตัว 5.6%), แผงวงจรไฟฟ้า หดตัว 14.3% (เดือน ก.ค. หดตัว 10.5%), เคมีภัณฑ์หดตัว 22.3% (เดือน ก.ค. หดตัว 20.3%) เป็นต้น ขณะที่การส่งออกทองคำยังขยายตัวสูงที่ 378% จากราคาทองที่ทรงตัในระดับสูง ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากหักทองคำออก การส่งออกเดือน ส.ค. จะหดตัว 9.8%เช่นเดียวกับตลาดส่งออกสำคัญยังหดตัว คือ จีน ตลาดส่งออกอันดับ 1 ราว 12.2%ของตลาดส่งออกรวมหดตัว 2.7%, ญี่ปุ่นอันดับ 3  หดตัว 1.2%, และตลาดที่หดตัวแรง คือ ประเทศในภูมิภาค คือ ฮ่องกง หดตัว 6.5%, เวียดนามหดตัว 19%, มาเลเซีย หดตัว 37.3% เป็นต้น ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐ อันดับ 2 ยังขยายตัว 5.9% เพราะสินค้าไทยบางส่วนสามารถทดแทนสินค้าจากจีนได้
โดยรวมทำให้ยอดส่งออกเฉลี่ย 8M62 หดตัว 2.2% เทียบกับที่ ASPS คาดหดตัว 3% ในปี 2562 โดยแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 4 เดือน คือ  ก.ย.-ธ.ค.62   ASPS เชื่อว่าจะยังหดตัวในต่อจากฐานที่สูงในปี 2561 แต่เชื่อว่าจะหดตัวในอัตราที่ลดลงในช่วง พ.ย.-ธ.ค.62
ขณะที่การนำเข้าเดือน ส.ค.มูลค่า 1.99 หมื่นล้านเหรียญ พลิกกลับมาหดตัว 14.6% หลักๆ เป็นผลของการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบหดตัวตามการส่งออก เช่น เครื่องจักรกล และเครื่องจักรไฟฟ้า หดตัว 5.9% และ 17.6% ตามลำดับ,  เคมีภัณฑ์ หดตัว 11%, เหล็ก หดตัว 16.8% เป็นต้น
โดยรวม ASPS เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยที่ส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก คิดราว 68%ของ GDP ชะลอตัวแรงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐที่ทยอยออกมาในตั้งแต่เดือน ส.ค. มีเม็ดเงินที่เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เพียงพอ  ทำให้ยังสนับสนุนความเชื่อ  กนง. มีโอกาสพิจารณา ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 1 ครั้งราว 0.25% ในการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งของปีนี้  แต่ให้น้ำหนักไปที่รอบ   25 ก.ย.
กระแสหุ้นกลุ่มรับเหมากลับมา ชอบ CK
ความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม. เศรษฐกิจ) มีมติรับทราบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท และขั้นตอนต่อไปจะส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม. ชุดใหญ่) ต่อไปในอีก 2 สัปดาห์ (ประมาณช่วงต้นเดือน ต.ค. 2562)
ทั้งนี้ แม้ว่าโครงการดังกล่าวยังมีโอกาสล่าช้าไปบ้าง ตามกระบวนการพิจารณาร่างงบประมาณปี 2563 ที่มีแนวโน้มล่าช้า แต่ในระยะสั้น ASPS เชื่อว่าน่าจะเป็น Sentiment บวกกับหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เช่น CK(FV@B 34.0) โดยราคาหุ้นยังมี Upside เปิดกว้างถึง 43.5% cและราคายัง Laggard ตลาดอยู่มาก (SET Index 4.6%ytd ขณะที่ CK -5.2%ytd)
AWC Impact (พาร์ท 2)
ฝ่ายวิจัยฯ เคยนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ AWC (ใน Market Talk ในวันที่ 12 ก.ย. 2562) ทั้งเรื่องได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการเข้าคำนวณในดัชนี SET50, SET100 ระหว่างรอบคำนวณ รวมถึงผลกระทบจากการปรับพอร์ตเตรียมซื้อหุ้น AWC ก่อนที่จะเข้าตลาดฯ ของนักลงทุนทั่วไปและกองทุน วันนี้ผลกระทบดังกล่าวเริ่มเห็นชัดขึ้น (ฝ่ายวิจัยปรับหุ้นอสังหาฯ 3 บริษัท SPALI, AMATA, FPT ออกจากพอร์ตจำลองชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.จนถึงวันนี้ หุ้นทั้ง 3 ปรับตัวลดลง 3.8%, 3.1% และ 1.1% ตามลำดับ) สะท้อนได้จากนักลงทุนสถาบันฯ ขายหุ้นไทยหนักต่อเนื่อง 6 วันทำการ ด้วยมูลค่าสูงถึง  1.03 หมื่นล้านบาท กดดันตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 1.13%mtd ขณะที่ตลาดหุ้นโลก หรือดัชนี MSCI World ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 3%mtd ส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับพอร์ตเตรียมเงินลงทุนในหุ้น IPO ขนาดใหญ่ AWC
ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงทำการวิเคราห์และแบ่งผลกระทบจากหุ้นยักษ์ใหญ่ AWC เตรียมเข้าซื้อขายในตลาด ดังนี้
•    AWC ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นอสังหาฯ โดยมีขนาดใหญ่มากเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มฯ (รองจาก CPN เท่านั้น) และมีสัดส่วนสูงถึง 18% ของกลุ่มฯ ทำให้อาจเห็นการแบ่งเงินลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาฯบางส่วนออกไปลงทุนใน AWC แทนในช่วงนี้ สะท้อนได้จากราคาหุ้นกลุ่มอสังหาฯ ปรับตัวลงแรงเป็นพิเศษกว่า 4.04%mtd (แรงกว่ากลุ่มอื่นๆ) แต่ด้วย Valuation ที่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยน จึงถือเป็นจังหวะเข้าสะสมหุ้นอสังหาฯพื้นฐานแกร่ง ราคาถูก เพื่อลงทุนในระยะกลางถึงยาว
•    ต้องมีหุ้นบางบริษัทถูกคัดออกจากดัชนี SET50 และ SET100 แทน AWC คือ หุ้นที่มี Market Cap ขนาดเล็กที่สุดในแต่ละดัชนี จะถูกกดดันจากการเตรียมเงินซื้อ AWC โดยข้อมูลล่าสุด พบว่า KKP มี Market Cap 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งน้อยสุดในดัชนี SET50 จึงถูกกดดันและปรับตัวลดลงมาแล้วกว่า 8.28%mtd (ลดลงมากสุดในกล่มธ.พ.) ส่วน BEAUTY มี Market Cap 7.5 พันล้านบาท น้อยสุดในดัชนี SET100 ปรับตัวลดลงกว่า 14.48%mtd
•    ล่าสุด AWC มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 19 และมีสัดส่วนราว 1.6% ของหุ้นทั้งหมดใน SET50  และใหญ่กว่าหุ้นที่เล็กสุดใน SET50 เกินกว่า 3 เท่า จึงน่าจะกินส่วนแบ่งเงินลงทุนของหุ้นใน SET50 อื่นๆ อีก และจากการตรวจสอบกองทุนไทยทังประเภท Large Cap และ Passive Fund ที่มีเกณฑ์เทียบวัดเป็นดัชนี SET50 พบว่า มีอยู่ทั้งหมด 36 กองทุน มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันทั้งสิ้น (AUM) 8.83 หมื่นล้านบาท ทำให้คาดว่ามีเม็ดเงินเข้า AWC ราว 1.4 พันล้านบาท แบ่งเป็นไหลออกจากหุ้นที่หลุดจากดัชนี SET50 ราว 400 ล้านบาท และไหลออกจากหุ้นตัวอื่นๆในดัชนี SET50 ราว 1 พันล้านบาท
•    เมื่อ AWC เข้าตลาดฯ มาจะทำให้ Market Cap ของตลาดฯ ใหญ่ขึ้นมาก แต่เมื่อเทียบกับกำไรที่ยังไม่ถูกรับรู้จากความคาดหวังการเติบโตที่เกิดขึ้นในอนาคต คาดว่าส่งผลให้ SET Index มีการซื้อขายบน PE ที่สูงขึ้นจากเดิมเท่ากับ 16.45 เท่า เป็น 16.63 เท่า และหากตลาดกลับมาซื้อขายบน PE ในระดับปกติจะกดดันให้ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวลดลงราว 1.07%
 
ผลกระทบดังกล่าว ยังคงมีอยู่ในสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันฯมีระยะเวลาการจองซื้อหุ้น AWC ถึงวันที่ 1 – 3 ต.ค. 2562 ซึ่งมี 10 บลจ. ได้สิทธิจองซื้อหุ้น AWC (Cornerstone Investors) รวมกันทั้งสิ้น 1,772 ล้านหุ้น หรือกว่า 1.06 หมื่นล้านบาท ส่วนนักลงทุนทั่วไป ทั้งไทยและต่างประเทศ น่าจะปรับพอร์ตเสร็จไประดับหนึ่งแล้ว เนื่องจากมีระยะเวลาการจองซื้อหุ้น AWC อยู่วันที่ 25 – 27 ก.ย. 2562 และหลังจาก AWC เข้ามาซื้อขายในตลาดช่วงเดือน ต.ค. 2562 หุ้นตัวอื่นๆ ยังคงถูกกดดันจากการปรับพอร์ตของกองทุนประเภท Index Fund และ Large Cap ที่ลงทุนล้อตามดัชนี SET50
 
 สรุปคือ ปัจจุบันประเด็นเรื่องการปรับดัชนีได้รับความสนใจมากขึ้น ส่งผลดีต่อหุ้น Big IPO อย่าง AWC ที่ได้เข้าคำนวณในดัชนี SET50, SET100 ระหว่างรอบคำนวณ อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังอยู่ในช่วงที่กองทุนเตรียมเงินลงทุนในหุ้น AWC จึงกดดันหุ้นที่คาดว่าจะถูกคัดออกจากดัชนี SET50 และ SET100 รวมถึงหุ้นกลุ่มอสังหาฯ แต่ด้วย Valuation ที่ไม่เปลี่ยน หากราคาหุ้นพื้นฐานแกร่งย่อตัวลง ถือจังหวะที่ดีในการเข้าสะสมหุ้น เพื่อลงทุนในระยะกลางถึงยาว
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!