WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
       บรรยายกาศการลงทุนตลาดหุ้นซบเซาอีกครั้ง หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ครั้งแรกตั้งแต่เปิดตลาดหุ้น หลีกเลี่ยงหุ้นที่กระทบโดยตรงคือ ท่องเที่ยว ขนส่งทางการอากาศ และนิคมอุตสาหกรรม แต่ยังแนะนำถือหุ้น Global โดยยังเลือก IRPC([email protected]) เป็น Top pick

ประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 คลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
      เมื่อเวลา 03:00 น. ของวันที่ 20 พ.ค.2557 ผบ.ทบ. ประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 2 (มีข้อความหลักว่า เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัยซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึก ฯลฯ) และ มาตรา 4 (มีข้อความหลักว่า เมือมีสงครามหรือจราจลขึ้น แห่งใด ให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้นซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่า 1 กองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก ฯลฯ) ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการ โดยกรอบอำนาจถูกกำหนดตาม มาตรา 8 เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่
การประกาศใช้กฎหมายครั้งนี้ นับว่าเป็นการให้อำนาจในการบริหารสถานการณ์อย่างเบ็ดเสร็จกับฝ่ายทหาร อย่างเช่น อำนาจในการตรวจค้น ครอบคลุมไปถึง การตรวจข่าวสาร จดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ฯ ด้วย นอกจากนี้ยังมีอำนาจที่จะห้ามการกระทำในหลายประการ ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 11 ซึ่งมีความเข้มข้นมากกว่า การใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ทั้งนี้อยู่ภายใต้ดุลพินิจของฝ่ายทหารที่จะประกาศใช้ตามความเหมาะสมแก่สถานการณ์ ทำให้หลังจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกครั้งนี้ ได้มีประกาศให้ยุบ ศอ.รส. ทันที พร้อมกับจัดตั้ง กองอำนายการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นมาปฎิบัติงานแทน
     ผลกระทบต่อ SET Index ภายใต้การประกาศ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ดังกล่าวมาข้างต้น น่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนได้จากเงินบาท เมื่อเที่ยบกับดอลลาร์ ในเช้านี้ กลับมาอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว จาก 32.43 บาท วานนี้เป็น 32.62 บาท หรืออ่อนค่า 0.5% (สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าเงินยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่า) และน่าจะกดดันแรงขายในหุ้น ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องภาคท่องเที่ยว และลงทุน จากต่างประเทศ คือ FDI (ขนส่งทางอากาศ, นิคมอุตสาหกรรม) และ การบริโภคในประเทศ เช่น สื่อโฆษณา เป็นต้น

ประกาศใช้กฎอัยการศึกน่าจะกดดันกระแสเงินทุน
      กระแสเงินทุนต่างชาติ ยังคงไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเซีย อย่างต่อเนื่อง และ เป็นวันที่ 5 โดยที่วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค ราว 532 ล้านเหรียญฯ แต่ลดลง 20% จากวันก่อนหน้า ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในทุกประเทศ นำโดยอินโดนีเซียซื้อสุทธิ ติดต่อเป็นวันที่ 6 ราว 212 ล้านเหรียญฯ และ เพิ่มขึ้น 15% จากวันก่อนหน้า ตามมาด้วยไต้หวันซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ราว 154 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่วนเกาหลีใต้ แม้ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 แต่ลดลงถึง 68% เหลือราว 146 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ไทยสลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 17 ล้านเหรียญฯ (544 ล้านบาท) และสุดท้ายคือ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 แต่ลดลงถึง 85% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 3 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น
     แม้ว่าว่าแนวโน้มเงินทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้าภูมิภาค แต่เชื่อว่าในระยะสั้นการประกาศกฎอัยการศึกน่าจะเป็นประเด็นกดดันตลาด และทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้มีโอกาสขายสุทธิออกมาเพิ่มเติม หลังจากซื้อสุทธิจากต้นปีจนถึงวานนี้ราว 2.8 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามแรงขายอาจจะไม่มากนักเนื่องจากในระยะหลังนักลงทุนกลุ่มนี้ซื้อสุทธิเพียงเบาบางเท่านั้น (13% ของยอดขายในรอบที่ผ่านมา ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) แต่มีความเสียงจากนักลงทุนสถาบันที่ซื้อสุทธิติดต่อกันถึง 6 วันหลังสุดรวม 8.5 พันล้านบาท ทำให้อาจมีการขายทำกำไรออกมากดดันตลาดหุ้นได้

 

GDP Growth งวด 1Q57 ติดลบน้อยกว่าคาด อาจจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
      การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจงวด 1Q57 นับว่ายังดีกว่าคาด แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 หลังจากที่การเมือง เริ่มก่อความรุนแรงตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นมา โดยพบว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) หดตัวเพียง 0.6%yoy ซึ่งดีกว่า ASP คาดว่าจะหดตัว 1.3%yoy (แต่ติดลบ 2.1%qoq) ภาวะเศรษฐกิจชะลอเกิดจากกลไกหลักทำงานไม่เต็มที่คือ
การบริโภคโดยรวมลดลงน้อยกว่าคาด โดยติดลบ 2.1%yoy (เทียบกับ -3.3% งวด 4Q56) โดยเป็นหดตัวของภาคครัวเรือนเป็นหลัก คือ หดตัว 3% ขณะที่ภาครัฐยังขยายตัว 2.9% (เทียบกับ -4.1% และ 0.8% ในงวด 4Q56)
การลงทุนโดยรวมดีกว่าคาดเล็กน้อย โดยติดลบ 9.8% (เทียบกับ -11.4% งวด 4Q56) โดยเป็นการหดตัวของการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก คือ หดตัว 19.3% ขณะที่เอกชนหดตัว 7.3% (เทียบกับ -4.7% และ -13.2% งวด 4Q56)


       การส่งออกสินค้าและบริการ แย่กว่าคาด โดยหดตัว 0.4% แต่ส่วนใหญ่เป็นหดตัวของภาคบริการ ราว 4.2% ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มกระเตื้องขึ้นโดยเติบโต 0.8% ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการ ใกล้กับคาด โดยสินค้านำเข้าลดลง 12% ยกเว้นภาคบริการที่ยังขยายตัว 11.2%
หากยึดประมาณการเดิมปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะเติบโต 2% หมายในช่วงที่เหลือ 3 ไตรมาส ต้องขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าไตรมาสละ 2.9% โดยคาดว่าในงวด 2Q57 น่าจะทรงกับลง เพราะยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวใด ๆ แต่ตลาดน่าจะรับรู้ไปบางส่วนแล้ว ขณะที่คาดว่า จะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในช่วง 2H57 ภายใต้สมมติฐาน การเมืองผ่อนคลาย (และ เทียบกับงวด 2H56 ที่ขยายตัวได้ 1.7%) เชื่อว่าการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจอาจจะยังมีอยู่ แต่น่าจะอยู่ในอัตราที่ลดน้อยลง หลังจากที่ปรับลดไปมากแล้วก่อนหน้า

 

คาดว่าจะต้องปรับลดกำไรสุทธิตลาดลงราว 1-2% แต่ EPS อาจจะลดลง 2-3%
      นับตั้งแต่ช่วงการทำ Earnings preview และ Earnings results นักวิเคราะห์ ASP ได้ทยอยปรับลดประมาณการกำไรสุทธิตลาดปี 2557 ลงไปบ้างแล้วราว 1% จากประมาณการเดิม โดยเป็นการปรับลดในหุ้นหลักคือ ธนาคารพาณิชย์ลดลง 3.4% (ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้) พลังงาน (PTT, TOP จากธุรกิจอะโรเมติกส์ที่ยังย่ำแย่ เพราะ oversupply) ลดลง 2.9% ปิโตรเคมี (PTTGC) 5.6% เกษตร (GFPT จากต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้) ลดลง 6.6% และสุดท้ายเป็นกลุ่มบันเทิง เช้านี้นักวิเคราะห์ ASP กำลังเตรียมปรับลดประมาณการกำไรในปี 2557 ของ RS และ MCOT ลงจากเดิมราว 20% และ 10% หลังจากที่งวด 1Q57 ต่ำกว่าคาด โดยก่อนหน้านี้ได้ปรับลดประมาณการของ BEC ลงไปแล้ว 11% โดยรวมคาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มบันเทิงน่าจะลดลงจากเดิมราว 10%


       ตรงกันข้ามมีการปรับเพิ่มกำไรในบางกลุ่ม หลังจากงวด 1Q57 ผลกำไรออกมาดีกว่าคาด เช่น โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 3.06% (จาก BGH เป็นหลักผลจากการลดต้นทุนได้อย่างมาก), ICT เพิ่มขึ้น 6.6% (มาจาก TRUE ที่ขาดทุนลดลงจากการรับรู้กำไรของกองทุน TRUEIF), ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 14.6% (มากจาก KCE และ HANA) กลุ่มขนส่ง เพิ่มขึ้น 12.1% (มาจาก AOT และ BECL ซึ่งได้รับผลดีจากการเปลี่ยนแปลงมาตรการการบัญชี) และกลุ่มยานยนต์ จากการรวมกำไรของหุ้นใหม่ PCSGH 1,200 ล้านบาท ทำให้กำไรในกลุ่มเพิ่มขึ้น 17%


       ในเบื้องต้นคาดว่ากำไรสุทธิรวมทั้งตลาดในปี 2557 และ 2558 คาดว่าจะลดลงจากเดิมราว 2% และ ลดลง 1% เหลือ 8.7 แสนล้านบาท และ 9.8 แสนล้านบาท ตามลำดับ แต่ผลของหุ้นเพิ่มทุน (รวม stock dividend) ทำให้กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) หลังปรับลดประมาณการลดลงราว 2.5% เหลือ 98.40 บาท (จากเดิม 100.96 บาท) หรือ มี EPS growth ราว 8.3% (เทียบกับ 6.76% ในปี 2556 ) หากประเมินว่า EPS ตลาดลดลงราว 2-3% จะส่งผลต่อ SET Index น่าจะมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 1385-1420 จุด โดยดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2557 จะลดลงเหลือ 1435-1420 จุด อิง Expected P/E 14.5เท่า

 

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!