- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 02 September 2019 16:27
- Hits: 2655
Market Talks : บมจ.หลักทรัพย์ เอเซียพลัส
SET Index 1,654.92
เปลี่ยนแปลง (จุด) 15.78
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 63,136
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท(ล้านบาท)
นักลงทุนต่างชาติ -32.70
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -386.94
นักลงทุนสถาบันในประเทศ 3,197.41
นักลงทุนรายย่อย -2,777.77
กลยุทธ์การลงทุน
คาด SET Index วันนี้มีโอกาสปรับฐานจากแรงกดดันของราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ซึ่งในเชิงกลยุทธ์การลงทุนน่าจะถือเป็นโอกาสขายทำกำไรหุ้น PTT ออกไปบางส่วน สำหรับอีกประเด็นที่น่าติดตามเป็นเรื่องของการผิดนัดชำระหนี้ของอาร์เจนตินา ซึ่งอาจทำให้ Fund Flow ชะลอการไหลเข้าตลาดหุ้น หุ้น Top Picks วันนี้ เลือก AMATA (FV@B 35.70) บนความคาดหวังเชิงบวกเรื่องการลงทุนใน EEC และ MCS ([email protected]) ซึ่งประกาศรับงานใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ทยอยปรับตัวในแดนบวก
ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวขึ้นตลอดวัน จากปัจจัยความผ่อนคลายจีน-สหรัฐฯจะมีการเจรจากัน และราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นต่อ ที่ตลาดฯคาดซึบซับปัจจัยลบไปมากแล้ว จึงทำให้ปิดตัวในแดนบวกที่ระดับ 1654.92 จุด เพิ่มขึ้น 15.78 จุด (+0.96%) มูลค่าการซื้อขาย 6.3 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาด คือ กลุ่มพลังงานเช่น PTT, PTTEP กลุ่มค้าปลีก CPALL และ AOT และกลุ่มโรงไฟฟ้า GULF
ความกังวลในเรื่องการชะลอตัวของความต้องการใช้น้ำมัน หลังสหรัฐฯ-จีน เริ่มจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในรอบที่ 4 ตั้งแต่ 1 ก.ย. 62 ขณะที่พายุ Dorian ถูกคาดหมายว่าจะเข้าที่ Florida แทนที่จะเป็นอ่าว Mexico ทำให้เกิดภาวะชะลอตัวในฝั่งของ Demand แทนที่จะเป็น Supply กดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมา ซึ่งน่าจะส่งผลต่อเนื่องทำให้เห็นแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงาน และเป็นแรงกดดันต่อเนื่องมาที่ SET Index อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตามได้แก่ กรณีของ อาเจนตินา ซึ่งผิดนัดชำระหนี้ IMF หลังจากที่ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปที่ค่าเงินให้อ่อนค่าลง ภาวะดังกล่าวแม้จะไม่ได้เป็นผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่ในมุมมองของนักลงทุนระหว่างประเทศแล้ว ทำให้ความเสี่ยงสำหรับการลงทุนโดยภาพรวมเพิ่มสูงขึ้น เชื่อว่าน่าจะมีผลทำให้ Fund Flow ชะลอการไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย จากองค์ประกอบของทั้งเรื่องราคาน้ำมัน และ Fund Flow น่าจะทำให้ SET Index วันนี้ปรับตัวลดลง สำหรับกลยุทธ์การลงทุนวันนี้ เพื่อเป็นการ Lock ผลตอบแทนไว้บางส่วน จึงให้ขายทำกำไรหุ้น PTT และ TPIPP ลงอย่างละครึ่ง หรือ 5% และให้นำเม็ดเงินลงทุนที่ได้ไปลงทุนเพิ่มใน AMATA ด้วยน้ำหนัก 10% ส่วนหุ้น TOP Pick วันนี้เลือก AMATA ด้วยมุมมองเชิงบวกของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และ MCS ซึ่งยังคงประกาศรับงานใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สหรัฐ-จีนขึ้นภาษีนำเข้ารอบที่ 4.1 ตามที่ประกาศไว้
วันอาทิตย์ที่ผ่านมาราว 11 โมงตามเวลาไทย สหรัฐกับจีนประกาศมีผลบังคับการขึ้นภาษีนำเข้ากันรอบที่ 4.1 คือ ฝั่งสหรัฐได้ขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนรอบที่ 4.1 วงเงิน 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าสำคัญเช่น Smart watch, TV, รองเท้า เป็นต้น (หากรวม 3 รอบแรกที่เก็บไปแล้วตั้งแต่กลางปี 2561-ปัจจุบันคิดเป็นวงเงินราว 68% ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนปี 2561) และในวันที่ 15 ธ.ค. สหรัฐจะขึ้นรอบที่ 4.2 อัตราภาษี 15% วงเงิน 1.6 แสนล้านเหรียญ (รวมรอบ 4.1 และ 4.2 จะครบ 100% ของยอดนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากจีน)
เช่นเดียวกับทางฝั่งจีนที่ขึ้นภาษีโต้ตอบสหรัฐเช่นกันในวันเดียวกัน แต่เนื่องจากมีวงเงินในการตอบโต้เหลือเพียง (อ้างอิงจากรัฐบาลจีนราว 7.5 หมื่นล้านเหรียญ) คือ ขึ้นภาษีนำอัตรา 5-10% โดยแบ่งออกเป็นรอบที่ 4.1 และ 4.2 เหมือนกับสหรัฐ (รวม 4 รอบจะครบ 100% ของมูลค่าสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐปี 2561) สินค้าหลักๆ เช่น น้ำมันดิบ, สินค้าเกษตร,ยานยนต์ เป็นต้น
สงครามการค้าสหรัฐกับจีน
ASPS เชื่อว่าผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าวจะกระทบต่อทั้งผู้ผลิตทั้งขั้นต้น-กลาง-ปลายและผู้บริโภคขั้นสุดท้ายในทั้ง 2 ประเทศเนื่องจากสินค้าที่ถูกขึ้นภาษีจะทำให้ราคาสินค้าจะสูงขึ้น และกดดันกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยรวมเชื่อว่าหากสงครามการค้ามีโอกาสยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย จะส่งผลกระทบต่อให้เศรษฐกิจโลกในปี 2562-2563 ชะลอตัวลงและจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป โดยเชื่อว่าจะกระทบต่อภาคส่งออกไทยให้ยังหดตัวต่อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดขยายตัว 2.7% ชะลอจาก 4.1%ในปี 2561
อาร์เจนติน่าผิดนัดชำระหนี้ IMF และถูกปรับลด rating ต่ำสุดของ Junk Bond
ความเสี่ยงจากต่างประเทศ นอกจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน, ปัญหา Brexit ที่ยังไม่คลี่คลาย การประท้วงในฮ่องกงที่ยังยืดเยื้อ และ ล่าสุด คือ การผิดนัดชำระหนี้ของอาร์เจนติน่าราว 7 พันล้านเหรียญฯกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ รัฐบาลอารเจนติน่าขอ IMFปรับโครงสร้างหนี้ และขอยืดระยะเวลาชำระหนี้เนื่องจากขาดสภาพคล่องระยะสั้น หลังจากก่อนหน้าได้รับเงินช่วยเหลือจาก IMF ราว 5.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ทำให้ล่าสุด สถาบันจัดอันดับ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอาร์เจนตินาเป็นผิดนัดชำระหนี้ อยู่ที่ CCC- มาเป็นระดับต่ำสุดของ Junk Bond
สาเหตุเกิดจาก วันที่ 11 ส.ค. ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Mauricio Macri ของอาร์เจนตินาแพ้เลือกตั้งครั้งแรกต่อ Alberto Fernandez ซึ่งเป็นผู้ชิงตำแหน่ง และตลาดตีความว่าการเลือกตั้งรอบสุดท้าย ปลายเดือน ต.ค. ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะแพ้การเลือกตั้ง ทำให้นักลงทุนมั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาลและเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ ในประเทศคือ ผู้ลงทุนในกองทุนรวมกลัวรัฐบาลจะเบี้ยวหนี้ทำให้รีบไปแห่ถอนหน่วยลงทุน แต่ธนาคารหลายๆแห่งประกาศห้ามให้ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ไถ่ถอน ล่าสุด ธนาคารกลางอาร์เจนตินาได้ประกาศรับซื้อพันธบัตรเอง
และ Fund Flow ไหลออกต่อเนื่อง เห็นได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ล่าสุดอยู่ราว 51 พันล้านเหรียยฯสหรัฐ ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ (ดังในรูป) และส่งผลให้ค่าเงินเปโซอาร์เจนติน่าต่อดอลลาร์อ่อนค่า ล่าสุดราว 59 เปโซต่อดอลลาร์ เทียบกับ 37 เปโซต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าราว 60% และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อ
ราคาน้ำมันดิบปรับฐาน จากพายุเฮอริเคนโดเรียน และสงครามการค้า
ราคาน้ำมันดิบโลกปรับฐานจากปลายสัปดาห์ก่อนหน้าเฉลี่ยราว 3.8% โดยมีปัจจัยกดดันจากฝั่ง Demand เป็นหลักคือ ความกังวลจากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ทั้ง 2 ฝั่งได้ขึ้นภาษีนำเข้าต่อกันรอบที่ 4.1 และคาดว่าจะยืดเยื้อดังกล่าวกล่าวข้างต้น ( 2 ประเทศบริโภคน้ำมันรวมกันราว 50% ของการบริโภคน้ำมันทั้งโลก) และพายุเฮอริเคน Dorian ความรุนแรงระดับ 5 (ระดับความรุนแรงสูงสุด)เคลื่อนตัวขึ้นจากฝั่งบาฮามาสและ วันที่ 2-3 ก.ย. กำลังเข้าสู่รัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ (รัฐที่มีขนาด GDP ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศคิดราว 5.1%ของ GDP สหรัฐรองจาก New York 8.2%และ Texas 8.7% และ California 14.5% กระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐ
ขณะที่ฝั่ง Supply ตลาดยังคาดหวังกลุ่มประเทศ OPEC และ Non OPEC มีโอกาสตัดลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก ในเดือน ก.ย.นี้ จากปัจจุบัน ที่ตัดลดราว 1.2 ล้านบาร์เรล/วันจนถึง 31 มี.ค. 2563
โดยรวมปัจจัยฝั่ง Demand มีน้ำหนักมากกว่าฝั่ง Supply เป็นปัจจัยกดดันทำให้ราคาน้ำมันดูไบปรับฐานต่อ ล่าสุดอยู่ที่ 56.99 หรือเฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 62.8 เหรียญฯ และหากราคาน้ำมัน จนถึงสิ้นปี 2562 ไม่เกิน 60 เหรียญ น่าจะทำให้เฉลี่ยใกล้เคียงกับสมมติฐานที่ ASPS คาด 60 เหรียญฯ ในปี 2562 และนับจากปี 2563 เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ ระยะสั้นแนะนำชะลอการลงทุนหุ้นน้ำมันออกไปก่อน
Thailand Focus จะซ้ำรอยปี 2561 หรือไม่
หลังจบงาน Thailand Focus ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นจังหวะดี ที่ช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ หลังต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยมาตลอดเดือน ส.ค. 2562 กว่า 5.43 หมื่นล้านบาท (เป็นเดือนที่ขายมากสุดในปีนี้) ในช่วงที่มีปัจจัยต่างประเทศ รวมถึงสงครามทางการค้ามากระทบ เพราะนักลงทุนจะได้ฟังนโยบายจากรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ใช้รับมือปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามาต่อจากนี้
อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์ประเด็น Thailand Focus เปรียบปี 2562 นี้ กับปี 2561 พบว่า มีหลายเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกันมาก ดังนี้
ช่วงเดือน ก.ย. ปี 2561 และปี 2562 มีเหตุการณ์สงครามทางการค้าสหรัฐกับจีนซ้ำรอยเดิม คือ ช่วงเดือน ก.ย. ปี 2561 สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน รอบ 3 วงเงิน 2 ล้านเหรียญ ที่อัตรา 10% ขณะที่ ก.ย. ปีนี้ สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติม รอบที่ 4.1 วงเงิน 1.1 แสนล้านเหรียญ ที่อัตรา 15% เช่นกัน
ช่วงปลายเดือน ส.ค. ปี 2561 และปี 2562 มีการจัดงาน Thailand Focus เหมือนกัน แต่ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเหมือนกัน สังเกตได้ช่วงสัปดาห์ที่มีการจัดงาน Thailand Focus ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 6.2 พันล้านบาท (ปี 2561) และขายสุทธิ 5.7 พันล้านบาท (ปี 2562 นี้) และหลังงาน Thailand Focus 1 สัปดาห์ ต่างชาติยังขายสุทธิต่อเนื่องอีก 7.59 พันล้านบาท (ปี 2561)
ขณะเดียวกัน ช่วงที่มีการจัดงาน Thailand Focus สถาบันฯกลับเป็นผู้ซื้อสุทธิหุ้นไทยเสมอ สังเกตได้ช่วงสัปดาห์ที่มีการจัดงาน Thailand Focus สถาบันซื้อสุทธิหุ้นไทย 1.09 หมื่นล้านบาท (ปี 2561) และซื้อสุทธิ 5.9 พันล้านบาท (ปี 2562 นี้) อย่างไรก็ตามหลังงาน Thailand Focus 1 สัปดาห์ สถาบันสลับมาขายสุทธิราว 4.95 พันล้านบาท (ปี 2561)
SET Index 1 สัปดาห์หลังจัดงาน Thailand Focus ปี 2561 ปรับตัวลดลงถึง 1.86% คาดว่าได้ผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก
เปรียบเทียบมูลค่าซื้อขายจากสถาบันฯและต่างชาติ รวมถึงผลตอบแทน SET ช่วงจัดงาน Thailand Focus
สรุปคืองาน Thailand Focus ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นจังหวะดี ที่ช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ แต่ต้องเผชิญกับประเด็นสงครามทางการค้าที่ขยายวงกว้าง โดยฝ่ายวิจัยคาดว่า SET Index ยังยืนได้ในกรอบ 1600 – 1655 จุด
SET Index มีโอกาสพักตัว ... เน้น Selective Buy ชอบ AMATA MCS
แรงขับเคลื่อนจากกลุ่มพลังงานซึ่งปรับตัวขึ้น 2.6% และกลุ่มปิโตรฯ ฟื้นตัวขึ้น 1.3% ได้ผลักดัน SET Index ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นเร็วและแรง จนเข้าใกล้ระดับดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2562 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินแบบอนุรักษ์นิยม ที่ 1655 จุด (ณ ระดับ PER 16.45 เท่า) ขณะที่ความเสี่ยงจากปมขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่เดินหน้าจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าเต็มรูปแบบ เป็นผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากยิ่งขึ้น และระยะสั้นน่าจะยังไม่เห็น Fund Flow ไหลกลับเข้ามาในสินทรัพย์เสี่ยง ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนจึงเป็นรูปแบบ Selective Buy ในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว อย่าง AMATA, MCS, PTT, ROBINS, TASCO, TU
Top picks วันนี้ เลือก AMATA (FV@B 35.70) ราคาหุ้นมี Upside สูงกว่า 34.7% อีกทั้งยังมีแรงหนุนจากการย้ายฐานผลิตของผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบจากทางสงครามการค้า โดยทิศทางกำไรงวด 3Q62 ของ AMATA จะเติบโตสวนทางกลุ่มนิคมฯ ที่หดตัว หลักๆ มาจากการขายโอนที่ดินแปลงใหญ่ที่ขายให้กับบริษัท General Rubber (ธุรกิจผลิตยางรถยนต์จากจีน) ตามด้วยการทยอยส่งมอบพื้นที่โรงงานสำเร็จรูปเพื่อสร้างรายได้จากค่าเช่า 2 หมื่น ต.ร.ม. รวมไปถึงธุรกิจโรงไฟฟ้า 10 แห่งกลับมาสร้างรายได้พร้อมกัน โดยรวมคาดกำไรปี 2562 เติบโต 71.7% อยู่ที่ 1.75 พันล้านบาท และเติบโตต่อเนื่องในปี 2563
และยังคงชื่นชอบ MCS (FV@B 11.30) เช้าวันนี้ MCS ประกาศเซ็นสัญญางานใหม่โครงการ Toranomon 1-2 chome น้ำหนักส่งมอบสูงกว่า 4 หมื่นตัน(ทำลายสถิติทุกโครงการที่เคยรับทำงานมาก่อน) ทำให้ภาพรวมปี 2562 คาดกำไรจะเติบโตก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นเป็น 440 ล้านบาท จาก 417 ล้านบาทในปี2561ขณะที่ราคาหุ้นยังมี Upside อยู่อีกกว่า 33.73% จากราคาเป้าหมาย 11.30 บาท อีกทั้งยังคาดหวังผลตอบแทนเงินปันผลอีกสูงถึง 6.4%
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
ภวัต ภัทราพงศ์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์