- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 26 August 2019 16:28
- Hits: 3552
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การเดินหน้าตั้งกำแพงภาษีจนครอบคลุมเกือบทั้ง 100% ของมูลค่าการค้าสหรัฐฯ-จีน น่าจะสร้างแรงกดดันให้กับตลาดหุ้นโลกและตลาดหุ้นไทยในเช้าวันนี้ แต่อย่างไรก็ตามหากมองในอีกมุมหนึ่งก็เป็นแรงที่บอกว่าสถานการณ์ได้ดำเนินมาจนถึงจุดที่ใกล้อิ่มตัว น่าจะทำให้สามารถคาดการณ์ Downside ได้ชัดเจนขึ้น แนะนำถือหุ้น Domestic Play ที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวหนุน Top Picks เลือก BCH (FV@B21) และ DRT (FV@B 6.58)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ทยอยปรับตัวขึ้นตลอดวัน
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเปิดโดด 4 จุด ก่อนที่จะทยอยปรับตัวขึ้นตลอดวัน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุด 2 ของรัฐบาลรวมถึงความคาดหวังต่อทิศทางดอกเบี้ยว่าจะไปทางไหน จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1646.68 จุด เพิ่มขึ้น 13.12 จุด (+0.80%) มูลค่าการซื้อขาย 5.10 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาด คือ กลุ่มพลังงานเช่น GULF(+1.47%) PTT(+0.59%) PTTEP(+0.41%) EA(+0.52%) กลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(+0.87%) INTUCH(+2.37%) DTAC(+4.98%) และกลุ่มธ.พ.อย่างเช่น KBANK(+2.24%) SCB(+1.21%) KTB(+1.16%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่างเช่น AOT(+1.07%) CPALL(+1.46%) และ SCC(+1.48%) เป็นต้น
สถานการณ์สงครามการค้ากลับมาร้อนแรงอีกครั้งหนึ่ง หลังทั้ง 2 ฝ่ายเดินหน้าตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้น จนครอบคลุมเกือบทั้ง 100% ของมูลค่าการค้าระหว่างกัน สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงิน โดยตลาดหุ้นทั้งโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ขณะที่ Bond Yield ปรับลดลง และทำให้เกิด Inverted Yield Curve ในสหรัฐฯ (Bond Yield 2 ปี ปรับตัวสูงกว่า 10 ปี) ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเนื่องมายังตลาดหุ้นไทยในเช้าวันนี้ด้วย อย่างไรก็ตามหากมองอีกมุมหนึ่ง ความร้อนแรงของสงครามการค้าที่ออกมาในรอบนี้ น่าจะเป็นตัวชี้นำประการหนึ่งว่าสถานการณ์ได้ดำเนินมาถึงจุดที่เกือบจะถึงที่สุด เพราะเมื่อตั้งกำแพงภาษีครอบคลุมมูลค่าการค้าระหว่างกันทั้งหมดแล้ว จากนี้ไปหากจะมีมาตรการตอบโต้ระหว่างกัน ก็อาจเป็นเรื่องของการเพิ่มอัตราภาษีที่ผลกระทบไม่น่าจะมากเหมือนการประกาศตั้งกำแพงครั้งแรก หรือไม่ก็เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งไม่น่าจะมีมากนัก ในมุมของกลยุทธ์การลงงทุน ฝ่ายวิจัยยังมองในเชิงที่เป็นโอกาสสำหรับการหาหุ้นที่พื้นฐานแข็งแกร่งเพื่อการลงทุนระยะยาว โดยจุดที่เข้ารับหากพิจารณาบน Downside ที่มากสุดคือ กำหนด Market Earning Yield ไว้ที่ 5% (หมายความว่าหากนักลงทุนย้ายเงินออกจาพันธบัตรมาซื้อหุ้น จะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น 5%) จะให้ค่า PER บริเวณ 15.38 เท่า ให้ค่า SET Index ที่บริเวณ 1540 จุด สำหรับพอร์ตการลงทุน ฝ่ายวิจัยพิจารณาปรับปรุงโดย Cut Loss หุ้นในกลุ่มส่งออกอย่าง TU ออก และนำน้ำหนักการลงทุนเข้ามาพักใน POPF ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่า
Trade War สหรัฐ-จีนรอบที่ 4 ปะทุอีกครั้ง กดดันตลาดหุ้นโลก
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าผลการประชุม Jackson Hole คำกล่าวสุนทรพจน์ของนาย Jerome Powell ประธาน Fed ไม่ได้ส่งสัญญาณถึงนโยบายการเงินในอนาคตชัดเจน แต่ยังเน้นย้ำถึงความท้าทายเงินเฟ้อของ Fed ที่อาจจะต่ำกว่าเป้าที่ 2% (เงินเฟ้อสหรัฐเดือน ก.ค. ขยายตัว 1.8%yoy และมีแนวโน้มชะลอตัว ตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง) และความกังวลสงครามการค้า ทำให้ตลาดยังเชื่อมั่นว่า Fed ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. 2562 ซึ่งตลาดยังคงคาดโอกาสลดดอกเบี้ยที่ 100% โดย 70% คาดว่าจะลดลงราว 0.25% และอีก 30% คาดลด 0.5%
แต่ที่สำคัญคือประเด็นที่กดดันตลาดหุ้นโลก ประเด็นเรื่องสงครามการค้าปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และมีหลายเหตุการณ์ที่สร้างความประหลาดใจ (รายละเอียดดัง Time line ในรูป) คือ
หลังจากจีนประกาศตอบโต้สหรัฐผ่านการขึ้นภาษีนำเข้ารอบที่ 4 อัตรา 5-10% วงเงินสินค้าที่คาดจะถูกจัดเก็บราว 7.5 หมื่นล้านเหรียญฯ หลักๆคือ ยานยนต์ ชิ้นส่วน, อากาศยาน และที่สำคัญคือ น้ำมันดิบ(ถูกเก็บ 5%) ทำให้ฝั่งสหรัฐ คือประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าทั้งหมด 4 รอบ เพิ่มอีก 5% คือ 3 รอบแรกวงเงิน 2.5 แสนล้านเหรียญฯ (ถูกเก็บไปแล้ว) จะเก็บเป็น 30 % จากปัจจุบัน 25% และรอบที่ 4 วงเงิน 3 แสนล้านเหรียญฯ(ยังไม่ถูกเก็บ) จะเก็บเป็น 15% จากที่คาดว่าจะเก็บ 10% ในวันที่ 1 ก.ย. และ 15 ธ.ค. (รายละเอียดดังตาราง)
อย่างไรก็ตามเมื่อคืนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาให้ความเห็นกลับไปกลับมาว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าจีนหรือไม่ ทำให้ตลาดหุ้นโลกสับสน แต่โดยรวมตามเชื่อว่าสงครามการค้ารอบที่ 4 ที่ทั้ง 2 ฝั่งจะเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ามีแนวโน้มเกิดขึ้น น่าจะสร้าง Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้นไทยในวันนี้ แต่ในทางบวก ถือได้ว่าอาวุธที่ทั้ง 2 ฝั่งได้ประกาศออกมาผ่านการขึ้นภาษีนำเข้าหมดแล้ว น่าจะทำให้การปรับฐานลงใกล้ต่ำสุด
Trade War กดดันสินทรัพย์เสี่ยง และหนีเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย
ความกังวลจากประเด็นเรื่องสงครามการค้าดังกล่าว เป็นปัจจัยกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้ปรับฐานรุนแรง เห็นได้จากตลาดหุ้นโลก อาท สหรัฐ ปรับฐานราว 2% และที่สำคัญคือ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับฐานลงแรงในวันศุกร์ที่ผ่านมาเฉลี่ยราว 3.7% อีกส่วนนึงเนื่องจาก Trade war รอบที่ 4 นี้ ฝั่งจีนขึ้นภาษีนำเข้าน้ำมันจากสหรัฐเป็น 5% ทำให้ความกังวลว่า จีนอาจลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐ และหันไปนำเข้าน้ำมันจากแหล่งอื่นแทน ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมัน WTI ลงต่อในระยะยาว และมากกว่าน้ำมันประเภทอื่น
ทั้งนี้ความกังวลสงครามการค้าทำให้ Fund Flow ไหลเข้าสูสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) เช่น ทองคำ และตราสารหนี้แทน ผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกปรับลง ขณะที่ Dollar Index อ่อนค่า 0.54% สวนทางกับสกุลเงินบางสกุลที่แข็งค่า เช่น เงินเยนแข็งค่า 1.09%, เงินบาทแข็งค่า 0.57% เนื่องจากถูกนักลงทุนมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
ไทยคาดหวัง มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ
ผลกระทบของสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจไทย ASPS คาดว่าสงครามการค้าจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กดดันให้การส่งออกของไทยชะลอตัวต่อ ASPS คาดส่งออกเฉลี่ยทั้งปีหดตัว 3% จากมุมมองสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และค่าเงินบาทแข็งค่า
ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2562 ยังต้องหวังพึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เฟส 2 ที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นอื่นๆอีก ซึ่งคาดว่าจะมุ่งไปที่การดึงดูดการลงทุนเอกชน และต่างชาติ และที่จะเตรียมย้ายฐานการผลิตเพื่อหนีสงครามการค้า เป็นต้น โดยเฉพาะ BOI และคาดหวังการผ่อนปรนการค้า ภาคธุรกิจ ผ่อนปรนกฎระเบียบ โดยรวมจะดีต่อ หุ้นกลุ่มนิคม AMATAและเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเร่งออกมาตรการการบริโภคอื่น อาทิ ช็อปช่วยชาติ, การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% (กำลังพิจารณา) เป็นต้น และกลุ่มค้าปลีก (ROBINS BJC) และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น DCC และ DRT ได้รับผลบวกจากมาตรการเช่นกัน
และอีกทางนึงคือหวังมาตรการกระตุ้นทางการเงิน คือ เชื่อว่ามีโอกาสที่ กนง. อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ราว 0.25% (เดือน ส.ค. ลดครั้งแรกในรอบ 4 ปี 5 เดือน จาก 1.75% เป็น 1.5%) ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เช่น MOR และ MRR ตามต่อไป
FTSE ปรับดัชนี คาดกระทบ Fund Flow เดือน ก.ย. ชะลอลง
ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ทาง FTSE Russell ได้มีการประกาศรายชื่อหุ้นที่ถูกปรับน้ำหนัก (Rebalance) ในดัชนีรอบใหม่ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ก.ย. 2562 โดยฝ่ายวิจัยคาดว่าส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยดังนี้
หุ้นไทยที่ถูกเข้าคำนวณ จะได้รับ Sentiment เชิงบวกจากประเด็นดังกล่าว โดยมีหุ้นไทยที่ถูกปรับเข้าออก หรือเพิ่มน้ำหนัก10 บริษัท ดังนี้
รายชื่อหุ้นที่ถูกถอดออกจากดัชนี FTSE Total Cap มี 27 ตัว ได้แก่ AJ, APCS, AQ, BOFFICE, CM, CTW, FNS, FSS, IT, LEE, MILL, MJIF, MODERN, PAP, PL, PRM, SGP, SITHAI, SKN, SSSC, SUC, THIP, TPRIME, TR, TRUBB, TWPC, VNG
คาดว่าหุ้นที่ถูกเข้าคำนวณหรือเพิ่มน้ำหนักจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น รวมถึงกองทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนตามดัชนีดัง น่าจะช่วยหนุนราคาหุ้นให้มีโอกาส Outperform ตลาดได้ก่อนวันบังคับใช้
การปรับน้ำหนักรอบนี้มีการเพิ่มน้ำหนักหุ้นหลายๆ ประเทศเข้ามาคำนวณในดัชนี FTSE Emerging Market จำนวนมาก คือเพิ่มสัดส่วน 10% ของ China A Share, 25% ของตลาดหุ้นซาอุดิอาระเบีย และ 100% ของตลาดหุ้นไอซ์แลนด์ เข้ามาในรอบนี้ กดดันสัดส่วนหุ่นไทยมีโอกาสลดลง ล่าสุดตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วน 3.7% (สูงเป็นอันดับที่ 7 ใน 25 ประเทศ) คาดว่าจะถูกลดทอนให้มีสัดส่วนลดลง 1.34% ในรอบนี้
ต่อจากนี้ทาง FTSE จะเพิ่มน้ำหนัก 10% ของหุ้น China A Share, 25% ของหุ้นซาอุดิอาระเบีย เข้ามาในดัชนี FTSE อีกครั้งในเดือน มี.ค. 2562
สรุปคือ การปรับน้ำหนักดัชนี FTSE ในรอบนี้ คาดส่งผลบวกกับหุ้นไทยเฉพาะบริษัทที่ถูกคัดเข้าคำนวณหรือเพิ่มน้ำหนัก ส่วนหุ้นอื่นๆที่เหลือมีโอกาสถูกเบียดสัดส่วนจากการนำหุ้นหลายประเทศเข้าคำนวณ กดดันให้ Fund Flow ให้มีโอกาสชะลอการไหลเข้าในเดือน ก.ย. 2562
สงครามการค้ากดดัน เงินทุนไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย
สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่แรงร้อนขึ้นในช่วงปลฃายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเกิดจากจีนที่ประกาศตอบโต้สหรัฐผ่านการขึ้นภาษีนำเข้ารอบที่ 4 วงเงิน 7.5 หมื่นล้านเหรียญฯ และจากสหรัฐก็ประกาศขึ้นภาษีกดดันเพิ่มเติมอีก นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความผิดหวังกับ Fed ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยในอนาคต
ความตึงเครียดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมีความกังวลและเกิดการโยกย้ายเงินลงทุนเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น สังเกตได้จาก Bond Yield 10 ปี ในหลายประเทศปรับตัวลงแรง เช่น Bond Yield 10 ปีของสหรัฐเหลือเพียง 1.54 ใกล้เคียงกับไทยที่ 1.54% รวมถึงอีกหลายประเทศที่ Bond Yield 10 ปี ติดลบ คือ เยอรมนี -0.68% ฝรั่งเศส -0.38% และญี่ปุ่น -0.23%
อย่างไรก็ตาม หลายๆประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลาย ช่วยลดทอนผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว และถ้าหากประเด็นสงครามการค้าเริ่มมีท่าทีที่คลี่คลาย ด้วยดัชนีหุ้นไทยที่ปรับฐานลงมาเร็วและแรง รวมถึงภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ช่วยหนุนให้ Earning Yield Gap ตลาดหุ้นไทยกว้างขึ้น ล่าสุดอยู่ที่ 4.56% โดยฝ่ายวิจัยประเมินแนวรับภายใต้แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมค่อนข้างมาก ผ่านการกำหนดเป้าหมาย SET Indexจาก Earning Yield Gap โดยหากขยายขึ้นไปที่ 5.0% (จุดสูงสุดตั้งแต่ปี 2557 ) จะได้แนวรับ SET Index บริเวณ 1540-1550 จุด ดังนั้นหากเกิด Panic Sell ลงมาจึงน่าจะถือเป็นโอกาสเข้าลงทุนของนักลงทุนระยะยาว ส่วนระยะสั้นแนะนำเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย หรือหุ้นที่มีปันผลสูง เช่น POPF รวมถึงหุ้น Domestic Play อย่าง DRT, BCH เป็นต้น
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ