- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 22 August 2019 16:10
- Hits: 1992
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562
ความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเห็น Fund Flow กลับทิศเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น หลังจากที่ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนที่คาดหวังจากตลาดหุ้น กับสินทรัพย์ปลอดภัย ขยายตัวกว้างมากขึ้นโดยในประเทศคาด SET Index น่าจะกลับขึ้นไปบริเวณ 1650 จุดได้ วันนี้แนะนำปรับพอร์ต โดยเพิ่มหุ้น STA เข้าไปแทน PLANB สำหรับ Top Picks เลือก BCH (FV@B21), DRT (FV@B 6.58) และ STA (FV@B 13) ซึ่งได้ประโยชน์จากราคายางพาราที่กลับตัวขึ้น
SET Index 1,638.24
เปลี่ยนแปลง (จุด) 12.67
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 56,879
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขการส่งออกที่กลับมาเติบโต ขณะที่เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มทยอยอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1638.24 จุด เพิ่มขึ้น 12.67 จุด (+0.78%) มูลค่าการซื้อขาย 5.68 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่ผลักดันตลาด คือ กลุ่มพลังงานเช่น GULF(+6.40%) PTT(+0.58%) PTTEP(+0.41%) RATCH(+1.47%) กลุ่มค้าปลีกเช่น CPALL(+2.06%) BJC(+3.33%) DOHOME(+2.88%) และกลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(+1.79%) INTUCH(+0.82%) TRUE(+2.46%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่เช่น SCC(+0.98%) และ CPN(+1.52%) เป็นต้น
Fund Flow ที่ไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ราคาสินทรัพย์ดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้ระดับอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังได้ในอนาคตลดต่ำลง อย่างเช่น ราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นจากบริเวณ 1280$ ไปสู่ระดับกว่า 1500$ ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน ขณะที่ Bonnd Yield 10 ปีของสหรัฐ ปรับลดลงจาก 2.2% มาสูง 1.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน สภาวะดังกล่าวได้สร้างให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนในตลาดหุ้น เทียบกับอัตราผลตอบแทนที่ได้จากสินทรัพย์ปลอดภัยขยายกว้างขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเหตุที่ทำให้ทิศทางของ Fund Flow อาจไหลกลับเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงอย่งตลาดหุ้นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ในส่วนของตลาดหุ้นไทยพบว่า Market Earning Yield Gap ปัจจุบันเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 4.6% และจะเพิ่มเป็น 4.64% ณ สิ้นปี (คำนวนโดยใช้ตัวเลขประมาณการ EPS ปี 2562 ที่ปรับปรุงแล้วที่ 100.64 บาท/หุ้น) บนความเชื่อดังกล่าวทำให้มีความเป็นไปได้มากที่ SET Index จะปรับขึ้นไปทดสอบแนวต้านบริเวณ 1650 จุด ด้านกลยุทธ์การลงทุน ในวันนี้มีการปรับพอร์ตการลงทุน โดยให้ขายทำกำไรในหุ้น PLANB ซึ่งน่าจะทำกำไรได้มากกว่า 4% ในช่วงเวลาสั้น และนำเม็ดเงินที่ได้จากการขาย (10% ของพอร์ตการลงทุนรวม) เข้าไปในหุ้น STA ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้ประโยชน์จากราคายางพาราที่ปรับตัวสูงขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไร พร้อมกันนี้ให้ลดน้ำหนักของ POPF ลง 5% นำไปเพิ่มน้ำหนักให้กับ BCH จาก 10% เป็น 15%
Fed minutes ตอกย้ำการลดดอกเบี้ยปีนี้ ให้น้ำหนักไปที่ Jackson Hole
เมื่อคืนรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed Minute) ของการประชุมรอบ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่ง Fed ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยปรับลง 0.25% เหลือ 2.25% มีใจความสำคัญที่สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ประการคือ
•เพื่อลดผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ: เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวตามไปด้วย (GDP Growth สหรัฐงวด 2Q62 ขยายตัว 2.3%yoy แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี และชะลอตัวจาก 2.7% ใน 1Q62)
•เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญในอนาคต: Fed มองว่าความเสี่ยงในอนาคตยังสูง อาทิเช่น สงครามการค้าสหรัฐกับจีนมีโอกาสยืดเยื้อ, ปัญหา Brexit ที่อังกฤษมีโอกาสออกจากยุโรปแบบ No Deal สูง, เยอรมนีเริ่มมีความเสี่ยงปัญหา Recession ช่วง 2H62 เป็นต้น
•กระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฟื้นตัวกลับมาที่เป้าของ Fed ที่ 2%: คณะกรรมการ Fed บางส่วนมองว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวของสหรัฐมีโอกาสต่ำกว่าระดับ 2% ได้ (เงินเฟ้อสหรัฐเดือน ก.ค. ขยายตัว 1.8%yoy และมีแนวโน้มชะลอตัว ตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง)
โดยรวมทำให้ตลาดยิ่งเชื่อมั่นต่อการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐ โดยผลสำรวจความเห็นเกี่ยวกับผลการประชุม Fed วันที่ 17-18 ก.ย. 2562 พบว่าความน่าจะเป็นที่จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 100% โดย 90% คาดว่าจะลดลงราว 0.25% อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ให้น้ำหนักต่อไปน่าจะเป็นประเด็นที่ว่า Fed จะมีโอกาสดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายนอกเหนือไปจากการลดดอกเบี้ยหรือไม่ เช่นหันกลับมาพิจารณาดำเนินมาตรการ QE อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากที่หยุด QE ไปเมื่อราวปลายปี 2557
ทั้งนี้ให้รอติดตามวันที่ 23 ส.ค. ซึ่งประธาน Fed นาย Jerome Powell จะกล่าวสุนทรพจน์ในระหว่างการประชุม Jackson Hole วันที่ 22-24 ส.ค. ว่าจะมีการส่งสัญญาณนโยบายการเงินเพิ่มหรือไม่ รวมไปถึงให้น้ำหนักท่าทีของประธาน ECB นาย Mario Draghi ถึงทิศทางนโยบายการเงินของยุโรป ภายหลังยุโรปเริ่มเผชิญความเสี่ยงทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งหากมีการส่งสัญญาณผ่อนคลายการเงินมากกว่าคาด จะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นโลก
ส่งออก ก.ค.กลับมาขยายตัว จากทองคำ และจีน, ญี่ปุ่นเร่งนำเข้าเพื่อหนีภาษีนำเข้า
ยอดส่งออกของไทย เดือน ก.ค. พลิกจากที่ติดลบ 4 เดือนก่อนหน้ากลับมาขยายตัว 4.55%yoy อยู่ที่ 2.12 หมื่นล้านเหรียญฯ และดีกว่าตลาดคาดว่าจะหดตัว 2.3% สาเหตุที่เดือนที่ส่งออกออกมาดีกว่าที่คาดหลักๆ เป็นผลจาก
การส่งออกทองคำ (สัดส่วนราว 3%ของสินค้าส่งออกของไทยทั้งหมด) ในเดือนนี้ขยายตัวสูง 407%yoy ราว 80 ตัน จากเฉลี่ยเดือน มิ.ย.-ก.ค. ส่งออกราว 10 ตัน หลักๆ ส่งออกไปที่ สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, ฮ่องกง เป็นต้น เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่ไม่แนนอนทั้งสงครามการค้า หนุนราคาทองคำเป็นขาขึ้นราว 17%ปลายเดือน พ.ค.-ปัจจุบัน (แต่หากหักทองคำออกจะขยายตัว 1.55%)
ผลจากอานิสงค์ของสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยังมีอยู่และรุนแรงขึ้น คือ สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับจีนในรอบที่ 4 วงเงินราว 3 แสนล้านเหรียญ ทำให้มีการเร่งนำเข้าสินค้าจากไทยเพื่อไปสต็อกรอ อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร เช่น ผลไม้ ยางพารา ไก่สด เฟอนิเจอร์ เป็นต้น โดยเฉพาะจีน (ตลาดส่งออกอันดับ 1 ราว 12% ของตลาดส่งออกทั้งหมด) กลับมาขยายตัว 6.2% จากเดือนก่อนที่หดตัว 14.9% เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ตลาดส่งออกอันดับ 3 ราว 9.7%) กลับมาขยายตัว 8% จากเดือน มิ.ย. ที่หดตัว 1.95%
แต่หากพิจารณาสินค้าส่งออก พบว่า สินค้าอุตสาหกรรมราว 86.8% ของสินค้าทั้งหมด หลักๆคือ รถยนต์และชิ้นส่วน , เครื่องคอมพิวเตอร์ ,แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น พบว่ายังมีสัญญาณชะลอตัว และยังมีแนวโน้มชะลอถึงสิ้นปีโดยเฉพาะ ขณะที่ สินค้าที่ขยายตัวในเดือนนี้ส่วนใหญ่คือ สินค้าเกษตร ซึ่งสัดส่วนเพียง 7.3% ของสินค้าทั้งหมด โดยรวมทำให้ยอดส่งออกเฉลี่ย 7M62 ยังหดตัวลงเหลือ 1.9%
ขณะที่ฝั่งนำเข้าในเดือนนี้ อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านเหรียญฯ พลิกกลับมาเป็นบวก 1.7% หลักๆ เป็นผลของการนำเข้า สินค้าอุปโภคบริโภค 18.5% และยานพาหนะ 8.5% เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าจากเงินบาทที่แข็งค่า ขณะที่สินค้าทุนและ เชื้อเพลิงยังคงหดตัว
โดยภาพรวม ASPS คาดว่าการส่งออกเดือนนี้ที่ขยายตัวแรงเป็นการฟื้นตัวช่วงสั้น ทำให้เชื่อว่า แนวโน้มส่งออกช่วงที่เหลือ 5 เดือนของปี ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว โดยยังคงคาดส่งออกเฉลี่ยทั้งปี หดตัว 3% จากมุมมองสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีโอกาสยืดเยื้อ และค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2562 คงต้องหวังพึ่ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุดที่ออกมาวงเงินทั้งหมด 3.16 แสนล้านบาท หรือ ( 2%ของ GDP ไทยปี 2561) อาทิ เงินในบัตรสวัสดิการเป็น 1,000 บาท และการอัดฉีดเงิน 1,000 บาท/คน รวม 10 ล้านคนท่องเที่ยวที่มิใช่ภูมิลำเนา ซึ่งจะเริ่ม 27 ก.ย.- 30 พ.ย.2562 ประกันราคาสินค้าเกษตร และมาตรการเฟส 2 ที่จะออกมาวสันที่ 30 ส.ค. จะดีต่อ หุ้นกลุ่มนิคม AMATA และกลุ่มค้าปลีก (ROBINS BJC) และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น DCC และ DRT ได้รับผลบวกจากมาตรการเช่นกัน
ตลาดหุ้นรีบาวด์ ได้รับเม็ดเงินจากสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนช่วงสั้น
ความกังวลประเด็นสงครามการค้ากลับมาปะทุในช่วงต้นเดือน ส.ค. 2562 รวมถึงความคาดหวังว่า Fed จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือน ก.ย. 2562 100% ตั้งต่วันที่ 2 ส.ค. 2562 เป็นต้นมา กดดันเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างทองคำ และตราสารหนี้จนทำให้ Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯ ลดลงมาอย่างรวดเร็วจนเกิด Inverted Yield Curve ชั่วขณะ
อย่างไรก็ตามนักลงทุนน่าจะตอบรับประเด็นลบดังกล่าวไประดับหนึ่งแล้ว สะท้อนจาก Bond Yield 10 ปี สหรัฐเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อย
เปรียบเทียบ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐและไทย
รวมถึงราคาทองเข้าสู่ภาวะพักตัว หลังปรับตัวขึ้นมาแรง 6.2%(mtd) และเกิดสัญญาณ Bearish Divergence จาก MACD และ RSI (ตามที่นำเสนอในบทวิเคราะห์ Derivative Talk วันนี้) ทำให้เชื่อว่าในระยะสั้นจะเห็นเม็ดเงินไหลกลับข้ามาหนุนตลาดหุ้นบ้าง จากภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ
ราคาทอง (Gold Spot)
อีกทั้งยังสอดคล้องกับ Fund Flow ในตลาดหุ้นไทย ที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยเล็กน้อย 753 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันแรกในรอบ 2 สัปดาห์) และขายสุทธิตราสารหนี้มาอย่างต่อเนื่อง 3.16 หมื่นล้านบาท (หลังจากที่กนง. มีการประกาศลดดอกเบี้ย)
นอกจากนี้ภาพระยะยาวตามกลไกวัฎจักรดอกเบี้ยขาลง ช่วยหนุนให้เกิดส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนการลงทุนจากตลาดทุน กับ ตลาดตราสารหนี้ พร้อมกับหนุน Market Earning Yield Gap กว้างขึ้น
ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นไทยถูกซื้อขายบน PER ที่สูงขึ้น โดยหากกำหนดให้ Bond Yield 1 ปี เท่ากับ 1.5% (Bond Yield ระยะสั้นมักจะแปรผันตามดอกเบี้ยนโยบาย) และใช้ Market Earning Yield Gap เท่าเดิมคือ 4.28% จะให้ค่า PER สำหรับตลาดหุ้นได้สูงถึง 17.30 เท่า (เดิมใช้ 16.45 เท่า) เมื่อคูณกับ EPS62F ตลาดใหม่ที่ 100.64 บาท/หุ้น จะได้เป้าหมาย SET Index ขยับขึ้นจาก 1655 จุด เป็น 1,741 จุด) ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของ Fund Flow เป็นสำคัญ
กลยุทธ์ลงทุน เน้น Selective Buy ชอบ STA, BCH และ DRT
Sentiment จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐในวานนี้ (อาทิ Dow Jones เพิ่มขึ้นถึง 240.29 จุด, S&P500 ปรับเพิ่มขึ้น 23.92 จุด) น่าจะผลส่งบวกต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย ให้ฟื้นตัวขึ้นต่อ แต่ควรเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตดี ตามที่ฝ่ายวิจัยแนะนำคือ BCH, DRT และเพิ่ม STA เข้ามาเป็น Top Picks ในวันนี้
STA (Buy FV@B13) นักวิเคราะห์ ASPS ปรับคำแนะนำมาเป็นซื้อ มองว่าธุรกิจยางกลับมาสดใสอีกครั้ง เนื่องจากคู่แข่งในประเทศบางรายลดและหยุดกำลังการผลิตชั่วคราว ทำให้ลูกค้าหันมาสั่งซื้อยางจาก STA มากขึ้น ซึ่งผลักดันให้แนวโน้มปริมาณจำหน่ายยางพาราในงวด 2H62 เพิ่มมาอยู่ที่ 7.5 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 38.0% จากงวด 1H62
นอกจากนี้ STA ยังได้ผลบวกจากวัตถุดิบยางที่อยู่ในระดับต่ำ หนุน margin ธุรกิจถุงมือยางดีขึ้น และยังมีขยายกำลังการผลิตถุงมือยางอีก 25% yoy ในปี 2563
ขณะที่ราคาหุ้นผ่านการปรับฐานถึง 17% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จนซื้อขายที่ PBV ต่ำเพียง 0.7 เท่าพร้อมทั้งเห็นแรงผลักดันจากแนวโน้มผลการดำเนินงาน 3Q62 ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นขั้นบันได และยังได้ปัจจัยบวกจากตัวเลขส่งออกยางพาราเดือน ก.ค. 62 ที่เติบโตขึ้นถึง 9.6%yoy เชื่อว่าหนุนให้ราคาหุ้น outperform ตลาดฯ ถือเป็นโอกาสดี ที่จะเข้าลงทุนในช่วงนี้
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ