WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Asia Plus Group Holdingบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
 
กลยุทธ์การลงทุน    
วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2562
ความกังวลในเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังการเกิด Inverted Yield Curve ในช่วงเวลาสั้นๆ ยังคงมีอยู่ ซึ่งก็น่าจะทำให้ทิศทางของ Fund Flow ไหลจากสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั้วโลกรวมถึง SET Index ให้ผันผวน กลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนควรให้อยู่ในฐานะที่สามารถจำกัด Downside ได้ดี ส่วน Top Picks วันนี้ยังเลือก TASCO ([email protected]) และ ROBINS (FV@70)
 
    SET Index    1,604.03
    เปลี่ยนแปลง (จุด)    -15.42
    มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท)    100,941
            
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ทยอยปรับตัวลงตลอดวัน
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตลอดวัน จากความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ จึงทำให้ตลาดผันผวนทั้งแดนบวกและแดนลบ จนทำให้สุดท้ายปิดที่ระดับ 1604.03 จุด ลดลง 15.42 จุด (-0.95%) มูลค่าการซื้อขาย 1.01 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาด คือ กลุ่มพลังงานเช่น EA(-3.06%) PTT(-2.31%) PTTEP(-1.60%) TOP(-2.29%) กลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(-3.57%) INTUCH(-5.04%) TRUE(-1.64%) และกลุ่มธ.พ.อย่างเช่น SCB(-2.43%) TISCO(-1.01%)  KTB(-1.14%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่างเช่น CPALL(-1.80%) CPN(-2.55%) และ BDMS(-2.11%) เป็นต้น 
แม้การเกิด Inverted Yield Curve โดย Bond Yield สหรัฐฯ 10 ปี ตัด Bond Yield 2 ปี ลงมา จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Bond Yield 10 ปีสูงกว่า 2 ปี) แต่ความกังวลเรื่องความเสี่ยงต่อการเกิดเศรษฐกิจถดถอยก็ยังมีน้ำหนักอยู่มาก ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมดังกล่าว ฝ่ายวิจัยประเมินว่าน่าจะทำให้ทิศทางการเคลื่อนไหวของ Fund Flow ยังคงไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง อย่างตลาดหุ้น ไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัยต่อเนื่อง ซึ่งภาวะดังกล่าวน่าจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในภาวะที่ผันผวนต่อไป ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็คงต้องอยู่ภายใต้สภาวะดังกล่าวเช่นกัน แม้ในระยะสั้นจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนออกมา แต่ก็น่าจะเป็นผลดีต่อหุ้นเพียงบางกลุ่มอุตสาหกรรม  และไม่น่าจะมีน้ำหนักพอที่จะผลักดันให้ SET Index ปรับตัวขึ้นไปได้ ประเมินว่า SET Index น่าจะอยู่ในกรอบ 1590 – 1620 จุด กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ ฝ่ายวิจัยยังเน้นการจัดพอร์ตการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการจำกัด Downside โดยกำหนดให้มีหุ้นที่ไม่ผันผวนไปตามภาวะตลาดอย่าง JASIF, POPF และ ROBINS ในสัดส่วนราว 50% ของพอร์ต ส่วนที่เหลือเป็นหุ้นที่ให้ Dividend Yield ที่ดี และหุ้นที่เชื่อว่ายังมีอัตราการเติบโตระดับสูง เพื่อที่จะดึงให้ผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุน Outperform ตลาด ส่วนวันนี้ไม่มีการปรับพอร์ตการลงทุน
Inverted Yield curve ในสหรัฐครั้งนี้ ยังไม่ได้บ่งชี้การเกิด Recession
ดังที่ฝ่ายวิจัยนำเสนอใน Market talk เมื่อวานนี้ คือ ปัจจัยภายนอก อาทิ สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยังมีอยู่และรุนแรงขึ้น, ปัญหา Brexit และประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อนาน 2 เดือน เป็นปัจจัยทำให้เงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะตราสารหนี้ และส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับลดลงทำจุดต่ำสุดในหลายประเทศ และนำสู่มาประเด็นที่ตลาดให้น้ำหนักในช่วงนี้คือ ภาวะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(Bond Yield)ระยะยาวของสหรัฐ  ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนระยะสั้น (Inverted Yield Curve) ซึ่งได้เกิดขึ้น  ล่าสุดวันที่ 14 ส.ค. Bond Yield 10 ปีของสหรัฐลดลงไปแตะระดับ 1.623% ซึ่งต่ำกว่า Bond Yield 2 ปีของสหรัฐที่ขึ้นมาที่ระดับ 1.63% โดยตลาดกังวลประเด็นนี้เพราะว่า ในอดีตทุกๆครั้งที่เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ในสหรัฐ  ซึ่งจะต้องเกิดในระยะ ติดต่อกันนนานเฉลี่ย 1 ปี จะมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย(Recession)  ซึ่งหากดูในอดีต 2 ครั้งก่อนหน้า ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมักจะเป็นเช่นนั้น (ดังรูป คือเส้นสีฟ้าอยู่สูงกว่าเส้นดำเฉลี่ย 1 ปี)
 
อย่างไรก็ตามมุมมองของ ASPS เชื่อว่าปรากฎการณ์ Inverted Yield Curve เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้น คือ ไม่ถึง 1 วัน โดยเช้าวันนี้  Bond Yield 10 ปีสหรัฐอยู่ที่ 1.527% สูงกว่าเล็กน้อย อายุ 2 ปีอยู่ที่ 1.50% และหากพิจารณาพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐในครั้งนี้ถือว่าแข็งแกร่งมากเมื่อเทียบกับในอดีต กล่าวคือ วิกฤติเศรษฐกิจซับไพร์ม (Subprime Crisis)ระหว่างปี 2551-2552   ที่เกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐและการกู้ยืมและการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ดูเหมือนว่าระดับความเสี่ยงที่จะเกิด Recession อาจจะยังมีไม่สูงนัก แต่ก็ควรอยู่ในความไม่ประมาท และติดตามตัวแปรสำคัญเช่นผลกระทบของสงครามการค้าอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงที่เกิด Inverted Yield Curve ในอดีตมาเป็นข้อมูลประกอบดังต่อไปนี้
•    GDP Growth: GDP Growth ปี  2551-2552 หดตัว 0.1% และ 2.5% ตามลำดับ เทียบกับปัจจุบัน งวด 1Q62 ขยายตัว 2.3%yoy และ IMF คาดทั้งปี 2562 ขยายตัว 2.6% 
•    อัตราการว่างงาน: ปี 2550 เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 4.4% ไปเป็น 7.3%และ 10% ในปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ เทียบกับปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.7% (ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี)
•    อัตราเงินเฟ้อ: ลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2550 ที่ 4.3% เหลือ 0.1% ในปี 2551 และหดตัว 2.1% ในปี 2552 เทียบกับปัจจุบันที่ขยายตัว 1.8%
•    ดัชนี PMI: ดัชนี PMI ลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2550 ที่ 54.1 จุด เหลือ 38.2และ 36.4 ในปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ เทียบกับปัจจุบันที่ PMI อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด 
 
และล่าสุด ดัชนี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฝั่งภาคบริการยังแข็งแกร่ง (การบริโภคครัวเรือนในสหรัฐคิดราว 70%ของ GDP) คือ ยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. ขยายตัว 0.7%mom ดีกว่าที่ตลาดคาด 0.3%mom สอดคล้องกับผลประกอบการของ Walmart  ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่สุดของสหรัฐ ล่าสุด งวด 2Q62 ดีกว่าที่ตลาดคาดราว 4% และยอดขาย Same-Store sale เพิ่มขึ้น 2.8%yoy และดีกว่าที่ตลาดคาด 2.1% ซึ่งยังบ่งชี้ได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง
การโคจร 10 ปี ของ Inverted Yield Curve และวิกฤตเศรษฐกิจ 
นักลงทุนคงสงสัย ทำไมประเด็นการเกิด Inverted Yield Curve ระหว่าง Bond Yield สหรัฐ 2 ปี กับ 10 ปี ถึงสร้างความผันผวนปั่นป่วนให้กลับตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงนี้ ?
ฝ่ายวิจัย ASPS ทำการย้อนรอยการเกิด Inverted Yield Curve ระหว่าง Bond Yield สหรัฐ 2 ปี กับ 10 ปี ในอดีต พบว่า มีการเกิดขึ้น 4 ครั้งในรอบ 40 กว่าปีที่ผ่านมา และในแต่ละรอบจะทิ้งช่วงห่างกันประมาณ 10 ปี ที่สำคัญหลังเกิด Inverted Yield Curve มักจะมีวิกฤตทางการเงินตามมา ดังภาพทางด้านล่าง
เปรียบเทียบผลตอบแทนรายปีของดัชนี MSCI World Index กับวิกฤติเศรษฐกิจและการเกิด Invert Yield Curve ระหว่าง Bond Yield สหรัฐ 2 ปี กับ 10 ปี 
 
ที่มา Bloomberg, ฝ่ายวิจัย ASPS
อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ ณ ปัจจุบัน ยังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจาก 
    ปัจจุบันการเกิด Inverted Yield Curve เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆระหว่างวันเท่านั้น แต่ในอดีตจะต้องเกิดขึ้นกินระยะเวลานานพอสมควร (เกินกว่า 1 ปี) หลังจากนั้นเหตุการณ์วิกฤติทางการเงินจึงจะตามมา
    วิกฤตเศรษฐกิจในอดีตเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เหมือนกันเลย และปัจจุบันยังไม่เห็นเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การเข้าใกล้วิกฤตทางการเงิน นอกจากประเด็นสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ แต่หากการเจรจาระหว่างสหรัฐกับจีนดำเนินไปด้วยดี น่าจะช่วยให้ประเด็นดังกล่าวผ่อนคลายลง รวมถึงตัวเศรษฐกิจสำคัญๆของโลกยังคงแข็งแกร่ง ช่วยหนุนให้การเกิดวิกฤตยากขึ้น
ในระยะสั้นความกังวลจากประเด็นดังกล่าวสร้างความผันผวนและกดดันตลาดหุ้นในช่วงนี้ สังเกตได้จาก Fund Flow ที่ไหลออกจากสินทรัพย์เสียง รวมถึงตลาดหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค รวมถึงตลาดหุ้นไทย ที่ในเดือน ส.ค. 62 เป็นเดือนที่ถูกต่างชาติขายสุทธิสูงสุดถึง 3.5 หมื่นล้านบาท และถูกช็อตสุทธิสัญญา SET50 Futures สูงสุดเช่นเดียวกันกว่า 8.27 หมื่นสัญญา
 
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
 
อย่างไรก็ตามยามที่เกิดวิกฤตย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นเสมอ หากประเด็นกดดันต่างๆผ่อนคลายลง อาจเป็นโอกาสในการเข้าไปสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งที่มูลค่า Under value จากความเป็นจริงได้
 
วันนี้ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เดินหน้าออกมาตรการกระตุ้น 
วันนี้จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม. เศรษฐกิจ) เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติวันที่ 20 ส.ค. ต่อไป ดังทีฝ่ายวิจัยนำเสนอมาตลอดคาดว่ามาตรการสำคัญที่จะเกิดขึ้น รายะละเอียดดังรูป)คือ   
 
ASPS เชื่อว่ามาตรการกังกล่าวจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลบวกต่อหุ้นในกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม อาทิเช่น MINT, ERW และ CENTEL ได้รับประโยชน์โดยตรงจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว  รวมถึงหุ้นกลุ่มค้าปลีก เช่น ROBINS และ BJC และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น DCC และ DRT ได้รับผลบวกจากมาตรการเช่นกัน
 
ธปท. ปลดล็อกเกณฑ์ LTV ผ่อนปรนให้ผู้กู้ร่วม
วานนี้ ธปท. ได้พิจารณาผ่อนปรนเกณฑ์คุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย โดยเดิมการกู้ร่วมจะถือเป็นการกู้ของทุกคน แต่เกณฑ์ใหม่ หากผู้กู้ร่วมไม่มีชื่อเป็นกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ให้ผ่อนปรนเสมือนว่ายังไม่เป็นผู้กู้ในครั้งนั้น เนื่องจากไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่อาศัย เพียงแค่ช่วยเหลือกันภายในครอบครัว โดยเกณฑ์ใหม่เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้กู้ร่วมที่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยให้ได้รับสินเชื่อตามความเหมาะสมมากขึ้น
ตัวอย่าง 1   ครั้งที่ 1 : A กับ B กู้ร่วมซื้อบ้านกัน แต่กรรมสิทธิ์เป็นของ A คนเดียว = ผ่อนปรนไม่นับ B เป็นผู้กู้
        ครั้งที่ 2 :  ต่อมา B ขอกู้ซื้อบ้านเป็นของตนเอง =  เกณฑ์ใหม่ให้นับเป็นสัญญาที่ 1 ของ B (หากใช้เกณฑ์เดิม B ต้องถือว่ามีสัญญาที่ 2 ในการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้ B ต้องถูกคุมด้วย LTV ใหม่ที่จำกัดให้กู้ได้ไม่เกิน 90%)
ตัวอย่าง 2  ครั้งที่ 1 : A กู้ซื้อบ้านคนเดียว และกรรมสิทธิ์เป็นของ A = เป็นสัญญาที่ 1 ของ A
                   ครั้งที่ 2 : ต่อมา A กับ B กู้ร่วมซื้อบ้านกัน แต่กรรมสิทธิ์เป็นของ B คนเดียว (A ไม่มีกรรมสิทธิ์) ดังนั้น B มีสัญญาที่ 1 ในการกู้ และผ่อนปรนไม่นับ A เป็นผู้กู้ โดยสรุปทั้ง A และ B ต่างมีเพียงสัญญาที่ 1 ในการกู้เท่านั้น             
การผ่อนปรนมาตรการดังกล่าว ช่วยลดผลกระทบของเกณฑ์ LTV ใหม่ได้บางส่วน โดยเฉพาะปัญญาในส่วนผู้กู้ร่วมที่ต้องการซื้อบ้าน (เดิมติดปัญหาเรื่องสัญญาที่ 2 ต้องถูกจำกัดด้วย LTV ใหม่ให้กู้ได้น้อยลง) คาดทำให้โครงการที่ขายไปแล้วของกลุ่มฯ และมี Backlog รวมระดับ 3 แสนล้าน สามารถโอนฯ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงการสร้างยอดขายใหม่มีโอกาสขายได้เพิ่มเช่นกัน ดังนั้นการผ่อนคลายรายละเอียดบางประการ น่าจะสร้าง Sentiment เชิงบวกให้กับกลุ่มอสังหาฯ หลังจากผลประกอบการ 2Q62 ทุกรายมีกำไรชะลอตัว YoY และ QoQ คาดเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้น 3Q62 ก่อนทำจุดสูงสุดใน 4Q62 ตามแผนเปิดโครงการแนวราบใหม่ที่จะเห็นมากขึ้นใน 2H62 รวมถึงมีกำหนดโอนฯ คอนโดฯ ใหม่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี ฝ่ายวิจัยคงแนะนำเลือกหุ้น Div Yield สูงกว่า 5% ขึ้นไป และราคามี upside  ได้แก่ LH ([email protected]), ANAN ([email protected]), SC ([email protected]) และ SPALI ([email protected])
สิ้นเสร็จรายงานงบ 2Q62 ...อาจปรับประมาณการฯ สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน
สรุปผลการดำเนินงานงวด 2Q62 มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้วราว 573 บริษัท คิดเป็น 99% ของ Market Cap ทั้งตลาดฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 2.16 แสนล้านบาท หดตัว 18.9%qoq และ 17.2%yoy และเฉพาะ Real Sector มีกำไรสุทธิรวม 1.48 แสนล้านบาท ลดลงราว 23% ทั้ง qoq และ yoy 
หากพิจารณาเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่ม ธ.พ. กำไรอ่อนตัวลง 4.6%qoq และ 0.3%yoy (กดดันหลักจาก BAY), กลุ่มพลังงาน -14.1%qoq และ -6.1%yoy (กดดันหลักจาก BANPU, PTT, TOP), กลุ่มปิโตรเคมี -49.9%qoq และ -71.0%yoy(กดดันหลักจาก PTTGC, IVL), กลุ่ม ICT - 12.5%qoq และ -30.6%yoy(กดดันหลักจาก TRUE), กลุ่มอสังหาฯ -26.5%qoq และ -23.0%yoy(กดดันหลักจาก CPN, PSH, SPALI), และอื่นๆ ดังตารางด้านล่าง
 
ทั้งนี้ ตามที่ฝ่ายวิจัยเคยนำเสนอถึงคาดการณ์กำไรสุทธิตลาดฯ ทั้งปี 2562 ที่ 1.03 ล้านล้านบาท โดยงวด 1H62 ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 4.86 แสนล้านบาท คิดเป็น 47.18% ของประมาณการฯ ทั้งปี ขณะที่ปกติ ในช่วงที่เหลือของปี บริษัทจดทะเบียนจะสร้างกำไรได้ราว 5 - 5.2 แสนล้านบาท แต่เพื่อสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งปัญหาสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อและแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงมีโอกาสนำไปสู่การปรับลดประมาณการฯ ทั้งปี ลงราว 2-3% โดยกำไรที่ลดลง ทุกๆ 1.0 หมื่นล้านบาท จะทำให้ EPS ลดลงราว 1 บาท ดังที่นำเสนอใน Market Talk วานนี้
และหลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงของการขึ้นเครื่องหมาย XD และจะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล หากนับตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. คาดมีบริษัทรอขึ้นเครื่องหมาย XD ราว 104 บริษัท กระทบต่อตลาด 5.44 จุด โดยบริษัทที่มี Market Cap. ขนาดใหญ่ที่จะขึ้น XD เช่น ADVANC (XD 16 ส.ค.@ 3.78 บาท), INTUCH (XD 19 ส.ค.@ 1.35 บาท), TU (XD 20 ส.ค.@ 0.25 บาท), BH (XD 22 ส.ค.@ 1.15 บาท) ขณะที่ในช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ผ่านมามีบริษัทขึ้นเครื่องหมาย XD ราว 138 บริษัท กระทบต่อตลาด 9 จุด
 
ภรณี ทองเย็น, CISA 
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, 
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
 ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
   ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!