WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Asia Plus Group Holdingบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
 
กลยุทธ์การลงทุน    
วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2562
ประเมินจากน้ำหนักของปัจจัยแวดล้อม คาดว่า SET Index น่าจะมีโอกาสปรับฐานลงต่อโดยแรงกดดันส่วนใหญ่มาจากปัจจัยต่างประเทศ ส่วนในประเทศคาดหวังผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็น่าจะมีผลดีเพียงบางอุตสาหกรรม ซึ่งไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อน SET Index ให้ปรับขึ้นไปได้ Top Picks วันนี้เลือก MCS (FV@ 11.30) ซึ่งกำไรดีกว่าคาด และนักวิเคราะห์ปรับ Fair Value ขึ้น และยังคงชอบ ROBINS ([email protected]) ได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ
 
    SET Index    1,650.64
    เปลี่ยนแปลง (จุด)    -14.48
    มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท)    59,241
            
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ทยอยปรับตัวลงตลอดวัน
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตลอดวัน จากความกังวลในปัจจัยการเมืองไทยยังคงมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นฯ จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1650.64 จุด ลดลง 14.48 จุด (-0.87%) มูลค่าการซื้อขาย 5.92 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาด คือ กลุ่มพลังงานเช่น BCPG(-6.00%) PTTEP(-1.59%) GPSC(-2.80%) กลุ่มการเงินเช่น MTC(-9.79%) SAWAD(-7.34%) THANI(-6.62%) และกลุ่มขนส่งอย่างเช่น AOT(-1.76%) BEM(-0.91%)  PRM(-6.78%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่างเช่น CBG(-8.70%) BH(-5.11%) และ SCB(-1.14%) เป็นต้น 
 
ปัจจัยแวดล้อมในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่ยังไม่ปรากฎสัญญาณบวก การประท้วงทางการเมืองครั้งใหญ่ในฮ่องกงที่รุนแรงขึ้นและเริ่มเห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเดินหน้าทำ Brexit โดยที่ยังไม่เห็นข้อตกลงใดๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ผลักดันให้ทิศทางของ Fund Flow ไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยทั้งทองคำ และ พันธบัตร ซึ่งถูกสะท้อนผ่านการปรับขึ้นไปของราคาทองคำ ขณะที่ Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯ ลงมาต่ำเพียบง 1.654% ส่วนตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกปรับตัวลดลง ซึ่งก็น่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ได้รับ Sentiment เชิงลบตามไปด้วย สำหรับปัจจัยในประเทศที่มีน้ำหนักในเชิงบวก ได้แก่เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะมีทั้งการ อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อการท่องเที่ยวในประเทศ การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการรัฐ การประกันรายได้เกษตรกร รวมถึง มารดาประชารัฐ คาดว่าจะถูกประกาศออกมาในช่วง 1 – 2 สัปดาห์นี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะเป็นผลบวกต่อราคาหุ้นในบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ค้าปลีก โรงแรม วัสดุก่อสร้างบางตัว (DCC, DRT) แต่ไม่น่าจะมีผลทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นไปได้ ส่วนความกังวลอีกประการหนึ่งเป็นเรื่องของเสถียรภาพรัฐบาล ที่มีหลายประเด็นเข้ามากดดัน สำหรับกลยุทธ์การลงทุนวันนี้ ฝ่ายวิจัยพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุน โดยทำ Stop profit ในหุ้น AMATA เพื่อ Lock กำไร 3.36% และนำน้ำหนักการลงทุนเข้าไปพักในหุ้น ROBINS ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำอีกทั้งได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หุ้น TOP Picks ยังคงเป็น MCS และ ROBINS
 
ฮ่องกงชุมประท้วงยืดเยื้อ และ Trade war ยังกดดันตลาดหุ้นโลก 
ตลาดหุ้นโลกในช่วงนี้ยังคงถูกกดดันจากความกังวล 2 ปัจจัย คือ 
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังยืดเยื้อ และมีโอกาสดำเนินต่อไปไปจนถึงปลายปีหน้า อีกทั้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นหลังจากทั้ง 2 ฝั่งต่างเดินหน้าตอบโต้กันไปมา คือ สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้ารอบที่ 4 อัตรา 10% วงเงิน 3 แสนล้านเหรียญฯ เดือน ก.ย.  และเพิ่มแรงกดดัน Tech War คือ คว่ำบาตรเพิ่มเติมบริษัทโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของจีน 
 
การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงยาวนานติดต่อกัน 2 เดือน จากประเด็นชาวฮ่องกง ไม่พอใจประเทศ ที่จีนจะเข้ามาแทรกแซงการบริหารประเทศ   และการชุมนุมเริ่มรุนแรงขึ้นและมีสัญญาณของการเกิดจราจล  อาทิ ระเบิด มีการใช้อาวุธทำร้ายประชาชน และตำรวจ เป็นต้น  และล่าสุดวานนี้มีการปิดสนามบินนานาชาติฮ่องกงช่วงสั้น 1 วัน และวันนี้กลับมาให้บริการ 
 
ผลกระทบจากการประท้วงฮ่องกงต่อไทย คือ ภาคการค้าระหว่างประเทศ  โดยฮ่องกงเป็นคู่ค้า(X+M) อันดับ  10 ของไทยหรือราว 3%ของประเทศคู่ค้าทั้งหมด แต่หากพิจารณา ภาคการส่งออก(X) พบว่าเป็นตลาดส่งออกอันดับ 5 และมูลค่าส่งออกราว 4 แสนล้านบาท ในปี 2561  โดยสินค้าส่งออกหลักที่ไทยส่งออกไปฮ่องกง คือ  คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ราว 29% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดไปฮ่องกง รองลงมาคือ อัญมณี 17.4%, แผงวงจรไฟฟ้า 15.3% ,ผลไม้สด แช่เย็น 1.9% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ 1.9% ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากฮ่องกง มากที่สุดคือ เครื่องเพชรพลอย ทองคำราว 77%  เครื่องจักรไฟฟ้า 2.4% เป็นต้น 
 
ภาคการท่องเที่ยวไทย คาดกระทบเนื่องจากนักท่องเที่ยวฮ่องกงมาไทยปี 2561 อยู่ราว  1 ล้านคนหรือ 3%ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด    ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยไปฮ่องกงราว 5 แสนคน/ปี  และผลกระทบค่าเงินบาทต่อฮ่องกงที่แข็งค่าราว  4.74%นับตั้งแต่ต้นปี น่าจะเป็นปัจจัยกดดันให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเผชิญความเสี่ยงชะลอตัวลงในช่วง 2H62
 
Fund Flow ชะลอการไหลเข้าตลาดหุ้นในภูมิภาค รวมถึงไทย
Fund Flow ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นทุกแห่งในภูมิภาคต่อเนื่อง รวมถึงไทย ที่วันศุกร์ต่างชาติขายสุทธิอีก 2.0 พันล้านบาท กดดันให้เดือน ส.ค. 62 มีสถานะเป็นยอดขายสุทธิตลาดหุ้นทุกในภูมิภาค รวมถึงไทยถูกต่างชาติขายสุทธิ 524 ล้านเหรียญ หรือ 1.61 หมื่นล้านบาท (mtd) ถือเป็นเดือนที่มียอดขายสุทธิมากสุดในปี 2562 นี้
 
 
หลักๆ เกิดจากประเด็นสงครามการค้าจีนกับสหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนพักเงินในสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง ทองคำ (ราคาสูงสุดอยู่ในระดับรอบ 6 ปี) และตลาดตราสารหนี้มากจนกดดันผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับลดลงทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะ Bond Yield 10 ปี ลงมาทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 1.53% ลดลงจาก 2.51% ในช่วงปลายปี 2561
 
 
นอกจากนี้ยังมีประเด็นความไม่สงบในฮ่องกงที่ยืดเยื้อกินระยะเวลามานานกว่า 2 เดือน เป็นส่วนหนึ่งที่กดดันให้ Fund Flow ชะลอการไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงในภูมิภาคไปด้วย เนื่องจากประเทศฮ่องกงถือเป็น Financial Hub ขนาดใหญ่ในเอเชีย สังเกตได้จากตลาดหุ้นมีขนาดใหญ่กว่า 2.14 ล้านล้านเหรียญฯ มีมูลค่ามากสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก (ใหญ่กว่าตลาดหุ้นไทยถึง 4 เท่า)
 
 
และมีสัดส่วนหุ้นในกลุ่มการเงินสูงถึง 48.25% อาทิ ธนาคาร HSBC 9.6%, CCB 7.3% และ ICBC 4.3% เป็นต้น และหากไปดู GDP ของฮ่องกงมีมูลค่าสูงถึง 3.62 แสนล้านเหรียญ โดยมีสัดส่วนภาคการเงินสูงถึง 26% สูงเป็นอันดับ 2 ใกล้เคียงกับอันดับ 1 คือ ภาคการส่งออก 27% ดังนั้นสภาวะความกังวลดังกล่าว กดดันให้ Fund Flow ยังชะลอการไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงนี้ 
หน้าตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนกำลังซื้อประชาชน
เศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ส่งผลให้ภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยหดตัว (การส่งออกไทยเฉลี่ย 1H62 หดตัว 2.9%yoy) สถานการณ์ดังกล่าวเป็นหนุนให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมีความสำคัญมากขึ้น สะท้อนจากในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75% เหลือ 1.5% (ลดครั้งแรกในรอบ 4 ปี 5 เดือน) เพราะกังวลเศรษฐกิจชะลอ และเงินเฟ้อต่ำ
ขณะที่ในฝั่งของมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ล่าสุดกระทรวงการคลังได้เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ หรือประมาณวันที่ 20 ส.ค. อาทิเช่น 
•มาตรการจ่ายเงินอุดหนุนการท่องเที่ยว: จ่ายเงินอุดหนุนคนละ 1,500 บาท แก่ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (ผ่านระบบ E-payment) เพื่อนำไปเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง โดยคาดว่าให้มีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท
•มาตรการเติมเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ: มุ่งไปที่การลดค่าครองชีพกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่เข้าข่ายได้รับประโยชน์จากโครงการมารดาประชารัฐ โดยจะเติมเงินในบัตรราวคนละ 1,000 บาท ใช้งบประมาณราว 2 หมื่นล้านบาท
•มาตรการประกันรายได้เกษตรกร: ผ่านการประกันราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว, อ้อย, ยางพารา, มันสำปะหลัง, ปาล์ม เป็นต้น 
•มาตรการลดภาระดอกเบี้ยแก่ SME:  ให้ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลดภาระดอกเบี้ยแก่ SME และเกษตรกร
คาดว่ามาตรการต่างๆข้างต้น จะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลบวกต่อหุ้นในกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม อาทิเช่น MINT, ERW และCENTEL ได้รับประโยชน์โดยตรงจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ในขณะที่กลุ่มค้าปลีก เช่น ROBINS และ BJC และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น DCC และ DRT ได้รับผลบวกจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนเช่นกัน
 
โดย Top Pick ในวันนี้คือ ROBINS(FV@ B 70) เชื่อว่าหลายมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะหนุนต่อกำลังซื้อของประชาชน ผนวกกับการการเปิดสาขา Lifestyle 1 แห่ง ใน 4Q62 และค่าเช่าที่ยังเติบโต ช่วยกำไรงวด 2H62 ให้ดูดีขึ้น นอกจากนี้เชื่อว่าผู้ถือหุ้น ROBINS เดิมจะได้ประโยชน์จากการได้สิทธิในการ SWAP เข้ามาถือหุ้น CRC ซึ่งมีฐานธุรกิจที่หลากหลายและมีโอกาสเติบโตสูง ขณะที่ราคาหุ้น ROBINS ปัจจุบันยังต่ำกว่า Tender offer ที่ 66.5 บาท ทำให้การเข้าลงทุนหุ้น ROBINS ยามนี้ ค่อนข้างการันตี Yield ที่แน่ชัด ได้กว่า 5.1% อีกบริษัทได้แก่ MCS (FV@B 11.30) ซึ่งแสดงผลประกอบการงวด 2Q62 โดดเด่น และนักวิเคราะห์ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรและ Fair Value ขึ้น
 
สำหรับผลประกอบการบริษัทจดเบียนงวด 2Q62 จากการรวบรวมของฝ่ายวิจัย นับจนถึงเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่ามีบริษัทประกาศงบแล้วราว 236 บริษัท คิดเป็น 54% ของ Market Cap. ทั้งตลาดฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 1.32 แสนล้านบาท หากเปรียบเทียบเฉพาะบริษัทที่ประกาศงบฯ แล้ว พบว่ากำไรสุทธิลดลงจาก 1Q62 ราว 18.5%qoq และลดลงจาก 2Q61 ราว 17.6%yoy ทำให้เชื่อว่า เมื่อการรายงานงบสิ้นเสร็จในวันที่ 15 ส.ค. กำไรสุทธิรวมงวดนี้จะลดลงทั้ง QoQ และ YOY ตามที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ และในเบื้องต้น หลังการรายงานงบและการประชุมนักวิเคราะห์ ฝ่ายวิจัยได้มีการปรับลดประมาณการฯ ลงโดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มปิโตร-โรงกลั่น อาทิ PTTGC IVL และ IRPC ส่วนที่ปรับประมาณการฯขึ้นได้แก่ ADVANC INTUCH เป็นต้น
 
ภรณี ทองเย็น, CISA 
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, 
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
 ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
   ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!