- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 07 August 2019 16:43
- Hits: 3976
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2562
เชื่อว่าการดีดตัวกลับขึ้นของราคาหุ้นในช่วงนี้น่าจะเป็นลักษณะของ Technical Rebound เนื่องจากสถานการณ์แวดล้อมทางพื้นฐาน เฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน ยังไม่นิ่ง และอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อีกมาก กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ แนะนำให้ปรับพอร์ตการลงทุนโดยขายทำกำไร BJC และสลับเข้ามาที่ PLANB แทน สำหรับหุ้น Top Picks เช้านี้เลือก PLANB ([email protected]) และ JASIF ซึ่งให้ Dividend Yield สูงกว่า 8% (Freehold)
SET Index 1,671.48
เปลี่ยนแปลง (จุด) 5.49
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 70,440
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเช้า
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยเปิดดิ่งกว่า 13 จุด ก่อนที่จะทยอยปรับตัวขึ้นในช่วงเช้า จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1671.48 จุด เพิ่มขึ้น 5.49 จุด (+0.33%) มูลค่าการซื้อขาย 7.04 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่ผลักดันตลาด คือ กลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(+4.37%) INTUCH(+4.51%) DTAC(+4.85%) TRUE(+5.00%) กลุ่มค้าปลีกอย่างเช่น COM7(+3.00%) DOHOME(+11.54%) HMPRO(+4.22%) และกลุ่มการเงินอย่างเช่น MTC(+2.54%) JMT(+7.47%) KTC(+1.65%) SAWAD(+3.32%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่าง BDMS(+1.21%) BGRIM(+2.90%) และ KBANK(+0.58%) เป็นต้น
ความรู้สึกผ่อนคลายลงในประเด็นเรืองการเจรจาการค้า สหรัฐฯ-จีน ทำให้ดาวโจนส์ รวมถึงตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกดีดตัวกลับขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตามหากประเมินจากพัฒนาการของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเชื่อว่ายังจะต้องผ่านความผันผวนอีกมาก อีกทั้งยังไม่สามารถคาดเดาผลสรุปที่ชัดเจนได้ ดังนั้นการดีดตัวขึ้นมาของราคาหุ้นในช่วงนี้ จึงยังถูกมองว่าเป็นภาพของ Technical Rebound ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในวันนี้ยังมีหลากหลาย เริ่มจากการประชุม กนง. ซึ่งคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ตามเดิม แต่ก็ยังถูกคาดหมายว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นก็อาจเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง อีกเรื่องหนึ่งที่น่าติดตามได้แก่ สถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งมีการนำกรณีที่ นายกรัฐมนตรีนำ ครม. เข้าถวายสัตย์ฯ แต่ไม่ได้กล่าวข้อความตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญครบถ้วน ไปขยายผลทางการเมือง ซึ่งในประเด็นนี้สิ่งที่ฝ่ายวิจัยให้ความสำคัญ เป็นมุมของความเสี่ยงที่อาจทำให้กำหนดการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งกำหนดการที่ทำไว้ในปัจจุบันอาจทำให้การเบิกจ่ายล่าช้าออกไปราว 4 เดือนแล้ว อาจจะเห็นการล่าช้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึง Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นด้วย กลยุทธ์การลงทุนในวันนี้ ฝ่ายวิจัยมีการพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุน โดยการลดน้ำหนักในหุ้นกลุ่มค้าปลีก ซึ่งมีอยู่มากถึง 20% ผ่านการขายทำกำไรหุ้น BJC ที่มีน้ำหนัก 10% ออก และย้ายเม็ดเงินลงทุนเข้าไปในหุ้น PLANB ซึ่งปรากฎ Growth Story ที่ชัดเจนกว่าเข้ามาแทน ด้วยน้ำหนักการลงทุนที่เท่ากัน
สงครามการค้ายังคงกดดันราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบโลกปรับฐานต่อเนื่องนับตั้งแต่ 30 ก.ค. จนถึงปัจจุบันราว 10.6% โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากฝั่ง Demand จากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หลังจากสงครามการสหรัฐกับจีนกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังจากฝั่งสหรัฐเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าต่อจีนอัตรา 10% ในรอบที่ 4 วงเงิน 3 ล้านเหรียญฯ มีผลวันที่ 1 ก.ย. 2562 (ปัจจจุบันสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า 3 รอบ ภาษี 25% วงเงิน 3 แสนล้านเหรียญฯ) ขณะที่จีน ต้นสัปดาห์นำร่องปรับค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 7.0357 หยวนต่อดอลล่าร์ฯ ระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออกในประเทศ โดยตลาดให้น้ำหนักทั้ง 2 ฝั่งยังมีโอกาสเจรจากัน ในเดือน ก.ย. ที่สหรัฐ
เช่นเดียวกับฝั่ง Supply ล่าสุด คือ จากอิหร่าน (กำลังการผลิตราว 2.2 ล้านบารร์เรล/วันหรือ 7.4%ของกลุ่ม OPEC ที่อาจจะกลับมาอีกครั้ง หลังจากจีนมีแผนจะนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านอีกครั้ง หลังจากสงครามการค้าประทุ (อิหร่านถูกสหรัฐคว่ำบาตรราวงวด 3Q2561 ทำให้ไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้) อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยหนุนจากกลุ่มประเทศ OPEC และ Non OPEC ขยายระยะเวลาตัดลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล/วันออกไปจนถึง 31 มี.ค. 2563
ราคาน้ำมันดูไบลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดราคาปิดวานนี้อยู่ที่ 56.08 เหรียญฯ หรือเฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 63.6 เหรียญฯ แต่ยังสูงกว่าสมมติฐานที่ ASPS คาด 60 เหรียญฯ ในปี 2562 และนับจากปี 2563 เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ กลยุทธ์การลงทุนหุ้นพลังงาน-โรงกลั่น แนะนำชะลอการลงทุนการลงทุนออกไปก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังมีโอกาสอ่อนตัว และผลประกอบการของกลุ่มงวด 2Q62 ที่จะทยอยประกาศในช่วงนี้ จนถึง 15 ส.ค. คาดอ่อนตัวจากงวดก่อนหน้า เนื่องจากจะมีการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน Stock loss
ธนาคารกลางในแถบเอเซีย รวมถึง กนง. ประชุมวันนี้
วันนี้มีประชุมธนาคารกลางในแถบเอเชียหลายแห่ง เริ่มตั้งแต่ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ตลาดคาดว่าทั้ง 2 ประเทศจะลดดอกเบี้ยลงอีก คือ ตลาดคาด RBNZ จะลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้จาก 1.5% ลงเหลือ 1.25% (แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) เช่นเดียวกับ RBI คาดจะลดดอกเบี้ยจาก 5.75% ลงเหลือ 5.5% นับเป็นการลดครั้งที่ 4 ในปีนี้ โดยเหตุผลเพื่อรองรับผลกระทบจากสงครามการค้า และวัฎจักรดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลง
ขณะที่ไทย วันนี้ประชุม กนง. ASPS คาดว่าในรอบนี้ กนง. น่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% แต่ให้น้ำหนักไปที่การส่งสัญญาณแนวโน้มดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยประเด็นที่ กนง. ให้น้ำหนักพิจารณาขึ้น/ลงดอกเบี้ย คือ
• อัตราเงินเฟ้อ ล่าสุดเดือน ก.ค. ขยายตัว 0.98%yoy เพิ่มขึ้นจาก 0.87%yoyในเดือน มิ.ย. (เทียบกับ ASPS คาดเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ที่ 1.08%) ยังต่ำกว่าดอกเบี้ยที่ 1.75% ทำให้ยังมีช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยกับเงินเฟ้อที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้
• แนวโน้มเศรษฐกิจไทย เนื่องจากภาคการส่งออกของไทยเผชิญกับปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และผลกระทบของสงครามการค้า (การส่งออกไทย 1H62 หดตัวราว 2.9%yoy) และในวันที่ 19 ส.ค. สภาพัฒน์จะรายงาน GDP growth งวด 2Q62 คาดขยายตัวในระดับที่ทรง/ต่ำกว่า งวด 1Q62 ที่ขยายตัว 2.8% เนื่องจากฐานปี 2561 ที่สูง และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ภาคส่งออกราว 68% ของ GDP) ที่ชะลอตัวชัดเจน คือ 6M62 ส่งออกติดลบ 2.9% ทำให้มีแนวโน้มทั้งปี GDP Growth ปี 2562 ต่ำกว่า 3% (ASPS คาด 2.7%)
โดยรวม ASPS เชื่อว่าระยะสั้น กนง. น่าจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ยลง แต่ยังมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีได้ หลังจากหลายภาคส่วน อาทิ สภาอุตสหกรรมที่เสนอให้ลดดอกเบี้ย เป็นต้น และหากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง รวมดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลงชัดเจนดังกล่าวข้างต้น
ประเด็นการเมือง เป็นความเสี่ยงต่องบประมาณ-เศรษฐกิจ
ผลสืบเนื่องจากกรณีที่ นายกรัฐมนตรีนำ ครม. เข้าถวายสัตย์ปฎิญาณ โดยที่กล่าวข้อความไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ได้ถูกนำมาขยายผลเป็นประเด็นทางการเมือง โดยแยกเป็นการดำเนินการ 2 แนวทาง แนวทางแรกเป็นการดำเนินการในสภาฯ ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายค้านจะดำเนินการยื่นเป็นกระทู้ถามเพื่อให้ชี้แจงเป็นลำดับแรก และอาจมีการขยายไปสู่การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีกำหนดเบื้องต้นว่าจะดำเนินการก่อนที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ ช่วงกลางเดือน ต.ค. 2562 อีกแนวทางหนึ่ง เป็นการที่องค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ส่งคำร้องไปยังศาลปกครอง หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ซึ่งผลของการดำนเนงานทั้ง 2 แนวทาง อาจมีผลกระทบต่อสถานะของรัฐบาลในอนาคต โดยนักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง
ส่วนผลกระทบอีกทางหนึ่ง น่าจะเป็นเรื่องของกรอบเวลาในการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ตามกำหนดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคาดว่าจะเริ่มขั้นตอนพิจารณาในสภาฯ 17 ต.ค.2562 และน่าจะแล้วเสร็จพร้อมเบิกจ่ายในเดือน ก.พ.2563 ซึ่งก็ถือเป็นการเบิกจ่ายช้ากว่าปีงบประมาณปกติกว่า 4 เดือน นับว่ามีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะที่ต้องการมาตรการเข้ามากระตุ้นอย่างเร่งด่วน แต่หากมีประเด็นเรื่องการเมืองดังกล่าวเข้ามา ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับกำหนดการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่อาจล่าช้าไปจากกำหนดการเดิมได้ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับการลงทุนในตลาดหุ้นเช่นกัน นักลงทุนจึงควรต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
PLANB…เติบโตโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง
PLANB ได้สิทธิถ่ายทอดสดการแข่งขัน “โอลิมปิก โตเกียว 2020” ถือเป็นบวกต่อ PLANB เนื่องจากสิทธิการตลาดสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทั้งหมด 4 รายการที่ PLANB ได้บริหารร่วมกับบริษัท DentsuX นั้น ไม่ใช่เพียงสิทธิในการถ่ายทอดสดเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงสิทธิบริหารผู้สนับสนุน (Sponsorship) และสิทธิในการบริหารคอนเทนต์ซึ่งเป็นสิ่งที่ PLANB มีความเชี่ยวชาญ และหนุนให้ผลประกอบการในปี 2563-2565 เติบโตดี
ผลการดำเนินงานงวด 2Q62 ที่จะประกาศในวันที่ 14 ส.ค. คาดกำไรทำจุดสูงสุดใหม่เติบโต 20% YoY และ 19% QoQ เท่ากับ 183 ล้านบาท หนุนหลักจากการขยายพื้นที่ให้บริการสื่อโฆษณาโดยเฉพาะสื่อโฆษณาดิจิตอล เช่น โครงการ Central World Connect, Bangkok Jam, Paragon Motion Block ส่งผลให้อัตราการใช้สื่อของ PLANB เพิ่มขึ้นเป็น 75% จาก 67% ใน 1Q62 และสูงกว่า 2Q61 ที่ทำได้ 73%
ขณะที่การร่วมมือกันของผู้เล่นรายใหญ่ ระหว่าง VGI และ PLANB ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 70% จะเพิ่มอำนาจการต่อรองกับลูกค้าและเอเจนซี่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเม็ดเงินที่ PLANB ได้รับจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ VGI จำนวน 2.3 พันล้านบาท จะเกิดการลงทุนขยายพื้นที่ให้บริการสื่อโฆษณา ส่งผลกำลังการผลิตสื่อโฆษณาเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยราว 15-20% ต่อปี รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดสื่อรูปแบบใหม่ที่จะสามารถแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาได้เพิ่มขึ้น
ราคาหุ้นมี Upside สูงถึง 20.9% จากมูลค่าพื้นฐาน 10.40 บาท แนะนำ ซื้อ
หลบภัย Trade War เข้าหุ้นปันผลสูง (ชอบ JASIF)
ประเด็นสงครามการค้ายืดเยื้อ หลังจากสหรัฐขู่ขึ้นภาษีจีนรอบที่ 4 ตามมาด้วยจีนตอบโต้สหรัฐต่อเนื่อง เริ่มจากการแทรกแซงค่าเงินหยอนให้อ่อนค่า จนแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี ที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์ และเข้าตกลงซื้อขายน้ำมันกับอิหร่าน (สหรัฐประกาศคว่ำบาตร โดยห้ามทุกประเทศทำการค้ากับอิหร่านไปช่วงต้นเดือน พ.ค. 62) กดดันให้นักลงทุนย้ายเงินมาลงทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงมาสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น สังเกตได้จากในเดือน ส.ค. ต่างชาติขายสุทธิหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค รวมถึงไทย
นักลงทุนพักเงินในสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง ทองคำ (ราคาทำจุดสูงสุดในรอบ 6 ปี) รวมถึงเม็ดเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้มากจนทำให้ Bond Yield 10 ปี ของไทยลดลงมาอยู่ที่ 1.71% (ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 4 เดือน) และยังต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% อีก
อย่างไรก็ตามแหล่งพักเงินที่ดีอีกทางหนึ่งในเวลานี้ คือ หุ้นปันผลสูงผันผวนต่ำ ถือเป็นเบาะรองชั้นเยี่ยมยามตลาดปรับฐาน โดยฝ่ายวิจัยฯคัดกรองในเชิงปริมาณ โดยใช้เงือนไขดังนี้
เงื่อนไขการคัดกรอง
Dividend Yield>3.29% ต่อปี (3.29% คือ คาดการเงินปันผลของ SET Index ในปี 2562 นี้)
ปี 2561 มีการจ่ายปันผลระหว่างกาล
Upside > 5%
Beta < 1
ฝ่ายวิจัย แนะนำ “ซื้อ”
หุ้นปันผลสูง กองทุนอสังหาฯ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ฝ่ายวิจัยคัดสรร ใกล้เข้าสู่รอบการจ่ายปันผลในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. 62 ซึ่งราคาหุ้นปันผลสูง ส่วนใหญ่จะปรับตัวขึ้นได้ดี และ Outperform ตลาดก่อนการจ่ายปันผลเสมอ และยังมีประเด็นการเก็บภาษี 15% ในกองทุนรวมตราสารหนี้ (ในวันที่ 20 ส.ค. 62) ช่วยเสริมความน่าสนใจเข้ามาอีกแรง
Top pick ยังคงเลือก JASIF เนื่องจากราคาตลาดสูงกว่าราคาประเมินเพียง 5% เท่านั้น (Premium ต่ำกว่ากลุ่มมาก) และสามารถคาดหวัง Dividend Yield ได้สูงถึง 8.5% ต่อปี และที่สำคัญเป็นกองประเภท Freehold ทำให้ NAV ไม่ถูกลดทอนตามอายุโครงการที่ใกล้หมดลง ซึ่งต่างจาก Leasehold
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ