- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 02 August 2019 16:01
- Hits: 3524
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562
ความกังวลเรื่องสงครามการค้า กลับมาอีกรอบหลังสหรัฐฯ มีท่าทีจะตั้งกำแพงภาษีเพิ่มเติมในรอบที่ 4 สร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมัน และทำให้ Fund flow ไหลกลับเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้ง ภาวะดังกล่าวน่าจะทำให้ SET Index ยังปรับตัวลดลงต่อ โดยมีแนวรับถัดไปอยู่ที่ 1680 จุด พอร์ตการลงทุนวันนี้ แนะนำให้ขายทำกำไรหุ้น TTCL ซึ่งน่าจะทำกำไรได้ราว 4% ในช่วง 1 สัปดาห์ และนำเงินเข้าลงทุนใน MCS แทน ส่วน Top Picks เลือก MCS (FV@9) และ ROBINS (FV@B 70)
SET Index 1,699.75
เปลี่ยนแปลง (จุด) -12.22
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 54,655
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ดัชนีปิดต่ำกว่า 1700 จุด
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตลอดวัน โดยดัชนีปิดต่ำกว่าแนวรับ 1700 จุด ตามการคาดการณ์ของ ASPS ว่า ตลาดหุ้นฯน่าจะปรับตัวลดลงด้วยแรงกดดันจากมุมมองทิศทางดอกเบี้ยในระยะกลางที่ไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1699.75 จุด ลดลง 12.22 จุด (-0.71%) มูลค่าการซื้อขาย 5.46 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาด คือ กลุ่มพลังงานเช่น PTG(-13.78%) EGCO(-3.34%) RATCH(-1.11%) TOP(-0.36%) กลุ่มอาหารอย่างเช่น CPF(-1.80%) OSP(-2.04%) MINT(-1.86%) TKN(-7.96%) และกลุ่มสื่อสารอย่างเช่น ADVANC(-0.47%) JAS(-0.79%) INTUCH(-0.39%) TRUE(-3.10%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่าง BDMS(-1.60%) KTC(-2.62%) และ BBL(-1.38%) เป็นต้น
ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ยังถูกปกคลุมด้วยปัจจัยลบที่น่าจะทำให้ SET Index ปรับตัวลงได้ต่อ เริ่มจากความกังวลเรื่องการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งล่าสุด ปธน. สหรัฐฯ มีท่าทีที่จะตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนรอบที่ 4 ในช่วงต้นเดือน ก.ย.2562 ซึ่งความกังวลดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อเนื่องไปยังราคาน้ำมันให้ปรับลดลงแรง ขณะที่ Fund Flow ไหลกลับเข้าไปสู่ Safe Haven อีกครั้งเห็นได้จาก Bond Yield 10 ปีของสหรัฐที่ลดลงมาเหลือเพียง 1.895% (8:00 น. วันนี้) ขณะที่ Bond Yield 10 ปีของไทยก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.86% สภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้เชื่อว่าจะยังไม่เห็นแรงหนุนจาก Fund Flow สำหรับตลาดหุ้นไทย และยิ่งไปกว่านั้นอาจเห็นแรงขายทำกำไรในระยะสั้นออกมาได้ สำหรับปัจจัยในประเทศ ก็ยังอยู่ในภาวะที่ไม่มีประเด็นทางบวก โดยฝ่ายวิจัยให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2563 ซึ่งดูเหมือนว่ากว่าจะเบิกจ่ายได้อาจเป็นช่วงเดือน ก.พ.2563 ซึ่งในช่วงเวลาตั้งแต่ 1 ต.ค.2562 – ก.พ.2563 อาจทำให้ไม่เห็นความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมของกิจกรรมการลงทุนใหม่ๆของภาครัฐ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ เข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่วนสัปดาห์หน้ายังต้องติดตามการประชุม กนง. ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ตามเดิม สำหรับพอร์ตการลงทุนวันนี้ แนะนำให้ปรับเปลี่ยนโดย ให้ขายทำกำไรหุ้น TTCL ซึ่งน่าจะทำกำไรได้ราว 4% ในช่วงเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และนำเงินลงทุนเข้าไปในในหุ้น MCS (FV@B 9) ซึ่งคาดว่าผลประกอบการ 2Q62 จะเห็นการเติบโตที่ชัดเจน และมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องจาก Backlog ที่อยู่ระดับสูง และปริมาณงานใหม่ที่รับเข้ามา
สหรัฐเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ารอบที่ 4 อีก 3 แสนล้านเหรียญฯ
ประธาธิบดีทรัมป์ ได้ทวิตเตอร์ข้อความเมื่อคืนที่ผ่านมา คือ เตรียมจะขึ้นภาษีนำเข้าต่อจีนอัตรา 10% ในรอบที่ 4 วงเงิน 3 ล้านเหรียญฯ จะให้มีผลวันที่ 1 ก.ย.2562 (ตั้งแต่กลางปี 2561-ปัจจุบันสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าต่อจีนอัตรา 25 % ไปแล้วรวม 3 รอบวงเงินรวม 2.5 แสนล้านเหรียญ) รายละเอียดดังตาราง เป็นที่สังเกตุว่ารอบที่ 4 โดยสินค้าหลักๆที่ถูกจัดเก็บ เช่น โทรศัพท์และชิ้นส่วน โดยเฉพาะของ APPLE ,คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค, ของเล่น, วิดีโอเกม, จอคอมพิวเตอร์, ของทำจากพลาสติก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การขึ้นภาษีนำเข้ารวมทั้ง 4 รอบครอบคลุมทุกสินค้า ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง แตกต่างจาก 2 รอบแรกที่เป็นสินค้าขั้นต้นกลางที่กระทบกับผู้ผลิต
ขณะที่ฝั่งจีนยังไม่มีท่าทีตอบโต้สหรัฐ โดยกำหนดการถัดไป คือ ฝั่งจีนจะเดินหทางไปเจรจากับสหรัฐ ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตาม
ความกังวลจากสงครามการค้าดังกล่าว ทำให้ Fund Flow ที่ไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงเริ่มชะลอสะท้อนจาก ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลง เช่น Dow Jones เมื่อวานนี้ปรับลดลงราว 281 จุด หรือลดลง 1.05% โดย ASPS เชื่อว่าตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยในวันนี้น่าจะได้รับ Sentiment เชิงลบและปรับตัวลงตาม และเชื่อว่า Fund Flow บางส่วนเริ่มทยอยไหลเข้าสู่สินทรัพย์ (Safe Haven) อีกครั้ง อาทิเช่น พันธบัตร สะท้อนจาก Bond Yield สหรัฐลดลงเหลือ 1.89% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี 10 เดือนและทองคำ หลังราคาทองคำเพิ่มขึ้น 1.6% ใกล้เคียงระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี
ราคาน้ำมันลงแรง 8% จากความกังวลสงครามการค้า
ราคาน้ำมันดิบโลกปรับฐานแรงเฉลี่ย 8% โดยมีปัจจัยหลักกดดันจากฝั่ง Demand คือ กังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน หลังจากสหรัฐเตรียมจะขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนดังกล่าวข้างต้น
ขณะที่ฝั่ง Supply น้ำมันดิบที่ทยอยเพิ่มขึ้นจากแหล่งผลิตสหรัฐ สัปดาห์ล่าสุด กำลังการผลิตกลับมาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12.2 ล้านบารร์เรล/วันจาก 11.3 ล้านบารร์เรล/วันในสัปดาห์ก่อนหน้า (สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมาคือ รัสเซีย 11.1 ล้านบาร์เรล) แต่จะชดเชยได้จากกลุ่มประเทศ OPEC และ Non OPEC ขยายระยะเวลาตัดลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล/วันออกไปจนถึง 31 มี.ค.2563
โดยรวมปัจจัยฝั่ง Demand ที่มีน้ำหนักมากกว่า กดดันราคาน้ำมันดิบโลกเช้านี้ให้ปรับฐานแรง โดยราคาดูไบปรับลดลง 8.5% ล่าสุดราคาปิดเมื่อวาน 57.4 เหรียญฯ เฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 64 เหรียญฯ แต่ยังสูงกว่าสมมติฐานที่ ASPS คาด 60 เหรียญฯ ในปี 2562 และนับจากปี 2563 เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ โดยกลยุทธ์การลงทุนหุ้นพลังงาน-โรงกลั่นคือ ชะลอการลงทุนการลงทุนออกไป เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังมีโอกาสอ่อนตัว และผลประกอบการงวด 2Q62 คาดอ่อนตัวจากงวดก่อนหน้า เนื่องจากจะมีการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน Stock loss
ต่างชาติมีโอกาสขายหุ้นไทยในเดือน ส.ค. ซ้ำรอยอดีต
หากหลายปัจจัยกดดัน Fund Flow มีโอกาสไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในเดือน ส.ค. ซ้ำรอยอดีต (10 ปี ต่างชาติขายสุทธิเฉลี่ยในเดือน ส.ค. 8.7 พันล้านบาท) ดังนี้
•ในช่วง 2 วันผ่านมา Fund Flow เริ่มชะลอ โดยต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นเกือบทุกแห่งในภูมิภาคกว่า 680 ล้านเหรียญ รวมถึงไทย ที่ขายสุทธิ 61 ล้านเหรียญ หรือ 1.9 พันล้านบาท หลังจากนักลงทุนตลาดหุ้นผิดหวังกับ Fed ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในอนาคตอย่างชัดเจน
•ตอกย้ำด้วยประเด็นสงครามการค้าจีนสหรัฐที่ยังยืดเยื้อ และลุกลามจนประธานาธิบดีสหรัฐขู่ขึ้นภาษีจีน รอบที่4 วงเงิน 3 แสนล้านเหรียญ ที่อัตรา 10%
•สัดส่วนตลาดหุ้นไทยในดัชนี MSCI Emerging Market มีโอกาสลดลง จากการปรับน้ำหนักรอบใหม่ (Rebalance) ในเดือน ส.ค. นี้ โดยจะประกาศให้ทราบเช้าวันที่ 9 ส.ค. 2562 และจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายเดือน ส.ค. 62 แม้รอบนี้คาดว่าไม่มีการปรับหุ้นไทยเข้าออกจากดัชนี แต่สัดส่วนตลาดหุ้นไทยมีโอกาสลดลง จากการทยอยปรับเพิ่มหุ้นใหม่จากประเทศอื่นๆ เช่น จีน และซาอุดิอาระเบีย
ทุกๆปัจจัยที่กล่าวมา ส่งผลให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น สังเกตได้จาก Bond Yield 10 ปี ในหลายประเทศปรับตัวลงแรง เช่น Bond Yield 10ปี ของสหรัฐเหลือเพียง 1.89% (ต่ำสุดในรอบ 2 ปี 10 เดือน), ไทย 1.86% (ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน) รวมถึงอีกหลายประเทศที่ Bond Yield 10 ปี ติดลบ คือ เยอรมนี -0.45% ฝรั่งเศส -0.19% และญี่ปุ่น -0.13%
อย่างไรก็ตามการเข้าสู่วัฎจักรดอกเบี้ยขาลง หรือหลายๆประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ช่วยลดทอนผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว และถ้าหากปัจจัยต่างๆคลี่คลาย รวมถึงภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ หนุนให้ Fund Flow ยังมีโอกาสไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นได้ในระยะถัดไป
แรงกดดันให้ กนง. อาจปรับสูงขึ้นภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ประเด็นที่ตลาดยังคงให้น้ำหนัก คือ วัฎจักรดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลงหลังจากกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรกในรอบ 11 ปี ลง 25 bps อยู่ที่ 2.25% แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มดอกเบี้ยในอนาคตชัดเจน (ตลาดคาด Fed มีโอกาสลดอีก 1 ครั้งในการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งในปีนี้ โดยคาดจะลดปลายปี) และทั่วโลกที่เดินหน้าใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายชัดเจน อาทิ ยุโรป ,ญี่ปุ่น และหลายประเทศในเอเซียเกือบทุกประเทศที่ปรับลดดอกเบี้ยไปก่อนหน้า
ขณะที่ไทยยังเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศที่ยังยังคงดอกเบี้ยนโยบาย ล่าสุดอยู่ที่ 1.75% และสัปดาห์หน้า คือ 7 ส.ค. มีการประชุม กนง. ASPS เชื่อว่าในรอบนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้เชื่อว่ามีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยลงได้
โดยประเด็นที่ ธปท. ให้น้ำหนักประกอบการพิจารณาขึ้น/ลงดอกเบี้ย คือ
อัตราเงินเฟ้อ ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ รายงาน เดือน ก.ค. ขยายตัว 0.98%yoy เพิ่มขึ้นจาก 0.87%yoyในเดือน มิ.ย. หนุนจากราคาสินค้าอาหารสด เช่น ผักผลไม้เพิ่มขึ้น 13.18%, เนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 5.73%, ข้าว-แป้งเพิ่มขึ้น 4.02% จากปัญหาภัยแล้ง เงินเฟ้อเฉลี่ย 7M62 ขยายตัว 0.92%yoy(เทียบกับ ASPS คาดเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ที่ 1.08%) ยังต่ำกว่าดอกเบี้ยที่ 1.75% ทำให้ยังมีช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยกับเงินเฟ้อที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้
แนวโน้มเศรษฐกิจ โดยวันที่ 19 ส.ค. สภาพัฒน์จะรายงาน GDP growth งวด 2Q62 คาดขยายตัวในระดับที่ทรง/ต่ำกว่า งวด 1Q62 ที่ขยายตัว 2.8% เนื่องจากฐานปี 2561 ที่สูง และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ภาคส่งออกราว 68% ของ GDP) ที่ชะลอตัวชัดเจน คือ 6M62 ส่งออกติดลบ 2.9% ทำให้มีแนวโน้มทั้งปี GDP Growth ปี 2562 ต่ำกว่า 3% (ASPS คาด 2.7%)
โดยรวม ASPS เชื่อว่ามีโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีได้ หากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงดังกล่าว และดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลงชัดเจน แต่ระยะสั้นน่าจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ยลง
รัฐยังคงงบประมาณ 2563 ที่ 3.2 ล้านล้านบาท คาดเบิกจ่าย ก.พ.2563
ตามที่ ASPS เคยนำเสนอประเด็นงบประมาณปี 2563 ที่ส่อแววล่าช้า ล่าสุดมีความชัดเจน คือ วานนี้สำนักงบประมาณเผยกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2563 คงเดิมเท่ากับก่อนหน้าอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 6.5 แสนล้านบาท หรือราว 20.5%ของวงเงินทั้งหมด ขณะที่อีก 79.5 % คือ รายจ่ายประจำ อาทิ เงินเดือนข้าราชการ เป็นต้น
ในทางตรงข้ามคือ ส่วนของรายได้ มาจากการจัดเก็บภาษีราว 2.73 ล้านล้านบาท และมาจากการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.69 แสนล้านบาท จากเดิมคาดจะขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท เนื่องจากกระทรวงการคลังมีรายได้ลดลง จากการที่ กสทช.ขยายระยะเวลาชำระใบอนุญาตคลื่นของกลุ่ม ICT
ขั้นตอนถัดไป คือ จะส่งครม.อนุมัติวงเงินผ่านหรือไม่คือ 6 ส.ค. และเตรียมขั้นตอนเสนอเข้าสู่สภาเพื่ออนุมัติรวมทั้ง 3 วาระ (ดังรูปด้านล่าง) โดยรวมจะทำให้รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ออกมาอย่างเร็วสุด (Best case) คือต้นเดือน ก.พ.2563 ซึ่ง ASPS ยังเชื่อว่ามีความเสี่ยงที่งบประมาณอาจจะล่าช้าจากที่คาดได้
โดยรวมเชื่อว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ กระทบต่อส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกผัน และ ผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนคือ กลุ่มรับเหมาฯ คาดจะได้รับ Sentiment เชิงลบ โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ คือ ITD, CK, STEC, UNIQ ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนใหม่ๆที่อาจจะประมูลล่าช้ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง คือ TASCO([email protected]) ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2563 ดังกล่าว ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 62 มีความล่าช้าตามไปด้วย
Real Sector ทยอยประกาศงบ ... กลยุทธ์เน้นหุ้นมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว MCS
หลังจากการรายงานงบของบริษัทขนาดใหญ่อย่าง SCC ซึ่งพบว่ามีกำไรต่ำกว่าคาด ลดลงถึง -40%QoQ และ -43%YoY หลักๆ กระทบจากธุรกิจปิโตรเคมีตาม Spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรฯ และราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่ผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ และเนื่องด้วย 2 กลุ่มดังกล่าวมีเป็นสัดส่วนและน้ำหนักค่อนข้างมากต่อตลาดหุ้นไทย บวกกับงวดนี้หลายบริษัทจะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายพนักงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 2Q62 ของตลาดฯ จะชะลอลงชัดเจนทั้ง QoQ และ YoY
กลยุทธ์ลงทุน แนะเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตดี และมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว โดยฝ่ายวิจัยยังคง ROBINS (FV@B 70.00) ไว้ในพอร์ตจำลอง และเพิ่ม MCS (FV@B 9.00) เป็นหุ้น Top Picks ในวันนี้ โดยคาดกำไร 2Q62 ของ MCS เท่ากับ 82 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 18% QoQ จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการส่งมอบสินค้า ส่วนแนวโน้มกำไร 2H62 น่าจะเติบโตอย่างมากจาก 1H62 หนุนจากงานทั้งในญี่ปุ่นโครงการ Shibuya (MCS รับงานเพียงผู้เดียว) และในไทยของบริษัท Thai Obayashi ขณะที่เร็วๆ นี้ น่าได้ลุ้นการทยอยประกาศงานใหม่ 2 โครงการใหญ่ น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นตัน ช่วยหนุน Backlog เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 แสนตัน ถือเป็น Upside เพิ่มต่อประมาณการกำไรปี 2562 ซึ่งประเมินไว้ที่ 351 ล้านบาท จึงแนะนำซื้อ MCS คาดหวังผลตอบแทนราว 16.13% จากมูลค่าพื้นฐาน 9 บาท พร้อมคาดหวัง Div. Yield ได้สูงถึง 5-8% ต่อปี รวมถึงในเดือน ส.ค. 62 นี้ น่าจะมีการกลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ตามปกติ
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ