- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 01 August 2019 16:59
- Hits: 2234
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาด SET Index วันนี้น่าจะปรับตัวลดลงด้วยแรงกดดันจากมุมมองทิศทางดอกเบี้ยในระยะกลางที่ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหลังรู้ผลการประชุม Fed อีกทั้งยังมีเรื่องการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ไม่ปรากฎสัญญาณบวกเพิ่ม พอร์ตการลงทุนวันนี้ ฝ่ายวิจัยปรับเปลี่ยนโดย Cut Loss หุ้น BBL แล้วนำเม็ดเงินไปใส่ให้กับ ROBINS ซึ่งมองเห็นอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังชัดเจนกว่า Top Picks เลือก TTCL (FV@ 12.50), BJC (FV@B61) และ ROBINS (FV@B 70)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ทยอยปรับตัวขึ้นตลอดวัน
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวขึ้นตลอดวัน ทั้งช่วงเช้าและบ่าย ทำให้ดัชนีเข้าใกล้แนวต้าน 1715 จุด จนปิดที่ระดับ 1711.97 จุด เพิ่มขึ้น 5.48 จุด (+0.32%) มูลค่าการซื้อขาย 5.06 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาด คือ กลุ่มการเงินเช่น AEONTS(+2.60%) KTC(+5.52%) SAWAD(+0.92%) MTC(+2.11%) กลุ่มธ.พ.อย่างเช่น SCB(+2.23%) KBANK(+0.29%) KTB(+0.51%) และกลุ่มพลังงานอย่างเช่น PTTEP(+0.37%) TOP(+0.36%) EGCO(+0.30%) EA(+0.97%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่าง CPF(+1.83%) INTUCH(+1.99%) และ BTS(+2.48%) เป็นต้น
คาด SET Index วันนี้ปรับลดลง ด้วยสาเหตุที่มาจากแรงกดดันหลายปัจจัย เริ่มจากทิศทางอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแม้ Fed มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ตามคาด แต่ถ้อยแถลงของประธานที่บั่นทอนความคาดหวังว่าดอกเบี้ยจะปรับลดลงต่อเนื่องในอนาคต ทำให้เกิดอาการ Sell on fact ในตลาดหุ้นที่รุนแรงโดยดาวโจนส์ ปรับลดลง 1.23% ถัดมาเป็นเรื่องการเจรจาการค้า สหรัฐฯ-จีน ซึ่งส่งสัญญาณความไม่ราบรื่นออกมาผ่านช่วงเวลาที่ใช้ในการเจรจาสั้นกว่าที่คิดไว้มากอีกทั้งไม่มีการแถลงผลการเจรจาอย่างเป็นทางการออกมา นอกจากนี้ในช่วงสัปดาห์หน้า จะถึงกำหนดที่ MSCI จะปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดประเทศจีน และ ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งน่าจะทำให้ทิศทางของเม็ดเงินลงทุนถูกเบี่ยงไปยังประเทศเป้าหมายแทน ซึ่งส่งผลทำให้ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะที่ขาดแรงหนุนจาก Fund Flow นักลงทุนต่างช่าติ สำหรับปัจจัยในประเทศ ในช่วงนี้จะเห็นการประกาศผลประกอบการงวด 2Q62 ในกลุ่ม Real sector ที่คาดหมายว่าจะเห็นตัวเลขกำไรสุทธิที่ลดลงทั้ง YoY และ QoQ ส่วนปัจจัยบวกที่คาดหวังได้ น่าจะเป็นเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐน่าจะเร่งประกาศออกมา แต่ก็น่าจะเป็นผลดีต่อบางอตุสาหกรรม อย่างเช่นค้าปลีก เป็นต้น สำหรับพอร์ตการลงทุนวันนี้มีการปรับเปลี่ยนโดย Cut Loss หุ้น BBL ออกไป และนำน้ำหนักการลงทุนไปใส่ให้กับ ROBINS โดยเห็นว่าราคาที่ถูกกำหนดไว้สำหรับการที่ CRC จะเข้ามาควบรวมกิจการอยู่ที่ 66.50 บาท เทียบกับราคาปัจจุบันแล้วมี Upside 4.7% และด้วยกระบวนการชำระราคาซึ่งกำหนดให้ชำระด้วยหุ้น CRC (อยู่ระหว่างกระบวนการนำเข้าจดทะเบียนใน SET คาดว่าและเริ่มซื้อขายภายใน 1H63) อาจทำให้เกิด Upside เพิ่มเติมขึ้นมาได้อีกหากราคาหุ้น CRC สามารถซื้อขายสูงกว่าราคา IPO อีกทั้ง Fair Value สำหรับ ROBINS ฝ่ายวิจัยคาดว่าอยู่ที่ 70 บาท
ตลาดผิดหวัง Fed มิได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยชัดเจนในอนาคต
ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ไม่ได้สร้างความประหลาดใจกล่าวคือ Fed มีมติลดดอกเบี้ยฯครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยปรับลง 25 bps ทำให้ดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 2-2.25% โดยในรอบนี้เป็นที่สังเกตุว่าคณะกรรมการ Fed ไม่ได้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมี 2 เสียง จากทั้งหมด 12 เสียง คือ นาย Eric rosenger สาขา Boston และ Esther George สาขา Kansas โหวตให้คงดอกเบี้ยที่เดิม
และจุดสำคัญ คือ ถ้อยแถลงของประธาน Fed นาย Jerome Powell ที่ให้ความเห็นว่า การปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นของดอกเบี้ยสหรัฐขาลง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า Fed อาจจะยังไม่มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยในครั้งต่อๆไปทันที โดยรวมทำให้ตลาดหุ้นผิดหวังจากเดิมก่อนหน้าที่คาดวหวังว่า Fed จะส่งสัญญาณชัดเจนถึงแนวโน้มดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ หรือ คาดว่าจะมีการลดอีก 1 ครั้งการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้ง คือ รอบ 18 ก.ย. , 30 ต.ค. และ 11 ธ.ค. โดยรวมทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐ Dow Jones เมื่อวานนี้ปรับลดลงราว 334 จุด หรือลดลง 1.2% หลังจากก่อนหน้าปรับขึ้นมาตั้งแต่ 10 พ.ค.-ปัจจุบันราว 4.9% (ดังรูป) จากความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของาสหรัฐ โดย ASPS เชื่อว่าตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยในวันนี้น่าจะได้รับ Sentiment เชิงลบและปรับตัวลงตาม
สต็อกน้ำมันดิบลดลง 7 สัปดาห์ติด
สำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐ(EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐปรับลดลงติดต่อกัน 7 สัปดาห์ติดต่อกัน คือ ลดลงแรงราว 8.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดจะลด 2.5 ล้านบาร์เรล และปัจจัยหนุนจากการที่กลุ่มประเทศ OPEC และ Non OPEC ขยายระยะเวลาตัดลดกำลังการผลิตวันละ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปจนถึง 31 มี.ค.2563 อย่างไรก็ตาม Supply น้ำมันดิบที่ทยอยเพิ่มขึ้นจากแหล่งผลิตสหรัฐ สัปดาห์ล่าสุด กำลังการผลิตกลับมาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12.2 ล้านบารร์เรล/วันจาก 11.3 ล้านบารร์เรล/วัน ในสัปดาห์ก่อนหน้า (สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมาคือ รัสเซีย 11.1 ล้านบาร์เรล)
ขณะที่ฝั่ง Demand มีแนวโน้มชะลอลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน (2 ประเทศบริโภคน้ำมันรวมกันราว 50% ของการบริโภคน้ำมันทั้งโลก) ที่คาดว่าจะยังยืดเยื้อต่อเนื่องเห็นได้จาก 30-31 ก.ค.ทั้ง 2 ฝั่งได้มีการเจรจากันที่จีน แต่ไม่ได้ข้อสรุปอะไรออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยมีกำหนดการเจรจาครั้งใหม่ คือ เดือน ก.ย. 2562
โดยรวมปัจจัยฝั่ง Demand ที่มีน้ำหนักมากกว่า รวมถึง Dollar index ที่มีทิศทางแข็งค่าต่อ เป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบโลกเช้านี้ให้อ่อนตัวช่วงสั้น โดยราคาดูไบ ล่าสุดราคาปิดเมื่อวาน 62.74 เหรียญฯ เฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 64.2 เหรียญฯ แต่ยังสูงกว่าสมมติฐานที่ ASPS คาด 60 เหรียญฯ ในปี 2562 และนับจากปี 2563 เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ โดยกลยุทธ์การลงทุนหุ้นพลังงาน-โรงกลั่นระยะสั้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังมีโอกาสอ่อนตัว และผลประกอบการงวด 2Q62 คาดอ่อนตัวจากงวดก่อนหน้า เนื่องจากจะมีการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน Stock loss ทำให้ยังคงแนะนำชะลอการลงทุน
เดือน ส.ค. MSCI เพิ่มหุ้นประเทศอื่น กดดันสัดส่วนหุ้นไทยลดลง
แนวโน้ม Fund Flow เดือน ส.ค. 62 มีโอกาสชะลอตัว และต้องเผชิญกับหลายบททดสอบ เริ่มจากตลาดหุ้นผิดหวังกับ Fed ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในอนาคตอย่างชัดเจน และสงครามการค้าจีนสหรัฐที่ยังยืดเยื้อ
มีอีกประเด็นที่สำคัญ คือ การปรับน้ำหนักดัชนี MSCI Emerging Market รอบใหม่ (Rebalance) ในเดือน ส.ค. นี้ โดยจะประกาศให้ทราบเช้าวันที่ 9 ส.ค. 2562 และจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายเดือน ส.ค. 62 แม้รอบนี้คาดว่าไม่มีการปรับหุ้นไทยเข้าออกจากดัชนี แต่สัดส่วนตลาดหุ้นไทยมีโอกาสลดลง จากการทยอยปรับเพิ่มหุ้นใหม่จากประเทศอื่นๆ คือ มีการปรับเพิ่มหุ้น 5% ของ China A-Share รวมถึงเพิ่ม 50% ของหุ้นประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยทั้ง 2 กรณีเป็นการเพิ่มหุ้นเข้ามาใหม่คิดเป็นสัดส่วน 2.2% ในดัชนี MSCI Emerging Market (มาจาก China A-Share 0.8%, ซาอุดิอาระเบีย 1.4%) สรุปคือ สัดส่วนหุ้นเข้าใหม่ในดัชนี MSCI Emerging Market ราว 2.2% รอบเดือน ส.ค. นี้ หาก MSCI ไม่ได้มีการปรับลดตลาดหุ้นประเทศใดเป็นพิเศษ จะกดดันสัดส่วนตลาดหุ้นประเทศอื่นรวมถึงไทยให้ลดลง
ทุกๆ ปัจจัยที่กดดัน Fund Flow ยังสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี คือ Fund flow มักไหลออกจากตลาดหุ้นไทยเฉลี่ย 8.7 พันล้านบาท ขายสุทธิ 6 ใน 10 ปี
ลงทุนหุ้น ROBINS เสมือนจองซื้อหุ้น CRC ล่วงหน้า...พร้อมล๊อค Yield เกือบ 5%
กรณีกลุ่ม CRC-Central Retail Corporation (ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ROBINS สัดส่วน 53.83%) ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยมีความประสงค์ที่จะนำธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดที่อยู่ในเครือ CRC จดทะเบียนในตลาดเพียงบริษัทเดียว แทน ROBINS ที่จะเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะมีการทำคำเสนอซื้อหุ้นที่ราคา 66.5 บาท และจะชำระด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Share swap) ของ CRC ที่จะมีการ IPO เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดราคาสุดท้าย ซึ่งคาดกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จไตรมาสแรกปี 2563
ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าจะส่งผลบวกต่อผู้ถือหุ้น ROBINS เดิม เนื่องจากจะได้สิทธิในการเข้ามาถือหุ้น CRC ซึ่งต่างจากปกติที่ต้องดำเนินการหาจองซื้อหุ้น IPO เอง และยังค่อนข้างการันตี Yield ที่แน่ชัด หรือกว่า 4.7% (คิดจากราคาปัจุบันที่ 63.5 บาท เทียบราคา Tender ที่ 66.5 บาท) จนกว่าจะถึงช่วง swap หุ้น ในต้นปี 2563
นอกจากนี้ ด้วยความหลากหลายทางธุรกิจที่มีทั้งห้างเซ็นทรัล ,CMG (ตัวแทนจำหน่ายสินค้าแฟชั่น), ซุปเปอร์มาร์เก็ต (Tops), ร้านสะดวกซื้อ (Family Martร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะทาง (Supersport, Powerbuy และ ไทวัสดุ) รวมถึงธุรกิจค้าปลีกในต่างประเทศที่เวียดนามและอิตาลี และแนวโน้มการเติบโตที่มีศักยภาพสูงของ CRC เชื่อว่าจะทำให้ได้ผลกำไรส่วนต่างจากราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain) และหากพิจารณาสถิติในอดีต มีหุ้น IPO ที่เข้าซื้อขายในดัชนี SET Index ในปีนี้ 5 บริษัท พบว่า ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันแรกของการซื้อขายทุกบริษัท และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 5.47%
ด้วยทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ฝ่ายวิจัยจึงเพิ่ม ROBINS (FV@B 70) เป็น Top Picks ในวันนี้ และยังคงชื่นชอบ BJC (FV@B61) รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ และภาพรวมธุรกิจที่จะเติบโตโดดเด่น รวมถึง TTCL (FV@ 12.50) กำไรงวด 2Q62 โดดเด่นอย่างมาก จากการรับรู้กำไรพิเศษขายเงินลงทุนโรงไฟฟ้า พร้อม Story ดีๆ ที่มีให้ลุ้นตลอดทั้งปี
Earnings Outlook 2Q62
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ