- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 30 July 2019 17:04
- Hits: 5334
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
ประเด็นเรื่องโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed อาจไม่ได้เป็น Upside สำหรับ SET Index ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะสร้างความคาดหวังเชิงบวกให้กับหุ้นบางกลุ่มอุตสาหกรรม จึงคาด SET Index จะผันผวนภายใต้ Upside จำกัด ส่วนหุ้น Top Picks ยังคงเลือก TTCL (FV@B 12.50) และ EASTW (FV@B 15.20) และวันนี้เพิ่ม BJC (FV@B61) อีก 1 บริษัท โดยน่าจะได้ Sentiment เชิงบวกจากข่าวการทำ SWAP หุ้น ROBINS
SET Index 1,717.97
เปลี่ยนแปลง (จุด) -12.93
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 58,812
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ปรับตัวลงตลอดวัน
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงในช่วงเช้า ก่อนที่จะแกว่งตัวผันผวนจนปิดตลาดฯ ทำให้ปิดที่ระดับ 1717.97 จุด ลดลง 12.93 จุด (-0.75%) มูลค่าการซื้อขาย 5.88 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาด คือ กลุ่มพลังงานเช่น EA(-1.42%) PTT(-1.05%) PTTEP(-0.37%) กลุ่มธ.พ.เช่น BBL(-0.54%) KBANK(-1.41%) SCB(-2.51%) และกลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(-0.93%) TRUE(-1.54%) DTAC(-1.67%) INTUCH(-1.17%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่าง BDMS(-1.96%) SCC(-1.35%) และ IVL(-3.11%) เป็นต้น
ความเชื่อมั่นว่าที่ประชุม Fed ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ผลักดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และ ทั่วโลกปรับตัวขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญในช่วงก่อนหน้านี้ ประเด็นที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่าเมื่อ Fed ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามคาดแล้ว ตลาดหุ้นจะตอบสนองอย่างไร ซึ่งในมุมมองของฝ่ายวิจัยแล้วเห็นว่ามีโอกาสค่อนข้างน้อยที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปต่อ แต่โอกาสที่จะเกิด Sell on fact น่าจะมีมากกว่า ภาพดังกล่าวอย่างทำให้ทิศทางตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ผันผวนโดยมี Upside จำกัด ส่วนประเด็นอื่นที่น่าติดตามก็ยังมีอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน รวมถึงการทำ Brexit ตามแนวทางของนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ สำหรับในประเทศ อาจมีน้ำหนักในทางบวก เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่าจะเห็นการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ หรือการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีก สำหรับประเด็นสำหรับหุ้นรายบริษัท ในวันนี้ก็มีที่น่าสนใจอยู่ 2 เรื่อง คือการที่ Central Retail จะทำ SWAP หุ้นกับ ROBINS โดยตีราคาหุ้น ROBINS ไว้ที่ 66.50 บาท ซึ่งน่าจะทำให้ราคาหุ้น ROBINS สามารถวิ่งขึ้นไปใกล้ Fair Value ของฝ่ายวิจัยที่ทำไว้ที่ 70 บาทได้ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเป็นการเพิ่มทุนของ GPSC ซึ่งเป็นไปตามแผนของการจัดโครงกาสร้างการเงินหลังซื้อ GLOW โดยภาพรวมวันนี้คาด SET Index อยู่ในกรอบ 1710 – 1730 จุด ส่วนพอร์ตการลงทุนไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน
Brexit ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก
1 ส.ค. ประชุมธนาคารกลางอังกฤษ(BOE) ตลาดคาดคงดอกเบี้ยฯที่ 0.75% แต่เชื่อว่ามีโอกาสลดดอกเบี้ยฯในอนาคต เพื่อรองรับความเสี่ยงหากอังกฤษออกจากยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง (No Deal Brexit) ในวันที่ 31 ต.ค.2562 ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง ล่าสุด วานนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษคนใหม่ประกาศย้ำให้ ยุโรปกลับมาเจรจาเพื่อแก้ไขข้อตกลงเดิมเคยทำไว้กับอดีตนายกหญิงเทเรซ่า เมย์ของอังกฤษอีก ซึ่งหากไม่แก้ไขข้อตกลงจะผลักดันให้อังกฤษออกจากยุโรปแบบ (No Deal Brexit) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ นาย Boris Johnson
หากเกิด No Deal Brexit ผลกระทบเชื่อว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอังกฤษ คือ
การค้า คือ สิทธิประโยชน์ที่อังกฤษเคยได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกใน EU ต้องหมดไป ทำให้อังกฤษต้องเผชิญกับการแข่งขันในเวทีการค้าโลกเพิ่มขึ้น (ต้นทุนด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ราคาสินค้าส่งออกไปยังประเทศในยุโรปสูงขึ้น) สินค้าส่งออกหลักของอังกฤษที่ส่งไปยุโรป คือ รถยนต์หรู อาทิ Rolls-Royce, Jaguar, Land rover และสินค้าส่งออกที่สำคัญอื่นๆ อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องจักร, สินแร่ และผลิตภัณฑ์ยา โดยคู่ค้าหลักคือ เยอรมนี รองลงมาคือ ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น และต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้ออังกฤษเพิ่มขึ้นแรง
สูญเสียการเป็นการศูนย์กลางการเงินโลก โดยเฉพาะ HSBC Bank, JP Morgan Chase&Co.,Deutsche Bank ที่มาตั้งสำนักงานใหญ่ในอังกฤษ เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้าในสหภาพยุโรป
สาธารณูปโภคระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ใช้ร่วมกัน อาทิ ทางรถไฟ, ขนส่งทางอากาศ
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรป คาดกระทบการค้า เนื่องจากยุโรปส่งออกไปอังกฤษราว 6.5%ของการส่งออกรวมทั้งหมดไปทั่วโลก และนำเข้าสินค้าจากอังกฤษราว 4.3%ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากทั่วโลก โดยมีการประเมินว่า หากอังกฤษถอนตัวออกไป จะทำให้ยุโรปจะมีสัดส่วนการค้าในตลาดโลกเหลือ 9% จากปัจจุบัน 10%
ผลกระทบต่อไทย คาดคือ ภาคการส่งออกแต่เชื่อว่าจะกระทบจำกัดเนื่องจาก ไทยมีสัดส่วนการค้ากับอังกฤษน้อยราว อันดับที่ 20 ของไทยราว 1.28% ของการค้าทั้งหมดของไทย และสินค้าส่งออกหลักที่ไทยส่งไปอังกฤษ เช่น ไก่ ,รถยนต์ และส่วนประกอบ, เนื้อสัตว์แปรรูป, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ผลกระทบอีกทาง คือ อัตราแลกเปลี่ยน คือ Brexit กดดันค่าเงินปอนด์อ่อนค่า (เงินปอนด์อ่อนค่าราว 1.97%mtd และหากนับตั้งแต่ต้นปี อ่อนค่า 1.93%ytd) รวมถึงค่าเงินยูโรให้อ่อนค่าตาม (ยูโรอ่อนค่าราว 2.03%mtdและนับตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่าราว 2.67%ytd) ส่งผลให้ Dollar Index แข็งค่า (Dollar Index ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. แข็งค่า 1.66%mtd) Fund Flow จึงมีแนวโน้มชะลอการไหลออกจากสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ และชะลอไหลเข้าภูมิภาคน้อยลงเช่นกัน
ตลาดหุ้นคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed มาพอสมควร
ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาค สังเกตได้จากในวันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยสูงถึง 4.3 พันล้านบาท และวานนี้ยังขายสุทธิตลาดหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนเฝ้ารอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในวันที่ 30-31 ก.ค. ผลสำรวจ Bloomberg คาดว่า 100% ในรอบนี้ Fed จะลดดอกเบี้ยจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% (พบว่า 80% คาดจะลดราว 0.25% อีก 20% คาดจะลด 0.5%)
หลังจากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านเหรียญ จากอัตรา 10% เป็น 25% ในวันที่ 10 พ.ค. 2562 (หลังวันที่ Fed ประชุมในรอบ พ.ค. ในวันที่ 2 พ.ค. 2562) ส่งผลให้ความกังวลสงครามการค้ากลับมาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ดัชนี PMI ภาคการผลิตสหรัฐแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี, อัตราเงินเฟ้อสหรัฐเดือน มิ.ย. แตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ที่ 1.6% และต่ำกว่าเป้าของ Fed ที่ 2% สร้างความกังวลเศษฐกิจโลกมีโอกาสชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง หนุนให้ Fed มีโอกาสเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย สังเกตได้จากผลสำรวจจาก Bloomberg ช่วงกลางเดือน พ.ค. 62 คาด Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 13% แล้วปรับตัวขึ้นเรื่อยจนเป็น 100% ณ วันที่ 19 มิ.ย. 62 จากนั้นยืนที่ระดับ 100% มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
ประเด็นความคาดหวัง Fed จะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยถูกซึมซับในตลาดหุ้นมาตลอด ทั้ง SET Index และ Dow Jones นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค. 62 จนถึงปัจจุบัน ที่ 4.2% และ 4.9% ตามลำดับ และหาก Fed ส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ยในรอบนี้เชื่อว่าตลาดมีโอกาสปรับฐานในช่วงสั้น
มาตรการกระตุ้นการบริโภคภาครัฐ หนุนหุ้นค้าปลีก
ความชัดเจนของนโยบายกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาลใหมตามที่เคยหาเสียงไว้มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมุ่งไปที่มาตรการกระตุ้นระยะสั้น โดย ASPS รวบรวมมาตรการของรัฐบาลที่มีโอกาสที่เป็นไปได้และเตรียมเข้า ครม. ในสัปดาห์นี้ และเร็วๆนี้ คือ
มารดาประชารัฐ อัดฉีดเงินให้ตั้งแต่ตั้งท้องจนถึง อายุ 6 ขวบ รวมททั้ง เฉลี่ยคนละ 1.81 แสนบาท/คน
ต่อยอดบัตรสวัสดิการภาครัฐให้ครอบคลุม ปัจจุบันมีอยู่ 14 ล้านคนที่ได้รับเงินเฉลี่ย 300-500บาทต่อเดือนจนถึงสิ้นปี
ประกันราคาสินค้าเกษตร อาทิ ยางพารา, ปาลมน้ำมัน ,ข้าวเหนียว
ลดค่าครองชีพอาทิ ค่าเดินทาง เบื้องต้นรัฐบาลกำลังพิจารณา ลดราคาตั๋วเดินทางรถไฟฟ้า แอรพอร์ตเรลลิ้ง และรถฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน เป็นต้น
ขณะที่มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา เชื่อว่านโยบายอื่นๆ ที่จะมีออกมา น่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้แก่ประชาชนได้ น่าจะดีต่อหุ้นค้าปลีก เลือก BJC เป็น Top Pick
GPSC เพิ่มทุน RO ปลดล็อคความกังวล
GPSC ประกาศเพิ่มทุนไม่เกิน 1,321.4 พันล้านหุ้น (Par 10 บาท) จากเดิมที่มีหุ้นจดทะเบียนชำระแล้ว 1,498.3 พันล้านหุ้น ทำให้คาดว่าทุนจดทะเบียนใหม่จะอยู่ที่ 28,197 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นใหม่ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering) อัตราส่วน 1 หุ้นเดิม : 0.8819 หุ้นใหม่ ที่ราคา 56 บาท/หุ้น รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7.4 หมื่นล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นที่เกิดจากการซื้อ GLOW
ทั้งนี้การเพิ่มทุนจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อราคาตลาด (Price Dilution) ราว -9.8% หากสมมติให้ราคาปิด GPSC ก่อนขึ้น XR 3 ก.ย. 2562 เท่ากับ 70.75 บาท (ราคาปิดวันที่ 26 ก.ค.) ราคาตลาดหลัง XR จะเหลือ 63.84 บาท ขณะที่ dilution effect ที่เกิดขึ้นต่อผู้ถือหุ้นเดิมอยู่ที่ 46.9% ทั้งนี้ GPSC จะกำหนดให้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนวันที่ 30 ก.ย. และ 1-4 ต.ค. 2562
ฝ่ายวิจัยมีการปรับปรุงประมาณการ เพื่อสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน ภายใต้ประมาณการใหม่ ให้ประเมินมูลค่าพื้นฐานใหม่ เท่ากับ 68 บาท (เดิม 75 บาท) และยังคงคำแนะนำซื้อ ถือเป็นการปลดล็อคความกังวล และจากนี้ไปเชื่อว่าราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวตามทิศทางกำไรที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น อีกทั้งยังหวัง upside จากโครงการกลุ่ม PTT และการต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้า SPP
ดีลซื้อ ROBINS ยกระดับกลุ่มค้าปลีก
กรณีกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล (CRC) ประกาศปรับโครงสร้างกลุ่ม นำธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้อยู่ภายใต้บริษัทเดียว ด้วยการเพิกถอน ROBINS (CRC ถือหุ้น 53.8%) ออกจากตลาด ผ่านการทำ Tender Offer ที่ราคา 66.5 บาท แลกกับการทำ Swap ด้วยหุ้น CRC ที่จะทำ IPO ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดราคาสุดท้าย
ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าเป็นเรื่องบวกต่อผู้ถือหุ้น ROBINS ที่จะขึ้นมาถือหุ้น CRC ที่เป็นธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่มีความกว้างขึ้น คือมีทั้ง ห้างเซ็นทรัล ,CMG (ตัวแทนจำหน่ายสินค้าแฟชั่น), ซุปเปอร์มาร์เก็ต (Tops), ร้านสะดวกซื้อ (Family Mart), ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง (ไทวัสดุ) รวมถึงธุรกิจค้าปลีกในต่างประเทศ ที่เวียดนามและอิตาลี
ขณะที่ยังคาดหวังศักยภาพที่สูงกว่าได้ หากพิจารณาการขยายตัวของรายได้สูงกว่า ROBINS ที่มียอดขายในปี 2559-61 เติบโตเฉลี่ยปีละ 2.2% ขณะที่ CRC ขยายตัวได้ราว 7.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่กำไรปกติ ROBINS ปี 2561 เติบโต 2.3% ส่วน CRC เติบโตได้ถึง 46.9%
คงคำแนะนำ ซื้อ สำหรับ ROBINS เนื่องจากราคา Tender Offer ยังต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานฝ่ายวิจัยที่ 70 บาท จึงยังมี Upside ลงทุน หากต้องการใช้สิทธิทำ Swap หุ้น CRC ในราคา IPO แนะนำถือต่อ ขณะที่หากต้องการทำกำไร ควรขายที่ราคาสูงกว่า 66.5 บาท ขึ้นไป
กลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัยยังคงเน้นหุ้นที่มีฐานแข็งแกร่ง พร้อมปัจจัยบวกเฉพาะตัว โดยวันนี้ได้เพิ่ม BJC ( FV@B 61) เข้ามา Top Pick โดยมองว่า BJC อาจได้รับ sentiment เชิงบวกจากราคาหุ้นในกลุ่มฯ ที่ปรับตัวขึ้น ขณะที่ฐานธุรกิจ BJC ยังมั่นคง ทั้งธุรกิจค้าปลีกและการอุปโภคบริโภค ซึ่งหนุนจากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ และการขยายสาขาใหม่ (ปีนี้รวม 8 แห่ง) หนุนยอดขายสาขาเดิม(SSSG) เติบโตสูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ก็มีคำสั่งซื้อกระป๋อง จาก SABECO และรายอื่นๆ เข้ามาในปีนี้ ทำให้คาดกำไรทั้งปี 2562 เติบโต 7.1% เท่ากับ 7.1 พันล้านบาท
และยังคงชื่นชอบ TTCL (FV@ 12.50) คาดผลประกอบการ 2Q62 จะเติบโตโดดเด่นถึง 110%QoQ อีกทั้งมีพัฒนาการเชิงบวกของการทำธุรกิจโรงไฟฟ้า และ EASTW (FV@B 15.20) ระยะสั้นลุ้นผลบวกจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้นหนุนให้ปริมาณขายน้ำดิบและน้ำประปาเพิ่มขึ้น ส่วนระยะยาวทยอยรับผลบวกจาก EEC โครงการต่างๆ
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ