WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      ดัชนีแตะ 1,600 จุด ยิ่งหนุนให้ปรับพอร์ตขายทำกำไรรายหุ้น แต่ยังให้ถือหุ้นปันผลเด่น (STPI, SRICHA, BEC, RS, AIT) และวันนี้เลือก TASCO(FV@B70) ได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลงเต็มๆ และ การจัดสรรงบประมาณปี 2558 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนหน้า

ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคเอเซียต่อเนื่องเป็นวันที่ 13
       วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 13 ราว 220 ล้านเหรียญฯ แต่ลดลงจากวันก่อนหน้า 29% โดยมีการขายสุทธิในทุกประเทศ นำโดยอินโดนีเซีย ขายสุทธิสูงสุด ราว 119 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า และ ขายต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ตามด้วยไต้หวัน ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 13 แต่ลดลงจากวันก่อนหน้า 56% เหลือราว 86 ล้านเหรียญฯ และฟิลิปปินส์สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 11 ล้านเหรียญฯ เช่นเดียวกับไทยที่สลับมาขายสุทธิราว 4 ล้านเหรียญฯ (121 ล้านบาท, ซื้อสุทธิติดต่อกัน 5 วันก่อนหน้า) สุดท้ายคือ เกาหลีใต้ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่เบาบางเพียง 1 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าขายสุทธิถึง 149 ล้านเหรียญฯ)
      เป็นที่สังเกตว่าแรงขายต่างชาติในเอเซียเกิดขึ้นทุกประเทศติดต่อกันในช่วง 3 สัปดาห์หลังสุด โดยขายสุทธิหนักสุดในไต้หวัน และ เกาหลีใต้ ราว 2.2 และ 1.2 พันล้านเหรียญฯ ตามลำดับ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 3 สัปดาห์หลังสุด ขายสุทธิรวม 569 ล้านเหรียญฯ ซึ่งและสุดท้ายคือฟิลิปปินส์ ขายสุทธิตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. ราว 52 ล้านเหรียญฯ เว้นเพียงแต่ไทยเพียงประเทศเดียวที่ถูกซื้อสุทธิต่อเนื่องในช่วง 1 เดือนหลังสุด 724 ล้านเหรียญฯ (2.3 หมื่นล้านบาท) ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะต่างชาติขายสุทธิประเทศไทยต่อเนื่องเพียงประเทศเดียว ที่เหลือส่วนใหญ่ซื้อสะสมต่อเนื่องมานาน

สหรัฐยังฟื้นตัวแข็งแกร่ง vs ไทยฟื้นตัวน้อย
      สหรัฐรายงาน GDP Growth งวด 2Q57 ที่มีการทบทวนรอบ 3 อยู่ที่ 2.6%yoy (vs 2.5%yoy ประมาณการครั้งล่าสุด) ทำให้ 1H57 ขยายตัว 2.25% จึงคาดว่าปี 2557 จะขยายตัวได้ 1.7% yoy ตาม IMF คาด สะท้อนจากดัชนีเศรษฐกิจล่าสุด สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เริ่มจากภาคครัวเรือน พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. (ม.มิชิแกน) เพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน หลังจากที่รายงานยอดขายบ้านใหม่เดือน ส.ค. ทำสถิติสูงสุดในรอบ 6 ปีกว่า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้าน เดือน ส.ค. ที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน และภาคการผลิต พบว่าดัชนี PMI ภาคการผลิต (มาร์กิต) เดือน ก.ย. ทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 ปี (แม้ดัชนี PMI ภาคบริการ (มาร์กิต) เดือน ก.ย. เริ่มชะลอตัว แต่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น) ตามมาด้วยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ส.ค. (หากไม่รวมยอดสั่งซื้อเครื่องบินพลเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก) อยู่ในทิศทางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
       ขณะที่ตลาดแรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวในทิศทางเดียวกัน และจากการสำรวจอัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. ของ Bloomberg คาดว่าจะอยู่ที่ 6.1% เท่ากับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้จะมีการรายงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ต.ค. จึงทำให้ตลาดเกิดความคาดหวังว่าการขึ้นดอกเบี้ยฯ ของสหรัฐครั้งแรกอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดไว้ในช่วง 2H58
      ขณะที่ไทย ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดประมาณ GDP Growth ปี 2558 เหลือ 4.8% จากเดิม 5.5% (แต่ยังสูงกว่า ASP ที่คาดไว้ที่ระดับ 3.5%) โดยหลักๆ แล้วเป็นการปรับลดการส่งออกสินค้า เหลือ 4% จากเดิม 6% (สูงกว่าที่ ASP คาดว่าจะขยายตัว 6.2%) และปรับลดการนำเข้าสินค้าเล็กน้อย เหลือ 9.5% จากเดิม 12% ถึงแม้ว่าอุปสงค์ในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่ยังกังวลต่อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า ได้แก่ ยุโรป และ ญี่ปุ่น อีกทั้งอินโดนีเซีย ได้เพิ่มการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และราคาสินค้าเกษตร (ข้าว ยางพารา) ยังคงตกต่ำ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกอย่างมาก
ขณะที่ในปี 2557 ยังคง GDP Growth ไว้ที่ 1.5% แต่ได้ปรับลดการส่งออกสินค้า เหลือ 0% จากเดิม 3% (vs ASP คาดที่ 1%) และการนำเข้าสินค้า ติดลบ 6.8% จากเดิม ติดลบ 3.6% (ต่ำกว่า ASP คาดว่าจะติดลบ 5.2%) ขณะที่คาดว่าจะมีส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐ และการบริโภคภาคเอกชน มาช่วยชดเชยการส่งออก
     นอกจากนี้ ยังคงได้ปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2557 เหลือ 2.2% จาก 2.6% (ต่ำกว่า ASP คาดที่ 2.4%) ตามการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเหลือ 101 เหรียญฯ/บาร์เรล จากเดิม 105 เหรียญฯ/บาร์เรล (ใกล้เคียงกับ ASP คาดว่าจะอยู่ที่ 100 เหรียญฯ/บาร์เรล) และนโยบายปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศของภาครัฐ ซึ่งเป็นการตอกย้ำดอกเบี้ยนโยบายของไทย น่าจะยืนที่เดิมไปจนถึงสิ้นปี 2557

ดอลลาร์แข็งค่า กดดันน้ำมันอ่อนตัวดีต่อ TASCO
      เงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 22 เดือน เมื่อเทียบกับเงินยูโร เช่นเดียวกับเงินปอนด์อังกฤษก็แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี เมื่อเทียบกับเงินยูโร ทั้งนี้ สหรัฐและอังกฤษน่าจะเป็น 2 ประเทศแรกในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่จะเป็นผู้นำในการขึ้นดอกเบี้ย หลังดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง พร้อมกับ GDP Growth งวด 3Q57 เติบโตอย่างมากดังกล่าวข้างต้น สวนทางกับค่าเงินในภูมิภาคเอเซียที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ นับตั้งแต่เดือน ก.ย. เป็นต้นมา โดยเงินเยน อ่อนค่ามากถึง 4.8% ตามมาด้วย ริงกิตมาเลเซีย อ่อนค่าถึง 3.78% เปโซฟิลิปปินส์อ่อนค่า 3.3% รูเปียห์อินโดนีเซีย อ่อนค่า 3.25% ดอลลาร์สิงคโปร์ อ่อนค่า 2% ยกเว้นเงินบาทอ่อนค่าเพียง 1.19% และรูปีอินเดีย อ่อนค่า 1.01%
ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ได้กดดันราคาน้ำมันดิบโลกให้ยังทรงตัวในระดับต่ำต่อไป โดยน้ำมันดิบดูไบ ยังไม่สามารถขึ้นมายืนเหนือ 95 เหรียญ/บาร์เรลได้ ซึ่งการที่น้ำมันดิบโลกอยู่ในระดับต่ำนี้ นอกจากจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการขนส่งแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่ใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบหลัก ได้แก่
     TASCO(FV@70) คาดว่าน่าจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตกว่า 90% มาจากน้ำมันดิบ ซึ่งบริษัทไม่มีนโยบายในการทำการป้องกันความเสี่ยงในสถานการณ์ปัจจุบัน ตรงกันข้ามกับราคายางมะตอย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทกลับ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากความต้องการในหลายประเทศที่กลับมา ไม่ว่าจะเป็นจีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเวียดนาม ซึ่งจะช่วยให้ TASCO มีผลประกอบการที่ฟื้นตัวโดดเด่นในช่วง 3Q57 และ คาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4Q57 และ ปีหน้า เพราะ TASCO ยังจะได้ประโยชน์โดยตรงจากงบประมาณภาครัฐในปี 2558 ที่จะจัดสรรให้กับกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเพิ่มขึ้นกว่า 12%YoY รวมไปถึงการสนับสนุนให้กับมีการใช้ยางพาราผสมกับยางมะตอย ซึ่ง TASCO เป็นผู้ผลิตที่มีส่วนแบ่งการตลาดสินค้าชนิดนี้เกือบทั้งหมด
นอกจากนี้ การร่วมทุนกับ SK Energy ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเลียมรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ เพื่อทำธุรกิจค้าขายยางมะตอย จะช่วยเพิ่มโอกาสในการบุกตลาดในต่างประเทศให้กับ TASCO ได้มากขึ้น ฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ ประเมิน Fair Value อิง PER 14 เท่า จะให้ราคาเหมาะสมในปี 2558 ที่ 70 บาท มี Upside อีก 18.64%

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!