- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 22 July 2019 16:19
- Hits: 3356
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ภาพรวมเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ยังปรากฎสัญญาณชะลอตัว ทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าจะเห็นการดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื้อกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ โดยในระดับโลกคาด Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่วนในประเทศคาดหวังมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน สำหรับผลประกอบการ 2Q62 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ประกาศออกมาเป็นไปตามคาด หลังจากนี้เป็น Real Sector ซึ่งน่าจะชะลอตัว ยังเลือก MINT (FV@B 47) และ BJC (FV@B 61) เป็น Top Picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …เปิดกระโดด 11 จุด
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเปิดโดด 11 จุด ก่อนที่จะแกว่งทรงตัวในแดนบวกตลอดวัน จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1735.10 จุด เพิ่มขึ้น 11.66 จุด (+0.68%) มูลค่าการซื้อขาย 6.19 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาด คือ กลุ่มอาหารเช่น CPF(+1.74%) MINT(+4.29%) OSP(+2.14%) กลุ่มค้าปลีกอย่างเช่น BJC(+3.00%) CPALL(+0.57%) HMPRO(+2.92%) กลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(+1.40%) INTUCH(+0.78%) TRUE(+3.85%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่าง SCB(+1.43%) BEM(+3.77%) และ BAY(+1.97%) ซึ่ง MINT และ BJC เป็น หุ้น Top picks ของ ASPS เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ภาพรวมเศรษฐกิจยังปรากฎสัญญาณการชะลอตัวอยู่ โดยในวันที่ 23 ก.ค.62 IMF จะเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ GDP Growth ปี 2562 ของโลกตัวใหม่ซึ่งมีโอกาสที่จะต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ทำไว้ 3.3% เนื่องจากมีเหตุปัจจัยใหม่ที่เข้ามากระทบคือเรื่องกำแพงภาษีตัวใหม่ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งยังไม่ถูกสะท้อนในประมาณการก่อนหน้า สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การสร้างความคาดหวังว่าจะเห็นมาตการในการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยในการประชุม Fed ช่วงปลายเดือนนี้คาดว่าจะเห็นการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สำหรับประเทศไทยภาพรวมของสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยยังเห็นสัญญาณการชะลอตัวนำโดยภาคการส่งออก ซึ่งถูกคาดหมายว่าตัวเลขการส่งออกเดือน มิ.ย.62 ที่จะประกาศออกมาน่าจะติดลบ 4.5% YoY และน่าจะเป็นแรงผลักดันให้ภาครัฐต้องเร่งประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนออกมา ทั้งนี้รัฐบาลมีกำหนดจะแถลงนโยบายเศรษฐกิจต่อรัฐสภาในวันที่ 25-26 ก.ค.62 นี้ หลังจากนั้นก็น่าจะเห็นการเร่งออกมาตรการออกมา โดยมาตรการหลักน่าจะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งฝ่ายวิจัยเห็นว่าน่าจะเป็นผลดีต่อกลุ่มค้าปลีก และท่องเที่ยว หุ้นเด่น จึงยังคงเป็น MINT และ BJC นอกจากนี้ยังมีหุ้นที่มีจุดเด่นเฉพาะตัว โดยนักวิเคราะห์ได้ทำการปรับเพิ่มประมาณการกำไร และ
Fair Value ได้แก่ JWD และ TTCL ส่วนการ SET Index คาดอยู่ในกรอบ 1720 – 1740 จุด
ตลาดหุ้นโลกให้น้ำหนัก รายงาน IMF, ECB meeting, GDP สหรัฐ
ปัจจัยต่างประเทศในสัปดาห์นี้เชื่อว่าตลาดให้น้ำหนัก 3 ประเด็นคือ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะออกรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจประจำปี วันที่ 23 ก.ค. เชื่อว่ามีโอกาสที่ IMF จะปรับลด GDP Growth ของโลกลงถือเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ โดยปัจจุบันคาด ปี 2562-2563 ขยายตัว 3.3% และ 3.6% ตามลำดับ เชื่อว่ามีโอกาสกดดันต่อตลาดหุ้นโลก
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประชุม 25 ก.ค. แม้โดยรวมตลาดคาดจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในรอบนี้ (ผลสำรวจคาด 45%จะมีการลดดอกเบี้ยนโยบาย ลงอีก 0.1% เหลือ -0.5% และ 55% คาดจะยังไม่เปลี่ยนแปลง) แต่ให้น้ำหนักจะมีการส่งสัญญาณกระตุ้นผ่านการกลับมาใช้ QE อีกครั้งหรือไม่ หลังจากก่อนหน้าประธาน ECB ให้ความเห็นพร้อมจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปที่ยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะปัญหา Brexit ในอังกฤษที่มีโอกาสจะออกจากยุโรปแบบ No deal ในวันที่ 31 ต.ค.2562 หลังจากตัวเต็งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทั้ง 2 คน คือนาย Borish Johnson VS. Jeremy Hunts มีแนวคิดจะนำอังกฤษออกจากยุโรปแบบ No Deal และจะทราบผลนายกสัปดาห์นี้ 23 ก.ค.
สหรัฐรายงาน GDP Growth งวด 2Q62 ตลาดคาดขยายตัว 1.8%QoQ ชะลอจาก 3.1% เชื่อว่าจะมีผลต่อคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ(Fed) หลังจากตลาดเชื่อมั่น 100% ว่าในการประชุม 30-31 ก.ค. จะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5%(ผลสำรวจ Bloomberg พบว่า 85% คาดจะลดราว 0.25% อีก 15% คาดจะลดลง 0.5%) หาก Fed ชะลอการลดดอกเบี้ยในรอบนี้เชื่อว่าตลาดอาจจะปรับฐานในช่วงสั้น
ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวช่วงสั้น จากความตึงเครียดตะวันออกกลาง
ราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัวช่วงสั้น โดยมีปัจจัยหนุนจากฝั่ง Supply คือความตึงเครียดในตะวันออกกลางกลับมาอีกครั้งระหว่างอิหร่านกับอังกฤษ หลังจากวันศุกร์ที่ผ่านมาเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษถูกกองกำลังปฏิวัติอิสลามอิหร่านยึด ทำให้อังกฤษเตรียมจะออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม และปัจจัยหนุนจาก กลุ่มประเทศ OPEC และ Non OPEC ที่ขยายระยะเวลาตัดลดกำลังการผลิตวันละ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปจนถึง 31 มี.ค.2563
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบในระยะยาวจะถูกกดดันจากฝั่ง Demand จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐและจีน(ผู้บริโภคน้ำมันราว 50% ของการบริโภคน้ำมันทั้งโลก) ทั้ง 2 ฝั่งเดินหน้าทำสงครามการค้า คือ ขึ้นภาษีนำเข้า 3 รอบ (สหรัฐ 2.5 แสนล้านเหรียญฯ VS. จีน 1.1 แสนล้านเหรียญ) แม้ช่วงสั้นจะพักรบคือยังไม่ขึ้นรอบที่ 4 และกำลังเจรจากัน
โดยรวมราคาน้ำมันดูไบ ล่าสุดราคาปิดเมื่อวาน 60.07 เหรียญฯ เฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 64.2 เหรียญฯ แต่ยังสูงกว่าสมมติฐานที่ ASPS คาด 60 เหรียญฯ ในปี 2562 และนับจากปี 2563 เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ โดยกลยุทธ์การลงทุนหุ้นพลังงาน-โรงกลั่นระยะสั้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังมีโอกาสอ่อนตัว และผลประกอบการงวด 2Q62 คาดอ่อนตัวจากงวดก่อนหน้า เนื่องจากจะมีการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน Stock loss ทำให้ยังคงแนะนำชะลอการลงทุนออกไปก่อน
ส่งออกชะลอ หนุนรัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นการบริโภค ดีต่อค้าปลีก
ขณะที่ไทยในวันนี้ จะมีรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ เดือน มิ.ย. ตลาดคาด ส่งออก(X) หดตัวราว 4.5%yoy(หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4) ขณะที่นำเข้าคาดหดตัวราว 2.5%yoy (หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5) จากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีนโดยเฉพาะในรอบที่ 3 วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญที่สหรัฐเพิ่มจาก 10% เป็น 25% เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา (ASPS คาดส่งออกปี 2562หดตัว 3%)
อย่างไรก็ตามจากภาคส่งออก(ภาค 68%ของ GDP) ที่มีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ชะลอตัว ทำให้ปัจจัยขับเคลื่อนน่าจะมาจาก การลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนเอกชน ล่าสุดปลายสัปดาห์ที่แล้ว Fitch Rating ที่ปรับมุมมองเป็นบวก (จากเดิม คงที่) ถึงแม้จะยังคงระดับ Credit Rating ของไทย ที่ BBB+ แต่เป็นสัญญาณที่ดีในอนาคต น่าจะเป็นปัจจัยดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติ และเชื่อว่าเศรษฐกิจกิจไทยจะถูกขับเคลื่อนจากการบริโภคครัวเรือนที่มีแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเร่งเดินหน้าออกนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศตามที่เคยหาเสียง ล่าสุดมีกำหนดแถลงนโยบายต่อสภาตั้งแต่ 25 ก.ค. 2562 เป็นต้นไป โดย ASPS แบ่งเป็น
นโยบายเร่งด่วนระยะสั้นและน่าจะเกิด : อาทิ นโยบายสวัสดิการสังคม อาทิ เพิ่มเบี้ยยังชีพ แก่ ผู้สูงอายุ, ผู้พิการ, ผู้ยากไร้, นโยบายมารดาประชารัฐ, การยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ครอบคลุม และเพิ่มจำนวนบัตร เป็นต้น, นโยบายการเกษตร เช่น การประกันราคาสินค้าเกษตร ประกันรายได้เกษตรกร เป็นต้น
• นโยบายระยะกลาง และอยู่ระหว่างพิจารณา : เช่น นโยบายปฏิรูประบบภาษี ได้แก่ การลดภาษีบุคคลธรรมดาลง 10%, การลดภาษีสำหรับผู้ขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น, นโยบายปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน จากปัจจุบันที่ 325 บาท/วัน เป็นต้น โดยรวมเนื่องจากนโยบายดังกล่าว เชื่อว่ารัฐบาลกำลังศึกษาผลกระทบและผลประโยชน์เชื่อว่าจะใช้เวลาพิจารณา เพราะการลดภาษีอาจกระทบต่อการจัดหาเงินของรัฐ ทำให้การขาดดุลงบประมาณปี 2563 เพิ่มขึ้นกว่าเดิม และภาครัฐอาจจะเพิ่มการภาษีอื่นๆ ในภายหลังได้ ขณะที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะกระทบผู้ผลิตและต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี (ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ, ภาคเอกชน และลูกจ้าง)
โดยรวมมาตรการกระตุ้นการบริโภค ถือเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีก อาทิเช่น CPALL, HMPRO, ROBINS, MAKRO และ BJC โดยสำหรับ Top Pick กลุ่มในนี้คือ BJC( FV@B61)
ฟ้าหลังฝน TTCL เด่นทั้งกำไรและ Story
หลังผ่านมรสุมทางธุรกิจอย่างหนักในปี 2561 ที่ทำให้ TTCL มีผลขาดทุนสุทธิสูงถึง 1,980 ล้านบาท จากนี้ไปเชื่อว่า TTCL จะมีทิศทางธุรกิจที่สดใสพร้อม Story เชิงบวกที่ช่วยสร้างกระแสเก็งกำไรให้กับหุ้นตลอดทั้งปี ดังนี้
เริ่มต้นจากผลประกอบการ 2Q62 ที่โดดเด่นอย่างมาก คาดกำไรสุทธิ 532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110%QoQ จากการรับรู้รายได้ที่มากขึ้นของ 3 โครงการหลักใน Backlog ได้แก่ LSP,MOC Expansion และ PTT Olefin รวมถึงได้รับกำไรพิเศษขายเงินลงทุนโรงไฟฟ้า TTGP ออกไป 60% ช่วงปลายเดือน พ.ค. 62 ราว 21 ล้านเหรียญ
การปรับโครงสร้างเงินลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยการการขายหุ้น TTGP ให้กับ Chugoku Electric Power (CEP) และ Shikoku Electric Power (SEP) ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่นรายละ 30% ส่งผลให้ TTCL มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง คาดว่าอัตราส่วน Net Gearing สิ้น 2Q62 จะลดลงจาก 2.33 เท่าใน 1Q62 ลงมาเหลือเพียง 1.27 เท่า สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 จะสามารถเดินหน้าไปอย่างไม่ปัญหา และยังได้พันธมิตรจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีประสบการณ์สูงมากในธุรกิจโรงไฟฟ้าทุกประเภท
ต่อด้วยการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 กับรัฐบาลเมียนมาร์ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 3Q62 และการเซ็นสัญญา EPC Contract งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว ช่วยเพิ่ม Backlog ให้กับ TTCL ได้ถึง 480 ล้านเหรียญฯ
เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา หนุนให้ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2562 ขึ้น 136% เป็น 968 ล้านบาท (เป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่จดทะเบียนเข้าตลาดฯมา) และเพิ่มราคาเหมาะสมจาก 10 บาท เป็น 12.50 บาท
กลยุทธ์เน้นหุ้นผลประกอบการดี หรือหุ้นปันผลระหว่างกาลสูง
ผลประกอบการงวด 2Q62 ของ ธ.พ. 8 แห่ง (LHFG, TMB ยังไม่รายงานงบ) ออกมาตามคาด อยู่ที่ 5.06 หมื่นล้านบาท หดตัว 5.0%QoQ (แต่เติบโตเล็กน้อย 0.2%YoY) จาก BAY ในงวด 1Q61 มีการบันทึกกำไรพิเศษ รวมถึงภาพรวมธุรกิจหลักยังอ่อนตัว โดยกลุ่มธ.พ. ขนาดใหญ่ที่เติบโตมากสุดเมื่อเทียบกับงวดก่อนหน้าคือ SCB BBL KTB ส่วนธ.พ. ขนาดกลาง-เล็ก คือ TISCO KKP
หนุนกำไรสุทธิงวด 1H62 ของ ธ.พ. 10 แห่งที่ศึกษา (รวม LHFG, TMB ที่คาดการณ์) ดีกว่าคาด เพิ่มขึ้นเป็น 1.09 แสนล้านบาท เติบโตราว 4.0% จากงวดเดียวกันของปี 2561 คิดเป็นสัดส่วน 52.0% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2562 ที่ประเมินไว้ สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลังนี้ คาดผลประกอบการจะเร่งฟื้นตัวขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสานต่อและโครงการลงทุนใหม่ของภาครัฐ หนุนยอดสินเชื่อของธนาคารฯ ขยายตัว ส่วนคาดการณ์ NIM และ สำรองหนี้ฯน่าจะยังทรงตัว
และถัดจากนี้ กลุ่ม Real Sector จะทยอยประกาศงบ ภาพรวมฝ่ายวิจัยคาดว่ากำไรสุทธิตลาดฯ งวด 2Q62 จะหดตัวทั้ง QoQ และ YoY (จากฐานกำไรงวด 1Q62 ที่ 2.66 แสนล้านบาท และ 2.60 แสนล้านบาทในงวด 2Q61) สาเหตุหลักมาจากการบันทึกค่าใช้จ่ายพนักงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ รวมถึงการบันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมันของหุ้นในกลุ่มพลังงาน โรงกลั่น และปิโตรเคมี ทำให้รูปแบบการลงทุนยามนี้จึงต้องพิถีพิถันมากยิ่งขึ้น กลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนำ 2 ธีมลงทุน คือ
• หุ้นแข็งแกร่งพื้นฐานดี ที่คาดว่ากำไรจะเติบโตต่อเนื่อง และยังมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เลือก BJC, MINT, TTCL และ TU
• หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการจ่ายปันผลระหว่างกาล จากสถิติพบว่า ราคาหุ้นปันผลสูงมักจะตอบรับเชิงบวกโดยปรับตัวขึ้นก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD ราว 1-2 เดือน (เดือน ส.ค. จะเป็นรอบการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล) เลือก M, LH, KKP และ BBL
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ