- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 19 July 2019 16:37
- Hits: 3877
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ท่าทีของ Fed ที่แสดงความชัดเจนในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น ทำให้เงิน USD อ่อนค่า และผลักดันให้ Fund Flow ไหลเข้าสินทรัพย์ในสกลุเงินต่างๆ ซึ่งสินทรัพย์สกุลเงินบาทก็เป็นเป้าหมายสำคัญ จึงคาดว่าจะเห็น Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนี่อง แม้จะเป็นอัตราที่ลดลง แต่ก็ช่วยทำให้ SET Index ไม่ต่ำกว่า 1700 จุด ยังเลือกหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นแศรษฐกิจ มี MINT (FV@ 47) และ BJC (FV@B 61) เป็น Top Picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …แกว่งผันผวนในกรอบแคบ
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งผันผวนในกรอบแคบตลอดวัน แต่ยังทรงตัวปิดในแดนบวกได้ แม้ตลาดหุ้นทั่วโลกจะติดลบ จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1723.44 จุด เพิ่มขึ้น 4.59 จุด (-0.27%) มูลค่าการซื้อขาย 5.47 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาด คือ กลุ่มการเงินเช่น KTC(+5.70%) SAWAD(+2.78%) AEONTS(+1.74%) กลุ่มพลังงานเช่น EA(+1.90%) GPSC(+3.69%) GULF(+2.40%) แต่โดนกดดันจากกลุ่มธ.พ.เช่น BBL(-0.26%) KBANK(-1.91%) KTB(-1.02%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่าง AOT(-1.02%) OSP(-2.80%) และ ROBINS(-4.41%) เป็นต้น
ค่าเงิน USD อ่อนค่าลงอีกครั้งหลังจากความคาดหวังเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับโดยคาดว่าจะเริ่มเห็นการปรับลดลงครั้งแรกในการประชุมปลายเดือน ก.ค.2562 และน่าจะเห็นแนวโน้มการปรับลดลงต่อในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ มุมมองดังกล่าวทำให้เชื่อว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของ Fund Flow ยังน่าจะเป็นการไหลออกจากสินทรัพย์สกุลเงิน USD ไปสู่สินทรัพย์สกุลเงินอื่นๆ ที่ถูกมองว่ามีเสถียรภาพ และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งในบรรดาสกุลเงินต่างๆ เงินบาท ก็ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง ด้วยมุมมองดังกล่าวทำให้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่ายังจะเห็นการไหลเข้าของ Fund Flow มาสู่ตลาดหุ้นไทยได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเกิดขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงก็ตาม ซึ่งผลจากการไหลเข้าของ Fund Flow ก็น่าจะทำให้ SET Index สามารถที่จะยืนอยู่เหนือระดับ 1700 จุดได้ ส่วนอีกมุมมองหนึ่งที่ควรให้ความสนใจคือเรื่องของ Market Earning Yield Gap ที่อาจเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีท่าที่ว่าจะยังไม่มีกาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยท่าทีดังกล่าวอาจมีส่วนทำให้ระดับของ Market Earning Yield Gap ที่ยอมรับของนักลงทุน ปรับลดลงจากค่าเฉลี่ย 4.28% (เฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา) ลงมาก็ได้ ซึ่งการปรับลดลงของ Yield Gap ที่นักลงทุนยอมรับได้ ก็มีส่วนทำให้เห็นการขยับฐานขึ้นของค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดหุ้นไทยได้เช่นกัน สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ยังให้ความสำคัญกับหุ้นที่น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษบกิจของรัฐบาล โดยเลือก BJC และ MINT เป็น Top Picks
วัฎจักรดอกเบี้ยโลกเป็นขาลง... ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสามารถซื้อขายบนค่า PER ที่สูงขึ้นได้
เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามการค้า ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเริ่มจากสหรัฐ(Fed) ตลาดเชื่อมั่น 100% ว่าในการประชุม 30-31 ก.ค. จะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5%(ผลสำรวจ Bloomberg พบว่า 85% คาดจะลดราว 0.25% อีก 15% คาดจะลดลง 0.5%) หาก Fed ชะลอการลดดอกเบี้ยในรอบนี้เชื่อว่าตลาดอาจจะปรับฐานในช่วงสั้น และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีการประชุมครั้งถัดไป 25 ก.ค. ตลาดคาดจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในรอบนี้ แต่ให้น้ำหนักจะมีการส่งสัญญาณกระตุ้นผ่านการกลับมาใช้ QE อีกครั้งหรือไม่ หลังจากก่อนหน้าประธาน ECB ให้ความเห็นพร้อมจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปที่ยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะปัญหา Brexit ในอังกฤษที่มีโอกาสจะออกจากยุโรปแบบ No deal ในวันที่ 31 ต.ค.2562 หลังจากตัวเต็งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทั้ง 2 คน คือนาย Borish Johnson VS. Jeremy Hunts มีแนวคิดจะนำอังกฤษออกจากยุโรปแบบ No Deal และจะทราบผลนายก สัปดาห์หน้า 22 ก.ค.
เช่นเดียวกับฝั่งเอเซียเกือบทุกประเทศเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายเริ่มจากอินเดีย (ลดไปแล้ว 3 ครั้งๆ ละ 0.25% รวม 0.75%), มาเลเซีย(ลดครั้งแรก 0.25% ในรอบ 2 ปี 10 เดือน), ฟิลิปปินส์ (ลดครั้งแรก 0.25% ในรอบ 2 ปี 11 เดือน) ล่าสุด วานนี้อีก 2 ประเทศที่ลดดอกเบี้ยคือ เกาหลีใต้ลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75% เป็น 1.5% ลดครั้งแรกในรอบ 3 ปี 2 เดือน) และธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 6.0% เป็น 5.75% ลดครั้งแรกในรอบ 1 ปี 10 เดือน
Fund Flow น่าจะยังไหลเข้าสู่ภูมิภาคจากดอกเบี้ยขาลง
แนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐที่เป็นขาลงชัดเจนดังกล่าวข้างต้น เชื่อว่าเป็นปัจจัยหนุนให้แนวโน้ม Fund Flow ยังไหลเข้าในภูมิภาค โดยเชื่อว่ามี 3 ปัจจัยที่สนับสนุน Flow จะไหลเข้าประเทศใด
อัตราแลกเปลี่ยน/ดอลลาร์ยังไม่แข็งค่ามากเกินไป (รายละเอียดดังรูป) พบว่าส่วนใหญ่มีทิศแข็งค่าตั้งแต่ต้นปี ยกเว้น เกาหลีใต้และไต้หวันที่ค่าเงินอ่อนค่า ขณะที่ประเทศที่ค่าเงินแข็งค่าน้อยที่สุด เรียงตามตามลำดับคือ ฮ่องกง มาเลเซีย ,ญี่ปุ่น, อินเดีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไทย ยังแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค ตามลำดับ
การเปลี่ยนแปลงค่าเงิน
ที่มา : Bloomberg วันที่ 19 ก.ค.2562
อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง(Real interest rate)เป็นบวก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายหักลบเงินเฟ้อ สามารถสะท้อนผลตอบแทนที่แท้จริงในแต่ละประเทศหากพิจารณาประเทศในภูมิภาค พบว่าส่วนใหญ่มีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก ซึ่งเรียงจากมากไปน้อย คือ อินเดีย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และไทย ตามลำดับ
อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง
ที่มา: ธปท., ASPS
อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงไม่มากนัก เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้ผลตอบของการลงทุนในประเทศนั้นลดลง ทำให้ Fund Flow ไหลเข้าน้อยลง ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่ต้นปี ประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่ลดดอกเบี้ยแทบทั้งสิ้น โดยอินเดียลดมากสุดถึง 3 ครั้ง, มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียลดไปประเทศละ 1 ครั้ง ขณะที่ไทยยังไม่ลดดอกเบี้ย
โดยสรุปเชื่อว่า Fund Flow จะไหลเข้าประเทศที่ค่าเงินไม่แข็งค่ามากเกินไป และยังมีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก และดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงไม่มากนัก ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเชื่อว่า Fund Flowน่าจะยังไหลเข้าเพราะเสถียรภาพการเมืองที่ที่ชัดเจน และฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง แต่น่าจะเข้าลักษณะชะลอ เพราะเผชิญเงินบาทแข็งค่ามากที่สุด
ราคาน้ำมันดิบปรับฐานแรง หลีกเลี่ยงหุ้นน้ำมันและโรงกลั่นช่วงสั้น
ราคาน้ำมันดิบโลกยังปรับฐานต่อเนื่อง 4 วันรวมกันราว 7% หลักๆถูกกดันจากปัจจัยฝั่ง Supply คือ จากสหรัฐที่จะกลับมา หลังจากพายุเฮอริเคนแบรี่ที่พัดถล่มอ่าวเม็กซิโกสัปดาห์ที่แล้วอ่อนตัวลง ทำให้แท่นขุดเจาะและโรงกลั่นราว 80% เริ่มกลับมาดำเนินตามปกติ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหนุนจาก กลุ่มประเทศ OPEC และ Non OPEC ตกลงขยายระยะเวลาตัดลดกำลังการผลิตวันละ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปจนถึง 31 มี.ค.2563
ขณะที่ฝั่ง Demand ถูกกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐและจีน(ผู้บริโภคน้ำมันราว 50% ของการบริโภคน้ำมันทั้งโลก)
โดยรวมเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดูไบ ล่าสุดราคาปิดเมื่อวาน 59.33 เหรียญฯ เฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 64.2 เหรียญฯ แต่ยังสูงกว่าสมมติฐานที่ ASPS คาด 60 เหรียญฯ ในปี 2562 และนับจากปี 2563 เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ โดยกลยุทธ์การลงทุนหุ้นพลังงาน-โรงกลั่นระยะสั้นยังคงแนะนำหลีกเลี่ยงลงทุนออกไปก่อน
Fund Flow ยังเป็นแรงผลักดันหลักช่วยหนุนหุ้นไทย
SET Index ถูกกดดันจากแรงขายของนักลงทุนสถาบันฯ 4 วันติด คิดเป็นมูลค่า 1.05 หมื่นล้านบาท โดยแรงขายจากสถาบันฯมีมาตลอดตั้งแต่ 27 พ.ค. 62 จนถึงปัจจุบันถึง 4.4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ยอดซื้อสุทธิตั้งแต่ตันปีปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนเหลือเพียง 1.4 พันล้านบาทเท่านั้น (ytd) กดดันให้ดัชนียังติดแนวต้านในโซน 1750 จุด
มูลค่าการซื้อขายสะสมของนักลงทุนสถาบันและต่างชาติในหตลาดหุ้นไทย (ytd)
ที่มา : SET, ฝ่ายวิจัย ASPS
อย่างไรก็ตามการที่ SET Index ยังยืนอยู่ในระดับสูงได้ เนื่องจากได้แรงหนุนจาก Fund Flow ที่ไหลเข้าต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค. 62 ถึงปัจจุบันถึง 8.4 หมื่นล้านบาท (เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้า > เม็ดเงินที่ไหลออกจากสถาบันฯ) และยังมีโอกาสไหลเข้าต่อเนื่อง ด้วยหลากหลายปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ประเทศไทยยังดูโดดเด่นเป็นลำดับต้นๆในภูมิภาค เริ่มจากการเดินหน้าผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่, มีโอกาสน้อยที่ทาง ธปท. จะลดดอกเบี้ยไทยในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเริ่มทยอยปรับลดดอกเบี้ยบ้างแล้ว
ล่าสุด แม้ Fitch Rating ยังคงระดับ Credit Rating ของไทย แต่มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น ส่งผลให้ Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง บวกกับผลตอบแทนจากพันฐบัตรรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ หนุนให้นักลงทุนมีโอกาสซื้อขายหุ้นไทยบน P/E ที่สูงกว่าปกติ ด้วยลักษณะดังกล่าว ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น และช่วยจำกัด Downside ของ SET Index ให้ยืนเหนือ 1700 จุดได้
เครดิตเรตติ้ง
ที่มา: countryeconomy.com/ratings
“ตลาดหุ้นไทยเป้าหมาย Fund Flow” กลยุทธ์เลือกหุ้นใหญ่เติบโตดี BJC, MINT
ด้วยความเสี่ยงจากสงครามการค้าและภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น คงเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกกลับมาอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันก็จะจูงใจให้เกิดการโยกย้ายการลงทุนไปในแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ทำให้เชื่อว่าแนวโน้ม Fund Flow ยังมีโอกาสไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยเป้าหมายหลักน่าจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ใน ดัชนี SET50 และ SET100 รวมถึงหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งและมีแนวโน้มเติบโตดี อาทิ หุ้นในพอร์ตจำลองของฝ่ายวิจัย ASPS ประกอบด้วย MINT(FV@B 47), FPT(FV@B 20.30), BBL(FV@B 227), LH(FV@B 13.60), TU(FV@B 23), M(FV@B 84), BJC(FV@B 61), KKP(FV@B 75.60) และ AMATA (FV@B 35.70)
สำหรับ Top Pick วันนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงชื่นชอบ BJC( FV@B 61) ด้วยมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ และขยายสาขาใหม่ (ปีนี้รวม 8 แห่ง) หนุนยอดขายสาขาเดิม(SSSG) เติบโตสูงขึ้นจาก 1H62 ที่ 0.5% yoy (สมมติฐาน SSSG ทั้งปีที่ 1.8%) บวกกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่จะมีคำสั่งซื้อกระป๋อง จาก SABECO และรายอื่นๆ ราว 400 ล้านกระป๋อง ในปีนี้ ทำให้คาดกำไรทั้งปี 2562 เติบโต 7.1% เท่ากับ 7.1 พันล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นปัจุบันยัง Laggard กลุ่มฯ และมีมากถึง Upside 22% จากมูลค่าพื้นฐานที่ 61 บาท
และ MINT (FV@B47) นักวิเคราะห์ ASPS คาดแนวโน้มกำไรปกติ 2Q62 คาด Outperform กลุ่มฯ (กลุ่มบริษัทโรงแรมอื่นคาดอ่อนตัว YoY และ QoQ) ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ขับเคลื่อนด้วยการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะจากกลุ่ม NH Hotel ที่มีสัดส่วนรายได้มากสุด เพราะเข้าสู่ High Season อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ เป็นบวกต่อกำลังซื้อในประเทศ มีโอกาสผลักดันยอดขายร้านอาหารเดิม (SSSG) เติบโตดีขึ้น และส่งผลให้กำไรปกติทั้งปี 2562 เพิ่มขึ้น 14% yoy อยู่ที่ 6,796 ล้านบาท ในส่วนของราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside 15.34% คงแนะนำซื้อ
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ