- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 17 April 2019 15:53
- Hits: 938
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ประเมินจากปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐาน ยังไม่เห็นปัจจัยใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทำให้ SET Index เปลี่ยนแปลงไปในทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน จึงน่าจะทำให้ SET Index เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ โดยความสนใจจะอยู่ที่การประกาศงบ 1Q62 เริ่มจากกลุ่มธนาคารฯ อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาจากนี้ไปภายใต้สถานการณ์การเมืองที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง น่าจะทำให้ Fund flow ค่อยๆ ทยอยไหลกลับเข้ามา ตัวเลือกการลงทุนจึงให้ความสำคัญกับหุ้น Market Cap ใหญ่ ที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแรง Top Picks: STEC(FV@B 29.25) และ KBANK(FV@B 246)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … SET INDEX แกว่งผันผวนเบาๆ ก่อนช่วงหยุดยาว
วันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งผันผวนตลอดวันในกรอบแคบ จนทำให้ปิดที่ระดับ 1660.45 จุด เพิ่มขึ้น 1.36 จุด (+0.08%) มูลค่าการซื้อขาย 3.30 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มที่หนุนตลาด คือ กลุ่มขนส่งอย่างเช่น BTS(+3.57%) AOT(+0.37%) PRM(+6.82%) กลุ่มอสังหาฯอย่างเช่น AP(+1.29%) LPN(+2.13%) และกลุ่มก่อสร้างอย่าง TASCO(+1.20%) SCC(+0.88%) TPIPL(+1.00%) แต่โดนกดดันจากหุ้นขนาดใหญ่อย่าง SCB(-2.28%) TOA(-2.36%) TRUE(-1.90%)
สัปดาห์นี้มีการซื้อขายเพียง 3 วันทำการ ซึ่งคาดว่าจะทำให้มูลค่าการซื้อขายยังอยู่ในภาวะที่บางเบา ส่วนปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐานในต่างประเทศมีเรื่องที่ต้องติดตามคือการประกาศตัวเลข GDP Growth งวด 1Q62 ของจีน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทำให้เกิดความคาดหมายว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจประกาศตามออกมา ส่วนในประเทศความสนใจจะอยู่ที่การประกาศผลประกอบการงวด 1Q62 โดยจะเริ่มจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคาดว่ากำไรสุทธิน่าจะเติบโต 5.2% QoQ แต่ลดลง 15.5% YoY ประเมินจากน้ำหนักของปัจจัยแวดล้อมคาดว่าน่าจะทำให้ SET Index ยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบช่วง 1660 - +/-10 จุดเช่นเดิม แต่ยังเชื่อว่า Fund Flow ยังมีทิศทางที่ไหลเข้า จึงยังให้ความสำคัญกับหุ้น Market Cap ใหญ่ ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแรงอย่าง KBANK และ STEC
วันนี้จีนรายงาน GDP Growth 1Q62 ตลาดคาดชะลอจากงวดก่อนหน้า
วันศุกร์ที่ผ่านมา จีนรายงานตัวเลขการค้าเดือน มี.ค.ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดช่วยผ่อนคลายความกังวลเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวในช่วงสั้น กล่าวคือ ยอดการส่งออกในรูปดอลลาร์ พลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง 14.2%yoyจากเดือน ก.พ.ที่หดตัว 20.7% และดีกว่าตลาดคาด 7.3% สาเหตุที่เดือนนี้ขยายตัวเป็นผลจากฐานของยอดส่งออกที่ต่ำในเดือน มี.ค. 2561 และหากพิจารณาในตลาด พบว่าฟื้นตัวทุกตลาด คือ สหรัฐ ขยายตัว 3.7% จากหดตัว 28.6% เดือน ก.พ.62 , ญี่ปุ่น ขยายตัว 9.6% จากหดตัว 9.5% ในเดือน ก.พ., ออสเตรเลีย ขยายตัว 23% จากหดตัว 15.9 เดือนก่อน, ยุโรป ขยายตัว 23.7% จากหดตัว 13.2% ในเดือน ก.พ., กลุ่มอาเซียน ขยายตัว 24.8% จากหดตัว 13.6%, เวียดนาม ขยายตัว 30.1% จาก 6.1% เดือน ก.พ., ไทย ขยายตัว 7.9% จากหดตัว 23.4% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คาดยอดส่งออกของจีนในครั้งนี้ที่ฟื้นตัวเป็นเพียงระยะสั้นๆ ตราบที่การจัดเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐ-จีนยังมีอยู่ แม้ทั้ง 2 ฝั่งใกล้ได้ข้อบรรลุ ล่าสุด แหล่งข่าวจาก Bloomberg อ้างว่าจีนจะยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐบางส่วน คือ จะยกเลิกสินค้าเกษตรและไปเก็บสินค้าอื่นแทน แต่ยังไม่มีรายละเอียด (เกษตรกรผู้ผลิตถั่วเหลืองสหรัฐเป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์) โดยรวมถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นโลก
และในวันนี้ จีนจะรายงาน GDP Growth งวด 1Q62 ซึ่งตลาดคาดว่าจะขยายตัวราว 6.3%yoy (ต่ำสุดในรอบ 27 ปี) ชะลอตัวจากงวด 4Q61 ที่ 6.4% ยังสอดคล้องกับ IMF ที่คาด GDP Growth จีนปี 2562 จะขยายตัวราว 6.3% และยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ตั้งไว้ในช่วง 6.0-6.5% สำหรับปีนี้ (ปรับลดลงจาก 6.5% ในปี 2561)
ราคาน้ำมันดิบโลกน่าจะยืนบริเวณ 70 เหรียญฯ
ราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นราว 33.6%นับตั้งแต่ต้นปี(ytd)และทรงตัวในระดับสูงบริเวณ 70 เหรียญ เป็นผลจากการตอบรับปัจจัยหนุนจากฝั่ง Supply คือ ความคาดหวังกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (Opec+Non-Opec) จะยืดระยะเวลาในควบคุมการผลิตน้ำมัน จากเดิมที่กำหนดไว้กลางปี 2562 เป็นสิ้นปี 2562 (ตามข้อตกลง OPEC และ Non OPEC ทำสัญญาล่าสุด ธ.ค. 2561 จะตัดลดการผลิตถึงกลางปี 2562 ที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน) ซึ่งตลาดให้น้ำหนักไปที่การประชุมรัฐมนตรีของแต่ละประเทศของสมาชิกทั้งในและนอกกลุ่ม OPEC หรือ JMMC (The Joint Ministerial Monitoring Committee) เดือน 24 พ.ค.2562 ซึ่งบ่งชี้ว่าจะมีการขยายระยะเวลาต่อไปหรือไม่และ Supply ที่จะหายไปจาก อิหร่าน และเวเนซุเอล่า หลังจากถูกสหรัฐคว่ำบาตร, ลิเบียจากปัญหาทางการเมือง แต่เชื่อว่าตลาดน่าจะตอบรับไปหมดแล้ว
ขณะที่ฝั่งความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ลดลงจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ยังมีอยู่ โดยแนวโน้มราคาน้ำมันดิบติดบริเวณแนวต้านที่ 70 เหรียญฯ มีความเสี่ยงราคาอาจจะปรับฐานช่วงสั้น หากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของจีน คือ GDP Growth ที่ประกาศในวันนี้ ออกมาต่ำกว่าที่คาด ได้
อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดูไบล่าสุดยืนบริเวณ 69.96 เหรียญฯต่อบาร์เรล (เฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 63 เหรียญฯ) ใกล้เคียงสมมติฐาน ASPS ที่กำหนดไว้ 65 เหรียญ ในปี 2562 และ 70 เหรียญฯนับจากปี 2563 เป็นต้นไป) ขณะที่หุ้นน้ำมันยังอยู่ในภาวะ Laggard เฉพาะอย่างยิ่ง PTTEP(FV@B178) และ PTT(FV@B56) รวมถึงหุ้นในกลุ่มโรงกลั่น-ปิโตรฯ (PTTGC, TOP, IRPC)
การเมืองดูเหมือนผันผวน แต่น่าจะค่อยๆ กลับเข้าสู่ลู่ทาง
ประเด็นการเมืองในช่วงเวลานี้ที่อยู่ในความสนใจมีอยู่ 2 เรื่องหลักคือ การหาข้อสรุปเกี่ยวกับสูตรการคำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ และ การจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีความคืบหน้าดังนี้คือ
• สูตรการคำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ กกต. ได้มีมติส่งคำร้องให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการคำนวน จำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่จะไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยในวันนี้ (17 เม.ย.2562) ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องที่ กกต. ส่งมาไว้พิจารณาหรือไม่ โดยในส่วนนี้ฝ่ายวิจัยเห็นว่าหากศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา และได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา ก็จะเป็นการช่วยลดประเด็นเรื่องการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในระยะยาวได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องติดตามว่าช่วงระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาจะได้ผลสรุปออกมาทันกำหนดที่ กกต. ต้องรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค. 2562 หรือไม่
• การจัดตั้งรัฐบาล ทั้ง 2 ขั้ว (พลังประชารัฐ และ เพื่อไทย) ต่างยังเดินหน้าหาแนวร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โอกาสที่จะได้รัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุน 250 – 260 เสียง (ซึ่งถือว่าไม่มากพอสำหรับการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลในระยะยาว) มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามได้มีอีก 1 ข้อเสนอที่เป็นกระแสออกมาในช่วงเวลานี้ คือการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งหากประเมินจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ยังเชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีอยู่น้อยมาก แต่ก็เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
โดยภาพรวมของสถานการณ์การเมืองในช่วงเวลานี้ ฝ่ายวิจัยยังมองว่า กระบวนการที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังดำเนินต่อไป แม้จะมีความไม่ชัดเจนอยู่บ้างก็เป็นเรื่องของกฎระเบียบที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องมีช่วงเวลาที่ต้องรอความชัดเจน แต่ทั้งหมดน่าจะเห็นภาพชัดในช่วงกลางเดือน พ.ค. 2562 หากพัฒนาการของเหตุการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ก็เชื่อว่า Fund Flow ยังมีโอกาสไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย และเป็นแรงหนุน SET Index
Preview งบ 1Q62 ... กลุ่ม ธ.พ. คาดโต 5.2%QoQ
ตลาดหุ้น S&P500 เข้าสู่ช่วงรายงานงบ 1Q62 Consensus คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนจะลดลง 1.8%yoy นับเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2559 ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงขับเคลื่อนเกี่ยวกับการปรับลดโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีที่ผ่านมา ทำให้ฐานกำไรสุทธิในปี 2561 อยู่ในระดับสูง
ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ใกล้เข้าสู่การประกาศงบ 1Q62 เช่นกัน เบื้องต้นฝ่ายวิจัยประเมินภาพรวมกำไรสุทธิตลาดฯ งวด 1Q62 คาดเติบโตสูง qoq แต่น่าจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วง 1Q61 (เนื่องจากฐานกำไรงวด 1Q61 สูงมากถึง 2.92 แสนล้านบาท) โดยกลุ่มแรกที่จะรายงานงบคือ กลุ่ม ธ.พ. คาดกำไรสุทธิ 1Q62 ของ ธ.พ.10 แห่งที่ศึกษา เท่ากับ 4.42 หมื่นล้านบาท เติบโต 5.2% qoq (แต่ลดลง 15.5% yoy) หลักๆ มาจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลงหลังพ้นช่วงฤดูกาล ช่วยหักล้างการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองพนักงานที่มีอายุงานเกิน 20 ปี ตาม ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายการลงทุนด้าน IT ที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ภาพรวมธุรกิจหลัก ทั้งสินเชื่อสุทธิและ NIM น่าจะยังเติบโตใกล้เคียงกับงวด 4Q61 ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมฯ คาดหดตัวเล็กน้อย เนื่องจากฐานต่ำในปี 2561 และได้รับผลบวกจากการบันทึกกำไรจากการซื้อขายเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น ด้านคุณภาพสินทรัพย์ แม้ NPL จะ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.21% จาก 3.19% ณ สิ้นปี 2561 แต่ไม่น่ากังวล เนื่องจากเป็นช่วงต้นปี ธ.พ.จะยังไม่ได้เร่งขาย NPL ออกไปอย่างเช่นในช่วงปลายปี สำหรับ ธ.พ. ที่คาดว่ากำไรสุทธิ 1Q62 เติบโตโดดเด่นเมื่อเทียบกับงวด 4Q61 คือ KBANK, SCB, KKP, BBL ขณะที่ KTB, TCAP, TISCO คาดหดตัว qoq
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มฯ เท่าตลาด มี BBL(FV@B227), KBANK(FV@B246) เป็นหุ้น Top Pick ของกลุ่ม และหลังจากนี้คาดว่าจะมีการประเมินกำไรงวด 1Q62 ของ Real Sector ตามมา โดยสามารถอ่านรายละเอียดได้ใน Market Talk
ช่วงสงกรานต์ Fund Flow ยังไหลเข้าหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
ช่วงตลาดหุ้นไทยหยุดสงกรานต์ (2 วัน) Fund Flow ยังไหลเข้าตลาดหุ้นภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่ากว่า 577 ล้านล้านเหรียญ หนุนให้ยอดซื้อสุทธิตั้งแต่ต้นปี 2562 อยู่ที่ 1.39 หมื่นล้านเหรียญ (สูงสุดในปีนี้) และเป็นการซื้อสุทธิถึง 3 ประเทศ ยกเว้นเพียงตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกขายสุทธิ 64 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) ส่วนตลาดหุ้นอีก 3 ประเทศต่างชาติซื้อสุทธิ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกซื้อสุทธิ 373 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2), ตามด้วยเกาหลีใต้ 256 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 13), ฟิลิปปินส์ 13 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7)
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
3 กลยุทธ์เด่น ช่วงหลังสงกรานต์
ช่วงตลาดหลักทรัพย์หยุด 2 วันทำการ เนื่องในวันสงกรานต์ ตลาดหุ้นอื่นๆ ยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า Fund Flow ยังคงไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยง หนุนให้ตลาดหุ้นสำคัญๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 2.9%, จีน 2.0%, สหรัฐ 0.15% เป็นต้น ขณะที่ตลาดหุ้นไทยกลับมาเปิดทำการเป็นวันแรก มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาดหุ้นโลก แนะแบ่งกลยุทธ์การลงทุนออกเป็น 3 ธีมดังนี้
หุ้นที่มักปรับตัวได้ดีช่วงครึ่งหลังของเดือน เม.ย. ดังสถิติในอดีตย้อนหลัง 5 ปี แม้ตลาดหุ้นมักจะทรงตัว โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 0.23% และให้ผลตอบแทนเป็นบวก 3 ใน 5 ปี แต่ยังมี Sector ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดี คือ กลุ่มปิโตรฯ, พลังงาน และ ICT ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงถึง 4.4%, 2.2%, 1.6% ตามลำดับ ดังภาพทางด้านล่าง
Sector ที่ Outperform ตลาดฯช่วงครึ่งหลังของเดือน เม.ย.
หุ้นพลังงานที่ฝ่ายวิจัยฯ ชื่นชอบ PTTEP(FV@B178), PTTGC(FV@B79) และ PTT(FV@B56) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยในอดีต 4.9%, 4.5% และ 3.1% ตามลำดับ ราคาหุ้นทั้ง 3 บริษัท ยัง Laggard ราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 33.6% (ytd)
หุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง ที่มีขนาดใหญ่สภาพคล่องสูง มักปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดียาม Fund Flow ไหลเข้า นอกจากหุ้นน้ำมันที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ยังมีหุ้นกลุ่ม ธ.พ. อย่าง KBANK(FV@B247), BBL(FV@B227) ใกล้เข้าช่วงประกาศงบงวด 1Q62 และคาดว่ายังทำกำไรเติบโตได้โดดเด่น QoQ รวมถึงหุ้นก่อสร้างที่มีประเด็นบวกเฉพาะตัว อย่าง STEC([email protected])
หุ้นปันผลสูง สามารถถือรับปันผลได้ ดังนี้
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ