- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 11 April 2019 11:53
- Hits: 1429
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ภาวะที่เริ่มเห็นการกลับมาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยแวดล้อมในต่างประเทศผ่อนคลายตามลำดับ เหลือเพียงประเด็นเรื่องการเมืองในประเทศซึ่งอยู่ในช่วงของการรอประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง คาด SET Index มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ฝ่ายวิจัยปรับพอร์ตการลงทุนเข้ามาสู่หุ้น Market Cap ใหญ่ และปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง เลือก 2 บริษัทเป็น Top Pick ได้แก่ STEC (FV@B 29.25) ซึ่งวันนี้ประกาศลงทุนสร้าง Recurring Income และ KBANK (FV@B 247) โดยชื่อว่าราคาหุ้นที่ปรับลดลงไปมากเกิดจากธุรกรรม Short Sell มีโอกาสดีดตัวกลับ
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ … ตลาดหุ้นไทยพุ่งทะยานต่อเนื่อง
วานนี้ SET Index แกว่งขึ้นทะลุแนวต้าน 1660 จุด จนทำให้ปิดที่ระดับ 1662.13 จุด เพิ่มขึ้น 4.39 จุด (+0.26%) มูลค่าการซื้อขาย 4.36 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มที่หนุนตลาด คือ กลุ่มสื่อสารเช่น TRUE(+4.00%) ADVANC(+1.87%) DTAC(+0.91%) INTUCH(+0.43%) กลุ่มพลังงานเช่น PTT(+0.52%) PTTEP(+0.76%) EASTW(+1.74%) และกลุ่มธ.พ. TMB(+1.94%) KKP(+1.07%) BBL(+0.48%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่เช่น AOT(+0.37%) KTC(+3.16%)
นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพร้อม เปิด Long ใน Furure ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ขณะที่ปัจจัยแวดล้อมในต่างประเทศค่อยๆ ผ่อนคลายทั้งในเรื่องของ Brexit และสงครามการค้า รวมถึงราคาน้ำมันที่ทรงตัวระดับสูง ส่วนปัจจัยในประเทศไม่มีเรื่องใหม่ภาพใหญ่เป็นการรอการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ของ กกต. และจัดตั้งรัฐบาล คาดว่าจะเห็นการไหลเข้าของ Fund Flow ต่อเนื่อง หนุน SET Index ยืนได้ที่ระดับสูง ยังคงเน้นหุ้น Market Cap ใหญ่ ปัจจัยพื้นฐานดี และ ให้ Dividend Yield ระดับสูง ส่วนประเด็นเรื่องการขยายระยะเวลาการชำระค่าคลื่นความถี่ 900 MHz แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการมือถือ แต่ราคาหุ้นปรับเข้าใกล้ Fair Value ควรชะลอการลงทุน แต่อาจสลับเข้าไปเก็งกำไรในกลุ่มผู้ประกอบการ TV Digital อย่าง BEC, MCOT และ RS แทน
แม้สต็อกน้ำมันเพิ่ม แต่ Supply ที่ลดลงหนุนราคาน้ำมันยืน 70 เหรียญฯ
แม้ EIA รายงานสต็อกน้ำมันของสหรัฐ วานนี้จะเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 สัปดาห์ราว 7.02 ล้านบาร์เรล (ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล) ผลจากความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการกลั่นลดลง สะท้อนจากอัตราการกลั่นน้ำมันลดลงเหลือ 87.3% จาก 87.4% ในสัปดาห์ก่อนหน้า
แต่พบว่าราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง เป็นผลจากฝั่ง Supply คือ วานนี้มีการรายงานกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC เดือน มี.ค. ลดลง 5.34 แสนบาร์เรล อยู่ที่ 30.02 ล้านบารร์เรล/วัน(ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี หรือ ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2558) หลักๆมาจากประเทศที่ปรับลดการผลิตมากสุดคือ ซาอุดีอาระเบียปรับลด 3.24 แสนบาร์เรล/วัน สู่อยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรล/วัน และความคาดหวังกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (Opec+ Non-Opec) มีแผนยืดระยะเวลาในควบคุมการผลิตน้ำมัน จากเดิมที่กำหนดไว้กลางปี 2562 เป็นสิ้นปี 2562 (ตามข้อตกลง OPEC และ Non OPEC ทำสัญญาล่าสุด ธ.ค. 2561 จะตัดลดการผลิตถึงกลางปี 2562 ที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน)
สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ลดลง และมีส่วนสำคัญหนุนให้ราคาน้ำมันดูไบล่าสุดยืนบริเวณ 69.96 เหรียญฯต่อบาร์เรล (เฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 63 เหรียญฯ) ใกล้เคียงสมมติฐาน ASPS ที่กำหนดไว้ 65 เหรียญ ในปี 2562 และ 70 เหรียญฯนับจากปี 2563 เป็นต้นไป) และหากราคาน้ำมันดิบดูไบที่สูงกว่าสมมติฐานของ ASPS ทุกๆ 5 เหรียญฯ จะหนุน Fair Value ของ PTTEP(FV@B178) ในปี 2562 เพิ่มขึ้นราว 10 บาท และ PTT(FV@B56) เพิ่มขึ้นราว 4 บาท
และราคาน้ำมันที่สูง ทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันงวด 1Q62 อยู่ที่ 66 เหรียญฯต่อบาร์เรล เทียบกับ 57 เหรียญฯ ใน 4Q61 หรือราว 10 เหรียญฯ จะทำให้เกิด Stock gain ในธุรกิจโรงกลั่น-ปิโตรฯ (PTTGC, TOP , IRPC) พลิกจากที่ขาดทุนจากสต็อกน้ำมันงวด 1Q62 จะหนุนกำไรโดยรวมของกลุ่มฯ ดีขึ้นจากงวด 4Q61 รวมถึง PTT จะได้อานิสงส์ด้วยเพราะถือหุ้นในบริษัทเหล่านี้
ขยายระยะเวลาชำระคลื่น 900 ดีต่อ TV Digital มากกว่า ICT
ประเมินจากกระแสข่าวเห็นว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก ที่จะมีการใช้มาตรา 44 เพื่อ ผ่อนปรนงวดการชำระเงินจากการประมูลคลื่น 900 MHz (ADVANC, TRUE และ DTAC เป็นผู้ประมูล) งวดที่ 4 ซึ่งเป็นก้อนใหญ่สุดออกไป 6 – 10 งวด ฝ่ายวิจัยมีมุมมองต่อกรณีดังกล่าวหากเกิดขึ้นจริง 3 ประเด็นคือ
• ต้นเหตุของปัญหาดังกล่าวมาจากการประมูลคลี่นความถี่ในระดับราคาที่สูงมาก ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยได้รวบรวมผลการประมูลคลื่นความถี่ที่ใช้สำหรับให้บริการระบบ 3G และ 4G ซึ่งพบว่ามีเม็ดเงินรวมสูงถึง 4.63 แสนล้านบาท (ดูตารางด้านล่างประกอบ) สาเหตุดังกล่าวทำให้การบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการยากลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ตามในเชิงของ Valuation แล้ว การขยายระยะเวลาออกไป ไม่น่าจะมีส่วนช่วยทำให้ Fair Value ที่คำนวนโดย DCF เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นหากราคาหุ้นปรับเข้าใกล้ Fair Value ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ ADVANC ที่ 210 บาท , DTAC ที่ 57 บาท และ TRUE ที่ 5.86 บาท นักลงทุนควรชะลอการลงทุน
ต้นทุนการประมูลคลื่นความถี่ในระบบ 3G และ 4G
ที่มา : ASPS
• การขับเคลื่อน 5G ถือเป็นเป้าหมายใหม่ของทางการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนระดับสูง ขณะที่ปริมาณธุรกิจยังมีไม่มาก ดังนั้นหากเกิดการประมูลคลื่นและการลงทุนรอบใหม่ อาจทำให้เกิดแรงกดดันต่อผลประกอบการ รวมถึง Valuation ของหุ้นทั้ง 3 บริษัท
• หากเกิดการประมูล 5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz ผลดีที่เกิดขึ้นน่าจะมากับหุ้นกลุ่ม Media ที่ให้บริการ TV Digital เนื่องจาก กสทช. มีแนวคิดที่จะนำเม็ดเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ไปช่วยเยียวยาผู้ประกอบการ TV Digital ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของการประมูลใบอนุญาตที่ระดับราคาสูงในอดีตรวมถึงภาพใหญ่ของอุตสาหกรรม มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์ และอาจทำให้เกิดแรงเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มนี้ได้แก่ BEC ซึ่งถือใบอนุญาตอยู่จำนวน 3 ช่อง, MCOT ถือใบอนุญาต 2 ช่อง ส่วนหุ้นที่อยู่ใน Coverage ของฝ่ายวิจัยและมี Upside ได้แก่ RS (FV@B 22.10)
TTCL หุ้น Turnaround
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท TTCL มีมติให้ขายเงินลงทุนในบริษัท TTCL Gas Power (TTGP) ให้กับพันธมิตร 2 ราย ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น รายละ 30% โดยมีราคาซื้อขายรวมทั้งสิ้น 85 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย TTGP เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า Ahlone กำลังผลิตไฟฟ้า 120 MW ในเมียนมาร์ ซึ่ง TTCL ถือหุ้น TTGP ผ่านบริษัทลูกคือ TTPHD (TTCL ถือหุ้น 100%) ส่งผลให้ TTCL ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน TTGP ลงเหลือ 40% แม้จะทำให้ TTCL ได้รับกำไรจากโรงไฟฟ้า Ahlone ลดลง จากปัจจุบันที่สร้างรายได้ให้กับ TTCL สูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี และมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงเกือบ 60% แต่การขายหุ้น 60% ให้กับพันธมิตรญี่ปุ่น จะทำให้ TTCL มีเงินทุนมากพอสำหรับใส่เข้าไปในส่วนทุนของโครงการ Ahlone เฟส 2 ขนาด 388 MW มูลค่า 600 ล้านเหรียญฯ ( Debt 70%:Equity 30%) ซึ่งจะต้องใช้ส่วนทุนสูงถึง 180 ล้านเหรียญฯ โดย TTCL มีภาระต้องใส่เงินทุน 72 ล้านเหรียญฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น 40% ใน TTGP นอกจากนี้ TTCL ยังมีโอกาสได้รับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 มูลค่า 600 ล้านเหรียญฯทั้งหมด โดยมีระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 2.5 ปี ช่วยชดเชยกำไรที่จะลดลงจากการขายหุ้นโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 1 ออกไปได้ การได้พันธมิตรญี่ปุ่นซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีประสบการณ์สูงมากในธุรกิจโรงไฟฟ้าทุกประเภท ยังเป็นประโยชน์ต่อ TTCL ทั้งในแง่การจัดหาแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำจากสถาบันการเงินในญี่ปุ่น และความเชี่ยวชาญในการบริหารโรงไฟฟ้า ฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ ให้ราคาเหมาะสม 8.90 บาท โดย TTCL เป็นหนึ่งใน theme หุ้น Turnaround ปีนี้ที่คาดว่าจะพลิกฟื้นกลับมาทำกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง หลังประสบผลขาดทุนหนักในปี 2561 จากการตั้งสำรองหนี้สูญโครงการ Rocksalt
ระยะสั้นชะลอลงทุน CPN จากเหตุเพลิงไหม้
วานนี้ (10 เม.ย. 2562) เวลา 17.40 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่บริเวณชั้น 8 ในอาคารติดศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 15 ราย ถือเป็น Sentiment เชิงลบต่อ CPN เนื่องจากศูนย์เซ็นทรัลเวิลด์ ถือเป็นศูนย์ใหญ่สุด ด้วยพื้นที่ให้เช่า 2 แสนตร.ม. คิดเป็นสัดส่วน 13.5% ของพื้นที่ให้เช่ารวม 1.485 ล้านตารางเมตร ณ สิ้น ปี 2561 (ไม่รวมพื้นที่เช่าศูนย์การค้าภายใต้การบริหารของ CPNREIT) และมีอัตรการเช่าเฉลี่ย 91% (ณ สิ้น 4Q61) อีกทั้งยังเป็นศูนย์หลักที่สร้างรายได้ปีละ 4 พันล้านบาท หรือ 12% ของรายได้จากการดำเนินงานปี 2561
เหตุการณ์ครั้งนี้ต้องรอการตรวจสอบสาเหตุและประเมินความเสียหาย เฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างตัวอาคารบริเวณที่เกิดไฟไหม้ และมีความเป็นไปได้บริเวณดังกล่าวต้องปิดซ่อมแซมฟื้นฟูก่อนเปิดให้บริการอีกครั้ง ขณะที่โซนอื่นหากตรวจสอบแล้ว ไม่ได้รับความเสียหาย คาดสามารถเปิดบริการได้ก่อน แต่ทั้งหมดนี้ต้องรอความชัดเจนจากบริษัท โดยในช่วงศูนย์ฯ ปิดบริการ ย่อมส่งผลต่อรายได้ค่าเช่าของ CPN (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการปิดบริการ แต่คาดใช้เวลาไม่นาน ต่างจากกรณีเหตุเพลิงไหม้เมื่อตอน พ.ค. 2553 ที่เสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า Zen เสียหายทั้งหมด ขณะที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เสียหายบางส่วน ซึ่งปิดบริการ 6 เดือน) รวมถึงต้องรอดูว่าบริษัทจะมีการตั้งสำรองค่าเผื่อความเสียหายของทรัพย์สินหรือไม่ (เมื่อตอนเพลิงไหม้รุนแรงปี 2553 บันทึกขาดทุนการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่ได้รับความเสียหาย 775 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม CPN มีการทำประกันคุ้มครองความเสี่ยงทั้งความเสียหายต่อทรัพย์สินและการหยุดประกอบกิจการ ซึ่งต้องรอการพิจารณาจากบริษัทประกันภัย เชื่อว่าบริษัทน่าจะได้รับเงินเคลมประกันจากผู้ประกันภัยในส่วนค่าเสียหายจากทรัพย์สิน และความเสียหายจากการขาดรายได้ (กรณีปี 2553 ทางศูนย์เซ็นทรัลเวิลด์และห้างเซนได้ทำประกันคุ้มครองความเสี่ยงทุกชนิดวงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท, การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก 6.15 พันล้านบาท และประกันภัยก่อการร้ายวงเงิน 3.5 พันล้านบาท)
ด้วย Sentiment เชิงลบจากเหตุเพลิงไหม้ย่อมกดดันต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น จึงแนะนำชะลอการลงทุน CPN
Fund Flow หนุนนำหุ้นใหญ่สภาพคล่องสูง ชอบ KBANK, STEC
วานนี้ Fund Flow ยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อ 1.7 พันล้านบาท (ไหลเข้ามากสุดในภูมิภาค) รวม 2 วันต่างชาติซื้อหุ้นไทยไปแล้วกว่า 4.9 พันล้านบาท หนุน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.95 จุด หรือ 0.97% ซึ่งยังสอดคล้องกับสถิติในอดีต ทุกๆ 1 หมื่นล้านบาท ที่ต่างชาติซื้อหุ้นไทย หนุน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.07% (สถิติช่วงที่ Fund Flow ไหลเข้าหุ้นไทยต่อเนื่องปี 2547-2550 และ 2552-2556) ล่าสุดหากพิจารณาการซื้อขายหุ้นไทยผ่าน NVDR ช่วง 9-10 เม.ย. 62 ที่ถูกซื้อสุทธิมากที่สุด 10 อันดับแรก มีดังนี้
หุ้นไทยถูกซื้อสุทธิผ่าน NVDR ช่วง 9-10 เม.ย. 62 มากที่สุด 10 อันดับแรก
ที่มา: SET, ฝ่ายวิจัย ASPS
สังเกตได้ว่าหุ้นที่ Fun Flow ไหลเข้าส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่สภาพคล่องสูง ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนเน้นเลือกหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานแข็งแกร่งสภาพคล่องสูง โดย Top picks วันนี้เลือก KBANK(FV@B246), STEC([email protected]) หุ้นทั้ง 2 บริษัทอยู่ในดัชนี SET100 อีกทั้งยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดียามที่ Fund Flow ไหลเข้า โดยมีค่า Correlation กับแรงซื้อของต่าชาติสูงถึง 0.98 และ 0.93 ตามลำดับ
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ