- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 27 March 2019 11:47
- Hits: 2090
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศผ่อนคลายลงตามลำดับ และเมื่อประเมินปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐานคาดว่ามีโอกาสที่ Fund Flow จะไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย เริ่มจากระดับ Bond Yield 10 ปีของไทย ที่สูงกว่าของสหรัฐฯ Market Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยที่กว้างขึ้นราว 4.34% ขณะที่สถานการณ์การเมืองแม้จะยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล แต่โดยภาพใหญ่ก็ยังเห็นพัฒนาการเชิงบวก แนะนำทยอยสะสมหุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแรง และให้ Dividend Yield สูง Top picks เลือก DCC([email protected]) และ LH ([email protected])
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … ตลาดหุ้นแกว่งผันผวนตลอดวัน
วานนี้ SET Index แกว่งผันผวนตลอดวัน จนทำให้ปิดที่ระดับ 1632.32 จุด เพิ่มขึ้น 6.41 จุด (+0.39%) มูลค่าการซื้อขาย 3.81 หมื่นล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากหุ้นขนาดใหญ่รายตัว อย่าง BDMS SCC กลุ่มอาหารฯ CPALL และ ICT (ADVANC DTAC) ในขณะที่ราคาหุ้นในกลุ่มหลักๆ อย่างกลุ่มพลังงาน และ ธ.พ. ยังปรับตัวขึ้นได้ต่อ PTT(+0.52%) IVL(+1.55%) GULF(+3.02%) ตามด้วย BBL(+0.48%) และ KBANK(+1.05%)
แรงผ่อนคลายจากปัจจัยภายนอกเบาลง ทำให้ทิศทางของ SET Index วันนี้อยู่ภายใต้แรงขับเคลื่อนของปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งในช่วงเวลานี้คงไม่มีเรื่องใดที่ต้องติดตามมากกว่า การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง โดยในกลุ่มของพรรคเพื่อไทย จะมีการแถลงข่าวในวันนี้ถึงการร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล คาดว่าจะเห็น Fund Flow ที่ทยอยไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฎจักรดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาขึ้นสิ้นสุดลง และหากพิจารณาจาก Market Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นไทย-พันธบัตร พบว่ากว้างถึง 4.34% ซึ่งถือเป็นแรงดึงดูดเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น
ราคาน้ำมันยืนเหนือ 65 เหรียญจาก Supply ที่ลดลง
ราคาน้ำมันดิบดูไบฟื้นตัวและยังยืนเหนือระดับ 66 เหรียญฯได้ จากความผ่อนคลายความกังวลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งล่าสุดทั้งสองฝ่ายมีกำหนดเจรจา วันที่ 28 – 29 มี.ค. นี้ ที่กรุงปักกิ่ง และเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะมีท่าทีประนีประนอมต่อกัน และจากฝั่ง Supply คือ ตลาดคาดหวังการรายงานสต็อกน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ของ EIA จะยังลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 ราว 1.2 ล้านบาร์เรล จากความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ตามการส่งออกน้ำมันของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น และการตัดลด Supply ที่ยังเป็นไปตามแผน และมีแนวโน้มที่ยืดระยะเวลาการตัด supply ออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้กลางปี 2562 (ตามข้อตกลง OPEC และ Non OPEC ทำสัญญาล่าสุด ธ.ค. 2561 จะตัดลดการผลิตถึงกลางปี 2562 ที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็น OPEC ตัดลด 8 แสนบาร์เรล/วัน) ขณะที่ Non OPEC ลดลง 4 แสนบาร์เรล/วัน) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ชะลอลงจากสงครามการค้า
โดยรวมหนุนให้ราคาน้ำมันดิบดูไบแกว่งตัวขึ้นที่ระดับ 66.72 เหรียญฯต่อบาร์เรลใกล้เคียงสมมติฐานของ ASPS ที่กำหนดไว้ 65 เหรียญ ในปี 2562 และคาดว่าจะสามารถยืนเหนือ 60 เหรียญฯได้ในช่วงที่เหลือของปี (และกำหนด 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป) นับเป็นปัจจัยบวกต่อ PTTEP(FV@B168), PTT(FV@B56) และ PTTGC(FV@B79)
Inverted Yield Curve เริ่มไม่น่ากังวล ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นทุกประเทศในภูมิภาค
ประเด็นส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี และ 3 เดือน เริ่มผ่อนคลาย หลัง Bond yield 10 ปี ของสหรัฐขยับมาอยู่ที่ 2.42% (แต่ยังต่ำกว่า Bond yield 3 เดือน อยู่ 1 bps.) ซึ่งปัจจุบัน Yield 10 ปี ของสหรัฐต่ำกว่าอดีตอย่างมาก รวมทั้งยังต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่ 2.5% เชื่อว่าผลตอบแทนจากตลาดหุ้น น่าสนใจกว่าตราสารหนี้ขึ้น ดึงดูดให้ Fund Flow มีโอกาสไหลเข้าตลาดหุ้น ซึ่งวานนี้ต่างชาติก็สลับมาซื้อสุทธิหุ้นทุกประเทศในภูมิภาค มูลค่ารวม 189 ล้านเหรียญฯ โดย เกาหลีใต้ 109 ล้านเหรียญฯ ตามด้วย ไต้หวัน 27 ล้านเหรียญฯ, อินโดนิเซีย 24 ล้านเหรียญฯ, ฟิลิปปินส์ 7 ล้านเหรียญฯ และตลาดหุ้นไทยต่างชาติสลับมาซื้อ 21 ล้านเหรียญฯ หรือ 670 ล้านบาท ส่วนสถาบันฯ ขายสุทธิ 1.03 พันล้านบาท
เปรียบเทียบ Bond Yield 10 ปี กับ 3 เดือนของสหรัฐ
หลังจากนี้คาดว่า Fund Flow มีโอกาสไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น เนื่องจากความเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองที่น่าจะสามารถหาทางออกในการจัดตั้งรัฐบาลได้ในเร็วๆ นี้ รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่มี Earning Yield Gap อยู่ที่ระดับ 4.32% (สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 4.28%) จึงเป็นโอกาสในการสะสมหุ้น
Earning Yield Gap ของ SET Index
ความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล จะค่อยๆ เด่นชัดขึ้นตามลำดับ
เริ่มเห็นความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม โดยในวันนี้พรรคเพื่อไทย และ พรรคการเมืองที่จะร่วมมือกันจัดตั้งในรัฐบาลอีก 5 พรรคการเมือง (ดูภาพด้านล่างประกอบ โดยข้อมูลจำนวน ส.ส. รวบรวมจาก Elect Live) จะร่วมกันแถลงข่าวการจัดตั้งรัฐบาลในเวลา 10:00 น. หลังรวมจำนวน เสียง ส.ส. ได้เกิน 250 เสียง
อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่อง เหตุเพราะอีกขั้วหนึ่งทางการเมืองได้แก่ในฝั่งของพรรคพลังประชารัฐ ยังเดินหน้าในการรวบรวมคะแนนเสียงอยู่ โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่พรรคภูมิใจไทย นอกจากนี้ยังมีตัวแปรที่สำคัญอีก 2 เรื่องคือ การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งของ กกต. ที่มีกำหนดในวันที่ 9 พ.ค. 2562 จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้จำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากที่นำเสนอไว้ข้างต้น และหลังจากนั้นเมื่อมีการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีตัวแปรในเรื่องคะแนนเสียงจาก ส.ว. จำนวน 250 เสียง ที่มีสิทธิในการโหวตเลือกนายกฯ
แม้จะยังไม่ได้ข้อยุติแต่โดยภาพใหญ่ฝ่ายวิจัยยังเห็นพัฒนาการเชิงบวกจากกระบวนการที่กำลังเปลี่ยนเข้าสู่การบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง และยังเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดทางตัน หรือ Deadlock ทางการเมือง ทั้งนี้คาดว่าจากนี้ไปจนถึงการเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 24 พ.ค.2562 น่าจะเห็นความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นสำหรับกลยุทธ์ในการลงทุน ในช่วงเวลาที่ SET Index ปรับลดลงยังน่าจะถือเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีเพื่อการลงทุน
ค่าแรงขั้นต่ำกระทบกลุ่มชิ้นส่วนฯ เกษตรและอาหาร ยานยนต์
เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในปี 2562 จะเดินหน้ากระตุ้นการบริโภคครัวเรือนดังที่เคยหาเสียงไว้ โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคาดจะเพิ่มที่ 400-425 บาท/วัน หรือเพิ่มขึ้น 23-30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 308-330 บาท/วัน คาดการปรับขึ้นค่าแรงจะมีผลอย่างเร็วสุด คือช่วง 2H62 หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามจากที่สำรวจในหลายอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการรับมือปัญหาดังกล่าว อาทิ เพิ่มงบลงทุนในเครื่องจักรที่สามารถใช้ทดแทนแรงงานคน เป็นต้น ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยได้นำเสนออุตสาหกรรมที่กระทบคือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและค้าปลีกใน Market talk วันที่ 25 มี.ค. และวันนี้นำเสนอกลุ่ม
กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายแรงงานในประเทศ สัดส่วนราว 5-8% ของต้นทุนรวม(บางบริษัทมีแรงงานอยู่ต่างประเทศ อาทิ DELTA HANA ราว 2%ของต้นทุนรวม) เบื้องต้นฝ่ายวิจัยคาดการปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรกลุ่มชิ้นส่วนฯ ราว 11.7% จากปัจจุบัน นำโดย SVI ,HANA , KCE , และ DELTA ตามลำดับ
กลุ่มเกษตร-อาหาร มีค่าใช้จ่ายแรงงานในประเทศ ราว 1.5-8% ของต้นทุนรวม หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 23% เป็น 400 บาท/วัน จะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรกลุ่มเกษตร-อาหารราว 32.9% จากปัจจุบัน
กลุ่มยานยนต์ มีค่าใช้จ่ายแรงงานทางตรงราว 5%-10% ของยอดขาย(ยกเว้น PCSGH งวด 3Q61 นับเฉพาะโรงงานในไทยมีต้นทุนแรงงาน 17.4% ของยอดขาย) และ SAT มีพนักงาน อยู่ในแผนกผลิตจำนวน 1,396 คน กรณีที่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ23% จะส่งผลให้ค่าจ้างพนักงานในแผนกผลิตเป็น 134 – 142 ล้านบาท / ปี หรือกระทบต่อกำไรประมาณ 20 – 30 ล้านบาท/ปี เป็นต้น
VGI ซื้อ PLANB เพิ่ม Synergy ร่วมกัน
VGI ประกาศเข้าลงทุนใน PLANB โดยการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนและจากผู้ถือหุ้นเดิมของ PLANB รวมเป็นหุ้นจำนวน 721ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 18.59% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ PLANB ในราคาหุ้นละ 6.40 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.6 พันล้านบาท ดีลที่เกิดขึ้นถือเป็นการร่วมมือของสองยักษ์ใหญ่ของวงการสื่อนอกบ้านประเทศไทย มองว่าเป็นบวกแก่ทั้ง VGI และ PLANB ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง VGI และ PLANB ในการทำธุรกิจสื่อนอกบ้าน ให้เกิด Synergy ร่วมกัน เช่น การให้ความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัทร่วมกันพัฒนาสื่อโฆษณานอกบ้านให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ O2O Solutions ของ VGI และ Content คุณภาพของ PLANB ในพื้นที่ให้บริการสื่อโฆษณารวมกัน มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมร่วมนำเสนอแพคเกจการขายร่วมกัน นอกจากนี้ยังช่วยในการบริหารจัดการด้านต้นทุนให้เกิด Economy of scale
ฝ่ายวิจัยมองว่า PLANB เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า แม้จะมี Dilution Effect เพิ่มขึ้น 9% จากการออกหุ้น PP ให้ VGI แต่เงินที่ได้รับจากการขายหุ้นเพิ่มทุนรวมถึงการขายหุ้น BMN ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ PLANB มีเงินสดเพิ่มขึ้นกว่า 2.5 พันล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในการขยายธุรกิจ อีกทั้ง รายได้และต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากความร่วมมือกับ VGI จะสามารถชดเชยรายได้ในอนาคตที่อาจหายไป หาก PLANB ไม่ได้ทำสัญญาต่อกับ BMN ในการขายโฆษณาผ่าน MRT ราว 300 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้หากพิจารณาในเชิง Valuation PLANB ยังมีค่า PE ที่ต่ำกว่า VGI โดย PLANB ซื้อขายบน PE 35 เท่า ขณะที่ VGI ซื้อขายบน PE 60 เท่า
กลยุทธ์การลงทุน
ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก และประเด็นทางการเมืองที่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะระหว่างทางก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง (9 พ.ค.62) อาจสร้างแรงกดดันให้ SET Index เกิดความผันผวน ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่ฝ่ายวิจัยหยิบยกขึ้นมานำเสนอคือ 1L2H (หุ้นที่ผันผวนน้อยกว่าตลาด) โดย 1L คือ Low Beta คือ หุ้นที่ผันผวนต่ำน้อยกว่าตลาด และ 2H คือ High Upside และ High Growth ปี 2562 ซึ่งเป็น 1 ใน 5 Theme การลงทุนที่ฝ่ายวิจัยแนะนำไปตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นับว่ายังเป็นทางเลือกการลงทุนที่ดีในยามนี้ รายละเอียดดังรูปด้านล่าง
หุ้นผันผวนต่ำ (1L2H)
ที่มา : ฝ่ายวิจัย ASPS
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ