- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 26 February 2019 13:15
- Hits: 2503
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET Index ฟื้นตัวมากกว่าคาด และสามารถทะลุแนวต้าน 1662 จุด จึงมีโอกาสแตะ1700 จุดเร็วๆ นี้ เชื่อว่าตลาดซึมซับการเมือง ที่เแฉลบออกนอกเส้นทางชั่วครู่ แต่ทุกอย่างกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง และตามด้วยการเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน ได้ข้อยุติความขัดแยัง รวมถึงแถลงการณ์ของประธาน Fed ต่อสภาคองเกรส ตอกย้ำการกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย น่าจะหนุน Fund flow กลับมาเอเชีย กลยุทธ์เน้นรายหุ้นที่จ่ายเงินปันผลเด่นและใกล้ขึ้น XD (QH, LH, KKP, THANI, BBL, PTT, PTTEP) Top pick วันนี้เลือก LH(FV@B14) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD อีก 2 เดือนข้างหน้า
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … SET Index ทะยานขึ้น ทะลุแนวต้าน 1662 จุด
ประเด็นบวกจากการเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน ส่งผลให้ SET Index วานนี้เปิดข้ามแนวต้าน 1662 จุด และค่อยๆ เพิ่มช่วงบวกขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 1671.75 จุด เพิ่มขึ้น 12.55 จุด (+0.76%) ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.65 หมื่นล้านบาท หุ้นกลุ่มฯ ที่ปรับขึ้นแรง ได้แก่ กลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ PTT, PTTEP, PTTGC, IVL ตามด้วยกลุ่ม ICT (TRUE, DTAC, ADVANC) รวมถึงหุ้นรายตัว อย่าง IVL+5.18% และ CPALL +1.90% สวนทาง ROBINS มีแรงขาย sell on fact ลดลงถึง 3.33%
ประเมินแนวต้านถัดไปของ SET Index อยู่ที่ 1680 จุด และมีโอกาสทดสอบ 1700 จุดเร็วๆ นี้ โดยเชื่อว่าตลาดฯ ซึมซับการเมือง หลังจากแฉลบออกนอกเส้นทางชั่วครู่ แต่ทุกอย่างกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ตามด้วยการเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน ได้ข้อยุติความขัดแย้ง และแถลงการณ์ของประธาน Fed ต่อสภาคองเกรส น่าจะเป็นตอกย้ำการกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย น่าจะหนุน fund flow กลับมาภูมิภาคเอเชีย
ตลาดหุ้นโลกมีแรงหนุนจากการค้าสหรัฐ-จีน ผ่อนคลาย & Fed ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย
ปัจจัยต่างประเทศผ่อนคลายหลังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังมีพัฒนาการเชิงบวกต่อเนื่อง และทั้ง 2 ประเทศ จะทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ในประเด็นที่สหรัฐเรียกร้องให้จีนปฎิบัติตามใน 6 ประเด็นเดิม อาทิ หยุดถ่ายเทคโนโลยี และการโจรกรรมทางไซเบอร์, เปิดตลาดภาคบริการแก่สหรัฐ, การครอบครองทรัพย์สินทางปัญญาในจีน, การแทรกแซงค่าเงินหยวน และเพิ่มการนำเข้าการเกษตรจากสหรัฐ และทางสหรัฐ เตรียมขยายระยะเวลาการขึ้นภาษีสินค้าจากจีน (จาก 10% เป็น 25%) แม้ยังไม่ได้ระบุเวลา แต่เชื่อว่าประเด็นนี้จะเป็นบวกต่อตลาดหุ้นโลกหลังจากเป็นปัจจัยกดดันมานาน
ขณะที่วันนี้ประธาน (Fed) จะแถลงต่อสภาคองเกรส ซึ่งคาดว่าน่าจะเน้นไปที่ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในปี 2562 ที่น่าจะกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย หลังจากใช้นโยบายการเงินตึงตัวนับตั้งแต่ปี 2558 สอดคล้องกับการประชุม Fed รอบแรกของปีนี้ คือ ม.ค. 2562 ที่ Fed ได้ส่งสัญญาณชะลอการลดงบดุล (Balance Sheet) ลง หลังจากได้เริ่มลดงบดุลไปตั้งแต่ ต.ค. 2560 ด้วยการหยุด Reinvest ในพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (Mortgage-Backed Securities) หลังจากแตะจุดสูงสุดที่ 4.49 ล้านล้านเหรียญ จนปัจจุบันที่ 4.07 ล้านล้านเหรียญ (ลดลงราว 9.2%) และทำให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยปีนี้อาจจะต่ำกว่าที่คาดไว้ 2 ครั้งรวม 0.5% เพราะดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งดัชนี PMI ภาคการผลิตแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี 1 เดือน, ยอดขายบ้านใหม่ และบ้านมือสอง ที่ต่ำสุดในรอบ 1 ปี 3 เดือน และในรอบ 4 ปี ตามลำดับ, ยอดค้าปลีกที่ต่ำสุดในรอบ 9 ปี เป็นต้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 2562 ที่ชะลอตัวเหลือ 1.6%yoy จาก 1.9% ในเดือน ธ.ค. 2561 (ต่ำสุดในรอบ 1 ปี 7 เดือน)
โดยรวมทำให้ปัจจัยทำให้ Dollar index แกว่งผันผวน เทียบกับสกุลเงินของคู่ค้า อาทิ เงินยูโร และปอนด์ เนื่องจากประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะ Brexit ที่ขั้นตอนการเจรจาถอนตัว อาจไม่เป็นไปตามแผน
ราคาน้ำมันปรับฐานช่วงสั้น กังวล supply สหรัฐเพิ่มขึ้น และทรัมป์ทวิตกดดัน OPEC
แม้ Dollar index แกว่งตัว และสงครามการค้าที่ผ่อนคลายเชิงบวกดังกล่าวข้างต้น แต่ระยะสั้นราคาน้ำมันโลกวานนี้ปรับลงแรง เป็นผลจากประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตข้อความว่า "ไม่ต้องการให้ราคาน้ำมันดิบโลกสูงเกินไป” ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว เนื่องจากการตัดลด Supply ยังเป็นไปตามแผน สะท้อนจากกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศผลิตน้ำมัน OPEC เดือน ม.ค. ที่ลดลงราว 7.97 แสนบาร์เรล/วัน ถือว่ากำลังการผลิตที่ลดลง ใกล้เคียงกับข้อตกลงของผู้ผลิตทั้งกลุ่ม OPEC และ Non OPEC ที่ทำไว้ในเดือน ธ.ค.2561 ที่ตั้งเป้าจะตัดลดการผลิตจนถึง กลางปี 2562 ที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน (แบ่งเป็น OPEC ต้องลดลง 8 แสนบาร์เรล/วัน ขณะที่ Non OPEC ลดลง 4 แสนบาร์เรล/วัน) ขณะที่ฝั่งสหรัฐจำนวนหลุมขุดเจาะล่าสุดอยู่ที่ 853 หลุม หนุนกำลังการผลิต ล่าสุดอยู่ที่ 12 ล้านบาร์เรล/วัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยรวมเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ล่าสุด อยู่ที่ 64.43 เหรียญฯต่อบาร์เรล ใกล้เคียงสมมติฐานของ ASPS ที่กำหนดไว้ 65 เหรียญ ในปี 2562 และคาดว่าจะสามารถยืนเหนือ 60-65 เหรียญฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ (และกำหนด 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป) ยังแนะนำสะสม PTTEP(FV@B168) และ PTT(FV@B56) และราคาหุ้นได้สะท้อนผลประกอบการที่ย่ำแย่ไปแล้ว และเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในไตรมาสถัดไป
ต่างชาติซื้อหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
วานนี้ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์หยุดทำการเนื่องจากเป็นวันปฏิวัติพลังประชาชน โดยต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 มูลค่าถึง 389 ล้านเหรียญ และมี 2 ประเทศที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ คือ อินโดนีเซียซื้อสุทธิ 18 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันแรก) และไต้หวัน 373 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิ 6 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ 3 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และ ไทย แม้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิแต่ก็ด้วยมูลค่าน้อยสุดนับตั้งแต่ต้นปีเพียง 2.5 แสนเหรียญ หรือราว 8 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิวันก่อนหน้า) ขณะที่สถาบันในประเทศสลับมาซื้อสุทธิถึงกว่า 3 พันล้านบาท
ทั้งนี้ Fund Flow ยังคงไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่อง โดยเป็นการซื้อสุทธิติดต่อกัน 6 วันคิดเป็นมูลค่าถึง 2,252 ล้านเหรียญ ประกอบกับ Momentum ที่เกื้อหนุนจากปัจจัยต่างประเทศที่ผ่อนคลาย จึงทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัว ซึ่งหากนับตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบัน Fund Flow ไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทยน้อยมาก เพียง 280 ล้านเหรียญ หรือ 8.75 พันล้านบาท (น้อยสุดใน 5 ประเทศ) ขณะที่ยังมีขนาด Market Cap. ที่ใหญ่กว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จึงทำให้มีโอกาสสูงที่ Fund Flow จะไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นอีก
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
กำไร 4Q61 ไม่มีกลุ่มไหนโตทั้ง QoQ และ YoY
ผลประกอบการ 4Q61 ของบริษัทจดทะเบียน ล่าสุด มีการประกาศออกมาแล้วราว 276 บริษัท คิดเป็น 73% ของ Market Cap. ทั้งตลาดฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 1.34 แสนล้านบาท หากเทียบกับ 4Q60 เฉพาะบริษัทที่ประกาศงบแล้ว พบว่า กำไรสุทธิลดลงถึง 34.5%yoy และเทียบกับ 3Q61 เฉพาะบริษัทที่ประกาศงบแล้วเช่นกัน กำไรสุทธิลดลงถึง 36.5%qoq และหากพิจารณาเป็นรายกลุ่มฯ จะเห็นว่าจนถึงล่าสุด ไม่มีกลุ่มฯ ไหนที่มีกำไรสุทธิโตทั้ง yoy และ qoq ส่วนกลุ่มอื่นๆ มีรายละเอียดดังนี้
• กลุ่มฯ ที่มีกำไรสุทธิ เติบโต yoy แต่ลดลง qoq คือ กลุ่ม ธ.พ. (โดยหุ้นที่ผลการดำเนินงานสอดคล้องกับกลุ่มฯ คือ KBANK, KTB, TISCO) กลุ่มการเงิน (KTC) กลุ่มสื่อ-บันเทิง (BEC)
• กลุ่มฯ ที่มีกำไรสุทธิ เติบโต qoq แต่ลดลง yoy คือ กลุ่มค้าปลีก (หลักๆ มาจาก MAKRO) กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (SCC, TASCO) กลุ่มอสังหาฯ (WHA, SF, BLAND) และกลุ่มขนส่ง (JWD)
• กลุ่มฯ ที่มีกำไรสุทธิ ลดลงทั้ง yoy และ qoq คือ กลุ่มพลังงาน (หุ้นที่กดดันผลการดำเนินงาน หลักๆ มาจาก PTT, PTTEP, TOP, IRPC, EGCO) กลุ่มปิโตรเคมี (PTTGC) กลุ่มส่งออกชิ้นส่วนฯ (DELTA, KCE) กลุ่มอาหาร (CPF, TU, TKN) กลุ่มโรงพยาบาล (THG) กลุ่ม ICT (DTAC, INTUCH) และกลุ่มยานยนต์ (PCSGH, STANLY)
ด้วยผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาด และลดลงอย่างมีนัยฯ จึงมีความเป็นไปได้เมื่อประกาศครบ 100% แล้ว กำไรสุทธิรวมจะต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.5-2.6 แสนล้านบาท โดยทุกๆ 1 หมื่นล้านบาทที่ต่ำกว่าคาดจะมีผลต่อ EPS ราว 1 บาท/หุ้น ทั้งนี้ EPS รวมในปี 2561 ตามประมาณการของฝ่ายวิจัยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 108 บาท/หุ้น ซึ่งอาจลงมาอยู่ที่ประมาณ 103 – 105 บาท/หุ้น ขณะที่ในปี 2562 ก็มีโอกาสที่ EPS จะลดลงจากประมาณการเดิมที่ 112.2 บาท/หุ้น ซึ่งฝ่ายวิจัยจะนำเสนออีกครั้ง
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์