- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 25 February 2019 13:18
- Hits: 1984
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาด SET Index มีโอกาสฟื้นตัวแต่น่าจะติดแนวต้าน 1660 จุด โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ทะลุ 65 เหรียญฯต่อบาร์เรล แรงกดดันจากภายนอกที่ลดลง หลังสหรัฐ-จีน มีการเจรจาการค้าที่ผ่อนคลาย และ Fed ส่งสัญญาณใช้นโยบายผ่อนคลายน่าจะหนุน Fund Flow กลับมา ส่วนการรายงานงบ 4Q61 ที่ต่ำกว่าคาด ยังทำให้มีแรงขายระยะสั้น กลยุทธ์เน้นรายหุ้นที่จ่ายเงินปันผลเด่นและใกล้ขึ้น XD (QH, LH, KKP, THANI, BBL) Top picks ชอบ PTT(FV@B56) ราคาหุ้นสะท้อนผลประกอบการต่ำกว่าคาดในงวด 4Q61 และ PTTEP(FV@B168) ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนราคาน้ำมันที่ขึ้นทดสอบ 67 เหรียญฯ เกินสมมติฐาน ASPS
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … SET Index ปรับขึ้นแรง ส่งท้ายสัปดาห์
วันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวในแดนบวก โดยปรับขึ้นแรงถึง 12 จุด และ ปิดที่ 1659.20 จุด เพิ่มขึ้น 11.88 จุด (+0.72%) ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.07 หมื่นล้านบาท มาจากที่สงครามการค้าสหรัฐ-จีน มีพัฒนาการเชิงบวก และ Fed ส่งสัญญาณใช้นโยบายผ่อนคลายเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย โดยกลุ่มที่หนุนตลาดมาจากหุ้นกลุ่มค้าปลีก และพลังงาน เป็นหลัก หุ้นในกลุ่มค้าปลีกอย่าง CPALL ปรับตัวขึ้นอีก 2.28% รวมถึง LOXLEY ที่ปรับตัวขึ้นอีก 6% และ COM7 ที่ปรับตัวขึ้น 4.22% ส่วนหุ้นในกลุ่มพลังงานอย่าง PTT และ PTTGC ปรับตัวขึ้น 0.51%และ 2.11% ตามลำดับ
ดัชนีหุ้นไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อ แต่น่าจะติดแนวต้าน 1660 จุด โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบที่สูงกว่าสมมติฐานของ ASPS ซึ่งน่าจะเป็นผลจากผ่อนคลายสงครามการค้า จีน-สหรัฐ และการที่ Fed ส่งสัญญาณการใช้นโยบายผ่อนคลาย โดยหยุดการลดขนาดงบดุล และการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือน้อยลง น่าจะหนุน Fund Flow กลับมาเอเชียรวมถึงไทย แต่การรายงานงบ 4Q61 ราว 70% ของมูลค่าตลาดรวมพบว่าต่ำกว่า ASPS คาด อาจจะนำไปสู่การปรับลดกำไรสุทธิตลาด (EPS) ปี 2561 และ 2562 ถือเป็นปัจจัยกดดันระยะสั้น
การกีดกันการค้า สหรัฐ-จีน ผ่อนคลาย แต่กับยุโรป ยังกดดันกลุ่มรถยนต์
การเจรจาการค้าสหรัฐ - จีนที่กรุง Washington เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ยังมีพัฒนาการเชิงบวก และนำไปสู่การทำบันทึกข้อตกลง(MOU) ในประเด็นที่สหรัฐเคยเรียกร้องให้จีนปฎิบัติตามตั้งแต่ก่อนหน้า 6 ประเด็นเดิม อาทิ หยุดถ่ายเทคโนโลยีและการโจรกรรมทางไซเบอร์, เปิดตลาดภาคบริการแก่สหรัฐ, การครอบครองทรัพย์สินทางปัญญาในจีน, การแทรกแซงค่าเงินหยวน และเพิ่มการนำเข้าการเกษตรจากสหรัฐ พร้อมผ่อนปรนกำแพงการค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี ขณะที่สหรัฐเตรียมขยายระยะเวลาการขึ้นภาษีสินค้าจากจีน (จาก 10% เป็น 25%) แม้ยังไม่ได้ระบุระยะเวลา (เดิมตลาดคาดอาจจะขยายออกไปอีก 60 วัน ถึง 1 พ.ค.) เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้า ที่ส่งผลชัดเจนต่อเศรษฐกิจจีนและสหรัฐในช่วงครึ่งหลังของปี 2562
โดยภาพรวมทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผ่อนคลาย และเป็นบวกต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ ที่มีปัจจัยหนุนจากการลด supply สอดรับกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ชะลอลงจากสงครามการค้า ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 66.8 เหรียญฯต่อบาร์เรล ใกล้เคียงสมมติฐานของ ASPS ที่กำหนดไว้ 65 เหรียญ ในปี 2562 แต่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวยืนเหนือ 60 เหรียญฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ (และกำหนด 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป) ยังแนะนำสะสม PTTEP(FV@B168) และ PTT(FV@B56) ราคาหุ้นปัจจุบัน สะท้อนผลประกอบการที่ย่ำแย่ไปแล้ว และเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในไตรมาสถัดไป
ไทยขาดดุลการค้า ม.ค. เป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน กดดันเงินบาทอ่อนค่า
ยอดส่งออก(รูปดอลลาร์)ไทย เดือน ม.ค. หดตัวเป็นเดือนที่ 3 ราว 5.6%yoy (รูปเงินบาทหดตัว 5.7%) จากผลกระทบสงครามการค้า เห็นได้จากตลาดส่งออกหลักๆ ชะลอตัว คือ จีน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ราว 17% จากหดตัว 7% เดือน ธ.ค. และตลาดอื่นๆ ชะลอตัวเช่นกันคือ ฮ่องกง หดตัว 15% (นับเป็นการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5) ออสเตรเลียหดตัว 5.3% (หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3) ยกเว้นสหรัฐเพิ่ม 8% จากเพิ่มเพียง 0.5% ใน ธ.ค. เพราะสินค้าไทยทดแทนสินค้า ที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ, เหล็ก, เครื่องนุ่งห่ม, อัญมณี, เคมีภัณฑ์, เม็ดพลาสติก เป็นต้น
และพิจารณาสินค้าส่งออกสำคัญหดตัว อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบหดตัวเป็นเดือนที่ 4 ราว 10.1% ยางพาราหดตัวติดต่อกัน 14 เดือนราว 15%, รถยนต์และส่วนประกอบ (สินค้าส่งออกอันดับ 1 ราว 11.3%) กลับมาหดตัวราว 5%
ส่วนด้านการนำเข้า(รูปดอลลาร์) พลิกกลับมาขยายตัวถึง 13.99% (รูปเงินบาทขยายตัว 14%) หลักๆ มาจาก นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์เร่งขึ้นถึง 6041%yoy ราว 4 พันล้านเหรียญฯ ขณะที่สินค้าที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก อาทิ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวเล็กน้อย
โดยรวมดุลการค้าเดือน ม.ค. พลิกกลับขาดดุลราว 4 พันล้านเหรียญฯ นับเป็นการขาดดุลในรอบ 2 เดือน ภายหลังจากที่ขาดดุลไปเมื่อเดือน พ.ย. 2561 และหากผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้ไทยยังขาดดุลการค้าต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อได้ หลังจากที่แข็งค่าต่อเนื่องมานานกว่า 6 เดือน หรือนับจากเดือน ส.ค. 2561 ซึ่งเงินบาทอยู่ที่ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ ลงมาแข็งค่าสุดที่ 31.1 บาท เมื่อ 20 ก.พ. 2562 ล่าสุดเริ่มอ่อนค่ามาแตะ 31.28 บาท
ภายใต้ตามสมมติฐาน ASPS ประเมินยอดส่งออกและนำเข้าปี 2562 ไว้ที่ 0.5% และ 3.0% ตามลำดับ ชะลอจาก 6.7% และ 12.5% ในปี 2561 ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ GDP Growth ปี 2562 ชะลอตัวเหลือ 3.5% จาก 4.1% ในปี 2561
AAV จะกลายเป็นสายการบินต้นทุนต่ำใหญ่สุด หากรวม NOK
เรื่องที่ AAV จะเข้าซื้อหุ้น NOK จากกลุ่มจุฬางกูร (ถือหุ้นราว 60.6% หลังเพิ่มทุนรอบล่าสุด 14 ก.พ. 62 ) เกิดขึ้น หลังจาก THAI ไม่ใช้สิทธิเพิ่มทุนรอบหลังสุด (ทำให้ THAI ลดการถือหุ้นเหลือ 15.9% จากเดิม 21.8%)
ทั้งนี้ หากกำหนดให้ AAV ซื้อ NOK จากกลุ่มจุฬางกูร ภายใต้สมมติฐานราคาเท่ากับราคาปัจจุบัน 2.76 บาท (หรือราว 5 เท่าของมูลค่าทางบัญชี NOK หลังเพิ่มทุนที่ 0.55 บาท) AAV น่าจะต้องใช้เงินราว 5.2 พันล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาฐานะการเงิน AAV สิ้นสุด 3Q61 ที่มี Net Gearing (หนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อทุน) ที่ราว 0.8 เท่า ภายใต้ฐานทุน 2.0 หมื่นล้านบาท ยังน่าจะก่อหนี้มารองรับได้ โดยไม่ต้องเพิ่มทุน และจะทำให้ AAV ถือหุ้น NOK แทนกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม
เชื่อว่าการขายหุ้น NOK เพราะผลประกอบการที่ขาดทุนมาตลอด และไม่เห็นผลประโยชน์จากการที่มี THAI เป็นพันธมิตรเพราะมีข้อจำกัดการใช้สนามบินหลักคนละแห่ง (NOK@ดอนเมือง, THAI@สุวรรณภูมิ) ทั้งนี้ หากเป็นไปตามกระแสข่าวที่ AAV จะเป็นผู้เข้าซื้อกิจการ จะทำให้ปัจจุบัน AAV ถือหุ้น ไทยแอร์เอเชีย 55% (ขณะที่ Asia Berhad ถือหุ้น 45%) มาเป็น AAV จะถือหุ้น low cost 2 แห่งควบคู่กัน
ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าการเข้าซื้อหุ้น NOK น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อ AAV เพราะมิใช่เพียงจะกลายเป็นผู้ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำใหญ่สุด หากรวมส่วนแบ่งตลาดของ AAV (เส้นทางบินในประเทศ 9M61) ที่ 33% กับ NOK 18.8% จะกลายเป็นมีส่วนแบ่งตลาด 51.8% สูงกว่ารายที่ 2 คือ Thai Lion Air ที่มีส่วนแบ่งตลาด 17.0% คาดช่วยให้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางราคาค่าโดยสารได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน บรรเทาปัญหาการแข่งขัน ขณะที่ด้วยขนาดฝูงบินปัจจุบันที่ 62 ลำ บวกกับส่วนของ NOK อีกราว 26 ลำ ไม่รวม Nok Scoot (NOK ถือหุ้น 51% ผู้ถือหุ้นสิงคโปร์ถือหุ้น 49%) ที่ใช้ทำการบินระยะไกลอีก 5 ลำ จะทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาดในการใช้ฝูงบินขนาดใหญ่สุด และจะทำให้ ปัญหาต้นทุนสูงเดิมของ NOK จะลดลง อาทิ ต้นทุนค่าเช่าใช้เครื่องบินโดยใช้การเช่าจากกลุ่มแอร์ เอเชียที่มีต้นทุนต่ำกว่าการที่ NOK ที่ต้องเช่าเครื่องบินด้วตนเอง นอกจากนี้ AAV([email protected]) ยังมีเรื่องจุดแข็งต้นทุนดำเนินงาน (ไม่รวมน้ำมัน) ต่ำสุดในอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามราคาหุ้นปัจจุบันสะท้อนความคาดหวังเชิงบวกแล้ว ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าว และจะทบทวนประมาณการหากธุรกรรมเกิดขึ้น
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นไทยมากสุดในภูมิภาค
วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 แต่มูลค่าเบาบางลงเหลือ 75 ล้านเหรียญ และมี 2 ประเทศที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ 23 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 4 วัน) และอินโดนีเซีย 8 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิ 2 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติซื้อสุทธิ คือ ไต้หวัน 5 แสนเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5),ฟิลิปปินส์ 3 แสนเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) สุดท้ายคือ ไทยซื้อสุทธิ ด้วยมูลค่าสูงสุดในภูมิภาคถึง 105 ล้านเหรียญ หรือราว 3.82 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิ 485 ล้านบาท
Fund Flow เริ่มไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น และยังมี Momentum ให้ไหลกลับเข้ามาต่อเนื่อง จากการที่สหรัฐพิจารณายืดระยะเวลาเจรจาการค้ากับจีน หนุนตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัว รวมถึงตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบัน Fund Flow ไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทยน้อยมาก เพียง 281 ล้านเหรียญ หรือ 8.75 พันล้านบาท (น้อยสุดใน 5 ประเทศ) ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมี Valuation ที่ถูกไม่แพ้ตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค และยังมีขนาด Market Cap. ที่ใหญ่กว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จึงมีโอกาสสูงที่หลังจากนี้จะมี Fund Flow ไหลทะลักเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นอีก
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
กำไร 4Q61 ลดลง 34%yoY และ 37%QoQ กำไรต่ำกว่าคาด มาจากหุ้น Global เป็นหลัก
ผลประกอบการ 4Q61 ของบริษัทจดทะเบียน ล่าสุดมีการประกาศตัวเลขอกมาแล้วราว 69% ของ Market Cap. ซึ่งมีฐานกำไรสุทธิรวม 1.29 แสนล้านบาท หากเทียบกับ 4Q60 เฉพาะบริษัทที่ประกาศงบแล้ว พบว่า กำไรสุทธิลดลงถึง 34%yoy และเทียบกับ 3Q61 เฉพาะบริษัทที่ประกาศงบแล้วเช่นกัน กำไรสุทธิลดลงถึง 36.8%qoq หลักๆ เกิดจากการลดลงของกำไรในกลุ่มดังต่อไปนี้
• กลุ่มพลังงาน ได้แก่ PTT IRPC TOP SPRC ส่วนใหญ่เกิดจากการบันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมัน ขณะที่ EGCO 4Q61 ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและการบันทึกการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์
• กลุ่มปิโตรเคมี ได้แก่ PTTGC เกิดจากค่าใช้จ่ายพิเศษที่เพิ่มขึ้นจาก stock loss และกำไรจากการดำเนินงานปกติที่ลดลงจาก spread ในทุกผลิตภัณฑ์
• กลุ่ม ICT ได้แก่ DTAC เกิดจากการบันทึกรายจ่ายยุติข้อพิพาทที่มีส่วนใหญ่กับ CAT และ THCOM จากการตั้งด้อยค่าดาวเทียม รวมทั้งค่าใช้จ่ายขายบริหารที่เพิ่มอย่างมีนัยฯ
• กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ SCC จากกำไรที่ลดลงของธุรกิจปิโตรเคมี
• กลุ่มอาหาร ได้แก่ CPF สาเหตุหลักมาจากการบันทึกค่าใช้จ่ายทางภาษีพิเศษ จากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทย่อยในต่างประเทศ ขณะที่ผลการดำเนินงานปกติขาดทุนจากช่วงเทศกาลกินเจในประเทศ กดดันการบริโภคและราคาเนื้อสัตว์รวมทั้งไก่ให้ลดลง
โดยรวม ทำให้เป็นไปได้ที่เมื่อประกาศครบ 100% แล้วจะมีตัวเลขกำไรสุทธิรวมที่ต่ำกว่าประมาณการที่ไว้ 2.5-2.6 แสนล้านบาท โดยทุกๆ 1 หมื่นล้านบาทที่ต่ำกว่าคาดจะมีผลต่อ EPS ราว 1 บาท/หุ้น ทั้งนี้ EPS รวมในปี 2561 ตามประมาณการของฝ่ายวิจัยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 108 บาท/หุ้น ซึ่งอาจลงมาอยู่ที่ประมาณ 103 – 105 บาท/หุ้น ขณะที่ในปี 2562 ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการฯ จาก EPS ตลาดที่ประเมินไว้เดิมที่ 112.2 บาท/หุ้น
กลยุทธ์ Dividend Play น่าจะเหมาะกับภาวะตลาดผันผวน
Valuation ของ 9 หุ้นปันผลเด่น ที่ยังไม่ขึ้นเครื่องหมาย XD
หมายเหตุ : เนื่องจากบางบริษัทจดทะเบียนยังไม่ได้ประกาศวันขึ้นเครื่องหมาย XD ของงบครึ่งปีหลังของปี 2561 จึงใช้วันขึ้นเครื่องหมาย XD ของงบครึ่งปีหลังของปี 2560 แทน
*ผลตอบแทนเฉลี่ยก่อนขึ้น XD คิดคำนวณตั้งแต่วันนี้ ถึงวันขึ้น XD
ที่มา : SET, ฝ่ายวิจัย ASPS
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์