- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 21 February 2019 16:11
- Hits: 2511
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนีหุ้นไทยยังมีความผันผวน แต่จะออกนอกกรอบ 1630-1645 จุด หรือไม่ขึ้นกับแรงซื้อต่างชาติมีความต่อเนื่องหรือไม่ หลังจากวานนี้สลับมาซื้อหุ้นไทยหนัก เพราะ FED ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย คือ หยุดถอนเงินออกจากระบบ ส่วนการเมืองในประเทศยังมีความ เสี่ยง และสุดท้ายยังมีแรงขายรับงบ 4Q61 หุ้น real sector กลยุทธ์เน้นรายหุ้นที่จ่ายเงินปันผลเด่นและใกล้ขึ้น XD (QH, LH, KKP, THANI, BBL) Top pick เลือก PTTEP(FV@B168) ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนราคาน้ำมันที่ขึ้นแตะ 66 เหรียญฯ เกินสมมติฐาน ASPS และยังชอบ PTT(FV@B56)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ … กลุ่มพลังงานหนุนตลาดฯ
วานนี้ SET Index แกว่งตัวในแดนบวกตลอดวัน ก่อนจะปิดที่ระดับ 1645.38 จุด เพิ่มขึ้น 9.67 จุด (+0.59%) มูลค่าการซื้อขาย 5.84 หมื่นล้านบาท แรงหนุนหลักมาจากหุ้นกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ อย่าง PTTEP ปรับตัวขึ้นอีก 1.21% หลังราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัวต่อหลังการเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน ผ่อนคลาย ส่วนหุ้นในกลุ่มอย่าง PTT (+0.52%) ส่วนหุ้นกลุ่มปิโตรฯ อย่าง PTTGC ปิดบวกแรง 4% สวนทางงบ 4Q61 ที่ 4.06 พันล้านบาท ลดลง 68% qoq แต่เป็นผลจาก stock loss และ spread ตามที่คาดไว้ แต่ 1Q62 อาจเห็นการฟื้นตัว เนื่องจากคาดว่าจะไม่มีการบันทึกขาดทุนจากสต็อกน้ำมันเช่นที่ผ่านมา หุ้นในกลุ่มอย่าง IVL (+1.62%) ส่วนหุ้นที่ถูก FTSE Global ปรับเข้าคำนวณอย่าง (GULF, EA, MAKRO, DTAC) ปรับตัวขึ้นต่อ
ดัชนีหุ้นไทยยังมีความผันผวน แต่จะออกนอกกรอบ 1630-1645 จุด ยังต้องพึ่งพา Fund flow ซึ่งยังมีความหวัง เพราะ FED ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยจะหยุดถอนเงินออกจากระบบ แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยในประเทศกดดันจากการเมือง ที่ยังมีความเสี่ยง ทั้งเรื่องยุบพรรคไทยรักษาชาติ เป็นต้น และแรงขายรับงบ 4Q61 หุ้น real sector ยังมีเป็นรายหุ้น กลยุทธ์ยังเน้นรายหุ้นที่จ่ายเงินปันผลเด่นและใกล้ขึ้น XD (QH, LH, KKP, THANI, BBL) Top pick เลือก PTTEP(FV@B168) ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนราคาน้ำมันที่ขึ้นแตะ 66 เหรียญฯ เกินสมมติฐาน ASPS เศรษฐกิจไทยปี 2561 เติบโตตามคาด แต่จะชะลอตัวในปี 2562
Fed พร้อมถอยหันมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย Fund flow กลับมาเอเชีย
รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed minutes) เมื่อวานนี้ คณะกรรมการ Fed ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าปี 2562 จะกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยส่งสัญญาณชะลอการลดงบดุล (Balance Sheet) ภายในปีนี้ หลังจากได้เริ่มลดงบดุลไปตั้งแต่ ต.ค.2560 ด้วยการหยุดซื้อพันธบัตรสหรัฐ (reinvest) และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (Mortgage-Backed Securities) จากจุดสูงสุดที่ 4.49 ล้านล้านเหรียญ จนปัจจุบันอยู่ที่ 4.07 ล้านล้านเหรียญ หรือลดราว 9.2% รวมถึงแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะขึ้นได้ไม่ถึง 2 ครั้ง ทั้งนี้เนื่องจาก ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐได้ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง เช่น ดัชนี PMI ภาคการผลิตแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี 1 เดือน, ยอดขายบ้านใหม่ และบ้านมือสอง ที่ต่ำสุดในรอบ 1 ปี 3 เดือน และในรอบ 4 ปี ตามลำดับ, ยอดค้าปลีกที่ต่ำสุดในรอบ 9 ปี เป็นต้น รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 2562 ที่ชะลอตัวเหลือ 1.6%yoy จาก 1.9% ในเดือน ธ.ค. 2561 (ต่ำสุดในรอบ 1 ปี 7 เดือน) โดยรวมทำให้ปัจจัยทำให้ Dollar index แกว่งตัวอ่อนค่า และผลักดัน Fund Flow ให้ไหลออกจากสหรัฐ และมีโอกาสไหลกลับเอเชีย และไทยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยเป็นสำคัญ
งบดุลของ Fed
ที่มา : Bloomberg
THCOM ฟื้นช่วงสั้น CAT เข้าอุ้ม แต่โอกาสทางธุรกิจยังมีน้อย
กรณีที่ CAT จะเข้าซื้อกิจการ THCOM มีความเป็นไปได้มากขึ้น หลังจากมีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการไปกระทรวงดิจิทัลฯ ในกรณีดังกล่าว ซึ่งหากพิจารณาฐานะการเงิน CAT ที่มีเงินสดและเงินลงทุนชั่วคราวในมือราว 5.5 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลงบการเงินปี 2558) บวกกับเงินที่จะได้รับจากกรณียุติข้อพิพาทกับคู่สัมปทานในอดีต DTAC ที่ 9.5 พันล้านบาท และน่าจะตามด้วย TRUE ประเมินไม่ต่ำกว่ากรณี DTAC หากพิจารณาบนมูลฟ้องร้องกรณีเดียวกับที่ CAT ยุติกับ DTAC พบว่า TRUE จะมีจำนวนราว 8.9 หมื่นล้านบาท สูงกว่า DTAC ที่มี 1.37 หมื่นล้านบาท แต่ทั้งนี้จะเป็นเท่าใดยังขึ้นอยู่กับข้อสรุประหว่าง 2 ฝ่าย (ส่วน ADVANC ยังถือเป็นรายเดียวที่จะเดินตามกระบวนการยุติธรรมต่อ)
ภาพรวม CAT น่าจะมีเงินมากเกินพอซื้อกิจการ THCOM จาก INTUCH ผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 41.14% ก่อนด้วยเงินราว 5.1-5.8 พันล้านบาท (ภายใต้สมมติฐานราคาขายที่ 8-9 บาท) และทำ Tender Offer หลังจากนั้นด้วยเงินอีก 3.6-4.0 พันล้านบาท รวมเป็นเงินซื้อกิจการ 8.7-9.8 พันล้านบาท
กรณีดังกล่าวน่าจะช่วยลดความเสี่ยงกฎเกณฑ์รัฐฯต่อธุรกิจ THCOM เนื่องจากปัจจุบัน THCOM อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการให้บริการดาวเทียมสัมปทาน 3 ดวง (iPSTAR, ไทยคม 5 และไทยคม 6) ต่อไปหลังจากสิ้นสุดสัมปทานปี 2564 ซึ่งรัฐฯกำหนดอยู่ภายใต้แนวทาง พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐฯกับเอกชน (PPP) และกำลังเผชิญความเสี่ยงรัฐฯเรียกร้องให้ดาวเทียมใบอนุญาต 2 ดวง (สิ้นสุดสัญญาปี 2575) คือ ไทยคม 7,8 กลับสู่สัมปทานโดยหากแนวทางการบริหารจัดการดาวเทียมต่างๆ ดีขึ้น คาดว่าจะช่วย THCOM ประคองธุรกิจกระทบจากปัญหาความต้องการใช้ตกต่ำได้ดีกว่าปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะอุตสาหกรรมตกต่ำ เชื่อว่าจะคาดหวังการเติบโตยาก จนกว่าจะมีความชัดเจนการหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาลดผลกระทบและต่อยอด จึงยังให้คำแนะนำ Switch ขณะที่ผู้ที่น่าจะได้ผลบวกมากกว่าในกรณีนี้ คือ INTUCH จากเงินสดที่ได้รับเข้ามา ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นเงินปันผลพิเศษ และจะเหลือถือหุ้น ADVANC แห่งเดียว ซึ่งจะน่าสนใจขึ้นสำหรับนักลงทุน เพราะราคาหุ้นที่มีส่วนลดจากมูลค่าตลาดของ ADVANC
แม้หักรายการ Big Lot หุ้น RAM ต่างชาติยังซื้อหุ้นไทย 1.27 พันล้านบาท
วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ด้วยมูลค่าสูงถึง 1.0 พันล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทั้ง 5 ประเทศ เริ่มจากตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 390 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยไต้หวัน 321 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ที่ถูกซื้อสุทธิ ได้แก่ อินโดนีเซีย 32 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 8 วัน), ฟิลิปปินส์ 2 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิสูงถึง 257 ล้านเหรียญ หรือราว 7.99 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 7 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 423 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน)
แม้วานนี้ต่างชาติจะซื้อหุ้นไทยสูงสุดในรอบ 2 ปี ด้วยมูลค่าสูงถึง 7.99 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามหากหักรายการ Big Lot หุ้น RAM-F มูลค่า 6.72 พันล้านบาทออก โดยทางโรงพยาบาลกรุงเทพฯ (BDMS) ขายหุ้น RAM ให้กับบริษัทต่างชาติ Cypress Consolidated Healthcare Pte Ltd จำนวน 2.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2800 บาท/หุ้น สุดท้ายต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นไทย 1.27 พันล้านบาท (7.99 – 6.72 พันล้านบาท)
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
งบ 4Q61 SCCC, TU หดตัว แต่ยังคาดหวังการฟื้นตัวได้ในปี 2562
วานนี้มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบออกมาเพิ่มเติม คือ SCCC กำไรสุทธิ 4Q61 ลดลง 31%yoy เป็นผลจากการหยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงที่เพิ่มขึ้นระหว่างงวด และรายได้ธุรกิจหลักปูนซีเมนต์ที่ลดลง แม้ความต้องใช้ในประเทศจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง แต่ยังถูกกดดันจากการส่งออกโดยเฉพาะส่งออกไปกัมพูชา ศรีลังกาที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ภาพรวมกำไรทั้งปียังคงเติบโตได้สูงถึง 66%yoy เท่ากับ 3.02 พันล้านบาท อานิสงค์จากโครงการ Business Recovery Plan ที่ปฏิรูปโครงสร้างภายในทั้งหมด ทั้งการตัดลดสินค้าที่ไม่ทำกำไรออกไป การหารายได้จากธุรกิจใหม่ เช่นธุรกิจ Trading การปรับลดจำนวนบุคลากรให้เหมาะสม รวมไปถึงผลการดำเนินงานของบริษัทลูกในต่างประเทศที่ดีขึ้น
สำหรับแนวโน้มธุรกิจปี 2562 คาดเติบโตได้ต่อเนื่อง จากการเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวผลตอบแทนการลงทุนเต็มที่ของโรงงานปูนในต่างประเทศทั้งกัมพูชา เวียดนาม และศรีลังกา ขณะที่ในประเทศภาพรวมอุตสาหกรรมปูนเริ่มเป็นบวกมากขึ้น โดยประเมินอัตราการใช้ปูนซีเมนต์ในปีนี้จะขยายตัว 3-4% หนุนจากโครงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ฝ่ายวิจัยประเมิน Fair Value ที่ 269 บาท มี Upside 15% ประกอบกับเงินปันผล 4 บาท/หุ้น (คิดเป็น Div Yield ครึ่งปี 1.7%) ขึ้นเครื่องหมาย XD 25 เม.ย. คงคำแนะนำซื้อ
ตามด้วย BH กำไรสุทธิ 4Q61 อยู่ที่ 972 ล้านบาท เติบโต 5.3% YoY หนุนจากฐานรายได้หลักผู้ป่วยต่างชาติที่เติบโตสูงขึ้น และแม้ในงวด 4Q61 จะมีค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและระบบไอทีเพิ่มขึ้นก็ตาม ทำให้ภาพรวมกำไรปี 2561 อยู่ที่ 4,152 ล้านบาท เติบโต 5.3% ใกล้เคียงกับที่คาด ขณะที่ปี 2562 คาดกำไรเติบโตอีก 7.5% YoY หลักๆ จากรายได้ที่จะเติบโตตามการปรับเพิ่มค่าบริการเฉลี่ยและสัดส่วนการรักษาโรคซับซ้อนที่มากขึ้น ส่วนมาตรการควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการ แม้จะถูกมองว่าเป็น รพ. ที่อาจได้รับผลกระทบมากสุด แต่ BH ก็มีสัดส่วนผู้ป่วยชาวต่างชาติถึง 65% และมาตรการฯ ก็มีโอกาสที่จะไม่ครอบคลุมถึงกลุ่ม Medical Tourism ยังคงแนะนำซื้อ FV ที่ 215 บาท ราคายังมี Upside ที่ลงทุนได้อีก 15.9%
และ TU รายงานกำไรสุทธิ 4Q61 อยู่ที่ 1.07 พันล้านบาท (ต่ำกว่าคาดถึง 24%) ลดลง 24.5%yoy และ 18.6%qoq เกิดจากค่าใช้จ่ายพิเศษจากการปิดกิจการและการด้อยค่าเงินลงทุน หากพิจารณากำไรปกติอยู่ที่ 1.37 พันล้านบาท ลดลง 12.8%qoq (แต่เพิ่มขึ้น 19.5%yoy) แม้รายได้รวมจะขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์รายไตรมาสตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น แต่ถูกกระทบจากค่าเงินบาทเฉลี่ยงวด 4Q61 ที่แข็งค่าขึ้น 0.5% qoq และ 0.4% yoy ส่งผลให้ gross margin ลดลงเหลือ 14.9% จาก 15.7% ในงวด 3Q61 รวมทั้ง SG&A สูงกว่าคาด โดยรวมกำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ 3.26 พันล้านบาท (ต่ำกว่าคาด 18%) ลดลงถึง 45.6%yoy จากรายการพิเศษที่เกิดขึ้น ขณะที่กำไรปกติปี 2561 อยู่ที่ 4.23 พันล้านบาท ลดลง 11.6%yoy เนื่องจาก SG&A สูงกว่าคาด และส่วนแบ่งรายได้จาก Red Lobster ต่ำกว่าคาด
สำหรับแนวโน้มปี 2562 คาดกำไรสุทธิและกำไรจากการดำเนินงานจะฟื้นตัวขึ้นจากธุรกิจทูน่าที่ได้ผลบวกจากราคาวัตถุดิบทูน่าที่ปรับลดลงในงวด 2H61 จะส่งผลบวกต่อประสิทธิภาพการทำกำไรให้ดีขึ้นในงวด 1H62 อีกทั้งยังคาดธุรกิจกุ้งจะฟื้นตัวเช่นกัน จากการปรับกลยุทธ์มาเน้นจำหน่ายกุ้งในประเทศมากขึ้น แทนการส่งออกสู่ต่างประเทศที่มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเน้นควบคุมค่าใช้จ่ายภายในกิจการอย่างเคร่งครัดมากขึ้นอีกด้วย ฝ่ายวิจัยจึงยังแนะนำ ซื้อ เพื่อรับการฟื้นตัวของธุรกิจหลักในปี 2562 อีกทั้งยังสามารถคาดหวัง div yields ได้ราว 3-4% p.a. (จ่ายปีละ 2 ครั้ง) โดย Fair Value อยู่ที่ 22 บาท
กลยุทธ์ Dividend Play น่าจะเหมาะกับภาวะตลาดผันผวน
Valuation ของ 9 หุ้นปันผลเด่น ที่ยังไม่ขึ้นเครื่องหมาย XD
หมายเหตุ : เนื่องจากบางบริษัทจดทะเบียนยังไม่ได้ประกาศวันขึ้นเครื่องหมาย XD ของงบครึ่งปีหลังของปี 2561 จึงใช้วันขึ้นเครื่องหมาย XD ของงบครึ่งปีหลังของปี 2560 แทน
*ผลตอบแทนเฉลี่ยก่อนขึ้น XD คิดคำนวณตั้งแต่วันนี้ ถึงวันขึ้น XD
ที่มา : SET, ฝ่ายวิจัย ASPS
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์