- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 18 February 2019 15:04
- Hits: 2721
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันนี้คาดดัชนีหุ้นไทยกลับมาผันผวนในกรอบ 1630-1645 จุด แม้ผ่อนคลายจากปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐ และไม่มี Governmemt shutdown ซึ่งหนุนราคาน้ำมันดิบดูไบยืนฟื้นเหนือ 65 เหรียญฯ อีกครั้ง แต่กลับถูกหักล้างจากความกังวลการเมืองในประเทศ ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง กับภาพรัฐบาลชุดใหม่ กดดัน fund flow ไหลออก กลยุทธ์ยังเน้นรายหุ้นที่จ่ายเงินปันผลเด่นและใกล้ขึ้น XD (QH, LH, KKP, THANI, BBL) Top picks เลือก PTTEP(FV@B168) ราคาหุ้นไม่สะท้อนราคาน้ำมันที่ยังฟื้นตัว
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … SET Index ลงหนัก ลบกว่า 15 จุด
วันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลดลงมาทดสอบบริเวณ 1642 จุด (ซึ่งเป็นบริเวณแนวรับรายวัน) และยังทรุดตัวต่อปิดตลาดที่ระดับ 1636.94 จุด ลดลงมา 15.70 จุด (-0.95%) มูลค่าการซื้อขาย 4.78 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดภูมิภาค โดยกลุ่มที่ถูกเทขายหลักๆ คือ กลุ่มพลังงาน (PTT, PTTEP) หุ้นโรงไฟฟ้า (BGRIM, EA) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่หลายตัว เช่น AOT, SCC, CPN และ KBANK
แนวโน้มดัชนีหุ้นไทยวันนี้น่าจะแกว่งตัวในกรอบ 1630-1645 จุด แม้ตลาดจะผ่อนคลายจากปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐ และไม่มี Government shutdown ซึ่งหนุนราคาน้ำมัน ดูไบยืนฟื้นเหนือ 65 เหรียญฯ อีกครั้ง แต่กลับถูกหักล้างจากความกังวลปัญหาการเมืองในประเทศ และหลังเลือกตั้งหน้าตารัฐบาลยังเหมือนหรือไม่ เป็นปัจจัยกดดัน fund flow ไหลออก
จีน-สหรัฐ ยังมีพัฒนาการเชิงบวก หนุนราคาน้ำมันเหนือ 65 เหรียญฯ
ตลาดหุ้นโลกน่าจะผ่อนคลายจากพัฒนาการเชิงบวก อย่างน้อย 2 เรื่องคือ
1.สิ้นสุดปัญหา Government shutdown หลังประธานาธิบดีทรัมป์ได้เซ็นอนุมัติงบประมาณประจำปี 2562 ทำให้มีงบประมาณใช้จนถึงสิ้นปีงบประมาณ (30ก.ย.2562) แต่อย่างไรก็ตามวันเดียวกันทรัมป์ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อดึงงบประมาณจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐมาเป็นงบสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกวงเงิน 6.7 พันล้านเหรียญฯ (เพิ่มจากเดิมเสนอที่ 5.7 พันล้านเหรียญฯ) โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนของสภาคองเกรส ซึ่งตลาดรับรู้ประเด็นนี้ไปแล้ว
และ 2. สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ยังมีพัฒนาการเชิงบวกต่อเนื่อง หลังจากปลายสัปดาห์ที่แล้วตัวแทนสหรัฐเดินทางไปเจรจาการค้ากับฝั่งจีน แม้ยังไม่มีรายละเอียดออกมาชัดเจน และทั้ง 2 ฝั่ง ตกลงที่เจรจาการค้าต่อในสัปดาห์นี้ ที่กรุง Washington สอดคล้องกับแหล่งข่าว Bloomberg ระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังพิจารณาเลื่อนวันกำหนดการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านเหรียญ เป็น 25% (จากเดิมเก็บ 10%) ที่จะครบกำหนดวันที่ 1 มี.ค. 2562 ออกไปอีกราว 60 วัน (ราว 1 พ.ค.) เพื่อดูท่าทีจีนว่าจะทำตามข้อตกลงที่สหรัฐเรียกร้องหรือไม่ ซึ่งหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ล่าสุดพบว่าราคาน้ำมันดิบดูไบแกว่งตัวขึ้นได้ต่อ ล่าสุดอยู่ที่ 65.79 เหรียญฯต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับสมมติฐานของ ASPS ที่กำหนดไว้ 65 เหรียญ ในปี 2562 (และกำหนด 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป) ยังแนะนำสะสม PTTEP(FV@B168) และ PTT(FV@B56)
ขณะที่ไทยเช้านี้ สภาพัฒน์ฯ จะรายงาน GDP Growth ใน 4Q61 ตลาดคาด 3.6%yoy (ใกล้เคียง ASPS) แม้ดีขึ้นจาก 3.3% ใน 3Q61 แต่ชะลอตัวลงจาก 1H61 เพราะผลกระทบภาคส่งออกหดตัวใน 2 เดือนสุดท้ายของปี 2561 ทำให้ GDP Growth ทั้งปี 2561 เฉลี่ย 4% และยังส่งผลต่อเนื่องปี 2562 จะเหลือ 3.5% แต่น่าจะแรงหนุนจากการบริโภค และลงทุนในประเทศทดแทน
สินเชื่อรถยนต์ อาจกระทบ sentiment หาก ธปท. มีมาตรการเข้มงวดขึ้น
หลังจากช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมา ธปท. ได้แสดงถึงความกังวลต่อความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีอยู่ สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ยังอยู่ในระดับสูง ด้วยเหตุนี้ เมื่อต้นเดือน ต.ค. 61 ธปท. จึงได้ปรับเกณฑ์กำกับการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดให้มีเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับการกู้บ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป หรือที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยต้องวางเงินดาวน์อย่างน้อย 20% ของมูลค่าหลักประกัน (หรือ LTV Limit 80%) และปรับเกณฑ์การนับสินเชื่อ Top-up ที่ใช้หลักประกันเดียวกัน (ไม่กระทบสำหรับการซื้อบ้านหลังแรก) โดยจะเริ่มใช้เกณฑ์ใหม่กับสัญญากู้ซื้อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจมีผลกระทบบ้างต่อ ธ.พ.กลาง-เล็ก ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูง คือ TMB (23% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2561) และ BAY (15% ) ซึ่ง ส่งผลให้การเปิดโครงการใหม่ลดลง และผู้ประกอบการต่างหันมาเร่งระบายสต๊อกพร้อมโอนฯ มากขึ้น
ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ เป็นอีกประเด็นที่ ธปท. กังวล เนื่องจากมีการขยายตัวในอัตราสูงสุดในสินเชื่อบุคคล (สินเชื่อบุคคลคิดเป็น 40% ของสินเชื่อทั้งระบบ) โดยปี 2561 สินเชื่อรถยนต์เติบโตถึง 12.6% (สินเชื่อทั้งระบบโตเพียง 4-5%) ขณะที่ NPL สินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.66% จากปีก่อนที่ 1.6% แต่หนี้ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษที่ค้างชำระ 30-90 วัน (SM) สูงถึง 7.11% อย่างไรก็ตามสัดส่วนของ SM อยู่ในระดับนี้มานานแล้ว (ตั้งแต่ก่อนปี 2555 แล้ว) เพราะพฤติกรรมชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด (เมื่อเกิน 3 เดือน จะมาชำระเดือนที่ 4 และมักเกินช่วง เม.ย.-พ.ค. ทุกปี) แต่ส่วนใหญ่จะไม่ปล่อยให้รถยนต์ถูกยึด จึงไม่เห็นการไหลตกชั้นไปเป็น NPL จำนวนมาก
แต่อย่างไรก็ตาม หาก ธปท.มีมาตรการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ เช่น การเพิ่มวางเงินดาวน์ (จากปัจจุบันที่วางดาวน์ต่ำ เพราะผู้ผลิตรถยนต์เข้ามาปล่อยสินเชื่อเอง ทำให้การแข่งขันรุนแรง) น่าจะกระทบต่อ ธ.พ.ที่มีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปริมาณสูง ได้แก่ TCAP (56% ณ สิ้นปี 2561) TISCO (52%) และ KKP (49%) แต่มีนโยบายให้สินเชื่อแตกต่างกัน โดย TISCO เน้นรถยนต์ใหม่ 90%ของสินเชื่อรวม ขณะที่ TCAP 70% เป็นรถใหม่ ที่เหลืออีก 30% เป็นรถมือสองและสินเชื่อทะเบียนรถ) ส่วน KKP เน้นรถมือสอง 61%
งบ 4Q61 TOP เป็นไปตามคาด
เย็นวันศุกร์ที่ผ่านมามีบริษัททยอยรายงานงบออกมาเพิ่มเติม โดย TOP เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ ASPS กลุ่มพลังงานคาด คือ งวด 4Q61 พลิกเป็นขาดทุน 4.8 พันล้านบาท หลักๆ กดดันจากการบันทึกกลับเป็นขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันรวม NRV สูงถึง 8.5 พันล้านบาท ส่วนกำไรปกติลดลงคาดเช่นกัน โดยลดลง 7.1%qoq มาอยู่ราว 3.0 พันล้านบาท กดดันค่าการกลั่น (GRM) ที่ลดลง ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น (TLB) ที่หดตัวลดลง สวนทางกับธุรกิจอะโรเมติกส์ (TPX) ในงวด 4Q61 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดยรวมกำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ 1.0 หมื่นล้านบาท ลดลง 59.2%yoy ตามคาด แต่แนวโน้ม 1Q62 คาดพลิกกลับเป็นกำไรสุทธิจาก Stock Gain ขณะที่กำไรปกติคาดยังถูกกดดันจากค่าการกลั่น แต่ คาดจะฟื้นตัวขึ้นในช่วง มี.ค.-เม.ย. เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลซ่อมบำรุงโรงกลั่นหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งจะหนุนต่อ GRM ในงวด 2Q62 อย่างไรก็ตาม TOP มีแผน Shut down โรงกลั่น 45 วัน ในช่วงปลาย 2Q62 ดังนั้นคาดกำไรยังมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ราคาหุ้นมี Upside จำกัด ประกอบกับเงินปันผล 2H62 เพียง 1.15 บาท/หุ้น ต่ำกว่าคาด ยังคงแนะนำ Switch
ต่างชาติขายหุ้นเอเชีย รวมถึงไทยจากการเมืองในประเทศ
วันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิเป็นวันที่ 2 มูลค่า 460 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ นำโดย ไต้หวันและเกาหลีใต้ ถูกขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 2 มูลค่า 173 ล้านเหรียญ และ 161 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ฟิลิปปินส์ถูกสลับมาขายสุทธิ 10 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), อินโดนีเซีย 20 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) และไทยต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 มูลค่า 95 ล้านเหรียญ หรือ 3 พันล้านบาท(ขายสุทธิเป็นวันที่ 5 มีมูลค่ารวม 9.85 พันล้าน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศสลับมาขายสุทธิ 1.5 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน)
เป็นที่สังเกตว่าต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง หลังจากที่การเมืองในประเทศเริ่มมีความไม่แน่นอน หากนับย้อนไปช่วงที่ 23 ม.ค. 62 หลังทาง กกต. ลงมติให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 ต่างชาติได้เข้ามาซื้อสุทธิสะสมรวมกว่า 7.92 พันล้านบาท (24 ม.ค. 62 ถึง 7 ก.พ. 62) แต่หลังจากวันที่ 8 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการส่งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ความไม่แน่นอนทางการเมืองสูงขึ้น กดดันต่างชาติขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่อง 9.85 พันล้านบาท (8 ก.พ. 62 ถึง ปัจจุบัน) จนเม็ดเงิน ณ ปัจจุบัน เป็นยอดขายสุทธิสะสม 1.93 พันล้านบาท (24 ม.ค. 62 ถึง ปัจจุบัน) ช่วงเวลาเดียวกันตลาดตราสารหนี้ไทยถูกต่างชาติขายสุทธิมาอย่างต่อเนื่องรวมกว่า 8.73 พันล้านบาท
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์