- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 07 February 2019 15:25
- Hits: 3477
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
SET Index 1,658.71
เปลี่ยนแปลง (จุด) 5.62
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 38,520
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท(ล้านบาท)
นักลงทุนต่างชาติ 1,627.85
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ 20.43
นักลงทุนสถาบันในประเทศ 1,429.08
นักลงทุนรายย่อย -3,077.35
กลยุทธ์การลงทุน
ปัจจัยแวดล้อมเป็นใจ อดีตประธาน Fed เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ยสหรัฐหากเศรษฐกิจโลกยังมีสัญญาณชะลอตัว หนุน Fund flow ไหลเข้าเอเชีย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยที่กลับมาฟื้นตัว หลังการเมืองนำไปสู่การเลือกตั้งชัดเจน น่าจะหนุนหุ้นค้าปลีกกลับมานำตลาด ส่วนการรายงานงบ 4Q61 ของภาคการผลิตจะทยอยประกาศช่วงปลายเดือน ก.พ. ทำให้ดัชนีมีโอกาสขึ้นทดสอบแนวต้าน 1663 จุด หากผ่าน มองที่ 1700 จุด Top picks ยังชอบ SCCC(FV@B269) และเพิ่ม BJC(FV@B61) ราคาหุ้นยัง Laggard
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … ดัชนีปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน 1663 จุด
ตลาดหุ้นไทยวานนี้แม้จะซื้อขายกันด้วยมูลค่าเบาบางที่ 3.85 หมื่นล้านบาท แต่ก็นับว่าสูงขึ้นกว่าช่วงต้นสัปดาห์ โดยดัชนีระหว่างวันปรับตัวเพิ่มขึ้นทดสอบแนวต้าน 1663 จุด ก่อนจะลดช่วงลงมาปิดที่ระดับ 1658.71 จุด เพิ่มขึ้น 5.62 จุด (+0.34%) ด้วยแรงหนุนหลักจากกลุ่มค้าปลีก กลุ่ม ธ.พ. และกลุ่ม ICT ทั้ง ADVANC (จะประกาศงบในวันนี้) และ INTUCH ขณะที่หุ้นรายตัว PTT PTTEP และ AOT ปิดปรับตัวลดลง
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่ามีโอกาสแกว่งตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน 1663 จุด และมองแนวต้านถัดไป 1700 จุด ปัจจัยแวดล้อมเอื้อทั้งอดีตประธาน Fed แสดงความเห็นต่อแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐน่าจะมีโอกาสลดลงมากกว่าขึ้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศที่ฟื้นตัว หลังการเมืองมีพัฒนาการไปสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรม และการประกาศผลประกอบการงวด 4Q61 ที่จะทยอยเพิ่มมากขึ้นช่วงปลายเดือน ก.พ. หลังจากนั้นจะมีการประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับงวด 2H61 หรือปี 2561 จึงยังหนุนหุ้นรายตัว
สหรัฐมีโอกาสลดดอกเบี้ย..ไทยยังขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง หนุน Fund flow
การแถลงนโยบายประจำปีของประธานาธิบดีสหรัฐ ต่อสภาคองเกรส เมื่อวานนี้เป็นไปตามตลาดคาด ใน 2 เรื่องคือ 1) ต้องการให้มีการอนุมัติงบก่อสร้างกำแพงชายแดนเม็กซิโก 5 พันล้านเหรียญ ซึ่งน่าจะหยิบยกมาพิจารณาอีกครั้ง ใน 15 ก.พ. 2562 และจะมีการพิจารณาผ่านงบประมาณชั่วคราว ซึ่งอาจนำไปสู่ Government Shutdown อีกครั้ง ถือเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นสหรัฐ แต่เพียงสั้น ๆ
และ 2) สหรัฐยังติดตามท่าทีว่าจีนจะยอมผ่อนปรนตามสหรัฐเรียกร้อง ทั้งเรื่องการเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ และหยุดลักลอบขโมยเทคโนโลยี ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปในการเจรจาอีกครั้ง หลังสหรัฐเยือนผู้นำเกาหลีเหนือ 27-28 ก.พ. นี้ แต่เชื่อว่ายังมีพัฒนาเชิงบวกต่อเนื่อง
นอกจากนี้อดีตประธาน Fed (Janet Yellen) ยังแสดงความเป็นห่วงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ จะชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ทำให้สหรัฐมีโอกาสลดดอกเบี้ยจากที่เดิมที่จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจนักวิเคราะห์ของ Bloomberg ที่ส่วนใหญ่คาด Fed จะลดดอกเบี้ยช่วงปลายปีนี้
ส่วนไทย ที่ประชุม กนง. สรุปให้คงดอกเบี้ย นโยบายที่ 1.75% (มติ 4 : 2) โดยส่วนใหญ่ยัง กังวลผลกระทบสงครามการค้า, ค่าเงินบาทแข็งค่า, สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูง และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มใน 4Q61 เป็นต้น จึงคาดปีนี้ กนง. น่าจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง เป็น 2% ภายใต้สมมติฐานเงินเฟ้อปีนี้ไม่เกิน 1% (น้ำมันดูไบเฉลี่ย 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล) ซึ่งน่าจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับเอเชียปรับแคบลง หนุน Fund Flow ไหลกลับเอเชีย รวมถึงไทยมากขึ้น
สต็อกน้ำมันเพิ่มแต่น้อยกว่าคาด ยังหนุนน้ำมันดูไบเกิน 60 เหรียญฯ
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสัปดาห์ล่าสุด เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 ราว 1.2 ล้านบาร์เรล แต่น้อยกว่าที่ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 2.17 ล้านบาร์เรล ขณะที่การตัดลดกำลังการผลิตทั้งจากกลุ่ม OPEC และ Non OPEC ยังเป็นไปตามแผนจนถึงกลางปี 2562 ที่ลดลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน (ยังมีอยู่ต่อเนื่อง หลังจากเดือน ธ.ค. ทำข้อตกลงที่จะตัดลดการผลิต) และในเวเนซุเอลา การผลิตน้ำมันมีแนวโน้มลดลง (ผลิตน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 8 ของกลุ่ม OPEC ราว 1.44 ล้านบาร์เรล/วัน หรือราว 3.74% ของกำลังการผลิตทั้งหมด) หลังจากถูกสหรัฐคว่ำบาตรเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2562
นับว่าสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ชะลอลงจากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบแกว่งตัว ล่าสุดอยู่ที่ 62.1 เหรียญฯต่อบาร์เรล แม้ต่ำกว่าสมมติฐานของ ASPS ที่กำหนดไว้ 65 เหรียญ ในปี 2562 แต่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวยืนเหนือ 60 เหรียญฯในช่วงที่เหลือของปีนี้ (และกำหนด 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป) ยังแนะนำสะสม PTTEP(FV@B168) และ PTT(FV@B56) ขณะที่หุ้นทั้ง 2 บริษัทยังให้เงินปันผลจ่ายสูง
หุ้นค้าปลีกได้แรงหนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและการเมืองในประเทศ
ตลาดน่าจะได้แรงหนุนจากหุ้นค้าปลีก หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค. พลิกกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง 1.64% mom หลังจากที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน หลังมีพัฒนาการทางการเมือง ที่จะนำไปสู่วันเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 รวมไปถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีแนวโน้มผ่อนคลายอย่าง และนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มฟื้นตัว หลังรัฐขยายมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม VISA
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ถือเป็นดัชนีชี้นำกลุ่มค้าปลีก ซึ่งจะหนุน อัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า แต่ด้วยสภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง รวมทั้งการขยายสาขาใหม่ที่มีแนวโน้มทำได้จำกัดมากขึ้น บรรดาผู้ประกอบการรายต่างๆ ในกลุ่มฯ ที่จดทะเบียนในตลาดฯ ต่างวางกลยุทธ์และชูจุดเด่นที่แตกต่างกัน เช่น
BJC แม้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อจะได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่สูง แต่จุดแข็งคือ ธุรกิจดั้งเดิม (จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค, บรรจุภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์+เครื่องมือแพทย์) ที่มีมาร์จิ้นสูง และการกระจายตัวของฐานลูกค้า โดย BJC ขยายฐานลูกค้าทีเป็น HORECA พร้อมขยายสาขาไปต่างประเทศในรูปแบบ Hypermarket แต่จะเน้นเปิดสาขาแถบชายแดน เพื่อใช้ฐานธุรกิจในไทยสนับสนุน ช่วยให้ไม่มีต้นทุนส่วนเพิ่มอย่างมีนัยฯ
CPALL จุดเด่นยังคงเป็นจำนวนสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นแห่ง และมีแผนที่จะขยายสาขาใหม่ที่ยังมีแผนเปิด 700 สาขาต่อปี ทั้งยังมีการพัฒนาสินค้าอาหารพร้อมทานด้วยการทดลองเปิดสาขาที่ให้บริการโดยตู้อัตโนมัติและบริการตนเอง เป็นการตอบโจทย์ Life Style คนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ยังเน้นไปที่สินค้า Private Brand ที่มีอัตรากำไรสูงให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านการบริการรับ-ส่งสินค้า, การเป็นแบงก์กิ้ง เอเย่นต์ รับฝาก-ถอนเงินสด เป็นต้น
ROBINS แม้ SSSG และการเพิ่มสินค้า Private Brand จะยังไม่โดดเด่นเท่าใดนัก แต่จุดแข็งจะเป็นการขยายสาขาใหม่ ที่เน้นไปต่างจังหวัดที่การแข่งขันน้อยกว่าในกทม. รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ให้เช่า แก่ร้านค้าที่มีชื่อเสียง เพื่อให้เป็นจุดที่ พบปะสังสรรค์ (Robinson Lifestyle) ของครอบครัวและคนรุ่นใหม่ รวมยังปรับตัวเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ด้วยการเพิ่มจุดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ล่าสุด หันมาเน้นทำกลยุทธ์ Omnichannel เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่มากขึ้น
HMPRO จุดแข็ง ยังคงเน้นการเพิ่มสัดส่วนสินค้า Private Brand ที่มีอัตรากำไรสูงมากขึ้น และการขยายสาขาใหม่ด้วยขนาดที่เล็กลงเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มบริการใหม่ๆ เช่น การติดตั้งและรับซ่อมบำรุง นอกจากนี้ การขยายสาขาไปยังต่างประเทศได้ระยะหนึ่งแล้วในมาเลเซีย และน่าจะเริ่มเข้าสู่จุดคุ้มทุนได้ในเร็วๆ นี้
โดยรวมคาดว่า ทิศทางกำไรกลุ่มค้าปลีก – ค้าส่ง ในปี 2562 จะเติบโตที่ราว 10.6%yoy แต่ด้วยระดับ Valuation ของกลุ่มฯ ที่เริ่มแพงขึ้น สะท้อนจากระดับ PER ปัจจุบันที่ 30.6 เท่า ระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ทำให้ Upside ในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่เหลือน้อยลง กลยุทธ์การลงทุนกลุ่มค้าปลีก จึงควรเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโต แต่ยัง Laggard โดยเลือก BJC (FV@B61) เป็น Top Pick โดยมีตัวเลือกรองมาคือ HMPRO ([email protected]) ที่ปี 2562 เติบโตโดดเด่นสุดในกลุ่ม ขณะที่ยังพอเหลือ Upside ลงทุนได้ ส่วน CPALL แม้แข็งแกร่งสุดในกลุ่ม แต่ราคาที่ปรับตัวขึ้นแรง จนเริ่มมี Upside จำกัด ควรเน้นลงทุนเมื่อราคาอ่อนตัวผลต่างระหว่างผลตอบแทนหุ้นค้าปลีกแต่ละตัวเทียบกลุ่มฯ (2562ytd)
ต่างชาติซื้อหุ้นกลุ่ม TIP ต่อ
วานนี้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไต้หวันยังคงปิดทำการ เนื่องจากช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่ตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP เปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในกลุ่ม TIP ทั้ง 3 ประเทศ ด้วยมูลค่ารวม 80 ล้านบาท เริ่มจากฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิ 18 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 14) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 10 ล้านเหรียญ และไทยที่ต่างชาติซื้อสุทธิอีก 52 ล้านเหรียญ หรือ 1.63 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 1.43 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า)
หากพิจารณา Fund Flow ในตลาดหุ้นภูมิภาคตั้งแต่ต้นปี 2562 พบว่า ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคแล้วกว่า 7.68 พันล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทั้ง 5 ประเทศ (ซื้อทั้งในเดือน ม.ค. และ ก.พ.) ดังตารางทางด้านล่าง และ Fund Flow ยังมีโอกาสไหลเข้าตลาดหุ้นในภูมิภาคต่อ หาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตลง ตามเศรษฐกิจสหรัฐที่มีโอกาสชะลอตัว
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์