- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 06 February 2019 16:57
- Hits: 3959
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
SET Index 1,653.09
เปลี่ยนแปลง (จุด) -0.53
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 25,350
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท(ล้านบาท)
นักลงทุนต่างชาติ 362.66
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -249.68
นักลงทุนสถาบันในประเทศ -82.56
นักลงทุนรายย่อย -30.42
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนีหุ้นไทยเผชิญกับแนวต้านระยะสั้น ประกอบกับตลาดยังขาดปัจจัยใหม่หนุน การรายงานงบ 4Q61 ของภาคการผลิตน่าจะทยอยประกาศช่วงปลายเดือน ก.พ. ยกเว้นการเมืองที่มีพัฒนาการนำไปสู่การเลือกตั้ง 24 มี.ค. นี้ ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักหนุนดัชนีขึ้นต่อ หากสามารถผ่านกรอบการเคลื่อนไหว 1645-1663 จุดได้ วันนี้เลือก SCCC(FV@B269) เป็น Top pick ตามกระแสการใช้ปูนในประเทศ และยังให้เงินปันผล 3.9% (จะประกาศงบ 20 ก.พ. นี้)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … ดัชนีซึม นักลงทุนฉลองเทศกาลตรุษจีน
ตลาดหุ้นไทยวานนี้เงียบเหงา และแกว่งตัวแคบ อยู่ในแดนลบเกือบตลอดทั้งวัน ปิดที่ 1653.09 จุด ลดลงเล็กน้อย 0.53 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเบาบางเพียง 2.5 หมื่นล้านบาท คาดว่านักลงทุนชะลอการลงทุน เนื่องจากเทศกาลตรุษจีน ขณะที่ตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียเกือบทุกแห่งปิดทำการเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวันตรุษจีน
โดยหุ้น Market cap ใหญ่พักตัว แต่หุ้นที่ปรับขึ้นได้อย่างชัดเจน คือหุ้นขนาดกลาง-เล็ก อาทิ LH, GPSC, EGCO ตรงข้ามกับกลุ่มที่ปรับลดลง หลักๆ คือ กลุ่มพลังงาน เช่น PTT PTTEP IRPC รวมทั้งกลุ่มปิโตรเคมี คือ IVL และ PTTGC ตามราคาน้ำมันที่ปรับลดลงช่วงสั้น
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าดัชนีน่าจะแกว่งตัวในกรอบ 1645-1663 จุด เนื่องจากยังขาดประเด็นใหม่หนุนทั้งต่างประเทศ การประชุมธนาคารกลางเอเชีย และสงครามการค้า ตลาดน่าจะรับรู้ไปแล้ว ส่วนในประเทศจะมีเรื่องการประกาศกำไรงวด 4Q61 แต่น่าจะทยอยประกาศหนักๆ ในช่วงปลายเดือน ก.พ. จึงน่าจะมีประเด็นการเมืองที่ยังเป็นบวกต่อตลาด เพราะกำลังเข้าสู่ขบวนการนำไปสู่การเลือกตั้ง 24 มี.ค.
Fed ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และ กนง. จะยังคงดอกเบี้ยฯ แต่ตลาดซึมซับแล้ว
วันนี้การประชุม กนง. วันนี้ (ทราบผลราวช่วงบ่าย 2) คาดจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ตามเดิม หลังจาก กนง. ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 1 ครั้ง 0.25% เป็น 1.75% เมื่อ ธ.ค. 2561 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ยังต่ำ ล่าสุดเดือน ม.ค.อยู่ที่ 0.27% และคาดว่าปีนี้น่าจะขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งขึ้นไปที่ 2% น่าจะเป็นระดับสูงสุด เพราะเชื่อว่าเงินเฟ้อปีนี้น่าจะไม่เกิน 1%
ส่วนต่างประเทศยังไม่มีประเด็นใหม่ โดยการประชุมธนาคารกลางเอเชีย 7 ก.พ. นี้ คาดธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) จะคงดอกเบี้ยที่ 4.75% (หลังจากขึ้นไปแล้ว 5 ครั้ง 1.75% ในปี 2561) แต่คาดปีนี้ยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้อีก แม้เงินเฟ้อเดือน ม.ค. อยู่ที่ 4.4% ชะลอจากสูงสุด 6.7% ในเดือน มิ.ย. แต่ถือว่าสูงกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 3.0% และวันเดียวกันคาดธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะยังคงดอกเบี้ยที่ 6.5% เพราะเงินเฟ้อชะลอเหลือ 2.2% ใน ธ.ค. จาก 4.9% ในเดือน มิ.ย. ตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง (หลังจากขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง 0.5% ในปี 2561)
ส่วนเช้านี้ฝั่งสหรัฐมีหลายเรื่องน่าติดตาม เริ่มจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะแถลงนโยบายประจำปีของต่อสภาคองเกรส หลักๆ คือ งบประมาณชั่วคราว ที่มีกำหนดถึงวันที่ 15 ก.พ. 2562 ซึ่งทรัมป์เน้นย้ำว่า หากยังไม่ได้รวมงบก่อสร้างกำแพงชายแดนเม็กซิโก วงเงิน 5 พันล้านเหรียญ มีโอกาสที่จะเกิด Government Shutdown อีกครั้ง
ตามมาด้วยการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนน่าจะมีพัฒนาเชิงบวก หลังจากทั้ง 2 ประเทศมีท่าทีประนีประนอมกัน โดยทรัมป์มีกำหนดเจรจากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อีกครั้งราว 27-28 ก.พ. ที่เวียดนาม เพราะได้รับรู้แล้วว่าสงครามการค้าที่ผ่านมากระทบต่อเศรษฐกิจทั้ง 2 ฝ่าย
และสุดท้าย แนวทางกดดันธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ให้ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย (จากเดิมที่ประเมินว่าจะขึ้น 2 ครั้ง จากการประชุมที่เหลือ 7 ครั้งในปีนี้) โดยรวมส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับเอเชียแคบลง หนุน Fund Flow ไหลกลับเอเชีย ส่วนค่าเงิน Dollar index แกว่งตัวในทิศทางอ่อนค่า ขณะที่เอเซียค่าเงินส่วนใหญ่แข็งค่า ถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นเอเซีย
กลยุทธ์การลงทุน เน้นไปที่หุ้นปันผล และหุ้นที่ได้ประโยชน์หลังเลือกตั้ง
ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ยังไม่มีประเด็นใหม่ๆ ดังกล่าวข้างต้น ส่วนในประเทศ จุดที่น่าสนใจมีอยู่ 2 ประเด็น คือ การประกาศผลประกอบการ 4Q61 ของบริษัทจดทะเบียนในภาค Real Sector ซึ่งน่าจะทยอยประกาศมากขึ้นในช่วงของปลายเดือน ก.พ. นี้ และอีกประเด็นคือ การเลือกตั้งในประเทศ ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรับสมัคร ส.ส. ทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 8 ก.พ. 62 โดยแต่ละพรรคการเมืองจะมีการส่งรายชื่อผู้ที่สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการคัดเลือกบุคคลที่จะเป็นนายกฯ น่าจะมาจากบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะส่งขึ้นไป โอกาสที่จะได้นายกฯ ที่อยู่นอกเหนือบัญชีรายชื่อ ถือว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากมาก ส่วนกระบวนการหลังจากนี้ คือ 15 ก.พ. กกต.ประกาศรายชื่อผู้สมัคร, 4-16 มี.ค. เป็นวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร, 17 มี.ค. เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า, 24 มี.ค. วันเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ และ 9 พ.ค. กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง
พัฒนาการทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากสถิติในช่วงการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุด พบว่า SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในช่วงก่อนเลือกตั้ง 3เดือน และปรับขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วง 1 สัปดาห์หลังเลือกตั้ง โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 4.88% และให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้ง 4 ครั้ง (ดังภาพทางด้านล่าง)
การเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุด VS ผลตอบแทนหุ้นไทย
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าน่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติ ที่ลดน้ำหนักการถือครองหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเกือบ 6 ปีที่ผ่านมา เริ่มกลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทย โดยคาดหวังว่าจะเห็นน้ำหนักการลงทุนถูกปรับจาก น้อยกว่าตลาด (Underweight) มาเป็นเท่ากับตลาด (Neutral) ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ค่า PER ของตลาดหุ้นไทย กลับไปที่ 16 เท่า (เทียบเท่า 1795 จุด ณ สิ้นปี 2562) ได้อีกครั้ง
กลยุทธ์การลงทุนยังคงแนะนำหุ้นในกลุ่มที่น่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากกระแสการเลือกตั้ง เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (STEC, CK) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BBL, KBANK) กลุ่มค้าปลีก (ROBINS, BJC, CPALL) กลุ่มสื่อ-สิ่งพิมพ์ (PLANB) กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (WHA, AMATA) รวมถึงหุ้นสาธารณูปโภคคือ SCCC ซึ่งรายได้หลักมาจาการขายปูนซิเมนต์ แตกต่างจาก SCC ที่รายได้และกำไรรวม กว่า 65% มาจากธุรกิจปิโตรเคมี และพิจารณา upside ของ SCCC ยังมีกว่า 15% ขณะที่ SCC มี upside จำกัด นักวิเคราะห์ ASPS จึงให้ Switch จาก SCC มายังหุ้น SCCC และยังให้เงินปันผล 3.9% (จะประกาศงบ 20 ก.พ. นี้)
นอกจากนี้หลังการประกาศงบฯ จะเข้าสู่ช่วงของการจ่ายเงินปันผลจึงแนะนำหุ้น Dividend yield สูง อาทิ MAJOR, QH รวมทั้ง POPF โดยแนะนำให้ซื้อก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD ประมาณ 1 เดือน
แรงซื้อหุ้นไทยจากต่างชาติแผ่วลงในช่วงตรุษจีนเช่นอดีต
วานนี้ตลาดหุ้นในภูมิภาคส่วนใหญ่ปิดทำการ เนื่องจากเป็นวันตรุษจีน และมีเพียงตลาดหุ้นไทยที่เปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมพบว่า ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 382 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิในวันก่อน) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิเล็กน้อย 83 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 4 วันทำการ โดยมีมูลค่ารวม 1.24 หมื่นล้านบาท)
ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ผู้คนออกไปท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยกันมาก ขณะเดียวกันตลาดหุ้นหลายประเทศหยุดทำการติดต่อกันนาน เช่น ตลาดหุ้นจีนและไต้หวันหยุดตลอดสัปดาห์นี้, เกาหลีใต้หยุดวันจันทร์ถึงพุธ, อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์หยุดวานนี้วันเดียว เป็นต้น ส่งผลให้มูลค่าซื้อขายเบาบางลงในช่วงนี้ สังเกตได้จากมูลค่าซื้อขายหุ้นไทยในวันตรุษจีนเหลือเพียง 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำสุดในปี 2562 และลดลงมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท (ytd) อีกทั้งยังสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 23 ปี พบว่า มูลค่าซื้อขายตลาดหุ้นไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนมักจะเบาลง และ Fund Flow มีโอกาสไหลออกเล็กน้อยในช่วง 1 สัปดาห์หลังตรุษจีนเฉลี่ย 1.20 พันล้านบาท (ขายสุทธิ 14 ใน 23 ปี) กดดันให้ SET Index ทรงๆ ตัว โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ -0.02% มีความน่าจะเป็นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 48%
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์