WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
 
วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
        SET Index    1,653.62
        เปลี่ยนแปลง (จุด)    2.22
        มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท)    31,742
 
 
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท(ล้านบาท)        
        นักลงทุนต่างชาติ    -1,412.76
        บัญชีบริษัทหลักทรัพย์    137.32
        นักลงทุนสถาบันในประเทศ    1,996.21
        นักลงทุนรายย่อย    -720.77
 
 
กลยุทธ์การลงทุน     
การปรับตัวขึ้นกว่า 70 จุด ในช่วงเวลาประมาณครึ่งเดือน มีโอกาสที่จะตามมาด้วยการพักฐานระยะสั้น โดยในวันนี้พบว่ามี 2 องค์ประกอบที่จะนำไปสู่การพักฐานราคา ได้แก่ มูลค่าการซื้อขายที่เบาบางในช่วงเทศกาลตรุษจีน และราคาน้ำมันที่ย่อตัวลงมา ส่วนประเด็นแวดล้อมอื่นๆ ไม่น่าจะมีน้ำหนักต่อต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของ SET Index มากนัก หุ้นเด่นในช่วงนี้จะให้น้ำหนักไปที่หุ้นปันผล ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาแนะนำให้ทยอยสะสม 1 เดือนล่วงหน้า ก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD เลือก MAJOR (FV@B29) เป็น Top pick
 
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … SET Index ไม่คึกคัก ตลาดฯ เพื่อนบ้านปิดทำการ 
ตลาดหุ้นไทยวานนี้  ปิดที่ระดับ 1653.62 จุด เพิ่มขึ้น 2.22 จุด (+0.13%) ด้วยมูลค่าการซื้อขายเบาบาง 3.17 หมื่นล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการปิดทำการของหลายตลาดในภูมิภาคเอเชีย เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบโลกยังคงหนุนหุ้นน้ำมัน โดยเฉพาะ PTTEP ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.21% ตามด้วยกลุ่มค้าปลีก CPALL+0.65% BJC+0.51% รับ sentiment การจับจ่ายใช้สอย และน่าจะต่อเนื่องถึงช่วงเลือกตั้งตามสถิติที่ ASPS เคยประเมินไว้ ส่วนหุ้นรายตัว ได้แก่ AOT SCC SCCC และ SCB มีแรงเทขายทำกำไร หลังปรับตัวขึ้นมาแรงในช่วงก่อนหน้า
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้น่าจะแกว่งพักตัวในกรอบ 1643 – 1663 จุด โดยคาดว่ามูลค่าการซื้อขายน่าจะเบาบางอีกวัน ขณะที่ดัชนีปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนใกล้แนวต้านทางเทคนิค รวมทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงวานนี้อาจกดดันหุ้นน้ำมันแต่เป็นเพียงระยะสั้น มองเป็นโอกาสในการเข้าทยอยสะสม ขณะที่หุ้นส่งออกอาหารน่าจะได้ sentiment เชิงบวก จากราคาไก่เป็นในประเทศที่ดีดตัวแรงรับเทศกาลตรุษจีน รวมทั้งการส่งออกไก่ยังดีต่อเนื่อง หักล้างผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าไปได้ ยังคงประเมินว่า SET Index มีโอกาสเดินหน้าต่อทดสอบแนวต้าน 1670-1680 จุด ในสัปดาห์นี้ 
ราคาน้ำมันปรับลงจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ตลาดหุ้นปรับขึ้นจาก Earning ดีกว่าคาด   
ปัจจัยต่างประเทศวันนี้ตลาดให้น้ำหนักที่สหรัฐ คือ การแถลงนโยบายประจำปีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อสภาคองเกรส โดยประเด็นที่ทรัมป์จะแถลง น่าจะมีเรื่องพัฒนาการเชิงบวกของเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน โดยทรัมป์มีกำหนดการเจรจากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ราว 27-28 ก.พ. ที่เวียดนาม  และการเมืองในเวเนซุเอลา หลังจากสหรัฐสนับสนุนนาย ฮวน กุยโด ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นประธานาธิบดีรักษาการ แทนนาย นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาคนปัจจุบัน เรื่องงบประมาณชั่วคราว ที่มีกำหนดถึงวันที่ 15 ก.พ. 2562  ซึ่งทรัมป์เน้นย้ำว่า หากยังไม่ได้รวมงบก่อสร้างกำแพงชายแดนเม็กซิโก วงเงิน 5 พันล้านเหรียญ มีโอกาสที่จะเกิด Government Shutdown อีกครั้งได้
ขณะที่การรายงานผลประกอบการ 4Q61 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น S&P500 ถึงวานนี้ออกมาราว 235 บริษัท (หรือคิดราว 47% ของ Market Cap ทั้งตลาดฯ) พบว่ากำไรฯ เติบโตราว 12.5%yoy ซึ่งเป็นการโตที่ชะลอลงจาก 3 ไตรมาสแรกของปี 2561 ที่โตเฉลี่ยกว่า 20%yoy อย่างไรก็ตาม มีบริษัทที่ประกาศผลกำไรออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดถึงกว่า 68.5% จึงช่วยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ วานนี้ปรับเพิ่มขึ้น หักล้างรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาชะลอตัว คือ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงาน (Factory orders) เดือน พ.ย. หดตัว 0.6%yoy  (หดตัวติดต่อกัน 3 เดือน และผิดจากที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 0.3%)  รวมทั้งตัวเลขของจีน ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีน ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน อยู่ที่ระดับ 53.6 ในเดือน ม.ค. ลดลงจากระดับ 53.9 ในเดือน ธ.ค. 
 
ซึ่งปัจจัยนี้กลับไปกดดันราคาน้ำมันดิบโลกแกว่งตัวลงช่วงสั้น อย่างไรก็ตามฝั่ง Supply ยังเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันจากการตัดลดกำลังการผลิตยังเป็นไปตามแผนจนถึงกลางปี 2562 ทั้งจากกลุ่ม OPEC  และ Non OPEC ในปี 2562 ที่ลดลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน รวมถึงการที่สหรัฐคว่ำบาตรเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 8 ของกลุ่ม OPEC ราว 1.44 ล้านบาร์เรล/วัน หรือราว 3.74% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบยังแกว่งตัวที่ 60.9 เหรียญฯต่อบาร์เรล แม้ต่ำกว่าสมมติฐานของ ASPS ที่กำหนดไว้  65 เหรียญ ในปี 2562 แต่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวกลับมายืนเหนือ 60 เหรียญฯ ในช่วงที่เหลือ (และกำหนด 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป) แนะนำสะสม PTTEP(FV@B168) และ PTT(FV@B56)
ช่วงตรุษจีน แรงซื้อหุ้นไทยจากต่างชาติมักแผ่วลง
วานนี้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไต้หวันหยุดทำการ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ส่วนตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่าต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 62 ล้านเหรียญ แต่มีตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ที่ถูกซื้อสุทธิอยู่ 19 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 13) สวนทางกับอินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิ 37 ล้านเหรียญ และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 45 ล้านเหรียญ หรือ 1.4 พันล้านบาท แต่ได้แรงหนุนจากสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิอีก 1.99 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 มีมูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านบาท)
Fund Flow ที่เริ่มแผ่วเบาลง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับมีตลาดหุ้นหลายประเทศหยุดทำการติดต่อกันนาน เช่น ตลาดหุ้นจีนและไต้หวันหยุดตลอดสัปดาห์นี้, เกาหลีใต้หยุดวันจันทร์ถึงพุธ, อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์หยุดวันนี้ เป็นต้น ส่งผลให้มูลค่าซื้อขายและ Fund Flow มีโอกาสไหลเข้าตลาดหุ้นไทยน้อยลง และยังสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 23 ปีพบว่า มูลค่าซื้อขายตลาดหุ้นไทยในวันตรุษจีนเบาบางลงเฉลี่ย 24.7% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า ขณะที่ Fund Flow มักจะไหลออกเล็กน้อยในช่วง 1 สัปดาห์หลังตรุษจีนเฉลี่ย 1.20 พันล้านบาท (ขายสุทธิ 14 ใน 23 ปี) กดดันให้ SET Index ทรงๆ ตัว โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ -0.02% มีความน่าจะเป็นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 48% 
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
 
เปิดรับสมัคร ส.ส. วันแรกคึกคัก รอดูรายชื่อบุคคลที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี
กกต. สรุปผลการเปิดรับสมัคร เพื่อรับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. วันแรก มีจำนวนทั้งหมด 5831 คน จากจำนวนพรรคการเมืองทั้งหมด 58 พรรค ทั้งนี้จำนวนผู้สมัครเกือบทั้งหมดในวันแรกเป็นผู้สมัครในระบบเขต ซึ่งมีจำนวน ส.ส. ที่จะชนะการเลือกตั้งได้ทั้งหมด 350 คน ทั้งนี้ยังเหลือช่วงเวลาในการเปิดรับสมัครไปจนถึง 8 ก.พ.2562 ส่วน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ที่มีได้ทั้งหมด 150 คน วานนี้มีเพียงพรรคการเมืองขนาดเล็ก 2 พรรค ไปยื่นรายชื่อสมัคร ส่วนพรรคการเมืองขนาดใหญ่–กลาง คาดว่าจะยื่นบัญชีรายชื่อ ก่อนวันที่ 8 ก.พ. 2562 โดยอาจจะยื่นพร้อมกัน หรือแยกกับรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ทั้ง 2 ส่วน ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภาย 8 ก.พ.2562
จุดสนใจของช่วงเวลานี้ได้แก่ รายชื่อบุคคลที่ แต่ละพรรคการเมืองจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อว่าด้วยกระบวนการคัดเลือกบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี น่าจะมาจากบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะส่งขึ้นไป โอกาสที่จะได้นายกรัฐมนตรีที่อยู่นอกเหนือบัญชีรายชื่อ ถือว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากมา ทั้งนี้แต่ละพรรคการเมืองสามารถส่งรายชื่อบุคคลได้ไม่เกิน 3 ชื่อ โดยหากพิจารณาที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ถือว่าเป็น 3 ขั้วทางการเมือง คาดว่าพรรคพลังประชารัฐ ส่งรายชื่อ 3 คน (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ดร. อุตตม สาวนายน และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์), พรรคเพื่อไทย ส่งรายชื่อ 3 คน (ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และ นายชัยเกษม นิติสิริ) และพรรคประชาธิปัตย์ คาดว่าจะส่งรายชื่อเพียงคนเดียว คือ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ 
พัฒนาการทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าน่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติ ที่ลดน้ำหนักการถือครองหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเกือบ 6 ปีที่ผ่านมา เริ่มกลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทย โดยคาดหวังว่าจะเห็นน้ำหนักการลงทุนถูกปรับจาก น้อยกว่าตลาด (Underweight) มาเป็นเท่ากับตลาด (Neutral) ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ค่า PER ของตลาดหุ้นไทย กลับไปที่ 16 เท่า (เทียบเท่า 1795 จุด ณ สิ้นปี 2562) ได้อีกครั้ง
ราคาไก่เป็นดีดตัวแรง รับเทศกาลตรุษจีน...บวกต่อ CPF, GFPT และ TFG
ราคาไก่เป็น ณ วันที่ 4 ก.พ. 62 เท่ากับ 37 บาท/กก. ปรับเพิ่มขึ้นถึง 15.6% จากวันก่อนหน้า หลังจากที่ทรงตัวต่ำที่ระดับ 32 บาท/กก. มานานกว่า 3 เดือน สาเหตุหลักมาจากแนวโน้มความต้องการบริโภคไก่ที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้นจากเทศกาลตรุษจีน หนุนราคาไก่เป็นทำระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน (สอดคล้องกับราคาหมูที่ยังทรงตัวสูงที่ 70 บาท/กก.) ซึ่งจะส่งผลบวกต่อราคาผลิตภัณฑ์พลอยได้ของไก่ (By product) ให้ปรับสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น โครงไก่ เลือดไก่ ขนไก่และเท้าไก่ เป็นต้น ถือเป็นผลบวกต่อผู้ประกอบการไก่ไทย ได้แก่ GFPT, TFG และ CPF ที่มีโครงสร้างรายได้จากธุรกิจไก่ในไทยราว 70% 65% และ 9% ตามลำดับ สำหรับแนวโน้มตลาดส่งออกไก่ไทยยังดีต่อเนื่อง ได้แก่ ตลาดญี่ปุ่นและจีน โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีความต้องการนำเข้าชิ้นส่วนไก่จากไทยมากขึ้น อาทิ เท้าไก่และปีกไก่ ซึ่งมีราคาสูงกว่าการขายในประเทศไทยมาก ถือเป็นช่องทางการระบายชิ้นส่วนไก่สู่ต่างประเทศที่ดี หักล้างผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง จนล่าสุดอยู่ที่ 31.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปได้ทั้งหมด โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2562 อยู่ที่ 31.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่ากว่าสมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยปี 2562 ที่ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ 
ทั้งนี้ ราคาไก่เป็นเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2562 เท่ากับ 32.21 บาท/กิโลกรัม ลดลง 5.4% จากราคาไก่เป็นเฉลี่ยปี 2561 และต่ำกว่าสมมติฐานราคาไก่เป็นเฉลี่ยปี 2562 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 34.0 บาท/กิโลกรัม เล็กน้อย ทั้งนี้ หากจะให้ราคาไก่เป็นเฉลี่ยปี 2562 เป็นตามสมมติฐานที่ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้ ราคาไก่เป็นในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะต้องเฉลี่ยอยู่ที่ 34.2 บาท/กก. ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง
ฝ่ายวิจัยแนะนำเข้าลงทุน CPF (FV@B32) TFG ([email protected]) และ GFPT (FV@B17)
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
 ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
 โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
   ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!