WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
 
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่าตลาดน่าจะมีแรงหนุนจาก Fund Flow ต่อเนื่อง หลัง Fed ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยล่าช้ากว่าแผน ขึ้นกับองค์ประกอบทางเศรษฐกิจโดยรวม กดดัน Dollar Index ซึ่งหนุนราคาน้ำมัน แม้ Demand มีแนวโน้มชะลอตัว แต่การตัดลด Supply ช่วยหนุนราคาน้ำมันทรงตัว 60 เหรียญฯ ขณะที่ในประเทศ บริษัทจดทะเบียนทยอยประกาศงบ น่าจะมีแรงขายรับงบ แต่จะตามด้วยการประกาศจ่ายเงินปันผล กลยุทธ์ทยอยสะสมก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD 1 เดือน เลือก QH([email protected]) และ PTTEP(FV@B168) เป็น Top picks     
 
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … หุ้นขนาดใหญ่ประคองตลาดฯ ปิดบวก
วานนี้ตลาดปรับตัวขึ้นช่วงท้ายตลาด และปิดที่ระดับ 1632.60 จุด เพิ่มขึ้น 8.55 จุด (+0.53%) มูลค่าการซื้อขาย 4.87 หมื่นล้านบาท แรงซื้อช่วงท้ายตลาดฯ หนุนดัชนีปิด High ของวัน มีแรงหนุนหลักของหุ้นพลังงาน PTTEP ปรับตัวขึ้นมา 2.1% ตามการรีบาวด์ของราคาน้ำมันดิบโลก ส่วนผลประกอบการ 4Q61 แม้อ่อนตัวลง แต่ยังคาดหวังปันผลได้เกือบ 4% ต่อปี ขึ้น XD สัปดาห์หน้า ขณะที่ SCC ราคาหุ้นปิดบวกรับผลประกอบการ 4Q61 ที่ดีกว่าคาด ส่วนหุ้นในกลุ่ม ร.พ.หุ้นขนาดใหญ่อย่าง BDMS และ BH ร่วงปิดแดนลบ -1.24% และ -0.3% ตามลำดับ
คาดดัชนีหุ้นไทยวันนี้อาจจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีแนวต้านถัดไป 1650 จุด โดยน่าจะได้แรงหนุนจาก Fund Flow หลัง Fed  ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย โดยให้พิจารณาองค์ประกอบสำคัญ ๆ ในการพิจารณาในรอบถัดไป ซึ่ง Dollar Index มีแนวโน้มแกว่งตัวลงต่อเนื่อง ขณะที่การรายงานงบของหุ้น real sector น่าจะทำให้เกิดแรงขายรับงบ แต่จะตามมาด้วยการขึ้นเครื่องหมาย XD เป็นจังหวะสะสมหุ้นปันผล  ก่อนขึ้น XD ราว 1-2 เดือน เริ่มจาก PTTEP, PTT, SAT, MAJOR, QH เป็นต้น (ติดตามอ่านรายละเอียด กลยุทธ์ Dividend Play เมื่อ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา หรือชมผ่าน ASP FB Live, Youtube  หัวข้อ Dividend Play ในวันเดียวกัน) 
Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด กดดัน Dollar แกว่งตัวลง  
ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) วานนี้เป็นไปตามที่ตลาดคาด คือ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ตามเดิม แต่เป็นที่สังเกตว่า ในรอบนี้ Fed ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนับจากนี้ พิจารณาจากรายงานการประชุม ได้ตัดข้อความ “จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ที่ระบุในการประชุมครั้งก่อนทิ้งไป โดยจะรอดูแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากดัชนีชี้นำส่งสัญญาณชะลอตัวมาจากผลกระทบของสงครามการค้า อาทิ PMI ภาคการผลิตทำจุดต่ำสุดในรอบ 2 ปี และอัตราเงินเฟ้อ ล่าสุด เดือน ธ.ค. ชะลออยู่ที่ 1.9% จาก 2.2% ในเดือน พ.ย.  
โดยรวมทำให้โอกาสที่สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาดไว้ 2 ครั้งจากการประชุมที่เหลือ 7 ครั้งในปีนี้  และมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยใน 2H62 ขณะที่เอเซีย แนวโน้มดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น ซึ่งทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับเอเชียแคบลง หนุน Fund Flow ไหลกลับเอเชีย รวมถึงไทยมากขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่น้อยกว่าคาดกดดันให้ Dollar Index แกว่งในทิศอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยวานนี้อ่อนค่าราว 0.41% หรืออ่อนค่า 0.8%ytd หากนับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ทองคำและ น้ำมัน
สต็อกน้ำมันเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด หนุนน้ำมันฟื้นต่อ  
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสัปดาห์ล่าสุด แม้จะเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 ราว 3 แสนบาร์เรล แต่น้อยกว่าที่ตลาดคาดจะเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล ขณะที่การตัดลดน้ำมันฝั่งผลิตยังเป็นไปตามแผนจนถึงกลางปี 2562 ทั้งจากกลุ่ม OPEC  และ Non OPEC ในปี 2562 ที่ลดลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน (ยังมีอยู่ต่อเนื่อง หลังจากเดือน ธ.ค. ทำข้อตกลงที่จะตัดลดการผลิต รวมถึงมีปัญหาการเมืองในเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 8 ของกลุ่ม OPEC ราว 1.44 ล้านบาร์เรล/วัน หรือราว 3.74% ของกำลังการผลิตทั้งหมด   หลังจากสหรัฐสนับสนุนนาย ฮวน กุยโด ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน เป็นประธานาธิบดีรักษาการ แทนนาย  นิโคลัส มาดูโร ซึ่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาคนปัจจุบัน ทำให้นาย มาคูโร ประกาศตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐ  ด้วยการขับไล่ทูตสหรัฐ ส่งผลให้สหรัฐประกาศคว่ำบาตรบริษัท PDVSA ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลเวเนซุเอลา ทำให้ตลาดคาดว่าการส่งออกน้ำมันปีนี้ของเวเนซุเอลาจะลดลงราว 50% จากปี 2561  จากยอดส่งออกน้ำมันไปทั่วโลกราว 1 ล้านบาร์เรล/วันปี 2561 และในจำนวนนี้ ส่งออกน้ำมันไปสหรัฐมากที่สุดราว 43% ของการส่งออกน้ำมันไปทั่วโลก  
สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ชะลอลงจากผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบยังแกว่งตัวที่ 60.91 เหรียญฯต่อบาร์เรล แม้ต่ำกว่าสมมติฐานของ ASPS ที่กำหนดไว้  65 เหรียญ ในปี 2562 แต่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวกลับมายืนเหนือ 60 เหรียญฯ ในช่วงที่เหลือ (และกำหนด 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป) แนะนำสะสม PTTEP(FV@B168) และ PTT(FV@B56)  
ลดคำแนะนำ SCC ต้นทุนพนักงานเพิ่ม vs PTTEP ยังมองบวกตามราคาน้ำมัน
หุ้นในกลุ่ม real sector ทยอยประกาศงบ 4Q61 วานนี้ เริ่ม SCC มีกำไรสุทธิ 10,468 ล้านบาท (+10.5%QoQ,-16.7%YoY) ดีกว่าคาด13% จากรายได้เงินปันผลสูงกว่าคาด ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ เป็นไปตามคาด คือ ธุรกิจปิโตรเคมีกำไรลดลง 39%YoY ผลจาก Stock Loss ธุรกิจปูนซิเมนต์และวัสดุก่อสร้างกำไรทรงตัว มีเพียงธุรกิจ Packaging กำไรเติบโต 21%YoY ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ 44,748 ล้านบาท ลดลง 19%YoY 
แนวโน้มปี 2562 ประเมินว่าไม่ค่อยสดใสนัก จากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งความผันผวนของราคาพลังงานและอัตราแลกเปลี่ยน ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถูกกดดันจากปัญหาสงครามการค้า ส่งผลให้คาดการณ์การเติบโตของกำไรฯ ในช่วง 3 ปีข้างหน้าค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ ต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มจากกฏหมายแรงงานใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ราว 2 พันล้านบาท ซึ่งอาจกระทบกับผลการดำเนินงาน ทำให้นักวิเคราะห์ ASPS อยู่ในระหว่างการปรับลดประมาณการฯ และคาด Fair Value หลังปรับลดประมาณการจะเหลือ 500 บาท จากเดิม 515 บาท ประกอบกับราคาหุ้น SCC ได้ฟื้นตัวขึ้นแรงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. จนถึงปัจจุบันกว่า 11% ซึ่งภายใต้ Fair Value ใหม่ upside จำกัดเหลือเพียง 5.9% จึงปรับลดคำแนะนำจาก ซื้อ เป็น Switch ไป SCCC (FV@269) ที่มี upside ราว 18% หรืออาจถือเพื่อรับเงินปันผล โดย SCC จะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 3 เม.ย. 62 ที่ 9.5 บาทต่อหุ้น คิดเป็น Dividend Yield งวด 2H61 ที่ราว 2%
ตามด้วย PTTEP กำไรสุทธิเท่ากับ 8.8 พันล้านบาท (-15.1%qoq) ต่ำกว่าคาด เพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งรายการปกติ (Deferred tax liability ของท่อซอติก้า) และพิเศษ (บำรุงรักษาแหล่งมอนทาราให้เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศออสเตรเลียครั้งสุดท้าย) ซึ่งฝ่ายวิจัยไม่ได้รวมไว้ในประมาณการก่อนหน้านี้ (บริษัทเพิ่งแจ้ง) ขณะที่รายการอื่นใกล้เคียงคาด  แต่หากพิจารณาเฉพาะกำไรปกติพบว่า ลดลงเล็กน้อย 3.8%qoq โดยได้แรงหนุนจากทั้งปริมาณและราคาขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนต่อหน่วยปรับตัวลดลง 
โดยรวมแล้วกำไรสุทธิปี 2561เท่ากับ 3.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 75.9%yoy  แต่แนวโน้มกำไรปกติปี 2562 น่าจะลดลง 13% จากปี 2561  ซึ่งมีฐานกำไรที่สูง และ สมมติฐานน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ลดลงเหลือ  65 เหรียญฯ  เทียบกับเฉลี่ย 70 เหรียญฯ ในปี 2561 แม้จะได้รับชดเชยจากยอดขายที่เพิ่มก็ตาม  โดยคาดว่างวด  1Q62 จะอ่อนตัวลงจากงวด 4Q61 กดดันจากทั้งปริมาณและราคาขายที่ปรับตัวลดลง แต่หนุนจากต้นทุนทื่ลดลง และไม่มีรายการพิเศษอย่างงวดก่อน ทั้งนี้คาดว่าราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับ 60 เหรียญฯ  ประกอบกับ Dividend Yield 2H61 กว่า 3% จึงยังคงแนะนำซื้อ มูลค่าเหมาะสม 168 บาท
 
เงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่อง รวมถึงไทย
เงินทุนต่างชาติเริ่มไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยเข้าสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น หลังจาก Fed ส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย ภายหลังการประชุมคืนที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมต่างชาติยังเดินหน้าซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 11 ด้วยมูลค่ารวมถึง 1.5 พันล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทุกประเทศ คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ 350 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) ตามมาด้วยไต้หวัน 127 ล้านเหรียญ และ ในกลุ่ม TIP  นำโดยอินโดนิเซีย มีแรงซื้อจากต่างชาติมูลค่าสูงกว่า 1.03 พันล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิสูงสุดตั้งแต่ปี 2558),ฟิลิปปินส์ 16 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 10) และตลาดหุ้นไทยซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 มูลค่า 7 แสนเหรียญ หรือ 21 ล้านบาท เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อย 35 ล้านบาท 
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย ต่างชาติขายสุทธิ มูลค่า 5.3 พันล้านบาท ซึ่งป็นการขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5 มูลค่ารวมแล้วกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท และเป็นการขายทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น (TTM<1) และระยะยาว (TTM>1)  
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
 
  ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
 ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
 โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
   ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!