- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 17 January 2019 14:05
- Hits: 1540
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แรงขายจากสถาบันในประเทศ 3 วันที่ผ่านมาสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการไถ่ถอน LTF นับเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อ SET Index ส่วนปัจจัยแวดล้อมต่างประเทศก็มีแรงกดดันเรื่องการเมืองในอังกฤษ และปัญหา Government Shutdown สำหรับในประเทศอยู่ในช่วงรอประกาศ พระราชกฤษฎีกาให้จัดการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะเห็นในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ด้วยปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวทำให้ระยะสั้น SET Index ยังมีแรงกดดัน กลยุทธ์เน้นหุ้นปิโตรเลี่ยม (PTTEP) หุ้นปันผล (QH, LH, MAJOR) Top pick เลือก PTTEP (FV@B168)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … ผันผวนสูง ต่างชาติซื้อสุทธิ 5 วันติด แต่สถาบันฯ ขายหนักวันที่ 3
ตลาดหุ้นไทยวานนี้ ช่วงเช้าแกว่งซึมลงกว่า 12 จุด แต่พลิกกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกในช่วงบ่าย และปิดตลาดที่ 1577.41 จุด เพิ่มขึ้น 0.41 จุด (+0.03%) พร้อมมูลค่าซื้อขายที่หนาแน่นมากขึ้นที่ 5.02 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นที่หนุนดัชนีคือ AOT เพิ่มขึ้นถึง 1.88% ตามด้วยหุ้นในกลุ่ม ธ.พ. ทั้ง SCB TMB และ KBANK ขณะที่กลุ่มลิสซิ่ง MTC, SAWAD ลงหนักช่วงเช้าแต่ Rebound ช่วงบ่าย หลังทั้ง 2 บริษัทยืนยันไม่ต้องมีการจัดชั้นลูกหนี้ใหม่ และไม่กระทบต่อการตั้งสำรองฯ รวมถึงการรับรู้รายได้ดอกเบี้ย
แนวโน้มดัชนีวันนี้ น่าจะเห็นการฟื้นตัวขึ้นมาได้หลังปรับฐานลงตั้งแต่ต้นสัปดาห์ แต่น่าจะยังคงเห็นความผันผวนในระหว่างวัน และยังไม่ผ่านแนวต้านสำคัญที่ 1600 จุด โดยแรงหนุนน่าจะยังมาจากหุ้นปิโตรโตรเลี่ยมที่ปรับขึ้นตามทิศทางของราคาน้ำมัน แต่ต้องระวังแรงขาย Sell on Fact จากหุ้นกลุ่ม ธ.พ. ที่จะมี ธ.พ. ขนาดใหญ่หลายแห่งประกาศงบฯ ในวันนี้ ประเมินกรอบการเคลื่อนไหว SET Index ที่ 1570 - 1595 จุด
ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสหรัฐยังลดลง ตอกย้ำชะลอการขึ้นดอกเบี้ย, จีนอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ
วานนี้สหรัฐมีการรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) เดือน ม.ค. เผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะภาคการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศยังคงเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตอยู่ หลังจากปัญหา Government Shutdown ยังไม่คลี่คลาย โดยหน่วยงานราชการถูกปิดติดต่อกันเป็นวันที่ 26 เป็นการตอกย้ำว่า Fed อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ โดย Fed คาดว่าจะขึ้นเพียง 2 ครั้ง จากเดิมที่คาดไว้ 3 ครั้ง สอดคล้องกับผลสำรวจของ Bloomberg ที่พบว่าโอกาสขึ้นดอกเบี้ยของ Fed น้อยลง สวนทางกับในเอเชียยังมีแนวโน้มดอกเบี้ยมีทิศทางขาขึ้น น่าจะหนุนให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเอเชียกับสหรัฐ แคบลง หนุน Fund Flow ไหลกลับเอเซีย รวมถึงไทย
ขณะที่จีน หลังจากได้เผชิญกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตามผลกระทบของสงครามการค้า อาทิ ยอดส่งออก ล่าสุด เดือน ธ.ค หดตัว 4.4% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี และ PMI ภาคการผลิตทำจุดต่ำสุดในรอบ 2 ปี 4 เดือน ทำให้วานนี้ได้ออกมาตรการทางการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม คือ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินผ่าน Reverse repo ราว 5.6 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 8.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ(สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์) หลังจากต้นปีได้ประกาศลดอัตราเงินสดสำรอง (RRR) 2 รอบ ในปี 2562 รวม 1% เหลือ 13.5% ใน 25 ม.ค 2562 และล่าสุด จีนยังได้เตรียมมาตรการกระตุ้นผ่านการคลังเพิ่มเติมอีก คือ การลดภาษีให้กับภาคธุรกิจ คือธุรกิจขนาดเล็กและภาคการผลิต (แต่ยังไม่กำหนดรายละเอียดภาษี) โดยรวมทำให้น่าจะหนุนให้ตลาดหุ้นจีนเริ่มฟื้นตัว และเชื่อว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หลังจากในปี 2561 ปรับลดลงไปราว 19.6%
น้ำมันดิบดูไบแตะ 60 เหรียญฯ จาก supply ที่ลดลง
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ(EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบ สัปดาห์ล่าสุด ลดลงติดต่อกัน 2 สัปดาห์ราว 2.68 ล้านบาร์เรล (มากกว่าตลาดคาดลดลง 1.32 ล้านบาร์เรล) เนื่องจากโรงกลั่นยังคงเดินหน้ากลั่นน้ำมันในระดับสูง ขณะที่การตัดลดการผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non OPEC ยังมีอยู่ต่อเนื่อง หลังจากเดือน ธ.ค. ทำข้อตกลงที่จะตัดลดการผลิตในปี 2562 ลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ควบคู่กับการขยายระยะเวลาการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมัน ไปจนถึง มิ.ย. 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ชะลอลงจากผลกระทบจากสงครามการค้า โดยเฉพาะสหรัฐและจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่(สัดส่วนราว 25.5% และ 12.8% ของโลก) อย่างไรก็ตามในระยะสั้นตลาดคลายความกังวลประเด็นสงครามการค้า หลังจากทั้ง 2 ประเทศได้ประกาศพักรบการขึ้นภาษีนำเข้าชั่วคราว (สหรัฐเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้า 25%ในรอบที่ 3 วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญออกไปจนถึงวันที่ 1 มี.ค. (ปัจจุบันเก็บ 10%) และเลื่อนการขึ้นรอบที่ 4 วงเงิน 2.67 แสนล้านเหรียญฯ ) ซึ่งอยู่ในช่วงการเจรจากันและมีพัฒนาการเชิงบวกต่อเนื่อง
โดยภาพรวมทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบยังแกว่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากจุดต่ำสุด 48.82 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อ 24 ธ.ค. 2561 ล่าสุด อยู่ที่ 60.07 เหรียญฯต่อบาร์เรล และน่าจะแกว่งตัวบริเวณ 65 เหรียญฯ ซึ่งใกล้เคียงกับสมมติฐานของ ASPS กำหนดราคาน้ำมันดูไบปี 2562 ไว้ที่ 65 เหรียญฯ และ 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป สถานการณนี้ถือว่าดีต่อ PTTEP(FV@B168) ยังแนะนำซื้อ
ท่ามกลางความผันผวน Fund Flow ยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง 5 วัน
แม้ช่วงนี้ตลาดหุ้นจะผันผวน แต่ Fund Flow ยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงไทยอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคถึง 6 ใน 8 วันที่ผ่านมา ด้วยมูลค่ารวม 2.5 พันล้านเหรียญ ส่วนในวานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค 144 ล้านเหรียญ แม้มีอยู่ 2 ประเทศที่สลับมาขายสุทธิ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิ 42 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า) และฟิลิปปินส์ 23 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 9 วัน) แต่ตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติซื้อสุทธิ คือ ตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิ 103 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 13), เกาหลีใต้ 49 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6) และไทยที่ต่างชาติซื้อสุทธิ 58 ล้านเหรียญ หรือ 1.84 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 มีมูลค่ารวม 7.5 พันล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 4.25 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ด้วยมูลค่ากว่า 1.02 หมื่นล้านบาท)
Fund Flow ที่เริ่มไหลกลับเข้ามา ทั้งในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ไทย เป็นส่วนหนึ่งที่หนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 2% (ytd) โดยล่าสุดอยู่ที่ 31.67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
จัดชั้น NPL แบบใหม่ กระทบ ธ.พ. บางแห่ง แต่ไม่กระทบ MTC, SAWAD
การปรับฐานแรงของหุ้น MTC และ SAWAD ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา น่าจะเกิดจากความกังวลในเรื่องการจัดชั้น NPL แบบใหม่ของ ธปท. ในส่วนของวิธีการบันทึกค่างวดของลูกหนี้ที่จ่ายชำระหนี้ไม่เป็นปกติ (จ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง และเงินต้นค้างสะสมเกิน 3 งวด) ซึ่งอาจกระทบต่อการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยรับของ ธ.พ. บางแห่ง และอาจต้องตั้งสำรองฯ มากขึ้น เห็นได้จากกรณีของ TISCO ที่เดิมนำเอาค่างวดในแต่ละงวดที่ลูกค้ากลุ่มนี้ชำระคืน ไปตัดลดดอกเบี้ยค้างรับก่อนจนกว่าจะครบมูลค่าที่ลูกหนี้ค้างชำระ แล้วจึงจะนำไปตัดลดเงินต้นทีหลัง มาปรับปรุงวิธีบันทึกบัญชีใหม่ โดยให้นำเงินค่างวดแต่ละงวดไปตัดลดเงินต้นและดอกเบี้ยค้างจ่ายพร้อมกัน ทำให้งวด 4Q61 ที่ผ่านมา ธนาคารฯ รับรู้รายได้ดอกเบี้ยลดลง (ตามเงินต้นที่ลดลง) และ NPL เพิ่มขึ้นมาก (เพราะต้องจัดชั้นใหม่) ซึ่งสถานการณ์ของ TISCO คาดว่าจะใช้เวลาปรับปรุงระบบและทำให้ NPL ลดกลับมาระดับเดิมได้ราวกลางปี 2563
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง ได้สอบถามไปยัง MTC และ SAWAD ได้รับการยืนยันจากทั้ง 2 บริษัทว่า เงินงวดที่ได้รับชำระจากปัจจุบันได้ปฎิบัติตามแนวทางที่ ธปท. ขอความร่วมมืออยู่แล้วในปัจจุบัน กล่าวคือ เงินค่างวดที่ได้รับชำระจะนำไปตัดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยค้างจ่ายพร้อมกันตามเงื่อนไขสัญญา แม้จะมียอดค้างชำระแต่เดิมก็ตาม ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดชั้นลูกหนี้เป็น NPL เช่นเดียวกับกรณีของ TISCO ซึ่งก็จะไม่กระทบต่อการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยรับของบริษัทด้วยเช่นกัน
จึงมองว่าเป็น sentiment ลบช่วงสั้น ขณะที่แนวโน้มปัจจัยพื้นฐานยังไม่เห็นผลกระทบจากกรณีข้างต้น หุ้นปรับฐานแรงจึงเป็นโอกาสซื้อทั้ง MTC (FV@B56) และ SAWAD(FV@B55)
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์