WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
 
กลยุทธ์การลงทุน     
วันพุธที่ 16  มกราคม พ.ศ. 2562
ตลาดน่าจะได้รับ Sentiment เชิงบวก เพราะจีนเตรียมใช้นโยบายลดภาษี กระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ตามมาด้วยราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวกลับมาใกล้ 60 เหรียญฯ แต่ยังกดดันจากหุ้นรายตัว โดยเฉพาะโรงกลั่น-ปิโตรเคมี ที่มี stock loss ในงวด 4Q61 กลยุทธ์เน้นหุ้นปิโตรเลี่ยม (PTTEP) หุ้นปันผล (QH, LH, SAT, MAJOR) Top picks เลือก QH([email protected]) และ MAJOR([email protected]) เงินปันผลกว่า 8% และ 5.8% ตามลำดับ
 
        SET Index    1,577.00
        เปลี่ยนแปลง (จุด)    -5.57
        มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท)    37,957
            
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … ยังผันผวนต่ำกว่า 1600 จุด
SET Index วานนี้แกว่งบวกกรอบแคบในช่วงเช้า และพลิกกลับมาเป็นลบตลอดภาคบ่าย ก่อนจะปิดตลาดที่ 1577.00 จุด ลดลง 5.57 จุด (-0.35%) ปัจจัยแวดล้อมยังไม่เอื้อต่อการผลักดันดัชนี โดยเฉพาะมูลค่าการซื้อขายที่เบาบางเพียง 3.37 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้กลุ่มที่กดดันหลักคือ กลุ่มขนส่ง (AOT -2.56%) ตามด้วยกลุ่มพลังงาน (PTT-0.52%, PTTEP-0.82%, GULF-3.82%) และหุ้นลิสซิ่ง MTC SAWAD ขณะที่กลุ่ม ICT โดยเฉพาะ ADVANC ฟื้นตัวขึ้นต่อ หลังซึมซับปัจจัยลบเฉพาะกลุ่มไปแล้ว 
แนวโน้มดัชนีวันนี้น่าจะฟื้นตัวตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ฟื้นตัว จากความคาดหวังเชิงบวกต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ผ่านการลดภาษี ควบคู่กับการลด RRR  ส่วนแรงกดดันหุ้นรายหุ้นยังมีโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มโรงกลั่น-ปิโตรเคมี ที่อาจจะเผชิญกับ Stock losses ในงวด 4Q61 ซึ่งมีน้ำหนักมากเมื่อเทียบกับหุ้นปิโตรโตรเลี่ยมที่ยังฟื้นตัวต่อตามทิศทางของราคาน้ำมัน และแรงขายรับงบ 4Q61 กลุ่มธ.พ.   
 
จีนเตรียมลดภาษี ควบคู่การลด RRR เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 
เชื่อว่าการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ ยังมีความต่อเนื่อง และอยู่ในกรอบที่ตกลง ในการประชุมนอกรอบที่ประชุม G20 ที่กรุงบัวโนส ไอเรส เมื่อ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2561 ซึ่งจีนยินยอมนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ขณะที่สหรัฐยอมจะชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 2 แสนล้านเหรียญฯ ที่กำหนดจะขึ้นจาก 10% เป็น 25% ในเดือน ม.ค. ออกไป 90 วันถึง 1 มี.ค. 2562 พร้อมเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนรอบ 4 อีก 2.67 แสนล้านเหรียญฯ จากที่เคยประกาศว่าจะจัดเก็บให้เต็มจำนวนเท่ากับมูลค่าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนกว่า 5 แสนล้านเหรียญฯต่อปี จากนี้ต้องติดตามการเจรจาระหว่างคณะผู้แทนจีนที่จะเยือนสหรัฐ ที่ Washington, D.C. ในช่วงปลายเดือน ม.ค. หรือระหว่าง 30-31 ม.ค. โดยเชื่อว่าสหรัฐติดตามความคืบหน้าว่าจีนปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ 
 
อย่างไรก็ตามล่าสุด  จีนได้ลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐเหลือ 15% จากปัจจุบัน 40% (ระยะเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562) และกลับมาสั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐครั้งแรกในรอบ 6 เดือนราว  1.5-2 ล้านตัน เมื่อกลางเดือน ธ.ค. แต่ผลกระทบจากสงครามการค้านับจากกลางปี 2561 กดดันให้ เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว สะท้อนยอดส่งออก เดือน ธ.ค หดตัว 4.4%(ชะลอลงติดต่อกัน 3 เดือน และต่ำสุดในรอบ 2 ปี) และ PMI ภาคการผลิตที่ทำจุดต่ำสุดในรอบราว 2 ปี 4เดือน อยู่ที่ 49.4 จุด (ต่ำกว่า 50 จุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนซบเซา) หนุนให้จีนต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง ผ่านการลดอัตราเงินสดสำรอง (RRR) 2 รอบ ในปี 2562 รวม 1% เหลือ 13.5% ใน 25 ม.ค 2562 และล่าสุดวานนี้เตรียมจะกระตุ้นผ่านการคลังคือ การลดภาษีให้กับภาคธุรกิจ คือธุรกิจขนาดเล็กและภาคการผลิต  (แต่ยังไม่กำหนดรายละเอียดภาษี) 
โดยรวมทำให้วานนี้ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัว และเชื่อว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หลังจากในปี 2561 ปรับลดลงไปราว 19.6% และถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และมีอัตราการเติบโตที่สูงราว 12%เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค (ดังรูป)
 
ทีวีดิจิทัลมีสัญญาณฟื้น กสทช. พร้อมช่วยเหลือ ดีต่อ BEC, MCOT
ที่ประชุมบอร์ดฯ นัดพิเศษวานนี้ มีมติเห็นชอบที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยแนวทางหลักคือ เรียกคืนคลื่น 700 MHz และมีมาตรการชดเชยผู้ประกอบการฯ  ซึ่งก็ถือว่าใกล้เคียงกับที่ฝ่ายวิจัยได้เคยประเมินและนำเสนอในบทวิเคราะห์ Market Talk วันที่ 6-7 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา คือ 
1.    ขยายเวลาช่วยเหลือ Must Carry (ที่จ่ายแต่ละปี 14 ล้านบาทต่อช่องต่อปี สำหรับ SD และ 42  ล้านบาท สำหรับ HD)  
2.    ขยายเวลาช่วยเหลือค่าเช่าโครงข่าย (MUX) 50% ของค่าเช่าต่อช่องต่อปี 43 ล้านบาท สำหรับช่อง SD และ 125 ล้านบาท สำหรับช่อง HD  
3.    ยกเลิกการจ่ายค่าใบอนุญาตที่เหลือ (2 งวดสุดท้ายตามสัญญาเดิม) อีก 30% ของเงินประมูลทั้งหมด 24 ช่อง 50,862 ล้านบาท หลังจากที่จ่ายไปแล้ว 4 ปี  (ปี 2557-2560) รวมเป็นเงินประมาณ 70% ของเงินประมูล
  
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดการช่วยเหลือนั้น ทาง กสทช. จะมีการประกาศอีกครั้งในวันที่ 18 ม.ค. นี้ และยังต้องติดตามข้อกฎหมายอีกครั้งว่าจะอยู่ในอำนาจ กสทช. ที่จะดำเนินการได้หรือไม่
ทั้งนี้ ประเมินว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและช่วยให้ผู้ประกอบการถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น หรือช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้แก่ผู้ประกอบการที่มีเรตติ้งที่ดีแล้ว อาจจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในธุรกิจ หรืออาจเกิดการควบรวมกิจการมากขึ้น
โดยรวมจึงยังให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มสื่อบันเทิง เท่าตลาด ระยะสั้นมองว่าอุตสาหกรรมจะดูดีขึ้นและน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และน่าจะเห็นเม็ดเงินโฆษณากระจายจำนวนช่องลดลง อย่างไรก็ตามระยะยาวธุรกิจยังมีความเสี่ยง เพราะเม็ดเงินโฆษณาจะไหลยังสื่อนอกบ้าน และสื่อ Over the Top (การสื่อสาร และ เผยแพร่เนื้อหาผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต) เช่น Facebook, Youtube, line TV, Netfix ผู้ให้บริการเพย์ทีวีในรูปแบบ OTT เช่น PSI, Truevision Anywhere หรือ ช่องโทรทัศน์ให้บริการ OTT เช่น Bugaboo 3Live  และ MONOMAXX เป็นต้น
ราคาหมูทำจุดสูงสุดในรอบ 30 เดือน บวกต่อ CPF มากสุด  
ราคาสุกรในประเทศวานนี้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3.1% จากวันก่อนหน้า อยู่ที่ 70 บาท/กก. ทำจุดสูงสุดในรอบ 30 เดือน น่าจะเกิดจากผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยและรายกลาง ลดการเลี้ยง หลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องทางการเงินมานานกว่า 1 ปี  โดยประเมินว่าต้นทุนการเลี้ยงสุกรของผู้ประกอบการรายย่อยจะอยู่ที่ราว 64 บาท/กก. สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ (CPF และ TFG) ที่อยู่ที่ราว 58 บาท/กก. อีกทั้งยังเริ่มเข้าใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีนในช่วงต้นเดือน ก.พ. 62 หนุนการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น ช่วยหนุนราคาสุกรยืนสูงได้ต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อ CPF (FV@B32) และ TFG ([email protected]) ที่มีโครงสร้างรายได้จากธุรกิจสุกรในไทยราว 14% และ 20% ตามลำดับ 
ขณะที่ราคาไก่ในประเทศกลับทรงตัวต่ำใกล้เคียงต้นทุนการเลี้ยงของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ 32 บาท/กก.  แม้มีแนวโน้มฟื้นตัวตามทิศทางราคาสุกร  เพราะเป็นสินค้าทดแทนกัน อีกทั้งยังเข้าใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ ตลาดส่งออกไก่ยังดีต่อเนื่องในปี 2562 โดยเฉพาะตลาดส่งออกใหม่ๆ อาทิ การส่งออกชิ้นส่วนไก่สู่ประเทศจีน ถือเป็นช่องทางรายไก่สู่ต่างประเทศได้ดี ช่วยหนุนราคาไก่ในประเทศในทยอยฟื้นตัว ส่งผลบวกต่อ GFPT (FV@B17) TFG ([email protected]) และ CPF (FV@B32) ที่มีโครงสร้างรายได้จากธุรกิจไก่ในไทยราว 70% 65% และ 9% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงค่าเงินบาทแข็งค่า ล่าสุดอยู่ที่ 31.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่ากว่าสมมติฐานค่าเงินบาทปี 2562 ที่ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เล็กน้อย แต่ฝ่ายวิจัยยังประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปี 2562 ยังสอดคล้องกับสมมติฐานที่ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้ได้  โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าในระยะสั้น อาจกระทบต่อการแข่งขัน และความสามารถในการทำกำไร โดยทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าจากสมมติฐาน จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2562 ของ CPF 4.9%  และ GFPT 2.4% แต่ระทบต่อมูลค่าหุ้นเพียง  0.4%  และ FV ราว 0.5%  ตามลำดับ 
ตรงข้ามกับ TFG กลับได้ประโยชน์จากเงินบาทที่แข็ง เพราะนำเข้ากากถั่วเหลืองในสัดส่วนมากกว่าการส่งออกไก่ โดยทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าจากสมมติฐาน จะส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิของ TFG 0.9% และ FV 1.1% 
ต่างชาติซื้อหุ้นทุกประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทย
ในคืนที่ผ่านมา แม้สภาอังกฤษไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง Brexit แต่ตลาดน่าจะตอบรับประเด็นนี้มาในระดับหนึ่งแล้ว สะท้อนได้จาก Fund Flow ในวานนี้ยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นในภูมิภาคอีกกว่า 671 ล้านเหรียญ และในเดือน ม.ค. 62 ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาคแล้ว 1.61 พันล้านเหรียญ หลังจากขายสุทธิในปี 62 สูงถึง 3.15 หมื่นล้านเหรียญ หากพิจารณาเป็นรายประเทศในวานนี้ พบว่า ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นทุกประเทศ เริ่มจากไต้หวันซื้อสุทธิ 313 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 136 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5), อินโดนีเซีย 135 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 12), ฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 9) และไทยซื้อสุทธิ 81 ล้านเหรียญ หรือ 2.59 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 มีมูลค่ารวม 5.66 พันล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 3.22 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติซื้อสุทธิอีก 630 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) กดดันให้ Bond Yield 10 ปี ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.50% ด้วยแรงซื้อทั้งตราสารหนี้และหุ้นไทยของต่างชาติ หนุนค่าเงินบาทแข็งค่า ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
 ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
 โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
   ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!