- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 07 January 2019 21:43
- Hits: 7391
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เมื่อยังมีความกังวล การเลื่อนวันเลือกตั้ง แต่ไม่เกิน 1 เดือน น่าจะยอมรับได้ ขณะที่ราคาน้ำมันโลกยังฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด จากการตัดลด supply ได้เร็วกับ Demand ที่ลดลง และ Dollar Index ที่อ่อนตัว หลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยลดน้อยลง บวกกับจีนตัดลด RRR ลงเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะสร้างความเชื่อมั่นในภูมิภาค Asia กลยุทธ์การลงทุน ผสมผสานระหว่าง หุ้น Global และ Domestic Top picks เลือก KBANK(FV@B251) และ PTTEP(FV@B168)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … SET Index พลิกกลับมาบวก 15 จุด
วันศุกร์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยผันผวนมาก โดยช่วงเช้าเคลื่อนไหวในแดนลบ ก่อนจะพลิกกลับมาปิดตลาดแดนบวกที่ระดับ 1575.13 จุด เพิ่มขึ้น 15.10 จุด (+0.97%) ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.14 หมื่นล้านบาท กระเตื้องขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่เฉลี่ย 3-4 หมื่นล้านบาทต่อวัน กลุ่มที่หนุนดัชนีคือ หุ้นน้ำมัน ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบกว่า 13% ที่ตัวจากจุดต่ำสุดของปี 2560 หุ้น PTT และ PTTEP ปรับตัวขึ้น 2.8% และ 4.41% ตามลำดับ เช่นเดียวกับหุ้น Domestic ของกลุ่ม ICT (DTAC ADVANC) ปิดแดนบวกหลังสะท้อนความเสี่ยงด้านต้นทุนระยะสั้นไปมากแล้ว
ส่วนหุ้นธนาคารพาณิชย์หุ้นขนาดใหญ่ (SCB BBL KTB) ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า หลังประกาศปรับดอกเบี้ยเงินฝากขาเดียว (SCB KBANK) แต่คาดว่ากระทบผลการดำเนินงานจำกัด เนื่องจากเป็นการปรับฐานเงินฝากตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นฐานที่น้อย เมื่อเทียบกับเงินฝากทั้งหมดของแต่ละธนาคาร และในทางปฏิบัติ การปรับดอกเบี้ยสินเชื่อมีการเลือกปรับเป็นรายๆ เพื่อดึงให้ขึ้นมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก
แนวโน้ม SET Index วันนี้ คาดดัชนียังเห็นความผันผวน จาก ความกังวลต่อการเลื่อนวันเลือกตั้ง แม้อาจจะเลยจากกำหนดเดิมไม่เกิน 1 เดือน แต่เชื่อว่าประเด็นบวกจากราคาน้ำมันดิบที่ฟื้น จากการตัดลง Supply และ Dollar Index ที่มีสัญญาณอ่อนตัว ตามเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวจากผลกระทบสงครามการค้า และจัดตัดลด RRR เร็วกว่าคาด ทำให้เชื่อว่า ดัชนีมีโอกาสแกว่งตัวเชิงบวกในกรอบ 1595-1570 จุด
จีนใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นใน Asia
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราเงินสดสำรอง (Required Reserve Ratio: RRR) 2 รอบติดต่อกันรวม 1% โดยแบ่งเป็นปรับลด 0.5% ในวันที่ 15 ม.ค. 2562 และอีก 0.5% 25 ม.ค 2562 ส่งผลให้ RRR จะลดลงเหลือ 13.5% ใน 25 ม.ค 2562 ขณะที่ ปี 2561 PBOC ได้ลด RRR รวม 3 ครั้ง 2.5% หรือหากนับจากที่ RRR เคยสูงสุดที่ 21.5% ในปี 2554 เท่ากับ PBOC ลด RRR รวม 8% จนถึงสิ้นเดือน ม.ค. 2562
เป็นที่สังเกตว่า PBOC มีการลด RRR เร็วมากในช่วงหลัง โดยยังคงยืนดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน หลังจากที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามการค้า สะท้อนจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีน ไม่ว่าจะดัชนีภาคการผลิต PMI, การส่งออก ยอดค้าปลีก หรือการลงทุนชะลอตัวชัดเจนนับจากกลางปี 2561 แต่การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายของจีน ถือว่าสวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านที่ล้วนปรับขึ้นดอกเบี้ยตลอดปี 2561 แต่น่าจะเรียกความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ระดับหนึ่ง เพราะจีนถือเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเอเชีย
ราคาน้ำมันฟื้นต่อ สต็อกน้ำมันลดมากกว่าคาด & ตัดลด supply
การรายงานสต็อกน้ำมันของสหรัฐ สัปดาห์ล่าสุด พบว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 7 พันบาร์เรล ซึ่งสวนทางตลาดคาดว่าจะลดลง 3 ล้านบาร์เรล (หลังจากที่ลดลง 3 สัปดาห์ก่อนหน้า) แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบดูไบยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากจุดต่ำสุด 48.82 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อ 24 ธ.ค. 2561 มาอยู่ที่ 55 เหรียญฯต่อบาร์เรล และคาดว่าน่าจะขึ้นมาแตะ 60 เหรียญฯ จาก 2 เหตุผลคือ
1) การตัดลดการผลิตยังมีอยู่ต่อเนื่อง หลังจากเดือน ธ.ค. กลุ่ม OPEC ลดลงราว 5.3 แสนบาร์เรล/วัน อยู่ที่ 32.6 ล้านบาร์เรล/วัน (ลดลงรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่ เดือน ม.ค.2560) ตามข้อตกลง ของกลุ่มประเทศ OPEC และ Non OPEC ที่จะตัดลดการผลิตในปี 2562 ลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน นอกเหนือจากการขยายระยะเวลาการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมัน ไปจนถึง มิ.ย. 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ชะลอลงจากผลกระทบจากสงครามการค้า โดยเฉพาะสหรัฐและจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ (สัดส่วนราว 25.5% และ 12.8% ของโลก) และ
2) Dollar index กลับอ่อนค่าอีกครั้ง สะท้อนความคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐอาจน้อยกว่าการประเมินล่าสุดไว้ 2 ครั้งในปี 2562 ประธาน Fed เริ่มกังวลต่อเศรษฐกิจชะลอตัว
ขณะที่สมมติฐานของ ASPS กำหนดราคาน้ำมันดูไบปี 2562 ไว้ที่ 65 เหรียญฯ และ 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป แต่ราคาตลาดของ PTTEP ถือว่าสะท้อนราคาน้ำมันต่ำกว่า 50 เหรียญฯ ทำให้มีโอกาสขึ้นมากกว่าลง ณ ระดับราคาหุ้น PTTEP ปัจจุบันยังเป็นโอกาสสะสม
แม้ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาค แต่สลับมาซื้อกลุ่ม TIP
แม้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่แรงขายเริ่มเบาลงอยู่ที่ 194 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเฉพาะตลาดหุ้นแถบเอเชียเหนือ คือ ไต้หวันขายสุทธิ 167 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) และเกาหลีใต้ 93 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ส่วนตลาดหุ้นในกล่ม TIP ต่างชาติซื้อสุทธิ คือ อินโดนีเซียซื้อสุทธิ 28 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4), ฟิลิปปินส์ 19 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 19 ล้านเหรียญ หรือ 594 ล้านบาท ตรงข้ามกับสถาบันฯที่สลับมาขายสุทธิ 1.45 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 5 วัน มีมูลค่ารวม 1.45 หมื่นล้านบาท) ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติซื้อสุทธิอีก 2.83 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3)
เชื่อว่า Fund Flow มีโอกาสไหลกลับมาตลาดหุ้นภูมิภาคมากขึ้น หลังจาก Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยลดน้อยลง บวกกับจีนตัดลด RRR เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนแรงซื้อหุ้นและตราสารหนี้จากต่างชาติ รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมา 1.9% นับตั้งแต่ต้นปี โดยล่าสุดอยู่ที่ 31.9 บาท/ดอลลาร์
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ปาบึกไปแล้ว แต่กระทบท่องเที่ยวระยะสั้น ๆ
ผลกระทบของพายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่ได้เคลื่อนผ่านภาคใต้ของไทยสู่ทะเลอันดามันและอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว ซึ่งมี 18 จังหวัดได้รับผลกระทบ โดย จ. นครศรีธรรมราช กระทบมากสุด ครอบคลุมที่อยู่อาศัยฯ และการคมนาคม และอุตสาหกรรม รวมถึงบริษัทจดทะเบียนดังนี้
ธุรกิจสายการบิน ได้มีการปิดสนามบิน 2-3 แห่งในช่วงระหว่างที่เกิดพายุ ได้แก่ (1). สนามบินสมุย ระหว่างวันที่ 4-6 ม.ค. 62 (2). สนามบินสุราษฏร์ธานี ตั้งแต่เวลา 16:00 น. ของวันที่ 4 ถึงเวลา 12:00 น. วันที่ 5 ม.ค. และ (3). สนามบินนครศรีธรรมราช ระหว่างเที่ยงคืนวันที่ 4- เที่ยงวันวันที่ 5 ม.ค. 62 บริษัทจดทะเบียนที่กระทบมากสุด คือ BA เพราะการปิดสนามบินสมุย ซึ่งถือเป็นแหล่งที่สร้างรายได้หลักกว่า 50% ของ BA ส่วนบริษัทอื่นๆ น่าจะกระทบจำกัด เนื่องจากไม่มีเที่ยวบินที่เกาะสมุย
โดยรวมการยกเลิกช่วงเวลาที่มีพายุที่สนามบินสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชมีเพียง 9 และ 7 เที่ยวบิน ตามลำดับ ซึ่งกระทบต่อ AOT จำกัด เพราะสนามบินที่ให้บริการ 6 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และเชียงรายยังให้บริการตามปกติ ยังให้น้ำหนักกลุ่มขนส่งน้อยกว่าตลาดหุ้น ส่วนใหญ่ยังแนะนำ Switch AOT, AAV และ THAI ยกเว้น BA ยังแนะนำซื้อ
ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวนั้น คาดว่าน่าจะเป็น sentiment ช่วงสั้น แม้จะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวบ้างแต่ก็ไม่มากนักเนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน อีกทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและโรงแรมไม่ได้รับความเสียรุนแรงแต่อย่างใด คาดว่ากระทบต่อหุ้นโรงแรมที่จดทะเบียนในตลาดฯ จำกัด คือ
• MINT มีโรงแรมทั้งหมด 550 แห่ง มีจำนวนห้องกว่า 8 หมื่นห้อง โดยมีโรงแรมในสมุย 4 แห่ง (349 ห้อง) ซึ่งจำนวนนี้ MINT เป็นเจ้าของบริหารเอง 3 แห่ง มีสัดส่วนรายได้น้อยมากเพียง 1-2%
• CENTEL มีโรงแรมทั้งหมด 38 แห่ง มีจำนวนห้องกว่า 7.3 พันห้อง โดยมีโรงแรมในสมุย 4 แห่ง (510 ห้อง) ซึ่งจำนวนนี้ CENTEL เป็นเจ้าของบริหารเอง 3 แห่ง มีสัดส่วนรายได้น้อยเพียง 3-4%
• และ ERW (มีโรงแรมทั้งหมด 57 แห่ง มีจำนวนห้องกว่า 7.9 พันห้อง) มีโรงแรมในสมุย 2 แห่ง (287 ห้อง) มีสัดส่วนรายได้เพียง 3-4% โดยรวมจึงแทบไม่มีนัยฯ ต่อกำไรรวม จึงยังแนะนำซื้อ MINT และ ERW
นอกจากนี้ ผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลียมนั้น ในส่วนของ PTTEP คาดจะส่งผลให้โครงการบงกชซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอ่าวไทย (PTTEP ถือหุ้น 66.67%) หยุดผลิตราว 4-7 วัน โดยส่งผลให้ปริมาณขายในช่วงดังลก่าวจะลดลงจากเดิมราว 9.7 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าไม่มีนัยฯต่อปริมาณขายรวมของ PTTEP ในปี 2562 ที่กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 3.18 แสนบาร์เรลต่อวัน จึงยังแนะนำทยอยสะสม
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์