- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 03 January 2019 14:45
- Hits: 4223
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2562
คาด SET ยังฟื้นตัวต่อ ตามการฟื้นตัวน้ำมันโลก หลัง supply น้ำมันลดลงต่อเนื่อง แต่อาจจะมีอุปสรรค พายุปาบึก กดดัน PTTEP และในประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุน และใช้จ่ายครัวเรือน โดยเฉพาะเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง และเทศกาลตรุษจีน ดีต่อหุ้น Domestic Top pick เลือก KBANK(FV@B251) ซึ่งสถิติในอดีต พบว่าจะให้ผลตอบแทนเป็นบวก 5.46% ในเดือน ม.ค. ของทุกปีด้วยความน่าจะเป็น 100% และยังชื่นชอบ BJC(FV@B61)
SET Index 1,565.94
เปลี่ยนแปลง (จุด) 2.06
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 31,644
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … SET Index ปิดตลาดแดนบวก รับปีใหม่
ตลาดหุ้นไทยเปิดทำการซื้อขายวันแรกของปี 2562 ด้วยความสดใส ระหว่างวันปรับขึ้นไปถึงกว่า 10 จุด ก่อนจะอ่อนตัวลงและปิดที่ระดับ 1565.94 จุด เพิ่มขึ้น 2.06 จุด (+0.13%) แต่มูลค่าการซื้อขายค่อนข้างน้อยเพียง 3.16 หมื่นล้านบาท แรงหนุนดัชนีส่วนใหญ่มาจากหุ้นกลุ่ม Domestic เป็นหลัก นำโดยกลุ่มค้าปลีก ราคาหุ้น CPALL ปรับตัวขึ้นโดดเด่น 2.18% ตามด้วยการปรับตัวขึ้นของหุ้นขนาดใหญ่ของกลุ่ม ธ.พ. (SCB KTB) ส่วนหุ้น Global อย่างกลุ่มพลังงาน ยังผันผวน แม้น้ำมันดิบโดยฟื้นตัว โดยเฉพาะ PTTEP ปิดตลาดราคาย่อตัวเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลกระทบจากที่เกิดพายุปาบึก ทำให้ต้องระงับแหล่งผลิตก๊าซที่สำคัญบางแห่ง เช่น ที่บงกช (เหนือ-ใต้) ตรงกันข้ามกลุ่ม ร.พ. ยังผันผวนในทิศทางลดลงทั้งกลุ่ม (BDMS BH BCH) หลังจากที่มีกระแสข่าว กระทรวงพาณิชย์จะ ควบคุมค่ารักษาพยาบาล
สำหรับแนวโน้มตลาดวันนี้ มีโอกาสที่จะแกว่ง Sideway up โดยมีแนวต้าน 1570-1575 จุด และ แนวรับที่ 1550 จุด โดยให้น้ำหนักต่อหุ้นน้ำมัน ซึ่งคาดว่ายังฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด หลังจาก Dollar Index ชะลอการแข็งค่า สะท้อนการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่น้อยลงปี 2562 และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศยังมาจากการลงทุนภาครัฐ และ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน จากที่เข้าสู่ฤดูกาล เลือกตั้ง ในเดือน ก.พ. นี้และเทศกาลตรุษจีน ซึ่งหนุนราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้นดีต่อหุ้น CPF, TFG
เงินเฟ้อไทยยังทรงตัวในระดับต่ำหนุนวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นระยะสั้น
กระทรวงพาณิชย์ รายงานเงินเฟ้อไทยเดือน ธ.ค. 2561 ขยายตัว 0.36% ต่ำกว่าที่ตลาดคาด และชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับจากจุดสูงสุดที่ 1.62% เมื่อเดือน ส.ค. 2561 เนื่องจากราคาพลังงานหดตัว โดยเฉพาะน้ำมันที่หดตัว 2.12% เทียบกับที่เพิ่ม 4.78% เดือนก่อนหน้า ขณะที่หมวดอื่นยังเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว-แป้งขยายตัว 4.58%, เนื้อสัตว์ 1.41%, เคหสถาน 0.58% เป็นต้น โดยรวมทำให้เงินเฟ้อทั้งปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ย 1.07% จากปี 2560 ขยายตัวเฉลี่ย 0.66% และปี 2562 คาดว่าเงินเฟ้อสิ้นปีจะอยู่ที่ 1.8% หรือเฉลี่ย 1.5% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบ 65 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งยังสูงกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ที่ 1.2% ซึ่งคาดว่าส่วนต่างเกิดจากสมมติฐานน้ำมันที่ใช้เพียง 60 เหรียญฯ
ทั้งนี้เงินเฟ้อที่ชะลอตัวนับว่า สอดคล้องกับภูมิภาคที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวเช่นกัน เช่น ฟิลิปปินส์ที่เงินเฟ้อเดือน พ.ย. 2561 ชะลอเหลือ 6.0% จากจุดสูงสุด 6.7% ระหว่าง ก.ย.2561, มาเลเซีย เงินเฟ้อเดือน พ.ย. 2561 ชะลอเหลือ 0.2% จากจุดสูงสุด 2.7% ม.ค. 2561 และอินเดียที่เงินเฟ้อเดือน พ.ย. 2561 ชะลอเหลือ 2.33% จากจุดสูงสุด 5.07% เมื่อ ม.ค. 2561
อย่างไรก็ตามคาดว่าเงินเฟ้อไทยใกล้จุดต่ำสุดแล้ว และมีโอกาสขยับขึ้น ตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ทำให้คาดว่า กนง. น่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2562 ภายหลังจากได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 1 ครั้ง 0.25% เป็น 1.75% เมื่อปลายปี 2561 เนื่องจากยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ชะลอ รวมถึงทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในปี 2562 ที่อาจขึ้นดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง (ต่ำกว่าที่คาดไว้ 3 ครั้ง) จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่น่าจะทำให้ดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐมีส่วนต่างกันน้อยลง เห็นได้จาก ล่าสุด Bond Yield ของสหรัฐอยู่ที่ 2.62% และ Bond Yield ของไทย 2.43% (ดังรูป)
Bond Yield 10 ปีของสหรัฐ VS. Bond Yield 10 ปีของไทย
น้ำมันฟื้นตามการลดกำลังการผลิต
ราคาน้ำมันดิบโลกยังฟื้นตัวต่อเนื่อง จาก Supply ที่ลดลง หลังจากการรายงานกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบีย ในเดือน ธ.ค. (ผลิตน้ำมันดิบมากสุดราว 32.65% ของกำลังการผลิตในกลุ่มประเทศ OPEC) ผลิตลดลง 4.2 แสนบาร์เรล/วัน จากเดือน พ.ย. อยู่ที่ 10.65 ล้านบาร์เรล/วัน (เช่นเดียวกับการส่งออกน้ำมันลดลงจากเดือนก่อนหน้าราว 5 แสนบาร์เรล/วัน อยู่ที่ 7.2 ล้านบาร์เรล/วัน) ซึ่งสอดรับกับข้อตกลงการตัดลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ OPEC และ Non OPEC ในปี 2562 ลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน
และผลจากการขยายระยะเวลาการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมัน ไปจนถึง มิ.ย. 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ชะลอลงจากผลกระทบจากสงครามการค้า เห็นได้จากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจต่างๆที่ชะลอ โดยเฉพาะภาคการผลิต ล่าสุดวานนี้ คือ สหรัฐ PMI ภาคการผลิต เดือน ธ.ค.อยู่ที่ 53.8 จุด (ชะลอลงติดต่อหัน 6 เดือนและต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ย.2560) เช่นเดียวกับ จีน PMI ภาคการผลิต Caixin ในเดือนเดียวกันอยู่ที่ 49.7 จุด (ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มิ.ย.2560) โดยสหรัฐและจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ (สหรัฐบริโภคราว 24.9 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิด 25.5% ของการบริโภคน้ำมันในตลาดโลก รองลงมาอันดับ 2 คือจีน 12.5 ล้านบาร์เรล/วัน ราว 12.8%)
ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 52.53 เหรียญฯ ต่ำกว่าสมมติฐานของ ASPS ที่ประเมินไว้ 65 เหรียญฯ ในปี 2562 อยู่ราว 13 เหรียญฯ (ปี 2563 กำหนดที่ 70 เหรียญฯ) ทั้งนี้พบว่าราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าสมมติฐานทุกๆ 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะทำให้กำไรลดลงจากประมาณการเดิมราว 14.5% ต่อปี และกระทบมูลค่าพื้นฐานของ PTTEP ราว 10 บาท/หุ้น ทุก 5 เหรียญฯ แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันต่ำกว่าสมมติฐาน 16 เหรียญฯ ซึ่งน่าจะกดดันให้มูลค่าหุ้นหายไปเต็มที่ราว 30 บาท จากเดิม 148 บาท (ไม่รวมมูลค่าหุ้นที่เพิ่ม หลังชนะประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ อีกราวหุ้นละ 20 บาท) เหลือ 118 บาท แต่เมื่อรวมกับมูลค่าหุ้นได้จากการชนะประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ อีก 20 บาท มูลค่าหุ้นน่าจะอยู่ที่ 138 บาท ซึ่งน่าจะเป็นกรณีที่เลวร้ายสุดแล้ว ยังมี upside 21% ราคาหุ้นที่ลงมาใกล้ 110 บาทเป็นโอกาสสะสม
ราคาหมูฟื้นรับตรุษจีน บวกต่อ CPF, TFG
นอกเหนือจากข่าวดีที่สหภาพยุโรประงับการนำเข้าเนื้อไก่จากโรงงานในบราซิล 20 แห่ง ชั่วคราว เพราะตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย (Salmonella) ในเนื้อไก่ ทำให้สหภาพยุโรปมีโอกาสนำเข้าไก่จากไทยเพิ่มขึ้นในปี 2562 เพื่อทดแทนไก่จากบราซิล ส่งผลบวกต่อธุรกิจส่งออกไก่ไทยในปี 2562 ได้แก่ CPF (FV@B32 สัดส่วนรายได้จากการส่งออกไก่ 5%) GFPT (FV@B17 สัดส่วนรายได้จากการส่งออกไก่ 25%) และ TFG ([email protected] สัดส่วนรายได้จากการส่งออกไก่ 15%)
ล่าสุดราคาสุกรในประเทศก็ขยับขึ้น 3.1% จากวันก่อนหน้า มาที่ 66 บาท/กก. (2 ม.ค. 62) ทำระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือน จากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้นจากช่วงเทศกาลปีใหม่ และเริ่มเข้าใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีนในช่วงต้นเดือนก.พ. 62 นอกจากนี้ ยังประเมินว่าผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยและรายกลางที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องทยอยลดการเลี้ยงสุกรลง หลังจากที่เผชิญปัญหาขาดทุนมานานราว 1 ปี โดยประเมินว่าต้นทุนการเลี้ยงสุกรของผู้ประกอบการรายย่อยจะอยู่ที่ราว 64 บาท/กก. สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ (CPF และ TFG) ที่อยู่ที่ราว 58 บาท/กก. ส่งผลบวกต่อ CPF (FV@B32) และ TFG ([email protected]) ที่มีโครงสร้างรายได้จากธุรกิจสุกรในไทยราว 14% และ 20% ตามลำดับ
วันแรกของปี 2562 ต่างชาติขายหุ้นในภุมิภาค รวมถึงไทย
เริ่มต้นวันแรกของปี 2562 ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค 297 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน) และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นอินโดนิเซียถูกซื้อสุทธิ 14 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 ประเทศต่างชาติขายสุทธิ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิ 222 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 64 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3), ฟิลิปปินส์ 9 หมื่นเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 10) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 26 ล้านเหรียญ หรือ 834 ล้านบาท ตรงข้ามกับสถาบันฯที่ซื้อสุทธิอีก 1.96 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 4 วัน มีมูลค่ารวม 1.13 หมื่นล้านบาท)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติซื้อสุทธิ 756 ล้านบาท โดยเป็นการขายตราสารหนี้ระยะสั้น (T<1) 126 ล้านบาท แต่ซื้อตราสารหนี้ระยะยาว (T>1) 882 หมื่นล้านบาท กดดัน Bond Yield 10 ปี ลดลง 8 bps. มาอยู่ที่ 2.43%
ตลาดหุ้นไทยยังดึงดูด fund flow พิจารณา P/E ต่ำใกล้เคียงเพื่อนบ้าน
ยังมีความเชื่อว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 2562 มีโอกาสฟื้นตัว หลังจากปี 2561 ได้ลดลงไปถึง 10.8% ซึ่งถือว่าลดลงมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ลดลงไปเพียง 2.5% และ 5.9% ตามลำดับ ยกเว้นตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ที่ลดลงไปแรงกว่าราว 12.8% และจีนที่ลดลงไปกว่า 24% ซึ่งหลักๆ น่าจะ เกิด Fund Flow ไหลออกจากภูมิภาค โดยตลาดหุ้นไทยในปีที่ผ่านมา มียอดขายสุทธิรวมกว่า 2.87 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นแรงขายมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่สหรัฐยุติ QE เมื่อปี 2557 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นหลังจาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 9 ครั้งในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงจากสงครามการค้าโลก กดดันเม็ดเงินไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตลาดหุ้นโลกน่าจะสะท้อนปัจจัยกดดันหลักๆ ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสงครามการค้า ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และน่าจะค่อยๆ ผ่อนคลายลง ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ย ไทย – สหรัฐ เริ่มแคบเข้ามา เมื่อสหรัฐชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในปีนี้ ทำให้มีโอกาส Fund Flow ไหลกลับทั้งภูมิภาค รวมทั้งไทย ที่ปีนี้เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง น่าจะเป็นอีกแรงดึงดูดเม็ดเงินไหลกลับเข้ามา ดังสถิติในอดีตของการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุด พบว่า กระแส Fund Flow มักจะไหลเข้ามาทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ เฉลี่ยรวมกว่า 8.29 พันล้านบาท
และหากพิจารณาด้าน Valuation นั้นถือว่า ตลาดหุ้นไทยมี Expected P/E เพียง 13.96 เท่า ซึ่งไม่สูงมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกลุ่ม TIP คือ ฟิลิปปินส์ 15.68 เท่า และอินโดนีเซีย 14.51 เท่า แม้ EPS Growth ตลาดหุ้นไทยปีนี้จะไม่ได้เติบโตโดดเด่นมากนัก แต่หากพิจารณาความแข็งแกร่งเงินทุนระหว่างประเทศ ที่มีระดับสูง มีความปลอดภัยในการชำระหนี้สินต่างประเทศ ดังนั้น ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงแรงกว่าเพื่อนบ้าน จึงถือเป็นจังหวะเหมาะสมในการทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดีที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ ทั้ง ธนาคาร (BBL, KBANK,) ค้าปลีก (BJC, CPALL) สื่อสาร (DTAC, ADVANC) และหุ้นพลังงานที่น่าจะผ่านการปรับฐานใกล้จุดต่ำสุดแล้ว เช่น PTTEP เป็นต้น
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์