- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 21 December 2018 12:25
- Hits: 7021
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561
ตลาดหุ้นกลับมาผันผวนอีกครั้ง โดยถูกกดดันจากหุ้น Global หลังราคาน้ำมันดิบดูไบต่ำลงแตะ 53 เหรียญฯ ซึ่งเป็นระดับต่ำในรอบ 1 ปี และสหรัฐส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยลดน้อยลง ตามเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งสวนทางกับเอเชียที่ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลงมาใกล้กับของไทย และเป็นจุดดึงดูด Fund flow ไหลกลับ แต่ยังเน้นไปหุ้น Domestic Play เลือก TASCO([email protected]) ได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลง และยังชอบ BJC(FV@B61) และ KBANK(FV@B251) เป็น Top picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ ….SET Index แกว่งใต้ 1600 จุดอีกครั้ง
วานนี้ SET Index แกว่งผันผวนทดสอบแนวรับบริเวณ 1585 จุด ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาปิดที่ 1596.10 จุด ลดลง 5.02 จุด (-0.31%) มูลค่าการซื้อขาย 3.49 หมื่นล้านบาท ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาค หลัง Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% และปรับลด GDP Growth ทั้งปีนี้และปีหน้าลง เพราะกังวลต่อเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้า ส่วนตลาดหุ้นไทยเผชิญกับแรงขายของหุ้นขนาดใหญ่ กลุ่ม ธ.พ. (BBL KTB SCB) หลังจากปรับตัวขึ้นมาในวันก่อนหน้า ขณะที่กลุ่มพลังงาน (PTT PTTEP) ยังถูกกดดันจากราคาน้ำมันดิบโลกที่อ่อนตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมีแรงซื้อกลับเข้ามาในรายหุ้นอย่าง GULF ปรับตัวขึ้นมาเกือบ 4% ส่วน GPSC (+5%)
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้กลับมาผันผวน ตามทิศทางราคาน้ำมัน และ ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอ ชัดเจนในปี 2562 แต่ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าจะซึมซับตลาดไปพอสมควรแล้ว และการที่ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทย-สหรัฐ เริ่มใกล้กัน ซึ่งน่าจะหนุนให้เงินบาทและเอเชีย เริ่มมีเสถียรภาพ และจะทำให้แรงขายต่างชาติลดลง พร้อมกับกลับมาซื้อรอบใหม่ ณ จุดนี้ จึงเป็นโอกาสสะสมหุ้นไทย
อังกฤษ และ ญี่ปุ่น ยังขึ้นดอกเบี้ยยาก เศรษฐกิจยังไม่ดี
ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) วานนี้ ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และคงวงเงิน QQE ที่ 80 ล้านล้านเยน/ปี เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว เป็นผลจากภัยธรรมชาติในช่วง 3Q61 เห็นได้จาก GDP Growth งวด 3Q61 อยู่ที่ 0%yoy เทียบกับ 2Q61 ที่ 1.4% และ 1Q61 ที่ 1.2% และเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังต่ำ ล่าสุด เดือน พ.ย. ขยายตัว 0.8%yoy ชะลอลงจาก 1.4% เดือน ต.ค. และเตรียมรับ ผลกระทบ จากแผนการขึ้นภาษี Sales tax จาก 8% เป็น 10% ที่จะขึ้นในเดือน ต.ค. 2562
และผลประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) วานนี้ ยังคงดอกเบี้ย 1.75% เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เช่น ดัชนี PMI ภาคการผลิตชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นมา และเงินเฟ้ออังกฤษชะลอตัวต่อเนื่องเหลือ 2.3% ในเดือน พ.ย. จาก 2.4% เดือน ต.ค. จาก 2.7%เดือน ส.ค. รวมถึงยังเผชิญความเสี่ยง Brexit เพราะเงื่อนไขต่าง ๆ ยังไม่ผ่านรัฐสภา ซึ่งกำหนดลงมติ 14 ม.ค. ปีหน้า ก่อนจะนำเสนอต่อสภายุโรปพิจารณาอนุมัติ
ส่วนในประเทศวันนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงาน ยอดส่งออก(รูปดอลลาร์) เดือน พ.ย. ตลาดคาดขยายตัว 3.1% ชะลอจาก 8% ในเดือน ต.ค. และนำเข้า 8.3% จาก 11.2% และมีแนวโน้ม ชะลอตัวชัดเจนในปี 2562 จากผลกระทบจากสงครามการค้า สะท้อนจากยอดส่งออกจากประเทศคู่ค้าหลักของจีนและสหรัฐที่ชะลอตัว โดย ASPS คาดส่งออกขยายตัว 7% ในปี 2561และชะลอเหลือ 0.5% ปี 2562 ส่วนนำเข้า 11% และ 3.0% ตามลำดับ ทำให้ GDP Growth ขยายตัว 4% และ 3.5% แต่ปัจจัยเหล่านี้ถือว่าตลาดน่าจะรับรู้ไปแล้ว
ICT กระทบระยะสั้น ต้องอุดหนุน 2G และประมูลคลื่น 700 MHz
ASPS ประเมินถึงสาเหตุที่ทำให้หุ้น ICT ตกต่ำกว่ามานานกว่า 1 เดือนราว 12.7% น่าจะมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1. กสทช. ต้องการยุติบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G เพราะปัจจุบันเหลือผู้ใช้บริการในระบบราว 5.2 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นลูกค้า DTAC, ADVANC, DTAC และ TRUE 2.2, 2.0 และ 1.0 ล้านเลขหมาย ตามลำดับ โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ 31 ต.ค. 62 พร้อมกับระบุว่าผู้ให้บริการมือถือทั้ง 3 รายจะเป็นผู้สนับสนุนเครื่อง 3G/4G ให้กับลูกค้า 2G เครื่องละ 700 บาท
2. กสทช จะเร่งนำคลื่น 700 Mhz ที่คืนมาจากผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล (และคืนคลื่น 490) มาประมูลเพื่อใช้งาน 5G ในปีหน้า (พร้อมจ่ายเงินปี 2563) ด้วยเป้าหมายที่จะนำเงินไปช่วยเหลือผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล ที่ประสบปัญหาการเงินในขณะนี้ แม้ กสทช เปิดเผยแนวทางการประเมินคลื่น 5G จะตำกว่าการประมูลคลื่น 4G ที่ผ่านมา แต่เป็นการเร่งให้ผู้ให้บริการมือถือต้องลงทุนคลื่นเร็วขึ้น ขณะที่ปัจจุบันยังมีภาระจ่ายค่าใบอนุญาต 4G และเร่งขยายการลงทุนโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ แต่อย่างไรก็ตามพิจารณาในแง่กระแสเงินสดทุกรายไม่น่าจะมีปัญหา (ADVANC มี CFO ราว 6 หมื่นล้านบาท ส่วน DTAC 3 หมื่นล้านบาทและ TRUE 2 หมื่นล้านบาท)
หากพิจารณาผลกระทบระยะสั้น น่าจะเป็นลบ จากภาระต้นทุนดังกล่าว หากกำหนดทุกรายต้องมีต้นทุนเพิ่มในการอุดหนุนเครื่องละ 700 บาท คาดว่าจะกระทบงบกำไรขาดทุนปี 2562 ดังนี้ DTAC กระทบมากสุดคือลดลง 19.5% รองลงมาคือ ADVANC, TRUE ลดลง 3.2% และ 9.7% ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาผลบวกอื่นๆ กลับมีผลดีมากกว่า คือ ระยะยาวจะช่วยลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับบริการ 2G เช่น ค่าเช่าสถานีฐาน 2G ที่เป็นทรัพย์สินภายใต้สัญญาสัมปทาน, ค่าบำรุงรักษาโครงข่าย และน่าจะเพิ่มรายได้ที่ดีขึ้น หลังผลักดันลูกค้า 2G มาใช้งาน 3G/4G เท่ากับจะทำให้รายได้ค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) เพิ่มทั้งบริการเสียงและข้อมูล จากเดิมที่ใช้เฉพาะเสียง
โดยสรุป เมื่อนำผลบวกและลบในกรณีที่ 1 มาพิจารณาในงบกำไรขาดทุน คาดว่าจะดีต่อกำไรระยะยาว ในเบื้องต้นคาด DTAC และ ADVANC จะได้ประโยชน์ปีละ 500 ล้านบาท สูงกว่า TRUE ที่จะได้ 200 ล้านบาท เนื่องจากฐานลูกค้า 2G ของ TRUE น้อยกว่าอีก 2 ราย มีโอกาสต่อยอดรายได้ต่ำกว่า และเพราะ TRUE ให้บริการ 2G บนคลื่น 900 MHz ที่เพิ่งประมูลใบอนุญาตมาได้ในปี 2558 (แทนคลื่น 1800 MHz สัมปทานเดิม) จึงแตกต่างจากคู่แข่ง ทั้ง 2 รายที่ยังเช่าสถานีฐาน 2G หลังหมดสัมปทานคลื่นเดิม (900 และ 1800 MHz ตามลำดับ)
จึงคาดว่านับจากปี 2563 กำไร DTAC ADVANC และ TRUE น่าจะเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม เฉลี่ย 7.8%, 1.4% และ 2.8% ตามลำดับ หรือจะทำให้กำไรทั้งกลุ่มในปี 2563 ขึ้นจากเดิม 2% เป็นติดลบน้อยลงเหลือ 4% เพราะปี 2562 ฐานกำไรที่สูงผิดปกติ ที่คาดจะเติบโตราว 13.5% หลักๆ มาJAS ซึ่งเกิดจากกำไรพิเศษ จากการขายทรัพย์สินเข้ากองทุน JASIF และที่เหลือมาจาก DTAC และ TRUE ซึ่งเกิดจากต้นทุนค่าบริการที่ลดลง (DTAC ค่าเสื่อมบนสัมปทานเดิม และ TRUE จากต้นทุนการอุดหนุนเครื่อง) มีแนวโน้มจะปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสื่อสาร จาก มากกว่าตลาด เป็นเท่าตลาด แต่ยังคงชอบ ADVANC(FV@B240) และ DTAC(FV@B60) และเลือกเป็น Top picks เช่นเดิม
ราคาน้ำมันตกแรงเกินคาดมาก ดีต่อหุ้น TASCO, SCC, BA, AAV
ราคาน้ำมันดิบดูไบ ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง และลดมากกว่าคาด โดยปรับลดลงกว่า 36% นับตั้งแต่ขึ้นไปทำจุดสูงสุดของปีที่ 83 เหรียญฯ เมื่อ 3 ต.ค. จนปัจจุบันอยู่ที่ 53 เหรียญฯ ซึ่งต่ำกว่าสมมุติฐาน ASPS ที่ประเมินไว้ 65 เหรียญฯ ในปี 2562 และ 70 เหรียญฯ ในปี 2563 เป็นต้นไป ซึ่งกระทบต่อ PTTEP และ PTT โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม กลับส่งผลดีต่อ ผู้ที่ใช้น้ำมันเป็นต้นทุนหลักคือ
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ผู้ที่ได้รับผลบวกมากที่สุดจากราคาน้ำมันที่ลดลงคือ TASCO เนื่องจากนำเข้า Crude มาใช้เป็นวัตถุดิบในการกลั่นเป็นยางมะตอย โดยราคาน้ำมันดิบที่ลดลงทุก 10 เหรียญฯ/บาร์เรล จะทำให้ TASCO มีต้นทุนในการผลิตยางมะตอยลดลง 63 เหรียญฯ/ตัน ซึ่งราคาขายยางมะตอยไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับราคาน้ำมันดิบ แต่จะขึ้นกับ Demand-Supply ของยางมะตอยเป็นหลัก อีกทั้ง Supply ยางมะตอยที่ลดลง 1 ล้านตัน/ปี จากการที่โรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ในเกาหลีใต้คือ S-Oil ได้ Upgrade โรงกลั่นในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ราคายางมะตอยตลาดสิงคโปร์เดือน พ.ย. ปรับตัวขึ้น 5% จากสิ้นเดือน ก.ย. 61 สวนทางกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงมา 24% จากสิ้นเดือน ก.ย. 61 จะส่งผลบวกต่อ margin ในงวด 4Q61 แต่อย่างไรก็ตามปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบจากเวนเนซูเอลายังคงมีอยู่ แม้ใน 6 เดือนหลังของปีนี้จะสามารถนำเข้ามาได้เดือนละ 1 ลำ ก็ตาม แต่ปีนี้น่าจะนำเข้าได้ 9 ลำจากแผนทั้งปี 12 ลำ
อีกบริษัทที่น่าจะได้ประโยชน์คือ DCC ที่มีต้นทุนค่าขนส่ง (อิงกับราคาน้ำมันดีเซล) คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 9% ของยอดขาย โดยฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ TASCO (FV@B 18.0) และ DCC ( FV@B 2.90)
ขณะที่ SCC แม้จะได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลง เนื่องด้วยโครงสร้างกำไรของ SCC มาจากธุรกิจปิโตรเคมีเกือบ 70% ของกำไรรวม เพราะผลประกอบการจะสัมพันธ์กับ spread ของผลิตภัณฑ์หลักอย่าง HDPE-Naphtha ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้ราคาวัตถุดิบ Naphtha ปรับลดลงตาม ในขณะที่ราคาเม็ดพลาสติกยังค่อนข้างทรงตัว หรือ ปรับลดลงในอัตราที่ช้ากว่า จึงเป็นบวกต่อ SCC
กลุ่มธุรกิจสายการบิน การลดลงของราคาน้ำมัน จะทำให้กลุ่มฯ มีต้นทุนที่ลดลง แต่ประโยชน์ที่ได้รับจะลดหลั่นกันไป ตามการ hedging หรือการป้องกันความเสี่ยงจากต้นทุนน้ำมันไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ ผู้ที่ hedge ไว้ต่ำจะได้ประโยชน์สูงสุด คือ AAV โดยใน 4Q61 ทำไว้ 13% และเพียง 2% ในปี 2562 ตามด้วย BA และ THAI แต่น่าจะถูกหักล้างจาก ภาวะการแข่งขันในธุรกิจที่สูงขึ้น และกำลังซื้อหรือยอดการท่องเที่ยวที่ลดลงโดยเฉพาะลูกค้าชาวจีน ที่ถูกกระทบจากสงครามการค้าและค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง จึงแนะนำเพียงเก็งกำไร BA และ AAV
ต่างชาติขายหุ้นไทยน้อยสุดในภูมิภาค
ความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว บวกกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องทำจุดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน กดดันให้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค 158 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า) และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากตลาดหุ้นไต้หวันขายสุทธิ 64 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 52 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), อินโดนีเซีย 31 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5), ฟิลิปปินส์ 9 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) ส่วนไทยที่ต่างชาติขายสุทธิน้อยสุดในภูมิภาคเพียง 2 ล้านเหรียญ หรือ 49 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิเล็กน้อย 268 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
หลังกนง.ปรับดอกเบี้ยขึ้น บวกกับ Fed ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า หนุนส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐแคบลง ช่วยชะลอการไหลออกของ Fund Flow ในไทย รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อ หลังจากที่ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นมา 0.5% โดยล่าสุดอยู่ที่ 32.64 บาท/ดอลลาร์
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์