- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 20 December 2018 15:40
- Hits: 6403
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-ต่างประเทศ ขณะที่ Fed ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไปในปีหน้า ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลงมาใกล้กับของไทย น่าจะเป็นจุดดึงดูด Fund flow บวกกับ ค่า P/E ตลาดหุ้นไทยที่ลงมา 14 เท่า สะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกขาลงแล้วระดับหนึ่ง จึงเป็นจังหวะการสะสม วันนี้ดัชนีน่าจะฟื้นตัวทดสอบแนวต้าน 1615 จุด กลยุทธ์ยังเน้น Domestic Play ชอบ BJC(FV@B61), WHA([email protected]) และเพิ่ม KBANK(FV@B251) เป็น Top picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ ….SET Index กลับมายืนเหนือ 1600 จุด
วานนี้ SET Index กลับมายืนเหนือ 1600 จุด และปิดตลาดที่ระดับ 1601.12 จุด เพิ่มขึ้น 17.93 จุด หรือ1.13% มูลค่าการซื้อขาย 4.52 หมื่นล้านบาท แรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นกลุ่มธนาคารฯ หลัง กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ยเป็น 1.75% นำโดยแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ของกลุ่ม KBANK BBL KTB และ SCB ส่วนการเคลื่อนไหวของหุ้นพลังงานยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันดิบโลกที่อ่อนตัว ทำให้วานนี้ PTT ปิดตลาดแดนลบ ส่วน PTTEP รีบาวด์ขึ้นมาเล็กน้อย ส่วนหุ้น Domestic ทั้งกลุ่มค้าปลีก (BJC, ROBINS) รับเหมาก่อสร้าง(STEC, ITD, UNIQ) รีบาวด์กลับมายืนแดนบวก
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้คาดน่าจะเห็นการฟื้นตัวของดัชนี โดยน่าจะทดสอบ 1615 จุด โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้น ธนาคาร หลัง กนง. ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นตามตลาดโลก สวนทางกับสหรัฐที่การขึ้นดอกเบี้ยอาจจะชะลอตัวกว่าที่ผ่านมา ทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทย-สหรัฐ เริ่มใกล้กัน ซึ่งน่าจะหนุนให้เงินบาทและเอเชีย เริ่มมีเสถียรภาพ และจะทำให้แรงขายต่างชาติลดลง พร้อมกับกลับมาซื้อรอบใหม่ ณ จุดนี้ จึงเป็นโอกาสสะสมหุ้นไทย
กนง. ขึ้นดอกเบี้ย เพื่อปิดช่องว่างดอกเบี้ยต่างประเทศ
วานนี้ที่ประชุม กนง. ให้ขึ้นดอกเบี้ยฯ 0.25% เป็น 1.75% เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี 4 เดือน และปรับลดหลังสุดในเอเชีย แม้เงินเฟ้อจะต่ำกว่า 1% และโอกาสขึ้นดอกเบี้ยอีกราว 1-2 ครั้ง หรือประมาณ 0.25-0.5% มาที่ 1.75-2.0% ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยไทยไม่ให้แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านและดอกเบี้ยนโยบายมากสุด แต่เพื่อสะท้อนผลกระทบสงครามการค้า กนง. ได้ปรับลด GDP Growth ปี 2561 ลงเหลือ 4.2% จากเดิม 4.4% และปี 2562 เหลือ 4.0% จากเดิม 4.2% โดยตัดลดยอดส่งออก-นำเข้าลง (ส่งออกเหลือเหลือ 7.0% และ 3.8% ปีนี้และปีหน้า จากเดิม 9.0% และ 4.3% ขณะที่นำเข้าลดเหลือ 15.3% และ 3.8% จากเดิม 16.9% และ 5.6% ตามลำดับ) ซึ่งสอดคล้องกับ ASPS ที่ตัดลด GDP Growth ไปก่อนหน้าเหลือ 4% และ 3.54% (โดยตัดยอดส่งออกเหลือ 7% และ 0.5% ส่วนนำเข้า 11% และ 3.0% ตามลำดับ)
พิจารณาผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของสหรัฐ- ไทย ในปี 2561 พบว่า ดอกเบี้ยสหรัฐสูงกว่าของไทยในช่วง ม.ค. 2561 – พ.ค. 2561 แต่เริ่มอ่อนมาใกล้ของไทยช่วง มิ.ย. – ก.ย. และช่วง พ.ย. เป็นต้นมา (ดังภาพ) แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนอยู่ในระดับสูงกว่าสหรัฐ ซึ่งเป็นจุดที่สร้างแรงดึงดูดเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ
Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยลดลง..Dollar มีแนวโน้มชะลอการแข็งค่า
ผลการประชุม Fed ช่วง 18-19 ธ.ค. สรุปว่า ขึ้นดอกเบี้ยฯราว 0.25% เป็น 2.5% (เป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ ขึ้น 9 ครั้งตั้งแต่ปี 2558) พร้อมปรับลด GDP Growth ลงคือปี 2561 จาก 3.1% เหลือ 3.0% ส่วนปี 2562 จากเดิม 2.5% เหลือ 2.3% เพราะกังวลต่อเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้กำหนดเป้าหมายการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตลดลงจากเดิมคือ ปี 2562 จะขึ้นเพียง 2 ครั้งจากเดิม 3 ครั้ง มาที่ 3% และปี 2563 ขึ้น 1 ครั้ง จากเดิมครั้ง หรือจะสูงสุดที่ 3.25%
แต่อย่างไรก็ตามในมุมของ ASPS คาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยไม่เกินกลางปี 2562 และไม่เกิน 2 ครั้ง ดอกเบี้ยน่าจะ Peak ที่ 3% ทั้งนี้เพราะการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 9 ครั้ง เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ได้ถ่วงให้เงินเฟ้อสหรัฐ ลดลงจากสูงสุดในเดือน ก.ค. ที่ 2.9% มาที่ 2.2% พ.ย. และมีแนวโน้มจะทรงตัวในระดับ 2% ในปี 2562 จากผลกระทบกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ นอกจากทำให้การค้าโลกชะลอตัว แต่ยังกดดันให้ราคาน้ำมันโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ในสถานการณ์นี้น่าจะทำให้ Dollar index ชะลอการแข็งค่า (หลังจากแข็งค่าราว 5.44% จากต้นปี 2561 – ปัจจุบัน) ซึ่งน่าจะส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย เริ่มมีเสถียรภาพ เป็นอีกปัจจัยที่หนุนเงินทุนต่างชาติ
ดอกเบี้ยขาขึ้น หนุนหุ้น bank แต่กดดันหุ้น Leasing
แม้ กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ธนาคารพาณิชย์อาจจะยังไม่ตอบสนองในช่วงสั้น ๆ ต่อการปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก จากที่อยู่ในระดับต่ำมาก ขึ้นมาในระดับปกติ การขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนี้ น่าจะขึ้นความพร้อมของแต่ละธนาคาร และสภาพคล่องในระบบ แต่เชื่อภาพการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะชัดขึ้นในปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อ กลุ่ม ธ.พ. โดยเฉพาะ ธ.พ. ขนาดใหญ่ ที่มีโครงสร้างสินเชื่อเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมากกว่าเงินฝาก ขณะที่เงินฝากและเงินกู้ยืมเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในสัดส่วนที่ต่ำกว่า เพราะหมายถึงส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ (ดอกเบี้ยรับ-ดอกเบี้ยจ่าย) มีโอกาสขยับขึ้นได้ แม้ประเด็นนี้ได้แผ่วลง หลังจากธนาคารฯ มีนโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมฯ การให้บริการออนไลน์
และหากพิจารณาสถานะในตลาดเงิน ผู้ที่ให้กู้ยืมสุทธิ (Net Lending) ได้แก่ KTB BBL เมื่อรวมส่วนนี้เข้าไปด้วย พบว่าทุก 0.25% ของการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้กำไรสุทธิปี 2562 ของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้น 0.8% โดย KTB กำไรเพิ่มขึ้นสูงสุด 4.0% ตามด้วย BBL 3.0% LHFG 1.4% และ TMB 0.9%
สำหรับแนวโน้มกำไรสุทธิใน 4Q61 ของธนาคารฯ คาดว่าจะอ่อนตัวลงจาก 3Q61 แม้คาดรายได้จากธุรกิจหลักทั้งสินเชื่อและค่าธรรมเนียมฯ เติบโตสูงขึ้นในช่วงฤดูกาล แต่เนื่องจากการลดลงของรายได้พิเศษของ TMB และค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เร่งตัวขึ้นในช่วงฤดูกาล ล้วนสร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มกำไร 4Q61 แต่ยังคงให้น้ำหนักลงทุนเท่าตลาด เชื่อว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อทิศทางการเติบโตของสินเชื่อและผลการดำเนินงาน รวมถึงราคาหุ้นให้ขยับขึ้นไปใกล้เคียงมูลค่าพื้นฐานมากขึ้น หุ้น top picks เลือก BBL(FV@B233), KBANK(FV@B251)
ตรงข้ามกลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง จะได้รับผลกระทบ เพราะรายได้ดอกเบี้ยรับ ส่วนใหญ่เป็นแบบคงที่ สัดส่วนสูงถึง 98% ของสินเชื่อ ขณะที่ ต้นทุนการกู้ยืม กลับเป็นดอกเบี้ยลอยตัวสัดส่วนกว่า 36 % ของหนี้สินที่มีดอกเบี้ย (ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยคงที่) ดังนั้นดอกเบี้ย เพิ่ม 0.25% จะกดดันกำไรสุทธิลิสซิ่งปี 2562 ลง 0.7% โดย THANI เป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่มฯ ตามด้วย AEONTS ที่ได้รับผลกระทบในระดับใกล้เคียงอุตสาหกรรม ยกเว้น IFS มีโครงสร้างสินเชื่อเป็นดอกเบี้ยลอยตัวถึง 99% ขณะที่มีหนี้สินดอกเบี้ยลอยตัวถึง 95% จึงได้รับผลกระทบจำกัด
โดยยังให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มลิสซิ่ง เท่าตลาด แม้แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการระยะกลาง-ยาวข้างหน้า แต่ยังมีบางบริษัทที่เติบโตสวนกระแส จึงเลือก SAWAD JMT เป็น Top picks ของกลุ่มฯ
น้ำมันฟื้นตัวช่วงสั้น จากสต็อกน้ำมันที่ลดมากกว่าคาด
สำนักงานด้านสารสนเทศการพลังงานสหรัฐ(EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสัปดาห์ล่าสุด ลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 (ลดลง 4.97 แสนบาร์เรล น้อยกว่าตลาดคาด 2.4 ล้านบาร์เรล) เพราะโรงกลั่นยังเร่งดำเนินการกลั่นน้ำมันเพื่อรองรับความต้องการใช้ในฤดูหนาว ขณะที่ Supply น้ำมันลดลงหลังที่ประชุมผู้ผลิตน้ำมัน OPEC และ Non OPEC มีมติตัดลดกำลังการผลิตในปี 2562 ลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน (จากฐานการผลิต OPEC+Non OPEC ในเดือน ต.ค. ที่อยู่ราว 51.1 ล้านบาร์เรล/วัน) และ ยืดเวลาการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมัน ที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้ออกไปอีก 6 เดือน หรือราว มิ.ย. 2562
ยังเชื่อว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงแรงกว่า Supply ที่ลดลง จากผลกระทบของสงครามการค้าโลก เห็นได้จากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งสหรัฐและจีนชะลอตัวชัดเจน ทำให้ภาวะ oversupply ยังมีอยู่ ล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 54.62 เหรียญฯ ซึ่งต่ำกว่าสมมติฐานของ ASPS ที่ประเมินไว้ 65 เหรียญฯ ในปี 2562 และ 70 เหรียญฯ ในปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้พบว่าราคาน้ำมันที่ปรับลงทุกๆ 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะทำให้กำไรปี 2562 และ 2563 ของ PTTEP ลดลง 13.3% และ 15.6% ส่วน PTT ลดลง 9.7% และ 7.0% จากเดิม จึงยังแนะนำ “switch” หุ้นน้ำมัน PTT (FV@B56) แต่สำหรับ PTTEP (FV@B168) ฝ่ายวิจัยได้กลับมาแนะนำซื้อ เพราะปัจจัยบวกหลังชนะประมูลบงกชและเอราวัณ ซึ่งเพิ่มมูลค่าพื้นฐานปี 2562 ราว 20 บาท ทั้งนี้หากราคาน้ำมันดิบในระยะยาวปรับตัวลงทุก 5 เหรียญฯ/บาร์เรล กระทบมูลค่าพื้นฐานของ PTTEP จะลดลงราว 10 บาท/หุ้น แนะนำซื้อ PTTEP เมื่อราคาอ่อนตัว
กนง. ขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 7 ปี ช่วยหยุดยั้งการไหลออกของ Fund Flow
วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเล็กน้อย 78 ล้านเหรียญ (หลังขายสุทธิในวันก่อนหน้า) โดยเป็นการซื้อสุทธิเฉพาะตลาดหุ้นในแถบเอเชียตะวันออก คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไต้หวันสลับมาซื้อสุทธิ 87 ล้านเหรียญ และ 40 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ยังคงขายสุทธิ คือ อินโดนีเซียขายสุทธิ 26 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4), ฟิลิปปินส์ 1 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 22 ล้านเหรียญ หรือ 727 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิ 917 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเป็นวันที่ 6 โดยมีมูลค่ารวมสูงถึง 1.38 หมื่นล้านบาท)
อย่างไรก็ตามการที่ Fed ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า ขณะที่ไทยเริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้น น่าจะหนุนให้แนวโน้มส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐแคบลง ช่วยชะลอการไหลออกของ Fund Flow ในไทย
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
SET Index ยังอยู่ช่วงฟื้นตัวหลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ยฯ เพื่อลดช่องว่าง
ท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากปัญหาสงครามการค้า แต่เชื่อว่าได้กดดัน SET Index ปรับฐานลง 14% นับจากสูงสุด 1841 จุด และการประกาศพักรบสงครามการค้า น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกถึงโอกาสการเจรจารอบใหม่น่าจะประนีประนอมมากขึ้น เพราะการกีดกันการค้ามีแต่ผู้ที่เสียประโยชน์ทั้งสิ้น
และการที่ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยฯ ในรอบนี้เพื่อต้องการปิดช่องว่างดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศน่าจะเป็นจุดดึงดูด fund flow ประกอบกับ ณ ดัชนีปัจจุบัน มีค่า Expected P/E ปี 2561 อยู่ที่ราว 14.7 เท่า และลดลงเหลือ 14.2 เท่านั้นในปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน
จึงคาดว่ายังจะเห็นการฟื้นตัวของดัชนีตลาดหุ้นไทย หลังจากแต่จุดต่ำสุด 1580 จุด เมื่อวันก่อนหน้า โดยน่าจะมีโอกาสฟื้นตัว 1610-1620 จุด และจากการศึกษาวิเคราะห์เชิงปริมาณ โดยกำหนดให้หุ้นที่ปรับลดลงแรง แต่มีปัจจัยพื้นฐานดี, เป็นหุ้นที่ฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ, มี upside สูง, ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโต และมีค่า Beta ที่สูงกว่า 1 เพื่อคาดหวังการฟื้นตัว rebound ที่แรงกว่าตลาดฯ เน้นหุ้น Domestic เช่น KBANK, AMATA, WHA, ROBINS, BJC, CPALL, TASCO, CK, THANI เป็นต้น
รายชื่อหุ้นที่ปรับลดลงแรงในช่วง SET Index ปรับฐาน
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์